xs
xsm
sm
md
lg

โกลาหล! “วัดบ้านไร่” ในวันสูญเสียหลักชัยแห่งที่ราบสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่สิ้นร่มโพธิ์ร่มไทรค้ำจุน “วัดบ้านไร่” ศิษย์ “หลวงพ่อคูณ” ต่างขาดที่พักพิงจิตใจ ความระส่ำระสายเริ่มปรากฏชัดเมื่อมีการแต่งตั้ง “รักษาการเจ้าอาวาส” ทำหน้าที่แทนโดยฉับพลัน พร้อม “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหลวงพ่อคูณและวัดบ้านไร่” ที่สังคมกำลังจับตาตรวจสอบความโปร่งใส หวังเพียงได้ใช้ให้ตรงตามเจตนาของเกจิอาจารย์ในวันที่ท่านสิ้นลม...




“รักษาการ” ฉับไว! ลับลมคมในที่ต้องตรวจสอบ?
หลังสูญเสียศูนย์รวมใจแห่งวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” (พระเทพวิทยาคม) ซึ่งละสังขารลงในวัย 92 ปีเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการแต่งตั้ง “พระภาวนาประชานาถ” (นุช รตนวิชโย) วัย 66 ปี 22 พรรษา วิทยาฐานะนักธรรมโท (น.ธ.) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่เข้ามาแทนที่ในทันทีที่สิ้นหลวงพ่อคูณ
 
ด้วยความฉับไวในการแต่งตั้งในครั้งนี้เอง จึงเป็นที่มาของความข้องใจของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา บ้างแบ่งว่ารักษาการเจ้าอาวาสองค์ใหม่นี้ยังไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงพอ บ้างตีความไปว่าเป็นการเตรียมการเสียบแทนตำแหน่งที่ได้วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าจนเกินงาม แม้แต่ “พระราชวิมลโมลี” เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ยังถึงกับออกปากให้สื่อมวลชนช่วยตามตรวจสอบกันให้ดีๆ เกรงว่ากระบวนการนี้อาจมีลับลมคมใน โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้งเจ้าอาวาสใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนอย่างรวดเร็วในวันที่พระเทพวิทยาคมมรณภาพ

(คำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของพระเทพวิทยาคมและวัดบ้านไร่)
“ประเด็นนี้มีการสอบถามกันมากและมีคนติดใจเรื่องนี้เยอะ ความจริงอาตมาก็มีความรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน ตกใจว่าทำไมทำกันแบบนี้ มีลับลมคมในหรือมีการเตรียมแผนอะไรกันมาอย่างไร ซึ่งอาตมาได้พยายามสอบถามว่าแต่งตั้งและลงนามกันวันไหน เวลาใด เพราะเป็นเวลาเดียวกับที่หลวงพ่อคูณยังไม่ขาดใจ มันกระชั้นชิดและเร็วเกินไป

อยากถามว่า หลวงพ่อคูณยังไม่ขาดใจ เอาเวลาไหนไปปรึกษาหารือ เพราะในเอกสารแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสมีคำหนึ่งบอกว่าได้ปรึกษาหารือกัน ไปปรึกษาอย่างไร หลวงพ่อคูณยังไม่ขาดใจ ก็แช่งให้หลวงพ่อตายไวๆ อย่างนั้นหรือ เขาไม่เคยทำกันหรอก นี่ก็เท่ากับแช่งหลวงพ่อคูณให้ตายไวๆ หลวงพ่อคูณยังไม่ขาดใจเลยก็ตั้งรักษาการแล้ว นี่แสดงว่าชิงไหวชิงพริบ หรือมีอะไรอยู่ลึกๆ ว่าถ้าไม่รีบเอาช่วงนี้ ก็อาจจะเพลี่ยงพล้ำเสียทีอะไรอย่างไร มันบ่งบอกอยู่ ให้สื่อมวลชนไปสืบหาเอาเองก็แล้วกัน”


(ตั้ง "รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่" อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พ.ค.)
ส่วนเรื่องคุณสมบัติของ “รักษาการเจ้าอาวาส” ที่ยังมีบางฝ่ายมองว่าอาจไม่เหมาะสมให้ขึ้นมาแทนที่นั้น หากพิจารณาตามหลักการและหน้าที่ของคำว่า “เจ้าอาวาส” แล้ว จำต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ครบทั้ง 4 ข้อ คือ 1.บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและสาธารณสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี 2.ปกครองสอดส่องพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามกฎหมายบ้านเมือง กฎมหาเถรสมาคม ตลอดจนพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช 3.เป็นธุระในการจัดการศึกษาเล่าเรียนอบรมพระภิกษุ และผู้อยู่อาศัย และ 4.เป็นธุระในการบำเพ็ญกุศลของชาวบ้าน

