xs
xsm
sm
md
lg

พระต่างด้าวเดินแนวทางโรฮิงญา ใช้ 2 มหา’ลัยสงฆ์เป็นฐานก้าวสู่ประเทศที่ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แฉขบวนการพระต่างด้าวแถบเอเชีย ใช้ 2 มหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งมหาจุฬาฯ และมหามกุฎฯ เป็นฐาน อาศัยสถานะนักศึกษาต่อวีซ่า บางรายสะสมเงินทำบุญ-สร้างคอนเนกชันระหว่างเรียน จากนั้นสึกจากพระหาสาวไทยจดทะเบียนสมรส หวังอยู่ต่อรอจังหวะเดินทางไปประเทศที่ 3 ชี้ “มจร.-มมร.” เข็ดขยาด ด้านสภาปฏิรูปยอมรับเป็นเรื่องใหม่ เร่งหาทางออกในการแก้ปัญหา หวั่นเปิดเออีซี จะมีพวกแฝงตัวในคราบผ้าเหลืองเข้ามาก่อปัญหาได้สะดวก ขณะที่มหาเถรสมาคม ระบุข้อมูลแจ้งเตือนให้ระวังพระต่างด้าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันพระพุทธศาสนาในไทย ส่วน “ตม.” พบพระต่างด้าวมีเงินโอนเข้าบัญชีวันละ 3 พันบาทมาจากการบิณฑบาตและญาติโยมร่วมทำบุญ

กรณีปัญหาผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ “ชาวโรฮิงญา” ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามหาทางออกให้กับกลุ่มคนเหล่านี้โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ขณะเดียวกันก็ต้องไม่สร้างภาระให้กับประเทศไทยด้วย แต่กลับพบเหตุการณ์ที่วงการสงฆ์ไม่คาดคิดว่าจะเป็นช่องทางให้คนต่างด้าวอาศัยความเป็นนักศึกษาในคราบผ้าเหลืองหาประโยชน์และกำลังเป็นปัญหาหนักใจให้มหาวิทยาลัยสงฆ์และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนี้

ใช้ 2 มหาวิทยาลัยสงฆ์ก้าวสู่ประเทศที่ 3

แหล่งข่าวในวงการสงฆ์ เปิดเผยว่า มีขบวนการคนต่างด้าวที่อาศัยผ้าเหลืองแล้วเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อหวังเดินทางไปยังประเทศที่ 3 คล้ายๆ กับกรณีของโรฮิงญา แต่มีความต่างเพียงเข้ามาในรูปของพระสงฆ์ ซึ่งการจะอาศัยพักพิงในระยะเวลานานๆ ไม่สามารถกระทำได้ เพราะตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดไว้หากอยู่เกิน 90 วัน คนต่างด้าวที่หมายรวมถึงพระต่างด้าวรูปนั้นๆ ย่อมมีหน้าที่ต้องไปรายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)

ดังนั้นวิธีการที่พระต่างด้าวเลือกกระทำก็คือ ไปสมัครเรียนในมหา’ลัยสงฆ์ของไทยทั้งที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) ซึ่งต่างเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ ศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวิชาชั้นสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วพระสงฆ์กลุ่มนี้มีจุดประสงค์ต้องการอาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศอื่นโดยเฉพาะไปประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น โดยพระต่างด้าวเพียงจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนหรือค่าเทอมให้เรียบร้อย จากนั้นจึงนำเอกสารที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งยืนยันสถานภาพการเป็นนักศึกษาและพักอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปยื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก็ทำให้พระเหล่านี้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้แล้ว

อย่างไรก็ดีพระต่างด้าวที่เข้ามาร่ำเรียนที่ มจร. และ มมร.จะเป็นพระมาจากแถบเอเชีย ประกอบด้วย ประเทศบังกลาเทศ ศรีลังกา กัมพูชา ลาว และเนปาล เป็นส่วนใหญ่

“พระที่มาจากบังกลาเทศสร้างปัญหามากที่สุด จนทั้ง 2 มหาวิทยาลัยเข็ดขยาด พวกนี้แค่อาศัยสถานภาพของนักศึกษา แต่อันที่จริงแล้วไม่เคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเลยและยังมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมในความเป็นสงฆ์”

