xs
xsm
sm
md
lg

“เชอร์รี่สามโคก” ยาลดอ้วน-ขับไขมัน-ดับวิญญาณ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องควบคุมอาหาร 1 อาทิตย์จะลดอย่างต่ำ 3 โล ลดได้สูงสุด 10 โล” ด้วยสรรพคุณในโฆษณาชวนเชื่อที่แปะอยู่ในหน้าเฟซบุ๊กของร้านขาย “ยาลดความอ้วน” ออนไลน์นี้เอง จึงทำให้ “น้องบีท” พริตตี้สาวสวยวัยใสเสียชีวิตลงด้วยอาการช็อกจากผลข้างเคียงของยา หลังจากกินยาไปเพียง 21 วัน เหยื่อรายนี้ต้องสังเวยชีวิตให้แก่ผู้ขายความงามอย่างไร้สำนึก ขณะที่ผู้ขายปิดหน้าร้านออนไลน์หายไป เหลือทิ้งไว้เพียงคำถามที่ไม่มีคำตอบว่า “เมื่อไหร่เพื่อนร่วมโลกจะเลิกสังเวยชีวิตเหยื่อให้แก่มัจจุราชความงามเสียที”!!?


 

หลอกหน้าตาเฉย! “ขับไขมันทางปัสสาวะ”

(โฆษณาเกินจริงที่หลายคนหลงเชื่อ)
“ยาลดความอ้วนเชอร์รี่ 3 โคก เป็นยาชุดทานง่าย 1 ชุด 500 บาท กินได้ 1 อาทิตย์ 1 วันกิน 3 มื้อ ก่อนอาหารกลางวัน ก่อนอาหารเย็น ก่อนนอน ยาลดนี้เป็นของคลินิกความงามแห่งหนึ่งซึ่งทานเองแล้ว 2 อาทิตย์ลดไป 10 โล ไม่เป็นอันตราย ไม่มีผลข้างเคียงอะไรมาก
 
ผลข้างเคียงหลักๆ คือ 1.ฉี่บ่อย ฉี่ออกมาเป็นไขมัน 2.คอแห้ง 3.เหนื่อยง่าย ยานี้เหมาะกับผู้ที่้ต้องการลดความอ้วนอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องควบคุมอาหาร 1 อาทิตย์จะลดอย่างต่ำ 3 โล ลดได้สูงสุด 10 โล แล้วแต่ร่างกายของเรา สำหรับผู้ที่เคยทานยาลดความอ้วนแล้วดื้อยา ยาเราเองก็ช่วยได้ คนอ้วนตั้งแต่ตอนเด็กหรือโยโย่จากยาตัวเก่า ยานี้ทานแล้วไม่กลับมาอ้วนแน่นอน”
 
ทั้งหมดนี้คือสรรพคุณที่ตัวแทนจำหน่ายยาลดความอ้วนรายหนึ่งโพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นรายเดียวกับที่ทางครอบครัวของน้องบีท ผู้เสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วนและนักสืบออนไลน์หลายๆ รายสันนิษฐานว่าคือ “ฆาตกรผู้พรากชีวิต” พริตตี้สาวเหยื่อความงามครั้งนี้ไปหลังจากกินยาไปเพียง 21 วัน
 
ในช่วงแรกหลังเกิดเหตุ ทางญาติผู้ขายพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อยี่ห้อยาตัวนี้ แต่เมื่อมีผู้แชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นจนรู้ถึงหูตัวแทนจำหน่าย ทางผู้ขายซึ่งรู้จักกันในชื่อ “เชอร์รี่” จึงออกมาโพสต์ปกป้องตัวเองผ่านแฟนเพจว่าข่าวที่ออกมาน่าจะเป็นเพราะคู่แข่งต้องการดิสเครดิต แต่เธอไม่สนใจเพราะยิ่งกระแสแรงมากเท่าไหร่ ยิ่งจะช่วยให้ยอดขายดีมากขึ้นไปอีก กระทั่งเมื่อมีข่าวกรองออกมาว่ามีผู้เสียชีวิตจริง ไม่ใช่แค่ข่าวลืออย่างที่เข้าใจ ทางผู้ขายจึงขู่ว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายผู้ที่เอ่ยถึงชื่อยาไปในทางเสียหาย


