เพียงนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส ใช้ชีวิตปกติสุข กลับมาบ้าน เปิดคอมพ์ คุณอาจพบตัวเองกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ในชั่วข้ามคืนได้ คุณอาจถูกแอบถ่าย แอบนินทา แอบหมิ่นหยาบความเป็นมนุษย์จากคนที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยทั้งหมดนี้นับวันยิ่งจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
กรณีล่าสุดกับคู่รักหนุ่มไทยกับหนุ่มฝรั่งที่ถูกแอบถ่ายและนำมาตั้งเป็นประเด็น จนคนแห่กันเข้ามาแสดงความเห็นในทางเสียหายกันมากมาย กลายเป็นเรื่องที่สังคมควรตั้งคำถามกับการเคารพสิทธิของผู้อื่นในที่สาธารณะ และการเคารพต่อเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น
กับสังคมที่ทุกคนพกสมาร์ทโฟนที่ติดตั้งกล้องความละเอียดสูง ความเร็วเน็ตที่เร็วกว่าความคิดของผู้คน เพียงไม่กี่วินาทีหลังภาพถูกถ่าย โพสต์ แชร์ส่งต่อ ความเห็นหลากหลายของผู้คนก็พร้อมจะพิพากษาด้วยภาพถ่ายเพียงภาพเดียว กับข้อความเพียงไม่กี่ตัวอักษร
แล้วจะปล่อยให้สังคมเป็นไปอย่างนี้หรือ? วันหนึ่งคุณอาจตกเป็นเหยื่อมนุษย์กล้องก็เป็นได้
ภาพเดียวก็ด่าได้
ปัญหาการแอบถ่ายแล้วนำมาโพสในทางเสียหายนั้นไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย หากแต่มีหลายกรณีซึ่งเกิดจากเพียงภาพถ่ายภาพเดียว ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง จนผู้คนที่กระทำการในลักษณะถูกเรียกรวมในชื่อว่า “มนุษย์กล้อง”
ประเด็นปัญหามนุษย์กล้องนั้นหลายกรณีเกิดขึ้นในทำนองถ่ายภาพคนอื่นแล้วนำมาโพสต์พร้อมข้อความเตือนภัย ราวกับผู้ถูกถ่ายเป็นภัยร้าย โดยมีทั้งเป็นรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว มีตั้งแต่กล่าวหาว่าคนขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นโรคจิตตั้งกล้องแอบถ่ายไว้ที่เท้า จนผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการแจ้งความเอาผิด
ยังมีกรณีภาพถ่ายของชายคนหนึ่งนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส 2 ที่นั่งคนเดียว เมื่อถูกถ่ายและนำมาเผยแพร่ก็ถูกวิพากษ์อย่างรุนแรง แต่ความจริงกลับเป็นว่าชายคนดังกล่าวนั้นเป็นโรคออทิสติก มีกรณีภาพถ่ายที่ผู้โพสต์หวังประจานลูกกระเป๋ารถเมล์ที่นอนบริเวณเบาะหน้ารถแต่ก็ถูกกระแสสังคมตีกลับเสียเอง
ในต่างประเทศก็มีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้น เมื่อหนุ่มร่างอ้วนถูกคนแอบถ่ายคลิปขณะกำลังเต้นโดยผู้ถ่ายคลิปดังกล่าวได้นำคลิปมาโพสต์พร้อมแสดงความเห็นในเชิงหัวเราะเยาะเย้ย แต่ผลกลับเป็นว่าสังคมโซเชียลเห็นใจชายร่างอ้วนเกิดเป็นแคมเปญ “Find dancing man” ที่เซเล็บคนดังหลายคนเข้าร่วมจัดงานปาร์ตี้ให้ชายคนดังกล่าวพร้อมเชิญผู้คนมากมายมาร่วมงาน และยังมีศิลปินมากมายมาร่วมจัดคอนเสิร์ตเต้นร่วมไปกับเขา
ล่าสุดกับกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นของคู่เกย์หนุ่มไทยกับฝรั่งรูปหล่อที่ถูกแอบถ่ายภาพและนำมาโพสต์ในเพจแห่งหนึ่ง จนกลายเป็นกระแสที่โดยมากวิจารณ์อย่างเสียหายไปที่ฝ่ายหนุ่มคนไทย กระทั่งต่อมามีการเปิดตัวตนของทั้งสองฝ่ายรายการทีวีออนไลน์ด้วยบทสัมภาษณ์สั้นๆ แต่กรณีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่สะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิและการแสดงความเห็นอย่างรุนแรงถึงขั้นสร้างความเสียหายโดยที่ทั้งหมดเกิดขึ้นราวกับเป็นเรื่องปกติ
ต่อกรณีการแสดงความเห็นจากการโพสต์ภาพหรือคลิปต่างๆ ในโซเชียลมีเดียนี้ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) เคยกล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในราคาถูก “ใครๆ ก็ทำได้ ขอเพียงมีมือถือสมาร์ทโฟนสักเครื่อง” คนทั่วไปจึงรู้สึกว่าตนมี “อำนาจ” ที่จะใช้เทคโนโลยีนั้นบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เขารู้สึกว่า “ไม่พอใจ-ไม่สบอารมณ์” จากนั้นก็ต้องรีบ “โพสต์-แชร์” ทันที เพื่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์
“ทุกวันนี้คนขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนะ คือโซเชียลมีเดียมันทำให้คนขาดการที่จะเข้าไปพูดจาปราศรัยกัน อย่างเมื่อก่อน เวลาเห็นอะไรไม่ดี อาจจะเข้าไปพูดว่าทำไมทำแบบนั้น ทำไมไม่ทำแบบนี้ แล้วโซเชียลมีเดียนี่มันทำให้เขารู้สึกว่าเขามีอำนาจที่จะตัดสินลักษณะนิสัยของคนอื่น แล้วเทคโนโลยีนี่มันทำให้คนเราพูดและคิดได้แบบไม่ต้องไตร่ตรอง อย่างเมื่อก่อนนี่เราก็จะต้องเก็บเอามาคิดที่บ้าน แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมันทำให้เราระบายได้ง่ายด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ มันก็เลยทำให้คนทุกวันนี้มักที่จะตัดสินคนอื่น มักที่จะบันทึกภาพเหล่านั้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจที่จะพูด ที่จะตัดสินทุกอย่างออกไป แล้วก็รู้สึกว่ามันมีข้อดี คือเวลาพูดออกไปนี่ตัวเองเป็นฝ่ายถูกนะ คือเห็นไหม? ฉันเป็นคนดีนะ ฉันกำลังประจานหรือประณามอะไรแบบนี้”
