xs
xsm
sm
md
lg

ควรยุบ? “มหาเถรสมาคม” เสือกระดาษแห่งวงการสงฆ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดพระธรรมกายกลายเป็นประเด็นของสังคมขึ้นมาอีกครั้ง ล่าสุดกับกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยหน่วยงานที่มีอำนาจปกครองอย่าง “มหาเถรสมาคม” กลับไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อรวมกับหลายกรณีสงฆ์ที่เป็นปัญหาในสังคมก็ชวนให้ประชาชนตั้งคำถาม หรือควรจะยุบองค์กรนี้ได้แล้ว!

ท้ายุบ!

กรณีวัดพระธรรมกายที่สังคมไทยมองว่าเป็นปัญหาจากหลายประเด็นทั้งการบิดเบือนหลักธรรมคำสอน จนถึงความร่ำรวยของวัดที่มีเงินไหลเวียนอยู่อย่างมหาศาลโดยไร้การตรวจสอบ จึงเป็นที่ครหาถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมหาเถรสมาคมกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากท่าทีที่ดูเหมือนจะเข้าข้างฝ่ายพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จากผลการประชุมล่าสุดที่ตัดสินว่า เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไม่อาบัติปราชิก

ร้อนถึงหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักเขียนชื่อดัง ถึงขั้นปรามาสว่า ควรจะยุบมหาเถรสมาคม เพราะเป็นองค์กรที่ล้าหลัง มีความเป็นเผด็จการ พร้อมระบุด้วยว่า กรรมการหลายองค์อายุมากเกินไป ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่า การปกครองสงฆ์ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรกลาง แต่ควรปกครองด้วยพระธรรมวินัย โดยให้ครูอาจารย์ปกครองลูกศิษย์ เหมือนอย่างประเทศศรีลังกา และพม่า พร้อมฝากไปถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ว่า ถ้ามีความกล้าหาญพอควรจะยุบมหาเถรสมาคม

นอกจากนี้ยังเห็นคิดอีกว่า ควรเอาศาสนา แยก ออกจากรัฐ ให้ชัดเจน การออกกฎหมายควบคุมสงฆ์ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะควรให้การศึกษาที่ถูกต้องก่อน ปัจจุบันมีคนเสนอให้ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งอันตรายอย่างมาก เพราะ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้นับถือศาสนาอื่น เท่าให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งผิดหลักพระพุทธศาสนา

ทางด้านของ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโตโพสต์เฟซบุ๊กเผยว่า กรณีพระธัมมชโยเป็นการสะท้อนปัญหาที่ร้ายแรงวงการพุทธศาสนาที่ระบบปกครองสงฆ์ไร้ประสิทธิภาพ โดยให้อำนาจรวมศูนย์ไว้กับคนเพียง 20 คน ในมหาเถรสมาคม โดยไร้กลไกตรวจสอบ ขาดความโปร่งใส เปิดช่องวิ่งเต้นใช้เส้นสายเลื่อนสมณศักดิ์ ละเลยตรวจสอบพระร่ำรวยหรือถึงกับสนับสนุน รู้เห็นเป็นใจให้กับพระเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่า

"ประเด็นสำคัญในที่นี้คือ คำถามว่าอะไรทำให้พระที่มีพฤติกรรมไม่น่าศรัทธามีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง คำตอบนั้นไม่ได้อยู่ที่ความไร้ประสิทธิภาพของผู้ปกครองสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมเท่านั้น หากยังอยู่ที่ตัวระบบการปกครองคณะสงฆ์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย รวมทั้งการมีพระประพฤติผิดพระธรรมวินัยมากมาย จะว่าไปแล้วการที่ระบบการปกครองคณะสงฆ์เป็นอย่างทุกวันนี้ ย่อมทำให้คณะสงฆ์มีผู้ปกครองระดับสูงสุด ที่อ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ และมีข้อกังขาในทางคุณธรรมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก"

ขณะที่ความเห็นจากโลกโซเชียลฯ ก็เป็นไปในทิศทางที่ไร้ซึ่งศรัทธามหาเถรสมาคมที่ดูจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้อย่างที่พุทธศาสนิกชนคาดหวังนัก

โดยมีเพจดรามาแอดดิกแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “เคยอ่านเจอว่าระบบมหาเถรสมาคมไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่ออวยยศสงฆ์ ให้เป็นผู้มีอำนาจศักดิ์ใหญ่ ให้มีคนนับถือว่าเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ ลองนึกดูว่าคำสอนของพุทธศาสนามีแต่สอนให้ไม่ยึดติดกับลาภยศ จะมีระบบลาภยศได้ไง แต่ระบบมหาเถรสมาคมเกิดขึ้นในเมืองไทย โดยมีวัตถุประสงฆ์คือ ให้พระที่ได้รับการแต่งตั้งช่วยกันทำนุบำรุงศาสนา และตรวจสอบคัดกรองพฤติกรรมสงฆ์ เพื่อขับอลัชชีพระทุศีลออกไป ถ้าระบบนี้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันแล้วผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์เดิม กลายเป็นการอวยยศพระ ไม่กำจัดอลัชชีออกจากศาสนา ก็ยุบๆไปเหอะ”