(แก้ต่างว่าถูกโจมตีเพราะคู่แข่งอิจฉา)
“ขนาดเค้าเป็นเพื่อนสนิทคุณบีท เค้ายังไม่เอ่ยชื่อยาเพราะผลชันสูตรก็ยังไม่ออกมา ส่วนคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องอะไรก็กรุณาอย่ามโนกันไปเอง ทำเราเสียชื่อ เราจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายให้ถึงที่สุด มีปัญญาจ่ายก็เชิญเอ่ยกันต่อไป เราไม่ซีเรียสอยู่แล้ว”
“อย่าเพิ่งกล่าวหายาลดเชอร์รี่สามโคกของเรา ถ้าเค้าไม่ได้ตายเพราะยาเรา พี่รี่ฟ้องแน่ค่ะ”

เมื่อโพสต์เหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกไปและมีฝ่ายสนับสนุนตัวแทนจำหน่ายออกมาคอมเมนต์ต่อว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตในลักษณะซ้ำเติม ทางญาติผู้ตายที่เคยใจเย็น พยายามวางตัวเป็นกลางจึงอดทนต่อไปไม่ไหว ออกมาประกาศกร้าวว่าจะทวงคืนความยุติธรรมให้ถึงที่สุด

“บอกเลยนะ ต่อให้หยิบยื่นให้ 10-20 ล้าน ครอบครัวเขาก็ไม่อยากได้หรอก ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีใครอยากสูญเสีย แต่กรุณาคอมเมนต์ให้เกียรติผู้ตายด้วย จิตสำนึกมีกันป่ะ อุตสาห์วางตัวเป็นกลางตั้งแต่แรก ไม่โพสต์แรง ไม่คอมเมนต์แรง แต่เจอแบบนี้ สงสัยไม่แรงคงไม่ได้แล้ว”


ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากทางฝั่งผู้สูญเสีย กำลังอยู่ในขั้นตอนรอผลชันสูตรศพและเตรียมพร้อมรอความยุติธรรม ส่วนเฟซบุ๊กของฝั่งผู้ขายกลับหายจ้อยไปจากโลกออนไลน์ หลังถูกแฟนเพจดังอย่าง “Drama-addict” ผู้ติดตามประเด็นร้อนในสังคมออกโรงช่วยฟันธงความอันตรายของยาตัวนี้อีกแรงในฐานะแพทย์คนหนึ่ง!

“ยาที่ขายนี่โฆษณาสรรพคุณน่ากลัวมาก บอกว่าเป็นยาลดความอ้วนที่แดกแล้วอาทิตย์นึงลดเป็นสิบกิโล โดยมีผลข้างเคียงคือ 1.เยี่ยวบ่อย เยี่ยวออกมาเป็นไขมัน (ถ้าจริงแปลว่าไตพังพินาศแล้วครับ เพราะไขมัน โปรตีน สารโมเลกุลใหญ่ๆ พวกนี้ไม่มีทางถูกขับออกทางไตแน่นอน ถ้าไม่ป่วยนะ) 2.คอแห้ง 3.เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยโคตรในยาลดความอ้วนที่ใส่สารอันตรายเอาไว้ เช่นพวกยาขับเยี่ยว ไซบูทรามีน ฮอร์โมนไทรอยด์...

งานนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการแล้วครับ มันขายยาตัวนี้มานานมากแล้ว ไม่รู้ว่าจนถึงป่านนี้มีคนได้รับอันตรายจากยาเถื่อนพวกนี้ไปแล้วกี่คน พ่อแม่พี่น้อง งานนี้ช่วยกันแชร์ครับ ช่วยกันแชร์ให้ถึงสื่อ เอาให้รู้ข่าวนี้กันทั่วบ้านทั่วเมืองเลย หรือไปอุดหนุนยาตัวนี้ได้ที่เพจนี้นะครับ


 

พิษยาอันตราย ไม่ตายก็เสี่ยงเดี้ยง!