การที่พระต่างด้าวเหล่านี้ใช้มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นฐาน เนื่องเพราะค่าเรียนถูกกว่ามหาวิทยาลัยทั่วไป ยกตัวอย่างหลักสูตรปริญญาตรีของ มจร. ต้องศึกษาไม่น้อยกว่า 140 หน่วยกิต และคิดค่าหน่วยกิตพระไทย 25 บาท พระต่างด้าวหน่วยกิตละ 30 บาท และคฤหัสถ์ (คนไทย) หน่วยกิตละ 50 บาท เป็นต้น

ขณะเดียวกันเมื่อพระต่างด้าวได้เข้ามาศึกษาในสถาบันสงฆ์ ทำให้พระเหล่านี้มีเพื่อนฝูงในประเทศไทยมากขึ้น และหลากหลายวงการ และเมื่อเรียนไประยะหนึ่งก็ต้องการสึกออกมา แต่ก็ต้องหาวิธีการที่จะอยู่ในประเทศไทยให้ได้จึงเลือกใช้วิธีการหาสาวไทยมาจดทะเบียนสมรสด้วย

“พระพวกนี้มาอยู่เมืองไทย ก็มีการสะสมทุนจากที่มีคนนับถือถวายให้ก็นำมาใช้เมื่อมีสาวไทยมาแต่งงานด้วยก็ทำให้ง่ายต่อการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยและหาช่องทางไปประเทศที่ 3 ต่อไป พฤติกรรมเหล่านี้วนเวียนอยู่ในพระต่างด้าว”

แหล่งข่าวระบุว่า ปัญหาพระต่างด้าวที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เหมือนกับเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ตำรวจได้เข้าไปจับกุมพระพม่า เขมร ลาว จำนวนมากกว่า 200 รูป ที่เข้ามาอาศัยกางเต็นท์นอนในลานวัดตะล่อม เขตภาษีเจริญ ซึ่งจากการตรวจสอบพระต่างด้าวที่นี่ทั้งไม่มีวีซ่า และมีสถานภาพเป็นนักศึกษาของมหาจุฬาฯ หรือมหามกุฎฯ ซึ่งกรณีดังกล่าวเจ้าอาวาสออกมาเปิดเผยว่า เปิดรับพระต่างด้าวให้มาพักอาศัยในวัดเนื่องจากไม่มีวัดไหนรับพระต่างด้าวที่ต้องหาสังกัด จึงเปิดรับให้เข้ามาพักกางเต็นท์ในลานวัด ตอนเช้าก็ออกบิณฑบาตตามมีตามเกิด และตอนกลางคืนมีการทำอาหาร มีต้มบะหมี่สำเร็จรูปฉันกันอีกด้วย

“เมื่อเป็นพระ เรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็มีถิ่นที่อยู่ชัดเจน คืออยู่ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์แต่เมื่อสึกแล้วต้องสังกัดเข้าไปอยู่ในบ้านเลขที่ของคนไทย มีผู้หญิงที่รับจดทะเบียนกับต่างชาติ และพระต่างด้าวมีเงินที่จะมาจ่ายเรื่องนี้เพราะตอนบวชพระก็เก็บเงิน ค่าสมัครเรียนก็ถูกกว่ามหาวิทยาลัยทั่วๆ ไป”

ชาวบ้านมองศิษย์ “มมร.” เดินซื้อลูกชิ้นฉันเย็น

แหล่งข่าววงการสงฆ์ย้ำว่า ปัญหาของขบวนการพระต่างด้าวเหล่านี้ เป็นปัญหาที่น่ากลัวและปล่อยกันมานานแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งยังแก้ไม่ได้ เพราะหากมีเอกสารการทำผิดจับได้คาหนังคาเขาก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ แต่ถ้าจับไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันก็ต้องปล่อยไป แต่หากพระต่างด้าวไม่เข้าเรียน ขาดสอบหรือสอบ ไม่ผ่าน มหาวิทยาลัยก็ไม่ออกหนังสือให้ เมื่อขาดจากสถานภาพนักศึกษาก็ไม่สามารถนำหลักฐานในสถานะนักศึกษาและมีถิ่นที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ไปขอต่อวีซ่าได้

