xs
xsm
sm
md
lg

พลังโซเชียลแรง(ตก)! CP ฆ่าไม่ตาย แอนตี้ 7-eleven ไม่สำเร็จ?

เผยแพร่:   โดย: ASTVผู้จัดการรายวัน

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ในสังคมออนไลน์ปลุกกระแสแอนตี้การซื้อสินค้าจากร้าน 7-eleven รวมทั้งสินค้าเครือ CP เพราะผลพวงจากข้อครหาในประเด็นมุ่งกอบโกยแต่ผลประโยชน์? กระแสดังกล่าวส่งผลให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ CP เสียหายอย่างมาก ทั้งแง่มุมไม่ชอบมาพากลของธุรกิจในเครือฯ ถูกนำมาตีแผ่โจมตีเป็นพัลวัน

แม้จะเกิดกระแสแอนตี้สินค้าเครือ CP โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ผู้ใช้งานรวมพลัง 'กดไลน์' และ 'กดแชร์' แสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนธุรกิจที่พวกเขาเรียกกันง่ายๆ ว่า 'เอาแต่ได้' งานนี้ถึงจะเป็นเสียงจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่ออกโรงต้านแต่กระแสก็แรงดังถึงหู เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้บริหารใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)

แอนตี้ อย่างมีเหตุผล
หลังเรื่องฉาวแฉบนโลกออนไลน์ อาทิ กรณี ทาง CPถูกกล่าวอ้างว่าลอกเลียนแบบ สูตรขนมโตเกียวบานาน่า ของซัปพลายเออร์ ซึ่งทาง CP ออกมาแถลงการณ์ว่าไม่เป็นความจริง หรือการตั้งร้าน 7-eleven ของ CP แข่งกับผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชซ์ โดยภายหลัง CP ออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเช่นกัน ทว่า กระแสแอนตี้ไม่ได้สิ้นสุดหลังถ้อยแถลง

ด้าน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย นักการเมืองคนดังที่ออกมาแฉหมดเปลือกในทุกประเด็น โพสต์ข้อความผ่านสื่อเฟซบุ๊กแฟนเพจ ชูวิทย์ I'm No.5 เกี่ยวกับประเด็นที่สังคมออนไลน์รวมพลังต่อต้านสินค้าเครือ CP ตัดทอนใจความสำคัญ ความว่า

“ไม่มีใครรู้ว่าตอนนี้ซีพีใหญ่แค่ไหน? ซีพีลงทุนไปทั่วโลกแม้ปากจะบอกอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นบริษัทของคนไทย แต่ในโลกของธุรกิจสากล ซีพีไม่มีสัญชาติ

เราเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า "บริษัทข้ามชาติ" ไปลงทุนที่ประเทศไหนก็จัดตั้งบริษัทตามสัญชาติของประเทศนั้น
เราได้ยินเรื่องราวการประสบความสำเร็จของซีพีมามาก เริ่มต้นจากร้านขายอาหารสัตว์เล็กๆเมื่อ 50 ปีก่อน ตั้งอยู่แถบเยาวราช บนถนนทรงวาด หลังบ้านผมนี่เอง

แต่ซีพีควรจะฟังว่า คนไทยรู้สึกอย่างไรกับซีพี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำไมคนไทยถึงไม่ประทับใจกับความสำเร็จของซีพี?

1. ซีพีใหญ่เกินไป และการเติบโตประสบความสำเร็จของซีพี คืนกำไรกลับสู่สังคมน้อยมาก
ไม่ต้องไปพูดถึงการบริจาคน้ำท่วม หรือเอาผ้าห่มไปให้กับผู้ประสบภัยหน้าหนาว เพราะเรื่องแค่นั้นมันจิ๊บจ๊อย เมื่อเทียบกับการที่ซีพีมีอำนาจเหนือตลาด โดยใช้เงินทุนกำหนดทิศทางตลาดจนกระทั่งคู่แข่งขันเหลือน้อยลง หรือหายสาปสูญไป

ยกตัวอย่าง เซเว่นอีเลฟเว่นที่มีสาขามากมาย คู่แข่งอย่างแฟมิลี่มาร์ท หรือลอว์สัน เทียบไม่ติดฝุ่น

