xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายคู่ชีวิต (เพศเดียวกัน)..ความหวังที่เลือนรางในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากปรากฎการณ์เปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กเป็น "ภาพสีรุ้ง" เพื่อยินดีกับคู่รักชาวเกย์มะกัน หลังศาลเห็นชอบให้แต่งงานกันได้ทั้ง 50 รัฐ จุดประเด็นเรื่อง "สิทธิ" ของเพศที่สามในสังคมไทย รวมไปถึงการนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งสำหรับร่างพ.ร.บ.ชีวิตคู่ผ่านแคมเปญรณรงค์บน Change.org ทว่าอีกด้านกลับมีข้อมูลเชิงลึก พร้อมตีแผ่ความจริงที่แสนเจ็บปวดจากสมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ว่าด้วย (ร่าง) พ.ร.บ.คู่ชีวิต

ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันกันมานาน สำหรับการเรียกร้องพ.ร.บ.คู่ชีวิตเพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิถูกต้องตามกฎหมายเหมือนชายหญิงทั่วไป แม้จะมีการรวบรวมรายชื่อขอแก้ไขกฎหมาย แต่เป็นเพียงการจุดประเด็นที่ไม่มีการสานต่อ ในขณะที่ประเทศทางตะวันตกให้การยอมรับกันมานานแล้ว

สำหรับประเทศที่อนุญาตให้เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ทั่วโลก มีอยู่ 19 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา, เบลเยียม, บราซิล, แคนาดา, เดนมาร์ก, อังกฤษ, ฝรั่งเศษ, ไอซ์แลนด์, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, แอฟริกาใต้, โปรตุเกส, สเปน, สวีเดน, อุรุกวัย, เวลส์ และสหรัฐอเมริกา (ทั้ง 50 รัฐ)

ส่วนประเทศเยอรมนี อนุญาตให้จดทะเบียนแบบ Partnership ระหว่างเพศเดียวกัน ถึงไม่ใช่การสมรสแบบสมบูรณ์ แต่มีสิทธิเท่าเทียมกับการสมรสปกติ หากพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 20 ของโลก และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้

ด้านสิทธิที่คู่รักเพศเดียวกันจะได้รับจากพ.ร.บ.คู่ชีวิต นอกจากสิทธิด้านการจดทะเบียนสมรสแล้ว ยังเชื่อมโยงกับสิทธิอื่นๆ หลายประการ

1. สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน เช่น การกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อบ้าน (กู้ด้วยกันไม่ได้ เพราะไม่ใช่คู่สมรสหรือผู้สืบสันดาน)

2. สิทธิในการรักษาพยาบาล หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับราชการ (ไม่ได้สิทธิ เพราะไม่ใช่คู่สมรสตามกฎหมาย)

3. สิทธิการลงชื่อยินยอมให้แพทย์ทำการรักษาพยาบาลแก่คู่ชีวิต (ลงชื่อไม่ได้ เพราะไม่ใช่บุคคลในครอบครัวหรือญาติ)


4. สิทธิในการรับมรดกที่ร่วมสร้างกันมา ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตกะทันหันและไม่มีพินัยกรรมระบุไว้ (ซึ่งในปัจจุบันทรัพย์สินในชื่อผู้เสียชีวิต จะตกไปยังญาติตามกฎหมายทั้งหมด)


5. สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้ในกรณีมีคู่สมรส


6. สิทธิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม


คืบหน้า (ร่าง) พ.ร.บ.คู่ชีวิต

กระแสการลงชื่อ รณรงค์สนับสนุนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต/พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังเกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กเป็น "ภาพสีรุ้ง" เพื่อยินดีกับคู่รักชาวเกย์มะกันที่ศาลเห็นชอบให้แต่งงานกันได้ ล่าสุดมีการชี้แจงในเฟซบุ๊กเพจ "ข่าวกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ" โดยให้ข้อมูลว่า ไม่มีการยื่นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตใดๆ ไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

"ตอนนี้พรบ.คู่ชีวิตฉบับภาคประชาชน อยู่ที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายนะคะ (คปก.) เพื่อให้นักวิชาการด้านกฎหมายมาช่วยดูมาช่วยวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือเปล่าถ้าออกมา เสร็จแล้วค่อยมีการแก้ไขอีกทีค่ะ กับตอนนี้คือทำงานรณรงค์สร้างความเข้าใจกับสาธารณะค่ะ ไม่ได้ไปติดอะไรอยู่ที่ สนช.ทั้งสิ้นค่ะ เพราะร่างฉบับภาคประชาชนเราจะไม่เสนอผ่าน สนช. แต่เราจะให้ประชาชนร่วมลงชื่อในการเสนอกฎหมาย ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยค่ะ" คณะทำงานเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศท่านหนึ่งให้ข้อมูล