เมื่อพ้นสถานะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้วคนต่างด้าวกลุ่มนี้ที่เคยห่มผ้าเหลืองจะไปไหนก็ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่จะติดตาม แต่เป็นหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่จะกวาดล้างขบวนการนี้กันเอง

“เป็นเรื่องน่าห่วงเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนเต็มรูปแบบ คนเหล่านี้จะอาศัยการเปิดเสรีเคลื่อนย้ายกันเข้ามาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เพียงมหาวิทยาลัยสงฆ์เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องหาวิธีการป้องกันไว้ก่อน”

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของพระต่างด้าวนั้น หากย้อนไปในอดีต การศึกษาของพระสงฆ์นั้น “พระต้องอยู่จำวัด” คือพระต้องมีวัดสังกัด จะมีพระผู้ใหญ่คอยดูแล และยังกำหนดให้พระต้องสอบได้นักธรรมเปรียญเท่าไหร่ บวชกี่พรรษาได้ตามเกณฑ์แล้วถึงจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่เดิมมหาจุฬาฯ มีที่ตั้งอยู่ภายในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ส่วนมหามกุฎฯ ก็อยู่ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร แต่สมัยนี้เปิดกว้างให้พระเรียนวิชาทางโลกอะไรก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ แยกออกจากวัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัย และยังมีการสร้างหอพักให้พักอาศัยภายในมหาวิทยาลัย ปัญหาจึงเกิดขึ้น เพราะพระต่างด้าวที่เข้ามาศึกษาต่อในไทยจะได้ชื่อว่าสังกัดวัดไหน

“กฎหมายระบุไว้ว่า พระต้องสังกัดวัด แต่นี่พระต่างด้าวมาพักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยสงฆ์และในแง่ของกฎระเบียบใครเป็นผู้ที่ดูแลหอพัก อยู่หอพักกลางคืนไปเที่ยวข้างนอกก็ได้ ไปทั้งๆ ที่ห่มผ้าเหลือง นี่คือปัญหาที่กำลังเกิดตามมามาก ที่ผ่านมาเคยมีกรณีของพระพม่าและพระเขมร ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยมหามกุฎฯ ไปซื้อลูกชิ้นฉันในตอนเย็น และเมื่อทำกันมากๆ คนแถวนั้น ชาวบ้านที่ผ่านไปมาเห็นเข้าก็เป็นเรื่องขึ้นมา”

แหล่งข่าวระบุว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่ให้การศึกษา แต่กฎระเบียบการควบคุมศีลธรรมความประพฤติของพระสงฆ์นั้นอยู่ที่วัด พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนั้นใครจะเป็นผู้ดูแล ถ้าเมื่อก่อนอยู่ในวัดเจ้าอาวาสจะเป็นผู้ดูแลเข้มงวด แต่เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในตำรามากกว่าเข้มงวดในกฎระเบียบความประพฤติให้อยู่ในศีลในธรรมของพระ ซึ่งไม่ได้บรรจุไว้ในวิชาทางโลก อย่างสาขาปรัชญา ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาดูแลได้ คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ปัจจุบันการที่พระอาศัยอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น ต้องนำมาคิดต่อว่าวันข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร ซึ่งแตกต่างกับในอดีต ที่พระสงฆ์เรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในวัด ซึ่งมีการเรียนการสอนทั้งในตำราและนอกตำรา ผู้สอนเป็นอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์เจ้าคณะฯ ดูแลอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมหาวิทยาลัยแยกออกไปอยู่ในพื้นที่อาณาจักรของตัวเอง ซึ่งจะเรียกว่า วัด ก็ไม่ใช่ แค่มีศักดิ์ศรีว่าเป็นสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ

สำนักพุทธเคยคิดออกกฎใหม่คุมเข้มพระต่างด้าว

ทีม Special Scoop ได้รับคำอธิบายจากพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีนโยบายที่จะแก้กฎระเบียบข้อบังคับสำหรับพระต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในประเทศ โดยให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่งตัวแทนเข้าไปเพื่อมีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบสำหรับพระต่างด้าวใหม่ แต่ที่สุดแล้วนโยบายนี้ก็ยังไม่เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