หากทำได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็พอจะเบาใจได้ว่าจะสามารถดำรงตำแหน่งนี้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ที่สำคัญ ต้องจัดการบริหารกิจการต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปด้วยความราบรื่น ไม่สร้างความยุ่งเหยิงวุ่นวาย

“แต่พอมาเป็นปั๊บยุ่งทันที แสดงว่าไม่เหมาะสมจะแก้ปัญหายากตามมาอีกยาว และอีกข้อคือเป็นธุระในการจัดการศึกษานั้น สามารถจะเปิดเรียนได้หรือไม่ และสามารถจะเปิดสอนนักธรรมโท นักธรรมเอกได้หรือไม่ ในเมื่อผู้รักษาการเจ้าอาวาสมีวุฒิแค่นักธรรมโท และนักธรรมโทจบมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ลืมไปหมดหรือยังนานป่านนี้ หรือสอบได้ตั้งแต่ปีไหนทิ้งไปปี 2 ปีก็ลืมไปหมดแล้ว


("พระราชวิมลโมลี" เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา โชว์หนังสือแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส)
ฉะนั้น จะมาเปิดเรียนให้เป็นการศึกษาขึ้นมาจะต้องเอาพระที่มีฝีมือ และมีความรู้ความสามารถทางการศึกษาไปอยู่ หากว่าไม่ได้พระที่มีความรู้ความสามารถทางการศึกษา เราก็ไม่สามารถจะผลักดันวัดบ้านไร่ให้เป็นวัดสถานศึกษาได้

การแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสนั้นเป็นอำนาจของเจ้าคณะตำบล ฉะนั้น ตอนนี้ก็คล้ายๆ ทดลองฟังกระแสของสังคมไปก่อน แต่ความจริงมีอำนาจหน้าที่เหมือนเจ้าอาวาส แต่โดยมารยาทเขาจะรู้อยู่แล้วว่าควรจะทำอะไร อย่างไร ซึ่งคุณสมบัติที่กล่าวมานี้ เจ้าคณะตำบลจะต้องไปตรวจสอบว่าครบสมบูรณ์หรือไม่ แต่ต้องปรึกษากันกับคณะสงฆ์ในตำบลและอำเภอด้วย ซึ่งการประชุมระดับอำเภอน่าจะมีการหารือในเรื่องนี้
สุดท้ายต้องให้เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งถึงจะสมบูรณ์ ซึ่งการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนั้นมีเงื่อนไขหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ผู้ที่จะมาเป็นเจ้าอาวาสต้องผ่านการอบรมและการทดสอบจากทางจังหวัดก่อนจึงจะไปดำรงตำแหน่งได้”




ตรวจสอบทรัพย์สิน ไขความกระจ่างสู่สังคม!

("พระเทพวิทยาคม" ละสังขาร เมื่อวันที่ 16 พ.ค.)
ล่าสุด พระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามคำสั่งคณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของพระเทพวิทยาคมและวัดบ้านไร่” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 31 คน ประกอบไปด้วยกรรมการจากทั้งฝั่งสงฆ์และฆราวาส

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ตรวจสอบทุกรายรับและรายจ่ายที่เป็นทรัพย์สินของหลวงพ่อคูณและวัดบ้านไร่ อันได้แก่ เงินสด บัญชีเงินรับบริจาคทุกรายการ, บัญชีเงินเช่าบูชาวัตถุมงคล, บัญชีเงินฝากธนาคาร, บัญชีเงินมูลนิธิ, สิ่งของมีค่า, วัตถุมงคล ฯลฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อประกาศต่อสาธารณชนให้ได้ภายใน 2-3 วันหลังการตรวจสอบ

“ผู้ที่ต้องการจะได้ผลประโยชน์จากหลวงพ่อคูณ คงจะต้องยุติบทบาทเพราะท่านไม่อยู่แล้ว จะเอาอะไรมาอ้างไม่ได้ หรือมีน้อยที่เหลือก็มี แต่ว่ามีอะไรที่เหลืออยู่ในวัดที่พอจะขายได้ ทำอะไรได้ ก็คงคิดได้แค่ตรงนั้น แต่จะมีกิจกรรมอะไรคับคั่งเหมือนตอนที่ท่านอยู่คงไม่มี แต่ที่จะมีอะไรคาราคาซังอยู่ คือกรรมการวัดบ้านไร่ชุดใหม่กับชุดเก่าว่าจะเคลียร์กันได้แค่ไหน ต้องอาศัยกรรมการชุดนี้ที่แต่งตั้งไปช่วยดูให้ละเอียด

