ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม คือคำกล่าวที่มีมาช้านาน ยิ่งในสังคมที่หลายต่อหลายกรณีเกิดขึ้น กลายเป็นข้อพิพาทอยู่ในชั้นศาลผ่านขั้นตอนต่างๆ ยาวนานกว่าจะเสร็จจบหมดกระบวนการ หลายกรณีล่าช้าจนนำมาซึ่งข้อครหามากมาย
เวลาที่กัดกินความยุติธรรมไปเรื่อยๆ ทำให้เหยื่อต้องจำทนกับภาวะมากมายที่เกิดขึ้น ราวกับตกเป็นเหยื่อจากโจทก์แห่งคดีแล้ว ยังต้องมาถูกกระทำซ้ำเติมจากกระบวนการยุติธรรมที่กินเวลายาวนาน อีกทั้งขั้นตอนมากมายก็ยิ่งกัดกินเวลาที่หมดไป
ล่าสุดกับกรณีชาวบ้านแม่เมาะที่เดินหน้าเรียกร้องค่าชดเชยจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหมืองถ่านหิน โดยมีการยื่นฟ้องมาตั้งแต่ 2546 แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนานถึง 11 ปี กว่าความยุติธรรมจะมาถึง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
รวมกรณีความยุติธรรมล่าช้าของสังคมไทย
กรณีชาวบ้านแม่เมาะไม่ใช่กรณีแรกที่ความยุติธรรมกินเวลายาวนาน ที่ผ่านมาในสังคมไทยมีอีกหลายกรณีที่ความยุติธรรมใช้เวลานานจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์
กรณีคลาสสิกของการเรียกร้องและต้องกินเวลายาวนานกว่าจะได้ความยุติธรรมคือ “กรณียายไฮ” หรือไฮ ขันจันทาที่เรียกร้องมาตั้งแต่ 2520 จากการเวนคืนที่ดินไม่เป็นธรรม และได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขือนห้วยละห้า โดยต้องใช้เวลานานกว่า 32 ปีถึงจะได้รับเงินชดเชยทั้งหมดรวม 4.9 ล้านบาท
อีกกรณีที่ชาวบ้านได้รับความเสียหายมากมายจากนโยบายของภาครัฐและกินเวลายาวนานในการเรียกร้องความยุติธรรม นั่นคือ “กรณีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้” ซึ่งสร้างปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่มากมายโดยเฉพาะในด้านสุขภาพที่ชาวบ้านต้องล้มป่วยจากการมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐาน ทั้งนี้คดีดังกล่าวใช้เวลาพิจารณายาวนานถึง 9 ปีด้วยกันกว่าที่ศาลจะมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษกำจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพนิเวศให้คืนสภาพเดิมให้ท้ายที่สุด
“กรณีโป๊ะล่มที่ท่าเรือพรานนก” เป็นกรณีต่อสู้ที่ใช้เวลายาวนานถึง 20 ปีกว่าศาลฎีกาจะสั่งให้กทม.ชดใช้ค่าเสียหายต่อเหยื่อ 14 รายรวมเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปีนับแต่วันเกิดเหตุ โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2538 ระหว่างที่เรือด่วนกำลังเข้าเทียบท่าที่ท่าน้ำพรานนกแล้วโป๊ะเกิดล่ม ทำให้ผู้โดยสารที่ยืนรอยู่ร่วม 100 ชีวิตตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ส่วนใหญ่จะถูกช่วยขึ้นมาได้แต่ก็มีผู้เสียชีวิตกว่า 29 ศพ
นอกจากกรณีเป็นกลุ่มเรียกร้องแล้วยังมีที่เหยื่อเป็นตัวคนเดียวที่ต้องสู้เพื่อรอคอยความยุติธรรม กระทั่งเรื่องราวกลับมาเป็นประเด็นในสังคม คดีจึงถึงที่สุดในชั้นศาล กรณีที่ได้รับการเยียวยาเมื่อก่อนคือ “กรณีสาวปริญญาโทถูกข่มขืนบนรถไฟ” หลังจากเกิดคดีส่งกระทบมากมายต่อชีวิต สร้างความเสียหายทั้งชื่อเสียง หน้าที่การงาน ท้ายที่สุดก็ใช้เวลานานกว่า 13 ปีถึงจะได้รับการชดเชยค่าเสียหาย
คดีการเมืองก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมที่ความล่าช้าเสียจนท้ายที่สุดก็หมดอายุความไปโดยไม่สามารถเอาผิดใครได้ “กรณีทุจริตปรส.” หรือคดีองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) ที่รัฐบาลชวน หลีกภัย มีส่วนสร้างความเสียหายมากถึง 6 แสนล้านบาท โดยคดีดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 2540 และพึ่งหมดอายุความไปเมื่อปีก่อนโดยไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับผู้กระทำผิดได้เลย
และล่าสุดกับ “กรณีถ่านหินโรงไฟฟ้าแม่เมาะ” ที่ชาวบ้านกว่า 100 ชีวิตต้องต่อสู้ยาวนานจนต้องรวมตัวตั้งเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองถ่านหินแม่เมาะซึ่งมีมากกว่า 200 คน เริ่มต้นยื่นฟ้องรอคำพิพากษามานานตั้งแต่ปี 2546 เป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี จนเมื่อไม่นานมานี้ 25 ก.พ. 2558 จึงมีการคำตัดสินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จ่ายเงินชดเชยชาวบ้าน 131 ราย ในจำนวนนั้นมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 15 รายด้วยกัน