“เพราะด้วยความบังเอิญที่ว่ามหามกุฎราชวิทยาลัยส่งอาตมาเข้ามาเป็นตัวแทนในการแก้ปัญหาพระต่างชาติ แต่ด้วยบทบาทดังกล่าวที่ขัดกัน เพราะอาตมาก็ถือว่าเป็นทั้งพระต่างชาติและผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว จึงมองกันว่าไม่เหมาะสมและทำให้เรื่องที่จะมีการออกกฎระเบียบสำหรับพระต่างชาติจึงถูกพับไว้ ซึ่งอันที่จริงการเป็นพระต่างชาตินั้น เป็นการให้ข้อมูลอีกด้านที่พระสงฆ์ไทยยังไม่มีข้อมูล จนกระทั่งถึงวันนี้ผู้อำนวยการสำนักพุทธเกษียณไปหลายท่านแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้า” พระ ดร.อนิลมาน กล่าว

4 แนวทางปฏิรูปพุทธศาสนา ยังรู้ไม่ทันแก๊งพระต่างด้าว

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ยังไม่ได้วางแผนรับมือกับเรื่องนี้ แต่เมื่อมีข้อมูลจะนำไปสู่การหารือกัน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ควรจะหาทางออกโดยระบบตรวจสอบ เปลี่ยนบัตรประจำตัวของพระภิกษุที่อยู่ในประเทศไทยจากใบสุทธิที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นสมุดเล่มๆ ซึ่งไม่สามารถนำมาดำเนินการเชื่อมต่อข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ได้ ให้เป็นรูปแบบเดียวกับบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด โดยวางบทบาทนี้ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เป็นศูนย์กลางมีฐานรวมข้อมูลที่ทันสมัย รวมถึงมีเลขประจำตัวของพระภิกษุที่สามารถเชื่องต่อข้อมูลไปยังระบบกระทรวงมหาดไทยได้อีกด้วย

ทั้งนี้เพื่อจะได้ตรวจสอบติดตามประวัติการบวชเป็นพระภิกษุ หากว่าพระรูปนั้นได้กระทำความผิดปราชิกหรือถูกจับสึกมานั้นจะมีการบันทึกประวัติไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พระที่ทำผิดมีโอกาสกลับมาบวชเป็นพระ โดยเฉพาะสามารถตรวจสอบได้แม้ว่าจะมีการย้ายวัดไปบวชที่วัดอื่น รวมถึงป้องกันการปลอมบวชซึ่งปัญหาที่พบมีทั้งคนไทยและคนต่างด้าว

สำหรับความคืบหน้าการทำบัตรสมาร์ทการ์ดของพระไทยอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการลงรายละเอียดที่คณะกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนาเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงในเรื่องฐานข้อมูลของพระภิกษุ แต่สุดท้ายเป็นเพียงการหารือกันโดยไม่ได้เสนอเรื่องการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดของพระภิกษุไปในการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ที่คณะกรรมการฯ เสนอรายงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 4 แนวทาง คือ 1.ทรัพย์สินของวัด และการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุ 2.การกระจายอำนาจการปกครองเกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าอาวาส 3.การศึกษาของพระสงฆ์ 4.สร้างกลไกสภาวิชาการในสภาที่จะมาตีความว่าเรื่องไหนขัดต่อพระธรรมวินัย และพระธรรมวินัยกำหนดไว้อย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนำไปปฏิบัติหรือไม่ควรปฏิบัติ ซึ่งจะต้องสร้างกลไกมารองรับกับปัญหาเหล่านี้

อย่างไรก็ตามปัญหาที่ทำให้ล่าช้าและยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดอำนาจ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องจัดทำให้พระภิกษุสงฆ์มีบัตรประจำตัวสมาร์ทการ์ดนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญตัดวงจรไม่ให้ขบวนการแก๊งต่างๆ เข้ามาอาศัยผ้าเหลืองหากินอยู่ในสมณเพศ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หารือกันในที่ประชุมและยังไม่ได้เสนอเข้าไปในรายงาน แต่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สำนักพุทธน่าจะเป็นหน่วยงานที่สานต่อนำเรื่องนี้ไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายไพบูลย์กล่าว