(เหยื่อมัจจุราชความงาม เสียชีวิตเพราะร่างกายช็อก)
เมื่อชื่อยา “เชอร์รี่สามโคก” ไปพ้องต้องกับชื่อในวงการของดาราสาวเซ็กซี่อย่าง “ลฏาภา รัชตะอมรโชติ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เชอรี่สามโคก” จึงทำให้ชื่อเสียงของเธอหม่นหมองไปด้วย หลายคนเข้าใจไปแล้วว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เจ้าตัวจึงออกมาโพสต์ความจริงบอกสังคม พร้อมร่วมแสดงความเสียใจและแสดงน้ำใจในฐานะเพื่อนร่วมโลกคนหนึ่ง

แต่ก็ยังดีค่ะที่ญาติผู้เสียชีวิตเขารู้ความจริง เขารู้ว่ายาไม่ใช่เรา แต่ตอนนี้ข่าวมันแพร่กระจายไปว่ายากินยาเชอรี่สามโคกแล้วตายมันก็เกิดความเสียหายอยู่ดี แต่ถึงเชอรี่จะเสียหายแค่ไหน มันก็เทียบไม่ได้กลับการที่ต้องสูญเสียชีวิต ตอนนี้เชอรี่ก็ได้ติดต่อไปที่เพื่อนของผู้ตาย ไปเจอเขาในเพจของคนขายยา มันมีการไปด่ากันในเพจคนขายยา ญาติผู้ตายก็เข้าไปเมนต์ว่า ยาคุณมีส่วนผสมแบบนี้นะๆ เชอรี่ก็เข้าไปในนั้นหาเบอร์เพื่อนผู้ตาย เขาก็บอกว่า ติดต่อไปทางคนขายตอนเสียใหม่ๆ คนขายด่าใส่ไม่จริงยาเขาดี ให้ชันสูตรมาเลยว่าตายเพราะยาของเขาเหรอ แต่ทีนี้ชันสูตรออกมาว่า มันมีสาร แอมเฟตามิน สารฟอกขาว สารอันตรายที่กินไม่ได้ พอคนขายยารู้ว่าผลเป็นแบบนี้ จากนางร้ายก็กลายเป็นดรามา ขึ้นดรามาเลยในเพจเลย

(เชอรี่ ดาราเซ็กซี่ออกมาอธิบายบนอินสตาแกรม)
วันนี้บอกเลยว่ายอมไม่ได้ เชอรี่ก็บอกกับเพื่อนผู้ตายว่าให้เราช่วยอะไรก็ได้ เราจะกระจายข่าวให้เป็นตัวอย่างกับสังคม หรือกระตุ้นให้ตำรวจเข้ามาตรวจสอบ เพราะเขาขายยาแบบไม่มี อ.ย.มา 2-3 ปีแล้วปล่อยแบบนี้มาได้ไง เรารู้สึกว่าเรามีส่วนผิด แต่จะย้อนเวลากลับไปก็คงทำไม่ได้เอาเป็นว่า ณ ตอนนี้ถ้าเราช่วยอะไรเขาได้เชอรี่จะทำ ไม่ใช่ตายเงียบๆ ตายแล้วก็ตายเลย มีคนตายแล้วคุณจะชดใช้ยังไง จะรับผิดชอบต่อสังคมยังไง ขายแบบไม่แคร์เหรอว่าจะเป็นยังไง กล้าเอาให้ลูกคุณกินมั้ยล่ะ

(เจ้าของชื่อในวงการ "เชอรี่สามโคก" พลอยซวยไปด้วยเพราะชื่อพ้องกัน)