2. วิธีการที่ซีพีปฏิบัติต่อลูกค้าหรือคู่ค้า เป็นเพียงเรื่องของธุรกิจเท่านั้น จึงยากที่จะทำให้คนไทยในฐานะลูกค้า คิดถึงซีพีในแง่ที่ดีอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ซีพีตะกละตะกลามที่จะประสบความสำเร็จโดยใช้วิธีควบคุมตลาด เปิดเซเว่นโปรยไปทั่วทุกชุมชน จนไม่เหลืออะไรให้กับคนท้องถิ่นที่อยากประกอบธุรกิจแบบเดียวกัน ค่าแฟรนไชส์ก็หนักหนาสาหัส แถมยังชักเปอร์เซ็นต์จากผู้ที่เปิดร้านเซเว่นมากกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์

3. ซีพีประสบความสำเร็จมากเกินไป อะไรที่ซีพีทำต้องเหนือกว่าผู้อื่นไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าขายไก่ อาหาร ค้าปลีกค้าส่ง โทรคมนาคม เคเบิ้ลทีวี และต่อไปอาจจะเป็น "รถไฟความเร็วสูง"

ซีพีแทรกซึมเข้าไปทุกธุรกิจ ทำกำไรมหาศาล และไม่เหลือพื้นที่ยืนให้กับคู่แข่งขันขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ หรือแม้กระทั่งคนในท้องถิ่น

คนไทยไม่ได้ต้องการบอยคอตหรือต่อต้านซีพีแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการบอกให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซีพีได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ ว่าคนไทยคิดอย่างไรกับซีพี

ทำไมคนไทยถึงไม่ภาคภูมิใจกับความสำเร็จของซีพี? มันเป็นคำถามที่ยาก ที่ซีพีจะต้องค้นหาคำตอบให้เร็วที่สุด

ไม่อย่างนั้น ไม่ว่าซีพีจะประสบความสำเร็จมากมายเท่าไหร่ คนไทยก็ยิ่งเกลียดกลัวซีพีมากขึ้นเท่านั้น”

หนีให้พ้น ถ้านายแน่จริง!
อ้างอิงจากเพจ I'm No.5 ชูวิทย์ โพสต์ข้อความถึงวิสัยทัศน์ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีชาวไทย ผู้ก่อตั้งซีพี ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฟอร์บส์ ความว่า

“ตลาดในโลกนี้เป็นของซีพี คนเก่งในโลกนี้เป็นของซีพี วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของซีพี เงินในโลกนี้เป็นของซีพี อยู่ที่ว่าเรามีความสามารถเอาเงินเขามาใช้หรือเปล่า ผมมองระดับโลก ไม่เฉพาะเมืองไทยหรือเมืองจีน ที่ใดมีโอกาส ที่นั่นเป็นของซีพี"

อย่างไรก็ตาม แคมเปญรณรงค์บนโลกออนไลน์ ไม่เข้าร้าน 7-eleven รวมถึงไม่ใช้สินค้าเครือ CP เป็นเวลา 5 วัน เมื่อวันที่ 7 - 11 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงพลังไม่เอาธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค ในทางปฎิบัติอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ ลงพื้นที่ร้าน 7-eleven ย่านพระนคร พูดคุยกับพนักงานประจำร้าน ได้ความว่า ผู้บริโภคเข้าเลือกซื้อสินค้าในร้านตามปกติ จำนวนไม่ได้ลดลงตามที่มีแคมเปญรณรงค์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แคมเปญดังกล่าวมีกระแสวิจารณ์ต่างๆ นานา บ้างก็มองว่าไร้ประโยชน์ แต่ก็มีผู้คนจำนวนนึงร่วมแสดงความคิดเห็นว่าอย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นเตือนทาง CP ว่าสังคมมีกระแสอย่างไรต่อการทำธุรกิจในแบบของเขา

"มันก็เป็นการแสดงออกเพื่อให้อย่างน้อย CP ก็ตระหนักถึงว่าผู้บริโภคในประเทศไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ CP ต่อให้มันจะได้ผลไม่ได้ผล เค้าก็ดีแล้วที่ทำอะไรที่เป็นเชิงสัญลักษณ์" ความคิดเห็นจาก โอ๋ เดอะสเมิร์ฟ