มหาเถระวิตกหวั่นพระต่างด้าวกระทบต่อความมั่นคง

จากข้อมูลส่วนศาสนวิเทศ สํานักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ระบุว่าพระสงฆ์ต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม มีทั้งหมด 1,135 รูป อีกทั้งยังมีรายงานของมติมหาเถรสมาคม ได้กล่าวถึงเรื่อง การจัดทำสถิติเพื่อควบคุมพระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยจำพรรษาในประเทศไทยในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ 13/2554 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือด่วนที่สุด 2356/2554 ลงวันที่ 29 เมษายน 2554 แจ้งว่า ได้รับการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบพระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยจำพรรษาในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น เพื่อศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ สอนหนังสือ หรือปฏิบัติศาสนกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้การเดินทางเข้าประเทศไทยของพระภิกษุสามเณรดังกล่าว มีทั้งถูกและผิดกฎหมาย ปัจจุบันมีจำนวนมากและถูกปล่อยปละละเลย มิได้มีการควบคุมดูแลเท่าที่ควร เป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงสถาบันชาติ และสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

คณะกรรมการฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก การสร้างศาสนทายาทให้ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องดี แต่ควรมีการควบคุมดูแลจัดทำสถิติจำนวนพระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติ เพื่อเป็นฐานข้อมูลการบริหารจัดการของคณะสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ดังนี้

1.ให้เจ้าอาวาสหรือพระสังฆาธิการจัดทำทะเบียนประวัติพระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติที่อยู่ในการควบคุมดูแล ทั้งนี้ หากเข้ามาเพื่อการศึกษาในสถาบันการศึกษาของสงฆ์ควรจะมีการรับรองสถานภาพจากต้นสังกัด หรือสถานเอกอัครราชทูตของประเทศนั้นๆ

2.ให้เจ้าอาวาสหรือพระสังฆาธิการรายงานจำนวนพระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นทุกปี

3.ให้วัดหรือสถาบันการศึกษาของสงฆ์จัดกิจวัตรของคณะสงฆ์ไทยให้พระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติได้ปฏิบัติ เช่น การทำวัตรเช้า - เย็น เป็นต้น

4.ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสำรวจพระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติที่จำพรรษาอยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการควบคุมดูแลและส่งเสริมการพัฒนาที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คณะสงฆ์ได้ถือปฏิบัติโดยทั่วกัน

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นว่า เมื่อดำเนินการตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ ให้รวมถึงอุบาสิกาชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาหรือปฏิบัติธรรมในประเทศไทยโดยถือเพศเป็นแม่ชีด้วย

โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติปรับปรุงกฎหรือระเบียบที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ครอบคลุมตามข้อเสนอ รวมทั้งสภาพการณ์ที่จะพึงเกิดขึ้นในอนาคต

หลังเปิดเออีซีไม่ควบคุมพุทธศาสนาเสียหายแน่!

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ กล่าวถึงแนวโน้มปัญหาที่จะเกิดจากพระต่างด้าวว่า สิ่งที่น่ากลัวเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) แล้ว กฎหมายจะเอื้อประโยชน์ให้พระสงฆ์ในแถบประเทศอาเซียนเข้า-ออกประเทศไทยได้ง่ายขึ้น และปัญหาจะยิ่งลุกลามไปจนถึงขั้นกระทบภาพลักษณ์พุทธศาสนาในประเทศไทยมากขึ้น เพราะจากเดิมปัญหาพระต่างด้าวส่วนใหญ่มาจากกลุ่มที่ถือวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยวที่มีอายุ 1 เดือน และอ้างว่าเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรม เมื่อมาแล้วเจ้าอาวาสในวัดบางแห่งที่รู้เห็นเป็นใจก็ออกหนังสือรับรองให้