แม้จะยังไม่ปรากฏผลการชันสูตรศพเหยื่อรายล่าสุดออกมาอย่างเป็นทางการ แต่หลายฝ่ายคาดว่าตัวยานี้น่าจะมีส่วนผสมของ "ไซบูทรามีน" สารต้องห้ามซึ่งนิยมใส่เข้าไปในยาลดความอ้วนและผลิตภัณฑ์ด้านความสวยความงามอยู่แน่ๆ ซึ่งสารตัวนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศถอนใบอนุญาต ยกเลิกทะเบียนตำรับยามาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว แต่พ่อค้าแม่ขายใจทมิฬก็ยังคงใส่มันเข้าไปเพื่อเน้นยอดขายและเสริมโฆษณาเกินจริงกันต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากสารตัวนี้ที่แน่ๆ คือทำให้ความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด หรือร่างกายควบคุมความดันโลหิตไม่ดี เมื่อลองให้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง “ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี” ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเผ้าระวังระบบยา (กพย.) อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยวิเคราะห์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น อาจารย์มองว่ามีความเป็นไปได้หลายแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด การซื้อขาย “ยาลดความอ้วน” ผ่านอินเทอร์เน็ตก็ล้วนแล้วแต่อันตรายทั้งนั้น

“ส่วนใหญ่แล้ว ยาลดความอ้วนมีอยู่ 2 สูตร ถ้าเป็นสูตรที่เป็นยาควบคุมพิเศษ จะต้องมีใบสั่งและมีใบอนุญาตพิเศษ ซึ่งตรงนี้จะวางขายที่คลินิกมากกว่า ที่ร้านยามีน้อยกว่าเพราะมันยุ่งยาก คนอาจจะมองว่าเข้าคลินิกแล้วยาแพงกว่า ไปซื้อตามอินเทอร์เน็ตดีกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ต่างกันมากหรอกค่ะ ถ้าแลกกับเรื่องสุขภาพที่ได้ตรวจด้วยแล้ว แต่ยังไงก็ต้องระวังค่ะยาอันตรายเหล่านี้ มันก็จะมีกลุ่มคนที่ทำมาหากินกับสิ่งเหล่านี้ มีบางคลินิกที่เราเคยเจอในสมัยก่อน ลักลอบยาอันตรายใส่เข้าไปเพิ่มเติม แต่อย่างน้อยการขายยาอันตรายกันที่คลินิกก็ยังมีการตรวจจับกันได้ง่ายกว่าขายผ่านอินเทอร์เน็ตที่ตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย

ยาบางตัว เช่น ไซบูทรามีน ห้ามเอามาขายแล้ว แต่ที่เห็นแสดงว่าลักลอบเข้ามา แต่ทุกวันนี้ก็ยังตรวจจับบางเจ้าที่ใส่ตัวยาอันตรายเข้าไปได้อยู่เรื่อยๆ ค่ะ โดยเฉพาะการเอามาลักลอบใส่ในตัวยาถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้ามีการโฆษณาขายยาอะไรก็ตาม จะต้องมีใบรับรองการโฆษณายาด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้านก็ตาม ถ้าไม่มีใบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย และยิ่งถ้าจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ยิ่งมีความผิด อันนี้คือการดูคร่าวๆ สำหรับคนใช้อินเทอร์เน็ตค่ะ ถ้าเห็นเขาโพสต์ขายยาปุ๊บ เราสามารถเก็บหลักฐานแจ้งได้เลย

(เมื่อครั้งตรวจจับยาลดความอ้วน OHO ปูนิ่ม ที่ใส่สารต้องห้าม "ไซบูทรามีน")

กรณีนี้ ถ้าจะขายยาลดน้ำหนักแล้วใช้สรรพคุณทางยาเข้าไปพ่วงการโฆษณา เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อยู่แล้วค่ะ อะไรที่ทำให้รู้สึกว่ามันอวดอ้างมากเกินไปหรือมีการระบุชื่อยาด้วย จะไม่ผ่านการอนุญาต หรือถ้าร้านขายยาลดความอ้วนออนไลน์ที่ไหนบอกว่า กินยาเขาแล้วไม่มีผล “โยโย่เอฟเฟกต์” ก็ต้องมาดูกันว่าเป็นไปตามที่อ้างไว้หรือเป็นการโฆษณาเกินจริง

อยากให้เข้าใจว่ายาลดความอ้วนส่วนใหญ่แล้ว มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ถ้าเลิกกินยาแล้วกลับมาอ้วนใหม่ได้ตลอด เพราะคนเราที่เคยอ้วน พอไปบีบให้ลำไส้มันเล็กชั่วครั้งชั่วคราวโดยที่ไม่ได้ปรับตัวอะไร ไม่ได้เกิดจากการควบคุมอาหารด้วยตัวเอง ในที่สุด พอสิ่งที่เคยกดเอาไว้ แล้วเลิกไป มันก็จะกลับมาระเบิดใหม่ กลับไปอ้วนเหมือนเดิม เราเคยกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกร้อน พอเลิกกินแล้วดาวน์ลง ร่างกายก็จะอ่อนแอลงทันที”

