กลายเป็นที่ครหาของสังคมเมื่อมีประเด็นเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยว “คิตตี้ รีสอร์ต ภูเรือ” ที่เคยเป็นประเด็นดรามาช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ล่าสุดกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งเมื่อสำนักข่าวญี่ปุ่นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนคิตตี้รายการว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมากับกระทู้ร้องเรียนการเปิดรีสอร์ตให้นักท่องเที่ยวเข้าพักทั้งที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ยิ่งเติมเชื่อดรามาร้อนแรงด้วยข้อกล่าวหากการเอาเปรียบผู้เข้าพักด้วยการไม่คืนเงิน กระทั่งนำมาสู่ข้อครหา ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างร้ายแรง
เบาหวิว มณีแจ่ม เจ้าของคิตตี้รีสอร์ต ภูเรือ จ.เลยที่เป็นประเด็น เคยออกมาชี้แจงถึงกรณีลิขสิทธิ์ว่า ประเด็นนี้ต้องแยกกัน รีสอร์ตแห่งนี้ชื่อ "คิตตี้รีสอร์ต ภูเรือ" คำว่าลิขสิทธิ์ตามกฎหมายคือต้องนำผลิตภัณฑ์สินค้าจากแบรนด์ดังกล่าวไปจำหน่าย ถ้าไม่ดำเนินการตามข้อตกลงจะถือว่ามีความผิด อีกทั้ง คิตตี้ ยังไม่ได้จดลิขสิทธิ์การทำรีสอร์ต รวมทั้งตนก็ไม่ได้มีจุดประสงค์จะนำรีสอร์ตไปขายจึงไม่น่าจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่อย่างนั้น บริษัทยักษ์แห่งหนึ่ง ขอไม่เอ่ยนามที่ทำรีสอร์ต ฮัลโหล คิตตี้ ก็อาจจะเข้าข่ายที่มีการตั้งเป็นประเด็นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายต่างมองประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ตรงกันว่า ต้องให้เจ้าของลิขสิทธิ์มาฟ้องร้องถึงจะเข้าข่าย ทว่าประเด็นลิขสิทธิ์กลับเป็นที่จับตาอีกครั้งเมื่อสื่อญี่ปุ่นอย่างช่องอาซาฮี ทีวีญี่ปุ่น นำเสนอเรื่องราวของ คิตตี้ รีสอร์ต ภูเรือ พร้อมชี้ว่าที่รีสอร์ตแห่งนี้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยมองว่า มีการเลียนแบบ KITTY THEME PARK ซึ่งเพิ่งเปิดขึ้นที่ประเทศจีน
โดยสำนักข่าวดังกล่าวได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบคิตตี้ รีสอร์ต ภูเรือ พบป้าย รูปปั้น รถยนต์ เต็นท์ที่พัก เตียงนอน ห้องอาบน้ำ ไฟมีคิตตี้อยู่อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือบางตัวไม่เหมือนคิตตี้ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์อีกด้วย
ในเวลาต่อมา เบาหวิว เจ้าของ คิตตี้ รีสอร์ต ภูเรือ ก็ออกมาเปิดเผยว่า คิตตี้ที่อยู่ภายในรีสอร์ตตั้งใจเอามาไว้เพื่อโชว์เฉยๆ ไม่ได้นำเป็นเทรดมาร์ก เป็นสัญลักษณ์การค้าเชิงธุรกิจ ผู้คนเกิดความเข้าใจผิดกันเอง แต่ตอนนี้ก็กำลังทำเรื่องขอลิขสิทธิ์อยู่
แต่ในประเด็นลิขสิทธิ์นั้น สำนักข่าวอาซาฮีได้สอบถามไปยังซานริโอได้ความว่า ทางซานริโอไม่อนุญาตให้รีสอร์ตแห่งนี้ใช้สัญลักษณ์ใดๆ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของซานริโอทั้งนั้น และตอนนี้กำลังดำเนินการทางกฎหมายกับรีสอร์ตแห่งนี้อยู่
นวพล ผ่องอำไพ นักกฎหมาย มองว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเขาอธิบายว่า ลิขสิทธิ์นั้นเป็นการผลิตชิ้นงานออกมาทั้ง งานจิตรกรรม งานนาฏศิลป์ใดๆ การที่รีสอร์ตดังกล่าวมีการใช้เบาะ หมอน จนถึงตุ๊กตา อีกทั้งยังมีการระบายสีทำเป็นรูปภาพคิตตี้ถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์อย่างหนึ่ง
“ประการต่อมาต้องดูย้อนไปว่างานลิขสิทธิ์นั้นมีเจ้าของหรือเปล่า คนที่ทำมาก่อนเป็นคนแรกหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งเท่าที่ทราบคือไม่ได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด ต่อมาเงื่อนไขอีกอย่างที่จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ก็คือมันต้องทำเกี่ยวกับการค้า เมื่อนำไปใช้ในธุรกิจของเขาแล้วเขาได้เงินจากการตกแต่งใช้ประโยชน์ รีสอร์ตได้ประโยชน์ตรงนั้น พอครบองค์ประกอบก็เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์”
แต่การจะละเมิดลิขสิทธิ์ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าจะทำการฟ้องร้องเอาความหรือไม่ เขาเผยว่า ตามปกติแล้วบริษัทต่างชาติมักจะมีการตั้งตัวแทนไว้ในประเทศไทย แล้วดำเนินการแทนอย่างตุ๊กตาโดราเอมอนที่มีการตั้งตัวแทนในไทยแล้วดำเนินการจับ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์กันสูง โดยโทษนั้นก็มีทั้งจำคุกและปรับเงินตามแต่ระดับความผิด
“ถ้าขายเสื้อโดราเอมอนสัก 2 - 3 ตัวก็อาจจะโดนค่าปรับอย่างเดียว แต่ถ้าทำเป็นอุตสาหกรรมก็คงมีโทษจำคุกด้วย ในส่วนการสร้างเป็นรีสอร์ตอย่างที่เป็นข่าว ถ้าเขาหยุดให้บริการก็อาจจะมองได้ว่าพอรู้ว่าผิดก็ไม่ทำต่อ อาจจะเป็นโทษเบาหน่อย อย่างไรก็ตาม ถ้าผิดกฎลิขสิทธิ์ก็ต้องเลิกใช้แน่นอน”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754