"ถ้าภาคประชาชนไม่ตื่นตัวออกมาทำอะไรให้เกิดเป็นกระแสสังคม แล้วคิดว่าภาครัฐจะไปกล้างัดเหรอ อย่าอ่อนต่อโลกนักเลย ประชาชนต้องสู้ด้วยตัวเองก่อน ดูอย่างการปฏิวัติครั้งล่าสุดสิ ประชาชนออกมาก่อนข้าราชการเสมอ" ความคิดเห็นจากNan Bkk
ภาพจาก FB@ I'm No.5

สอบถามไปทาง ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แม้ในโซเชียลมีเดียจะก่อเกิดกระแสแอนตี้ผลิตภัณฑ์ในเครือ CP แต่นั่นเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในแง่ผลประกอบการ

แต่ในเชิงภาพลักษณ์องค์กรได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างหนัก สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าในเครือ CP ยกตัวอย่าง ร้าน 7 - 11 แม้จะมีการรณรงค์แต่แคมเปญดังกล่าวไม่สามารถบังคับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้

ผู้บริโภคแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ผู้ที่ไม่ซื้อสินค้าของ CP อยู่แล้ว กลุ่มที่สอง ซื้อบ้างไม่ซื้อบ้างตามโอกาส และกลุ่มที่สาม ผู้ซื้อสินค้าและบริการจาก CP เป็นประจำ ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนั้นมีส่วนสำคัญที่จะสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจของ CP ฉะนั้น ถ้าพวกเขาลุกฮือขึ้นมาแอนตี้จริงๆ จะส่งผลกระทบอย่างหนัก

วิกฤติ CP ต้องรีบกู้ภาพลักษณ์
การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการ ผู้บริโภคมีอำนาจในการตัดสินใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ผศ.ดร.อัศวิน ให้ความเห็นต่อแคมเปญรณรงค์ขอคนกลุ่มเล็กๆ บนโลกออนไลน์ ส่งผลให้แคมเปญดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

“เนื่องจากว่ามันเป็นกระแสที่มาค่อนข้างเร็วและก็กระชั้นชิด ปกติการณรงค์ออนไลน์ต้องมีการปูพื้นมาเป็นระยะ แต่เรื่องนี้เท่าที่สังเกตมามันไม่นานเท่าไหร่ ฉะนั้น ก็จะมีคนที่รับรู้ไม่มากนัก จะมีก็กลุ่มคนในเมือง กลุ่มคนที่ใช้โซเชียลเป็นประจำ”

ผศ.ดร.อัศวิน กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่โลกออนไลน์ต่อต้าน และร่วมวิจารณ์ต่างๆ นานา “อย่างน้อยๆ เป็นการเปิดประเด็นสร้างความตื่นตัว คนที่ไม่เคยรับข้อมูลด้านนี้มาก่อนเลยอย่างน้อยๆ ก็เป็นการทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ เหมือนกันว่ามีข้อมูลแบบนี้อยู่ การที่โลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์หนักมาก จะเป็นแบรนด์ไหนที่โดนก็ต้องกลับมาทบทวนสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติ”

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกออนไลน์อาจเป็นเครื่องมือในการดิตเครดิสคู่แข่งทางธุรกิจ ผศ.ดร.อัศวิน ย้ำเตือนว่าโซเชียลมีเดียเหมือนเหรียญสองด้าน เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถใช้ได้

“กระแสลบตรงนี้ต้องมองว่าเป็นพลังที่สะท้อนมาจากผู้บริโภคจริงหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงยิ่งต้องดูแลปรับปรุงแก้ไข”

การทำธุรกิจนั้น ประเด็นเรื่องผู้บริโภคสำคัญที่สุด “จะเป็นแบรนด์ไหน บริษัทใหญ่ขนาดไหนต้องรับ เพราะกระแสในโลกออนไลน์ มันมีโอกาสเข้าไปเชื่อมโยงโลกออฟไลน์ได้เสมอ”

…......................
ข่าวโดย Astv ผู้จัดการ Live
ข้อมูลและภาพประกอบ FB@ I'm No.5 




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




กำลังโหลดความคิดเห็น