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเรื่องราวต่างๆ ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เขามองว่ามีข้อดีและข้อเสีย ในส่วนของข้อดีนั้นคือ การที่ผู้คนได้รับรู้เรื่องราวไม่ชอบมาพากล หรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจก่อความเดือดร้อนให้สังคม แต่ในส่วนของข้อเสียนั้น การเผยแพร่ลักษณะนี้ บางครั้งก็หมิ่นเหม่ที่จะเข้าข่าย “ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล” รวมถึงไปสร้างกระแสแห่งความเกลียดชัง แทนที่จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
เสี่ยงผิดกฎหมาย
การฟ้องร้องหมิ่นประมาทผ่านโซเชียลมีเดียมีเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณีจากการแสดงความเห็นที่ในประเด็นต่างๆ โดยมีการฟ้องร้องควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีฐานความผิดที่รุนแรง ในมุมมองด้านนักวิชาการสื่อ ธามเห็นว่า กรณีเหล่านี้ก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องจากผู้ตกเป็นเป้าได้เช่นกัน
“การถ่ายรูปโพสต์แฉหรือการประจาน 1.เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือเปล่า เพราะบางครั้งไปเปิดเผยอัตลักษณ์ เช่น ใบหน้าหรือสถานที่ทำงาน 2.ต้องระวังเรื่องหมิ่นประมาท เพราะต้องไม่ลืมว่าเราเน้นแฉพฤติกรรม ไม่ใช่แฉตัวบุคคล บางครั้งโพสต์ของเราอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย ทำให้คนอื่นเสียหาย 3.อยากให้ระวังเรื่องการสร้างความเกลียดชัง เพราะเวลาโพสต์ไปแล้ว คอมเมนต์ต่างๆ ที่ต่อท้าย จะทำให้คนที่เข้ามาอ่านเกิดความเกลียดชัง ด่าทอบริภาษกันเปล่าๆ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศในโซเชียลมีเดียไม่ค่อยดี
4.ต้องปกป้องสิทธิของผู้อื่น คือเข้าใจว่าเราอยากจะแฉ แต่คลิปบางอย่างมันมีความรุนแรง หวาดเสียวน่ากลัว พวกคลิปคนตาย คลิปตบตี คลิปโป๊อะไรแบบนี้ ต้องระมัดระวัง ต้องสกรีนก่อน ใจเย็นครับอย่างเพิ่งแฉ ทางที่ดีส่งให้นักข่าวก่อนได้ไหม? สมัยนี้ส่งให้นักข่าวง่ายจะตาย ทำไมต้องทำตัวเองให้เป็นคนแฉตลอดเวลา? 5.สำหรับคนที่ดูคลิปแล้วจะแชร์ต่อ บางครั้งดูผ่านๆ ไม่ต้องแชร์ต่อก็ได้ พวกคลิปที่อุจาดอนาจาร ไม่ต้องไปกดไลค์ด้วยซ้ำไป เพราะมันทำให้คลิประบาดไปอย่างรวดเร็ว
6.บรรดาเจ้าของเพจแฉทั้งหลาย ต้องระวังอย่าไปทำให้เรื่องมันบานปลายโดยไม่จำเป็น ผมเข้าใจเจตนาดีว่าอยากพูดถึงปัญหา แต่อย่าไปลามปามถึงคนในคลิป หรือชื่อเสียงเรียงนาม อย่าลืมว่ามันมีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว กฎหมายเรื่องหมิ่นประมาท ให้พูดถึงปัญหาจะดีกว่า และ 7.จะโพสต์หรือคอมเมนต์อะไร พยายามหาข้อเท็จจริง เสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหา จะดีกว่าการใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดด่าลงไป”
สอดคล้องกับในแง่มุมของกฎหมายที่ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์เตือนว่า การเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ หากเป็นข้อมูลที่หมิ่นเหม่ต่อการทำให้ผู้อื่นเสียหาย อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
“เวลาเราถ่ายแล้วไปใส่ข้อความ จะเป็นการคอมเมนต์ด้วยตัวเอง หรือมีบุคคลอื่นมาคอมเมนต์ ตรงนี้เสี่ยงที่จะมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นความผิดอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้ แล้วโทษค่อนข้างสูง จำคุกตั้ง 5 ปี แล้วคนที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย ที่มีลักษณะการตั้งกระทู้ ถ้าปล่อยให้มีการตั้งกระทู้ที่มีการใส่ความบุคคลอื่น หรือเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจเป็นความผิดในฐานผู้ให้บริการ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ด้วยครับ”
…
โลกออนไลน์คือสัญลักษณ์ของเสรีภาพ แต่กลับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การทำความเข้าใจในการเคารพสิทธิของผู้อื่นดูจะยังคงเป็นปัญหาในสังคมไทย
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754