นอกจากนี้ยังมีความเห็นมองถึงขั้นว่าหน่วยงานดังกล่าวเป็นสมาคมของพระแก่ที่มาประชุมกันเมื่อรับฟังรายงานของสำนักพุทธศาสนาในเรื่องทั่วไปของสงฆ์เท่านั้น โดยปัญหานั้นสะท้อนมาจากระบบการปกครองสงฆ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอีกด้วย

“มหาเถรสมาคมไม่เคยเป็นองค์กรบริหารงานพระพุทธศาสนาครับ เป็นได้เพียงแต่สมาคมพระแก่ที่มาประชุมกัน แล้วรับฟังรายงานของสำนักพุทธฯ ว่าเดือนนี้ใครจะเป็นเจ้าอาวาส วัดไหนตั้งขึ้นใหม่ ใครเป็นเจ้าคณะอำเภอ ตำบล จังหวัดใหม่ ปลายปีจะจัดการรายชื่อสมณศักดิ์อย่างไร

“อย่างไรก็ตาม ตัวมหาเถรสมาคมเองก็อยู่ในฐานะการอาศัยการอุปถัมภ์และตั้งขึ้นโดยรัฐ ในพ.ร.บ.สงฆ์ 2484 ไม่ได้ใช้มหาเถรสมาคม แต่ใช้สังฆสภา สังฆมนตรีและคณะวินยาธิการแบ่งอำนาจสามฝ่ายเหมือนทางโลกที่ใช้ระบบประชาธิปไตย พอปี 2505 จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าการแบ่งอำนาจ 3 ฝ่ายแบบนี้ ทำให้พระสงฆ์มีแนวคิดประชาธิปไตยมากเกินไป ประกอบกับช่วงนั้นระบบสังคมต้องทำให้เป็นรูปลักษณ์ของเผด็จการเพื่อให้ผู้มีอำนาจได้มีอำนาจ

“การที่คณะสงฆ์ปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ก็จะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อผู้หลักผู้ใหญ่ หรือเป็นกำลังให้เกิดการต่อต้านเผด็จการ ก็เลยให้ยกเลิกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ไป แล้วตั้งองค์กรมหาเถรสมาคมขึ้นมา (เดิมทีมหาเถรสมาคมอยู่ในพ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยกเลิกไปเมื่อมีพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484

“คือถ้าจะยกเลิกมหาเถรสมาคมหรือไม่มันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับชาวบ้านนะ แต่ผมเชื่อว่ายกเลิกไม่ได้ เพราะเมื่อใดที่ยกเลิกมหาเถรสมาคม นั่นหมายความว่าคณะสงฆ์จะปกครองกันเองด้วยระบอบประชาธิปไตย และรัฐก็จะควบคุมสั่งการได้ยาก เพราะคณะสงฆ์ไม่ต้องสนใจการอุปถัมภ์จากรัฐ แล้วคณะสงฆ์ที่กว่าครึ่งค่อนเป็นผู้ที่รักความยุติธรรม ท่านก็จะนำหน้าออกมาสู้กับรัฐเผด็จการ เหมือนอย่างพม่า แล้วคิดดูสิว่าเขาจะยอมยกเลิกตามคำร้องขอของพระกเฬวรากอย่างพุทธอิสระ หรือสภาปฏิรูปอะไรนี่ไหม

“องค์กรคณะสงฆ์มีอะไรที่ลึกซึ้งกว่าที่เรามองเรื่องยศพระ การปกครองตามลำดับชั้น แต่มันมีการอาศัยฐานกำลังของระบบคณะสงฆ์เพื่อคุ้มครองรัฐและอำนาจของผู้มีอำนาจด้วย”

ชำแหละมหาเถรสมาคม

ในส่วนของมหาเถรสมาคมนั้นมีการก่อตั้งมาขึ้นโดยประมาณในสมัยรัชกาลที่ 5 ผศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ประธานโครงการปริญญาโท สาขาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า หน้าที่ขององค์กรนี้แต่เดิมคือการเป็นคณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในสมัยที่ประเทศไทยยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“เวลาพระเจ้าอยู่หัวท่านมีพระราชกิจอะไรที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและต้องการความเห็นก็จะถามไปทางมหาเถรสมาคมในกรณีที่ท่านไม่สามารถตรัสวินิจฉัยเองได้ ในยุคร.6-7 ตอนนั้นการศาสนาจะขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐคือพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงธรรมการอะไรในยุคนั้น”

แต่ในเวลาต่อมาเมื่อประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มหาเถรสมาคมก็ถูกแยกออกจากอำนาจรัฐ โดยถูกรัฐควบคุมผ่านพ.ร.บ.ฉบับต่างๆ เท่านั้น เขายกตัวอย่างพ.ร.บ. 2484 ที่ครั้งหนึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก โดยพ.ร.บ. คณะสงฆ์จะทำให้มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรที่มีฟังก์ชันที่ทำงานคล้ายๆ ประชาธิปไตย

“แต่ช่วงไหนที่บ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ มหาเถรสมาคมก็จะมีลักษณะกึ่งๆ รวมศูนย์ อย่างเช่น พ.ศ. 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็กลับไปใช้ของเก่าที่มีอำนาจรวมศูนย์ขึ้นมา ฉะนั้นเปรียบเทียบกับระบอบประชาธิปไตย มหาเถรสมาคมในปัจจุบันก็เหมือนใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามอยู่ในองค์กรเดียวเลยคือทั้งบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เราก็จะเห็นว่ามหาเถรสมาคมจะตัดสินเรื่องต่างๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่โต มีการบริหารคณะสงฆ์มีการออกกฎ ถือเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ โดยคณะสงฆ์ในประเทศไทยจะต้องอยู่ภายใต้สมาเถรสมาคมทั้งหมด”

ในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เขามองว่า เกิดจากหลายกรณีที่เป็นข่าวซึ่งมหาเถรสมาคมก็ทำงานได้ค่อนข้างล่าช้าโดยมีหลายกรณีที่มีการตัดสินที่ขัดต่อความรู้สึกของคนในสังคม

“อาจจะเกิดจากหลายกรณีที่ผ่านมาที่เกิดเรื่องราวอะไรขึ้นมามหาเถรสมาคมก็ดูจะทำงานค่อนข้างล่าช้า และหลายเคสเราก็อาจจะเห็นว่าการตัดสินบางอย่างมันขัดความรู้สึก ขัดข้อเท็จจริงหรือบางอย่างอาจจะทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า มหาเถรสมาคมมีอคติ มีความลำเอียง มีความสัมพันธ์ มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรหรือเปล่าที่ทำให้ภาพมันออกมาเป็นอย่างนั้น”

ทว่าหากมองในส่วนของผลงานที่ผ่านมา องค์กรนี้ก็คงจะมีผลงานในการขับเคลื่อนการปกครองอยู่บ้าง เขายกตัวอย่าง กรณีสันติอโศกที่พระสมณะโพธิลักษณ์ขัดต่อมติมหาเถรโดยครั้งนั้นมหาเถรสมาคมก็มีมติถอนสำนักสันติอโศกจากการรับรอง อย่างไรก็ตาม ภาพที่ผู้คนเห็นก็ยังคงเป็นภาพขององค์กรที่ยังมีปัญหามากกว่า

สำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เขาเผยว่า จากงานวิจัยที่ศึกษามาส่วนหนึ่งปัญหาของมหาเถรสมาคมมาจากกรรมการที่อาจจะมีจำนวนน้อย และมีการรับฟังความเห็นจากภายนอกไม่มากเท่าที่ควร

“รวมถึงอายุที่อาวุโสมากทำให้การตัดสินใจหรือข้อมูลอะไรบางอย่างด้วยความที่สำคัญกับระบบอาวุโสด้วยก็อาจจะทำให้ความเห็นอะไรต่างๆ ของมหาเถรสมาคมบางทีก็อาจจะเป็นไปในทางที่ไปในทางเดียวกันมากเกินไปในบางเรื่องนะครับ”

ในส่วนของชั้นยศของพระหรือสมณศักดิ์นั้น เขามองว่า การมีระบบสมณศักดิ์ไม่ได้เสียหายหากไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

“แต่สังคมไทยตอนนี้มีระบบสมณศักดิ์ขึ้นมาพระก็มีโอกาสที่จะแสวงหาประโยชน์ได้มาก และอย่างที่บอกไว้ ตำแหน่งในมหาเถรสมาคมก็ขึ้นอยู่กับสมณศักดิ์ด้วย คือถ้าเราแยกออกผมว่าสมณศักดิ์กับการบริหารงานมันไม่สัมพันธ์กันก็อาจจะช่วยลดปัญหาได้”

ในส่วนของทางแก้ไขนั้น เขามองว่า ต้องมีการปรับแก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ให้มีความทันสมัยขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้นใช้มาเกือบ 60 ปีแล้ว

“บ้านเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว ผมว่าถ้าเราจะปรับให้เป็นระบบน่าจะแก้ที่กฎหมายก่อน ซึ่งการแก้กฎหมายเราก็ควรจะระดมทุกภาคส่วนมาช่วยกัน ไม่ใช่จากฆราวาสฝ่ายเดียว สงฆ์ฝ่ายเดียว แล้วก็ควรจะมีความเห็นที่หลากหลายเพราะถือว่าศาสนาพุทธก็เป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุด จริงๆ เราน่าจะเชิญคนจากทุกสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องจะได้ร่างกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกด้าน”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754







กำลังโหลดความคิดเห็น