ต้องปฏิรูปศาล
หลากหลายกรณีที่ผ่านมานั้นดูเหมือนกระบวนการยุติธรรมไทยจะมีปัญหาอยู่หลายส่วนด้วยกัน ในส่วนของประเด็นความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้น สาเหตุหลักก็มาจากตัวศาลยุติธรรมที่หลายครั้งทำงานได้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น พร้อมทั้งมีขั้นตอนในการพิจารณามากมาย
ประพันธ์ คูณมี นักกฎหมาย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มองในมุมนักกฎหมายจากหลายกรณีที่ผ่านมาในสังคมไทย เขาเห็นว่า แก่นแกนของปัญหาความช้านั้นน่าจะอยู่ที่กระบวนการพิจารณาของศาลที่มีระบบการพิจารณาที่ล่าช้าเกินไป
“มันเป็นเรื่องของกระบวนการพิจารณาที่มันช้า เพราะกระบวนการพิจารณาของศาลมีหลายเรื่องที่ศาลไม่ค่อยจะพัฒนากระบวนการพิจารณาคดีของตัวเองสักเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมกับประชาชนเยอะ
เขาเผยถึงกรณีที่เห็นชัดในกรณีการพิจารณาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยยกตัวอย่าง คดีศาลคุ้มครองผู้บริโภคที่แม้จะมีการกำหนดให้มีการพิจารณาที่เร็ว แต่ในปฏิบัติกลับทำได้ช้าอย่างไม่จำเป็น
“คดีศาลคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติพิธีพิจารณาคดีคุ้มครองผู้บริโภค เขาออกแบบ เขาตรากฎหมายมาให้มันเร็ว แต่กระบวนการพิจารณาของศาลก็ไปทำให้มันช้าอีกเหมือนเดิม ก็คือแทนที่จะเรียกผู้ประกอบการที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการได้รับความไม่เป็นธรรมหรือได้รับความเสียหายมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ใช้ระบบการไตร่สวนอย่างรวดเร็ว แต่กลับใช้วิธีพิจารณาเหมือนคดีธรรมดาเหมือนปกติ ระหว่างทางก็ผลักภาระการพิสูจน์ไปให้ประชาชนเสียอีก”
โดยกรณีที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่คนธรรมดาที่ไปซื้อคอนโดฯ พอมีการโฆษณาแจกรถ มีสาธารณูปโภคต่างๆ มีส่วนกลางต่างๆ แต่พอซื้อจริงกลับไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อมีการฟ้องศาลคุ้มครองผู้บริโภค เขาเผยว่า หากเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร ศาลเพียงเรียกผู้ประกอบการมา เมื่อมีการกระทำที่ไม่ตรงกับการโฆษณาก็ต้องผิด
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาลกลับไปให้ประชาชนต้องไปสืบการขออนุญาต การโฆษณา การทำสัญญาซื้อ เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นปัญหามันเกิดจากกระบวนการพิจารณาของศาลเป็นหลัก และผลักภาระการสืบหรือการพิสูจน์ไปให้กับประชาชนที่เดือดร้อนอย่างนี้เป็นต้น
“ทีนี้ไม่ต้องนับรวมถึงคดีพวกละเมิดที่เรียกค่าเสียหายกรณีที่เกิดจากโรงไฟฟ้าหรือเหมืองถ่านหินสร้างความเสียหายให้กับประชาชนหลายคน อะไรก็แล้วแต่ส่วนใหญ่มันก็ช้าอยู่ที่กระบวนการพิจารณา”
อีกอย่างที่เป็นสาเหตุให้คดีกว่าจะถึงที่สุดต้องกินเวลายาวนานนั้นก็คือกระบวนการศาลที่มีตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา แต่ละศาลก็กินเวลากว่าจะตัดสินยาวนานหลายปีด้วยกัน
“มันไม่มีระบบพิจารณาที่มีการปรับปรุงใหม่ ทีนี้ลักษณะคดีที่มีลักษณะชุดข้อมูลที่เป็นชุดเดียวกัน ข้อเท็จจริงแบบเดียวกันซึ่งศาลเคยตัดสินมาแล้วนับร้อยคดีเนี่ย ความจริงมันก็ควรตัดสินใจลักษณะมาตรฐานเดียวกันให้มันเร็วขึ้นมันก็ได้อยู่แล้ว”
ทั้งนี้ ปัญหาของกระบวนการพิจารณาของศาลในปัจจุบันนั้น เขาแบ่งออกได้เป็น 3 หัวข้อด้วยกันอันได้แก่ 1. กระบวนการพิจารณาในเรื่องของการสืบพยาน 2. วิธีการเร่งหรือการพิจารณาคดีให้รวดเร็วจากที่บางครั้งคู่ความมีความพยายามที่จะเตะถ่วงในการพิจารณาคดี ยืดเวลา ศาลก็ไม่ได้มีการเร่งรัด ปล่อยปละให้มีการดึงเวลาเกิดขึ้น 3. จำนวนผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีที่มีน้องจากบุคลากรที่ไม่เพียงพอ
“ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องมีการปฏิรูปเกิดขึ้นในเร็ววันอย่างแน่นอน” เขากล่าวทิ้งท้าย
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754