เริ่มตั้งแต่โฉนดที่ดินใบตราตั้งวัดว่าอยู่กับใคร การบริหารวัดในช่วงที่ผ่านมามีการบริหารงานแบ่งสัดส่วนอย่างไร ทั้งกุฏิวัด พิพิธภัณฑ์ วิหารกลางน้ำ ซึ่งมีหลายจุดมีระบบการแบ่งงานกันอย่างไร ตรวจสอบรายรับรายจ่ายอย่างไร ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตรวจค้น เข้าไปช่วยด้วยว่ามีการเก็บกุญแจตู้เซฟ ตู้บริจาคและประตูหน้าต่างไว้กับใครอย่างไร และได้ทำการซีนไว้หรือยังตั้งแต่หลวงพ่อคูณมรณภาพ หรือปล่อยให้ใครไปรื้อค้นเอาของมีค่าไป ทุกอย่างมีครบหรือไม่

รวมถึงเงินที่ผ่านมาทางมูลนิธิ เงินที่ผ่านมาทางหลวงพ่อคูณ และมีใครรู้เห็นว่าหลวงพ่อคูณมีทรัพย์สินอะไรอยู่บ้าง ยังอยู่ครบหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ฉะนั้น คณะกรรมการชุดนี้ต้องละเอียด ต้องเอาตำรวจมาช่วยตรวจค้นเหมือนการตรวจหายาบ้าเพื่อจะได้ตอบสังคมได้” พระราชวิมลโมลี เปิดเผยรายละเอียดเอาไว้กับทีมข่าวผู้จัดการ ศูนย์ข่าวนครราชสีมา

(คำฝากฝังที่ "หลวงพ่อคูณ" ให้ไว้เมื่อนานมาแล้ว)

ลองมาพิจารณาโครงสร้างของ “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของพระเทพวิทยาคมและวัดบ้านไร่” โดยละเอียดแล้ว ถือว่าเป็นการรวมตัวที่คับคั่งไปด้วยบุคคลที่น่าเชื่อถือหลายต่อหลายท่าน ตั้งแต่หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฝ่ายราชการ คณะสงฆ์ระดับอำเภอ ตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในระดับตำบล หมู่บ้าน รวมทั้งกรรมการวัดบ้านไร่ชุดเดิมผู้ทำหน้าที่รักษาการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงพ่อคูณทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีเจ้าคณะและผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มาเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมาร่วมลงมาให้รายละเอียดด้วย ถือเป็นโครงสร้างการแก้ปัญหาที่ตรงตามที่ ผศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ประธานโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการภายในวัด คือมีทั้งพระสงฆ์เจ้าคณะต่างๆ ที่มีอำนาจปกครองเข้ามาร่วมกันตรวจสอบ และมีสำนักงานกลางจากพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยดูแล แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ แนะว่าควรมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ในทุกๆ วัดตั้งแต่เจ้าอาวาสยังไม่มรณภาพ


“ตามหลักการแล้ว ทุกปีทางวัดจะต้องส่งบัญชีรายรับรายจ่ายให้แก่ทางสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติอยู่แล้ว แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ วัดที่ส่งจริงๆ มีอยู่ไม่ถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ และยังคงมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนบุคคลอยู่ด้วย ถ้าเกิดญาติโยมไม่ได้บริจาคในนามของวัด แต่บริจาคให้เจ้าอาวาสโดยตรง แต่ถ้าเป็นพระที่ท่านมีเมตตาสูง ท่านอาจจะไม่รับบริจาคหรืออาจจะรับมาแล้วเอาไปไว้ในกองกลาง เช่นเดียวกับกรณีหลวงพ่อคูณที่เอาเงินบริจาคไปสร้างโรงพยาบาลต่างๆ มากมาย แต่กรณีพระรูปอื่นๆ บางทีเราก็ไม่ทราบว่าเจ้าอาวาสเอาเงินไปใช้ทำอะไร เงินที่บริจาคกันตามศรัทธาตรงนี้จึงถือเป็นแดนสนธยาพอสมควร

ยกตัวอย่างกรณีการสูญเสียของเกจิอาจารย์ชื่อดัง “หลวงพ่อโสธร” เมื่อท่านสิ้นไป ผลประโยชน์ที่รายล้อมเอาไว้ก็มีมากมาย ต้องใช้คนจากส่วนกลางเข้าไปช่วยดูแล มีพระพรหมสุธีก็เข้าไปเป็นผู้ตรวจสอบ จนกลายเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมาเสียเอง เพราะฉะนั้น ผู้ตรวจสอบเองก็ต้องระวังเรื่องความโปร่งใสของทางคณะผู้ตรวจสอบเองด้วยเหมือนกัน