ทั้งนี้ระเบียบของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ สำหรับพระต่างชาติที่มีความประสงค์จะเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย ต้องมีวัดที่สังกัดโดยเจ้าอาวาสเป็นผู้รับรอง และต้องมีหลักฐานที่ออกโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ไปสมัครเรียน โดยการ “ขอเดินทางเข้ามาศึกษาหรือปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา” และขอรับการตรวจลงตราหนังสือเดินทางประเภท Non-Immigrant Visa จะต้องปฏิบัติดังนี้

1.หนังสือจากเจ้าอาวาสวัดที่อนุญาตให้พำนักอาศัย

2.หนังสือรับรองจากเจ้าสำนักเรียนหรือสถานศึกษาที่รับเข้าศึกษา

3.สำเนาหนังสือเดินทาง

สำหรับระหว่างที่กำลังศึกษาหากจะต่อวีซ่านั้น พระต่างชาติที่มีสถานะเป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่มหาจุฬาฯ และมหามกุฎฯ ก็สามารถดำเนินการได้ โดยนำเอกสารที่ทางมหาวิทยาลัยออกให้ไปยื่นขอต่อวีซ่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ด้วยตัวเอง โดยการขอวีซ่าพระสงฆ์สามเณรต่างชาติ ที่เป็นระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองให้ “ต่ออายุวีซ่า” แก่ชาวต่างประเทศผู้เข้ามาศึกษาหรือปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย พ.ศ. 2546 ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ และจะต้องมีเอกสารประกอบดังนี้

1.หนังสือจากเจ้าอาวาสวัดที่อนุญาตให้พำนักอาศัย

2.หนังสือรับรองจากเจ้าสำนักเรียนหรือสถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่

3.แบบประวัติ ศว.๑ ที่ผ่านการรับรองจากเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับชั้น

4. สำเนาหนังสือเดินทาง พร้อมตราประทับวีซ่า Non-Immigrant Visa

5.รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป

ส่วนในการยื่นเรื่องขอต่อวีซ่าของพระต่างชาติที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยวนั้น การดำเนินการจะต่างกับสถานะนักศึกษา โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าอาวาสที่จะออกหนังสือรับรองให้ และส่งเรื่องต่อไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เพื่อนำไปยื่นที่สำนักตรวจคนเข้าเมืองต่อไป
(แฟ้มภาพ) สตม.ตรวจสอบพระต่างชาติที่วัดตะล่อม เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2554
เช่นกรณีที่วัดตะล่อม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 หลังจากตำรวจและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเข้าไปตรวจสอบก็พบว่าพระต่างด้าวกลุ่มที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยว มีเงินโอนเข้าธนาคารเฉลี่ยวันละ 3,000 บาท ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินที่ได้จากการบิณฑบาต และเงินทำบุญที่มาจากคนไทยที่มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนา

สำหรับเรื่องฉาวของพระต่างด้าวที่วัดตะล่อม เกิดขึ้นในยุคที่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมองเห็นปัญหานี้ จึงมีการหารือแนวทางแก้ปัญหากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงการต่างประเทศ โดยเสนอเงื่อนไขการเข้า - ออกประเทศหลังเปิดเออีซี ควรยกเว้นคนบางกลุ่ม เช่น พระสงฆ์ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยต้องขอวีซ่า หรือมีการเซ็นใบรับรองจากพระผู้ใหญ่และต้องกำหนดแหล่งพำนักให้ชัดเจน ห้ามพำนักในหอพักหรืออพาร์ตเมนต์

อย่างไรก็ตาม ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคแรงงาน จะมีการเคลื่อนย้ายและเดินทางเข้า-ออกกันได้สะดวกขึ้น ซึ่งหากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องพุทธศาสนาในประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนในการเตรียมตัวก็อาจจะมีกลุ่มคนแฝงตัวมาในรูปคนห่มผ้าเหลืองที่อ้างเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง โดยผ่านทางตะเข็บชายแดนได้ง่ายยิ่งขึ้น และอาจมาสร้างปัญหาจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงต่อสถาบันชาติ และสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยได้!

กำลังโหลดความคิดเห็น