ถ้ายามันอันตราย คนกินก็ตายกันหมดแล้วสิ! นี่คือคำอ้างที่ผู้ค้าขายทุกรายชอบหยิบยกขึ้นมาอ้าง และแน่นอนว่าเหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเผ้าระวังระบบยาขอฟันธงไว้ตรงนี้เลยว่า ถึงไม่ตายแต่ก็เสี่ยงมากๆ

แน่นอนอยู่แล้วว่ากินยาลดความอ้วนแล้วต้องไม่ตายหมดทุกคน เพราะถ้ากินยาตัวนี้ 100 คน คนตายหมดทั้ง 100 คน ก็แสดงว่ายานี้ขายไม่ได้แล้ว มันคือยาพิษแล้วล่ะ เพราะฉะนั้น มันไม่แปลกเลยที่กินยาอันตรายแล้วไม่ตายทุกคนที่กิน แต่มันก็จะมีลิมิตในการวัดอยู่ว่า ถ้ากิน 100 คน มีตาย 10 คน ถือว่ายานี้มีความเสี่ยงมากแล้ว โอกาสที่จะเอามาใช้ได้มันก็มีน้อย

ส่วนลูกเพจที่ช่วยเข้ามาแก้ให้นั่นก็ไม่รู้เชื่อถือได้มั้ย เพราะไม่รู้ว่าเป็นลูกเพจจริงๆ หรือไม่จ้างใครมาเป็นหน้าม้าหรือเปล่า มันเป็นไปได้หมดแหละบนโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้น พอมีข่าวออกมาว่ามีคนกินยาลดความอ้วนตัวนี้แล้วตายไป 1 คน เราก็ต้องมานั่งสังเกตแล้วว่ามันมีความเสี่ยงนะ

ยกตัวอย่าง คนที่หัวใจไม่ดีอยู่แล้ว หัวใจล้มเหลวง่าย มากินยากลุ่มนี้เข้าไปก็จะไปได้ง่ายๆ หรือบางคนความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว กินยาเข้าไปแล้วทำให้ชีพจรถูกกระตุ้นมากเกินไปก็เป็นไปได้อีก หรือผู้โชคร้ายคนนั้นอาจจะสุขภาพไม่ดีอยู่แล้วด้วย และนี่คือเหตุผลที่ก่อนจะใช้ยาอะไร เราควรจะเข้าปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือคลินิกที่ถูกกฎหมาย ให้มีการตรวจร่างกายก่อนค่ะ นี่แหละคือผลสะท้อนให้เห็นว่าการจ่ายยาทางอินเทอร์เน็ตเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงมาก และแน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้ว การกินยาลดความอ้วนไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ต้องหมั่นออกกำลังกาย หลายคนคุมอาหารและลดได้จริงๆ ด้วยตัวเอง”


 

ยอดขายจากความตาย ปีละ 600 ล้าน!

(ดีเอสไอ เคยตรวจจับไปแล้วหลายรอบ)
“กว่า 100 ล้านบาท” คือมูลค่าของกลางที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยึดได้จากการเข้าตรวจค้นโรงงานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใน จ.สมุทรสาคร เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์เสริมไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอม อาหารผิดมาตรฐาน และโฆษณาเกินจริงจำนวนมากมาย

ซ้ำยังพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จำหน่ายในท้องตลาด มีกระบวนการผลิตที่ใช้ยาควบคุมปนเปื้อนเป็นส่วนผสมอย่าง “เซนิคอน” และยังถือเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อีกด้วย ที่น่าตกใจคือยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงามเคล้าความตายเหล่านี้หมุนเวียนอยู่ในตลาดกว่า 600 ล้านบาทต่อปี!!

จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศปป.) ที่รายงานการจับกุมและดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ของ อย. ปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2556 - 30 ก.ย.2557 พบว่ามีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 196 ราย จากของกลาง 788 รายการ มูลค่ารวม 83.79 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทยาถึง 118 ราย มูลค่ากว่า 61.54 ล้านบาท

เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ระดับผู้ค้ารายย่อยกับผู้ซื้ออีกต่อไป แต่ถือเป็นปัญหาสังคมทั้งระบบใหญ่ที่แก้ไม่เคยตกเสียที ถ้าลองให้วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอะไร ผศ.ภญ.ดร.นิยดา มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะขั้นตอนการทำงานอันหละหลวมที่ไม่เคยพัฒนาเสียที


(ผลิตภัณฑ์มากมายหลายยี่ห้อที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อถูกตรวจจับ)
“มันมีปัญหามาตั้งแต่กระบวนการการตรวจสอบให้ขึ้นทะเบียนยาแล้วค่ะ พอทางเราร้องเรียนเกี่ยวกับทางขั้นตอนไป ทางหน่วยงานก็จะบอกว่าเจ้าหน้าที่ตรวจไม่ไหว มีคนมาขอขึ้นทะเบียนเยอะ คนไม่พอ การจัดการเรื่องนี้ค่อนข้างยาก แต่เราก็ต้องทำค่ะ ประการแรกเลยคือต้องจัดให้มี “Health Promotion” การกระตุ้นให้คนรู้สึกตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพ คุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นี่คือการลดความอ้วนที่ยั่งยืน ประการที่สอง ให้ทุกคนช่วยกันเป็น “แมวมองเฝ้าระวัง” เวลาเจอการขายยาอันตรายแบบนี้ที่ไหนก็ตาม อยากให้ส่งข้อมูลไปที่เว็บไซต์ www.thaidrugwatch.org แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ของเราก็ได้ค่ะ เมื่อคนอื่นๆ เห็นว่าเกิดปัญหาจะได้ตื่นตัวกัน

ประการที่สาม ถ้าพบว่าตัวเองมีปัญหาสุขภาพจากการใช้ยา ให้ไป “ตรวจร่างกาย” หาสาเหตุที่จะอธิบายจะแก้ไขยังไงได้บ้าง และประการที่สี่ ตรวจสอบ “ใบโฆษณายา” และกฎเกณฑ์ในการอนุญาตว่าทำได้แค่ไหน ตามขั้นตอนพื้นฐาน 4 ประการนี้ เราทุกคนก็จะสามารถช่วยกันตรวจสอบและเฝ้าระวังกันได้แล้ว

อยากให้คนที่อยากผอมทางลดคิดพิจารณาให้ดีว่า คนที่มาซื้อยาผ่านอินเทอร์เน็ตคือกลุ่มคนที่ยอมรับความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตของตัวเองอย่างมาก แม้ว่าจะเป็นแค่อาหารเสริมก็เสี่ยงค่ะ เพราะเราเสี่ยงตั้งแต่ตอนซื้อมาจากเขาแล้ว เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่าสมุนไพรที่เขาส่งมาให้ดีหรือไม่ดี ใช่หรือไม่ใช่ การขายทางอินเทอร์เน็ตคือเจตนาที่จะหลบเลี่ยงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันเสี่ยงต่อการใช้ยาไม่ดีไม่ถูกต้องอยู่แล้ว และพอมันเกิดผลกระทบอะไรต่อคนซื้อขึ้นมา คนขายไม่อยากรับผิดชอบ เขาสามารถบอกปัดได้ว่าเขาไม่ได้ส่งตัวนั้นไปให้ การจับกุมทางอินเทอร์เน็ตก็ไม่ง่าย ต้องไปสืบค้นจากบัญชีของร้านค้าที่ได้รับการโอนเงินซื้อขาย