ส่วนเรื่องการแต่งตั้งเจ้าอาวาสคนใหม่นั้น ถือเป็นประเด็นที่กังวลกันอยู่มากเหมือนกันครับ เพราะปกติแล้วเขาจะคัดเลือกเจ้าอาวาสจากคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ถ้าไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวพัน มันก็มีหลายเคสที่แต่งตั้งเจ้าอาวาสถูกใจชาวบ้าน ชาวบ้านก็ยินดี แต่บางทีแต่งตั้งคนนอกมาซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่หรืออาจประวัติไม่ดีแต่พระผู้ใหญ่ส่งมา ชาวบ้านก็จะไม่ยอมรับ อย่างกรณีที่เกิดกับวัดโสธรก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องชาวบ้านไม่ยอมรับเจ้าอาวาสองค์ใหม่ ส่วนจะเกิดกับวัดบ้านไร่หรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องคอยดูกันต่อไป”



เรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้ประเด็นอื่นๆ คือการปั่นราคา “วัตถุมงคล” รุ่นต่างซึ่งอ้างว่าเป็นสิ่งปลุกเสกของหลวงพ่อคูณ จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ พวกเราชาวพุทธทั้งหลายจึงควรมองให้เห็นถึงแก่นธรรมที่ “เทพเจ้าแห่งที่ราบสูง” หรือหลวงพ่อคูณได้ฝากเอาไว้ มากกว่าจะเพ่งความสำคัญไปที่วัตถุที่ระลึกเหล่านั้น
 
“คำสอนของพระพุทธเจ้าคือการไม่ยึดติดกับวัตถุ มุ่งเน้นให้พัฒนาจิตใจเป็นสำคัญ วัตถุเหล่านี้จึงเป็นแค่สิ่งระลึกเตือนใจให้เราทำความดี แต่ปัจจุบันพระรุ่นต่างๆ ของเกจิอาจารย์ถูกปั่นราคาจนกลายเป็นพื้นที่พุทธพาณิชย์ ทำให้คนห่างไกลศาสนามากขึ้น
แม้แต่บั้นปลายของหลวงพ่อคูณ ท่านยังสอนให้เราเห็นถึงการเกิดแก่เจ็บตาย ถึงท่านจะเป็นองค์พระเกจิอาจารย์ก็ตาม หรือแม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีใครหลีกหนีพ้นกฎแห่งความจริงตรงนี้ได้ ดังนั้น เราคงต้องมาน้อมนำสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาดูตัวเราเองว่า เราได้ทำความดีอะไรเหมือนอย่างที่ตอนหลวงพ่อคูณท่านมีชีวิตอยู่และทำบ้างหรือเปล่า


“...กูไม่เคยยินดียินร้ายในลาภยศสรรเสริญ... เงินเป็นทาสกู กูไม่ยอมเป็นทาสเงิน...”
“...กูทำดี เขาจึงให้ของดีกูมา... พวกมึงได้ไป ต้องมีศีลมีธรรม เอาเพียงศีลห้าก็พอ ทำได้ไหม กำให้อยู่ วันหนึ่งๆ มึงจะมีสติกำอยู่ได้กี่ศีล นี่แค่ 5 ข้อนะ พระนี่กำตั้ง 227 นะมึง...”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- แรงศรัทธาสร้างปาฏิหาริย์ หลวงพ่อคูณ เล่าขานตำนานเทพเจ้าแห่งที่ราบสูง
- เจ้าคณะจังหวัดตั้ง กก.ตรวจทรัพย์สิน“พ่อคูณ-วัดบ้านไร่” ย้ำสอบละเอียดทุกเม็ด นำผู้เชี่ยวชาญช่วยค้น
- เจ้าคณะจังหวัดชี้ตั้งรักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ไม่เหมาะสม “พ่อคูณ” ยังไม่สิ้นใจเท่ากับแช่ง
- ชาวโคราชหลั่งไหลร่วมบำเพ็ญกุศล “พ่อคูณ” เหมาบัส 19 คัน เป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมคืนนี้
- เปิดพินัยกรรม “พ่อคูณ” มอบสังขารคณะแพทย์ ม.ขอนแก่น ห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ นำอัฐิเถ้าถ่านลอยน้ำโขง (ชมคลิป)
- เผย “เจ้าอาวาสใหม่” วัดบ้านไร่เจ้าของ “โถส้วมทองคำ” ระบุถูกไล่ออกวัดเหตุด่า “หลวงพ่อคูณ”
- มข.เตรียมเคลื่อนย้ายสรีระสังขาร “หลวงพ่อคูณ”
กำลังโหลดความคิดเห็น