xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่มีการบ้าน – ไม่มีรายงาน” โรงเรียนในฝันหรือแค่คำโฆษณา!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลายเป็นกระแสที่พูดถึงกับภาพป้ายรับสมัครนักเรียนชั้น ม.ปลายพร้อมข้อความ “ไม่มีการบ้าน - รายงาน” ทำเอาหลายคนตกตะลึง พร้อมกับคำถามว่า การศึกษาไทยเป็นไปได้จริงหรือ? กับการเรียนโดยที่ไม่ต้องมีการบ้านแล้วจะทำให้เด็กเก่งขึ้นได้

หลังจากกระแสภาพป้ายรับสมัครเรียนดังกล่าวของโรงเรียนหยกฟ้าซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ที่ระบุชัดเจนว่า ไม่มีการบ้าน - ไม่มีรายงาน พร้อมระบุรับนักเรียนเพียง 25 คนเท่านั้น ล่าสุด ดร.อดิศักดิ์ เพ็งตา ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้จัดการโรงเรียนได้ออกมาชี้แจงถึงแนวคิดการไม่มีการบ้านและรายงานว่า โรงเรียนหยกฟ้า เปิดสอนเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยในส่วนของนักเรียน ม.4-6 ทางโรงเรียนจะไม่ให้การบ้านแก่เด็กนักเรียนนำกลับไปทำที่บ้าน แต่จะมีใบรายงานที่จะต้องทำให้เสร็จก่อนเลิกเรียน เนื่องจากมองว่าการนำการบ้านกลับไปทำที่บ้าน หากเด็กไม่เข้าใจก็ต้องมาลอกการบ้านเพื่อน รวมถึงแก้ปัญหาผู้ปกครองบางท่านที่ไม่สามารถสอนการบ้านแก่บุตรหลานได้

ทว่าการไม่ให้การบ้านเด็กนักเรียนเลยนั้นจะเป็นผลดีกับการเรียนรู้หรือไม่? รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา มองกรณีของโรงเรียนดังกล่าวว่า ไม่ควรนำเรื่องการบ้านมาโปรโมตโรงเรียน

“มันไม่ควรจะเอามาใช้ในการโปรโมตโรงเรียนนะ คือถ้าไม่ให้การบ้านเลยมันก็ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ที่โรงเรียนจัดเวลายังไงด้วย”

โดยในส่วนของการให้การบ้านนั้น เขามองว่าเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นโดยจะเป็นการทำให้เด็กไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมนอกเวลาเรียน แต่ต้องมีการออกแบบการบ้านให้ไม่มากจนเกินไป ไม่ซ้ำซ้อนกับวิชาอื่น การให้การบ้านมีส่วนช่วยในการเรียนรู้มากกว่าเพียงแต่ในทางวิชาการ

“ถ้าต้องการให้เด็กค้นคว้าเพิ่มเติมก็ต้องให้การบ้าน การให้การบ้านเด็กก็ฝึกอะไรหลายอย่าง ฝึกความมีวินัย ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกเรื่องของการสนใจใฝ่รู้ ทำให้เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน การไม่มีการบ้าน ไม่มีรายงานมาเป็นตัวโปรโมท ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง มันต้องดูลงไปในหลักการในรายละเอียดว่าฝึกเด็กยังไง ให้เด็กทำอะไรบ้าง”

สิ่งที่เรียกว่า “การบ้าน” จึงเป็นสิ่งสำคัญ เขามองว่า ไม่ใช่สิ่งที่ครูจะสั่งอย่างตะบี้ตะบันให้เด็กการบ้านท่วมหัวเท่านั้น แต่ต้องมีการวางแผนการสอนร่วมกับกลุ่มวิชาการเรียนรู้อื่น และออกแบบการบ้านให้เด็กทำน้อยชิ้นลงและทุ่มเทเวลากับมันมากขึ้น แล้วให้โครงการชิ้นนั้นสามารถวัดผลได้หลายวิชาไปพร้อมๆกัน เพื่อไม่ให้เด็กต้องมาเสียเวลาทำการบ้านซ้ำซ้อน

“ปัญหาใหญ่คือครูเราไม่มีการวางแผนการสอนร่วมกัน พอไม่มีการวางแผนร่วมกัน ต่างคนต่างสอนคนละวิชาก็ให้การบ้านไปแบบที่ตัวเองตะบี้ตะบันให้ จริงๆ การบ้านเด็กมันสามารถทำให้เกิดการสร้างสรรค์และทำให้เด็กสนใจใฝ่รู้มากขึ้นได้ โดยที่ครูต้องออกแบบงานร่วมกัน ออกแบบงานที่จะส่งผลให้เด็กไปฝึก ไปค้นคว้าในสิ่งที่จะทำให้เขาทำงานแล้วมีระบบมากขึ้น พอมาต่างคนต่างสอนต่างคนต่างให้การบ้าน การบ้านก็ท้วมหัวเด็ก”

ปัจจุบันนี้มีโรงเรียนหลายโรงเรียนเริ่มหันมาให้การบ้านแบบบูรณาการ มีการวางแผนการสอนร่วมกันมากขึ้น โดยมักจะเป็นโรงเรียนประถมและมักจะยังอยู่ในโรงเรียนเล็กๆ ที่มีจำนวนครูและนักเรียนไม่มากอยู่

“การวางแผนการสอนร่วมกันจะรู้ได้ว่าถ้าให้งานเด็กทำหนึ่งชิ้นแต่ละกลุ่มสาระสามารถจะประเมินส่วนของตัวเองจากงานชิ้นนั้นได้ ให้เด็กทำโครงงานหนึ่งชิ้น ครูภาษาไทยก็ประเมินงานชิ้นนั้นได้ ศิลปะก็ประเมินได้ วิทยาศาสตร์ก็ประเมินได้ แทนที่เด็กจะต้องไปทำงานสามชิ้นส่งครู เด็กทุ่มเททำชิ้นเดียวมาส่งครู แต่กว่าจะเป็นแบบนั้นได้ก็ต้องมีการประเมินร่วมกันว่าสอนเด็กแบบนี้แล้วอะไรคือผลปลายทางที่อยากให้เกิดกับเด็ก อะไรคือสิ่งที่อยากจะประเมินจากชิ้นงานชิ้นนั้น”

ประเด็นสำคัญของการให้การบ้านจึงไม่ใช่จำนวนที่มากหรือน้อย เขาเผยว่า ประเด็นหลักคือ ความหมายของการบ้านที่มีต่อการเรียนรู้ของเด็ก
“การบ้านอย่าไปมองว่ามากหรือน้อย ประเด็นคือจะฝึกเด็กอย่างไรให้เรียนรู้และมีความหมาย ให้อยู่ที่พอดีไม่ได้ปล่อยปละจนเด็กไม่ได้ค้นคว้าด้วยตัวเอง ต้องให้เด็กทำงานที่มีความหมายต่อการเรียนรู้ของเขาจริงๆ”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น