กฎหมายคู่ชีวิต ความหวังที่ดูเลือนลาง

ด้าน จุลศักดิ์ แก้วกาญจน์ สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มบางกอกเรนโบว์ หลังออกมาเร่งให้รัฐบาลคลอดกฎหมายตามแบบสหรัฐฯ ก่อนจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านกระบวนการทางความคิดของผู้มีอำนาจในสังคมไทยต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไว้อย่างตรงไปตรงมา

"สถานการณ์สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบ้านเขากับบ้านเรามันไม่เหมือนกัน ของเขามันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน คือสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และการแสดงความเห็นถูกเติมเต็มไปแล้ว มันเหลือแค่สิทธิการสมรส และสิทธิก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มคนเพศเดียวกันที่ยังไม่มีการเห็นชอบโดยรัฐ นี่คือสิ่งที่เขาต่อสู้กันมาในสหรัฐฯ และที่น่ายินดีกับคำตัดสินของ Supreme Court ในสหรัฐอเมริกา คือเขามองถึงนี้ว่าเป็นเรื่องสิทธิส่วนตัวโดยแท้ พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐไม่ต้องเข้าไปควบคุมเขา เพราะมันไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของสังคม เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐทำได้ก็คือ รับรอง และให้สิทธิทางกฎหมายในด้านอื่นต่อไป

พอกลับมามองถึงสิ่งที่บางกอกเรนโบว์ออกมาพูดว่าสถานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลจากการรัฐประหารที่ต้องออกกฎหมายตามแบบสหรัฐฯ ส่วนตัวรู้สึกว่า ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ กว่าอเมริกาจะมาถึงสิทธิในการสมรสและการก่อตั้งครอบครัว เขามีฐานในเรื่องสิทธิพื้นฐานคือสิทธิในชีวิตร่างกายที่เสริมด้วยสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอยู่ก่อนหน้า ซึ่งในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน คือคงถูกละเมิดอยู่จากการรัฐประหาร แล้วสิทธิสมรสกับการก่อตั้งครอบครัวที่สอดรับกับหลักการพื้นฐานจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร"

ดังนั้น การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ชีวิตคู่ ต้องมาจากฐานสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่มาจากฐานสังคมสงเคราะห์ นี่คือสิ่งที่สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรายนี้มอง

"สังคมต้องเข้าใจกันก่อนว่าสิทธิเสรีภาพมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์ต่อกันไปหมดทุกเรื่อง ในขณะที่การละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานยังมีอยู่ และอาศัยช่องทางการออกกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมในสถานการณ์แบบนี้ โดยหลักการมันไปด้วยกันไม่ได้ ฐานอำนาจในการออกกฎหมายขณะนี้มันละเมิดสิทธิเสรีภาพด้วยซ้ำ คือคุณมีสิทธินะ รัฐต้องเข้ามารับรอง ไม่ใช่ฉันถูกละเมิดอะไร ไม่รับการปฏิบัติในเรื่องอะไร แล้วฉันอยากได้อะไร ต้องผลักดันอะไร แต่มันต้องตั้งคำถามด้วยว่าที่มาของการออกกฎหมายมันชอบธรรมไหม กับที่มาของการออกกฎหมายที่ไม่ได้เชื่อมโยงคุณค่าในสิทธิเสรีภาพกันตลอดสาย

นอกจากนั้น แนวคิดของคนที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติในสังคมไทย ยังคงตกร่องอยู่กับความเกลียดชัง เลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพศหลากหลายกันอยู่ ส่วนอีกเรื่องคือสภาพการเมืองในปัจจุบันที่ยังไม่เอื้อในการใช้สิทธิ ซึ่งในสภาวะก่อนการรัฐประหาร คุณมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย มีสิทธิในการแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายกันเต็มที่ แล้วตอนนี้คุณมีสิทธิที่จะทำแบบนั้นได้อย่างกว้างขวางหรือไม่ กฎหมายมีสภาพบังคับกับคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับคุณกลุ่มเดียว" สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนทิ้งท้าย

ท่ามกลางกระแสโลกกับการยอมรับการแต่งงาน และจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกัน คงต้องดูกันต่อไปว่าพื้นที่การเมืองและสังคมในประเทศไทยจะเปิดกว้างในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน หรือสิทธิเสรีภาพของคนจะถูกมองข้ามไป เพราะความอคติต่อบุคคลเพศหลากหลายที่มีอยู่ในโครงสร้างวัฒนธรรมซึ่งครอบงำไปถึงแนวคิดของผู้ใช้อำนาจรัฐด้วย

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น