ส่วนเรื่องยาลดความอ้วนที่จะช่วยให้ผอมได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ชอบโฆษณาอวดอ้างกันนั้น ถามว่ามีแบบที่ใช้แล้วปลอดภัยมั้ย อันนี้แล้วแต่พื้นฐานของแต่ละคนค่ะ บอกยาก แต่บอกได้เลยว่าตามหลักทางการแพทย์แล้ว ยาลดความอ้วนเป็นยาที่อันตรายมาก (เน้นเสียง) มันมีผสมหลายสูตรค่ะ มีทั้งแบบกระตุ้นประสาท กระตุ้นความดันโลหิต กระตุ้นสมองส่วนกลาง ทำให้เพิ่มความไฮเปอร์ของคนกินยาเข้าไป ยิ่งคนที่หัวใจทำงานไม่ปกติอยู่แล้ว และไม่ได้ตรวจเช็คร่างกายก่อนใช้ยา ยิ่งจะอันตราย พอหัวใจไม่ดี รับยาพวกนี้เข้าไป ความดันก็พุ่งสูงปรี๊ด หัวใจเต้นผิดปกติก็เสี่ยงเยอะ

นอกจากนี้ ผลบางอย่างกระทบต่ออวัยวะภายในอื่นๆ ด้วย คือกินเข้าไปแล้วไม่ได้แค่ดูดไขมันออกจากลำไส้อย่างเดียว แต่ถ้ายาตัวนี้ไปซึมอยู่ในอวัยวะส่วนอื่นอีกก็จะมีผลอื่นตามมา เหตุผลนี้เองที่ทำให้ยาลดความอ้วนถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปหลายตัว เพราะมันมีอันตรายและผลข้างเคียงต่อร่างกายค่ะ แต่ละตัวไม่เหมือนกัน ต้องดูทีละตัว บางตัวไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว ทำให้ความดันสูง นอนไม่หลับ บางคนเกิดอาการตาค้าง บางตัวก็มีผลต่อตับด้วย

และหลายๆ ตัวมียาระบายอยู่ในนั้นด้วย ทั้งยาขับปัสสาวะและอุจจาระ เพราะเขามีความเชื่อว่าการระบายบ่อยๆ จะช่วยลดความอ้วน โดยที่ไม่ได้สนใจผลข้างเคียงอีกอย่างคือ การระบายบ่อยๆ มันทำให้ลำไส้บางและทะลุง่าย ติดเชื้อได้ง่าย เคยมีผู้เสียชีวิตมาแล้วด้วยค่ะคนที่กินยาระบายทุกวันเพื่อลดความอ้วน หรือแม้แต่การกินยาเพื่อขับปัสสาวะบ่อยๆ ก็เป็นอันตรายเหมือนกัน มันจะทำให้ความดันลดและดึงเกลือแร่ออกไปจากร่างกาย ทำให้เสียสมดุล ส่งผลให้ไตไม่ดี

เพราะฉะนั้น ยาพวกนี้คือสิ่งเกินความจำเป็น เป็นผลลัพธ์ความสวยความงามในระยะสั้น แต่ในระยะยาวไม่ได้ผลหรอก ถ้าอยากผอมจริงๆ ควรจะเลือกเข้าคอร์สออกกำลังกายมากกว่า พวกที่ชอบคิดสั้นไปกินยา อยากสวยในเร็ววัน มันอันตรายทั้งนั้นแหละ

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- รู้ไว้...กินยาลดความอ้วน ไม่ผอมแถมได้โรค! [info]
- “เชอรี่สามโคก” เสียใจ มีส่วนทำให้คนกินยาลดอ้วนตาย ฉะคนขายยา กล้าให้ลูกกินมั๊ย ?!
- ไล่-ล่า-ฉะ! 'OHO ปูนิ่ม' เศรษฐีสาวผู้ค้าความสวยที่แลกด้วยความตาย?
- "เพิ่มเซ็กซ์-ช่วยขาวใส-ลดอ้วน" ตัวท็อปผิด กม. อย.จับ "ไฮสกิน" อีก 70 ล.
- “ลดอ้วน-เพิ่มขาว-เสริมเซ็กซ์” ปัญหาซ้ำซาก หวั่นลอบเติมสารอันตราย
- ซื้อ “วิตามิน” ตปท.ผ่านเน็ต ระวังเสียเงินเปล่า ขนาดเกินจัดเป็นยา ไม่ขึ้นทะเบียน
กำลังโหลดความคิดเห็น