...ฝาดๆ เฝื่อนๆ คือสัมผัสแรกที่ต่อมรับรสของผู้ชิมจะได้รับจากการกิน “มะขามป้อม” แต่เมื่อดื่มน้ำตามเข้าไปเท่านั้น พลันเกิดรสหวานละมุนลิ้นขึ้นมาทันใด...
ไม่ต่างไปจากการทำงานของกลุ่มนักเคลื่อนไหวอิสระรายนี้ที่นำเสนอเรื่องขมๆ ในสังคม ผ่านกลวิธีหวานๆ จากศาสตร์ละคร ให้ผู้ชมค่อยๆ ลิ้มรสความจริงได้แบบไม่หวานอมขมกลืนจนเกินพอดี และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้พวกเขาตั้งชื่อตัวเองว่า “กลุ่มละครมะขามป้อม” NGO ยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กับดูแลตัวเองได้แบบไม่เจ็บ-ไม่จน!!
หมดไปแล้ว! ยุคสมัย NGO ไส้แห้ง
(ปุ้ย-ศุภรักษ์ ตัวแทนกลุ่มละครมะขามป้อม)
“ทำไมล่ะ เป็น NGO มันต้องจนด้วยเหรอวะ?” ปุ้ย-ศุภรักษ์ ใจวุฒิ หนึ่งในแกนนำกลุ่มละครมะขามป้อม มูลนิธิสื่อชาวบ้าน นักเคลื่อนไหวองค์กรอิสระหัวเราะเบาๆ ตบท้าย ก่อนเผยความจริงให้ฟังว่า กว่าจะมี “มะขามป้อม Art Space” พื้นที่อเนกประสงค์ 9 ไร่ในดินแดนเชียงใหม่ ซึ่งแวดล้อมไปด้วยสีเขียวจากธรรมชาติและวิวอันงดงามจากดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างที่เห็น หลายคนต้องล้มลุกคลุกคลานด้วยกันมานานร่วม 30 กว่าปี เรียกได้ว่าผ่านการขูดเลือดขูดเนื้อตัวเองมาแล้วทุกรูปแบบ
“มะขามป้อมสมัยแรกๆ ก็จน (ยิ้มเย็นๆ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องนะ เป็นเรื่องที่ NGO ทุกคนต้องผ่านความเจ็บปวดนี้ โดนพ่อแม่ด่าทุกวัน ทำงานอะไรเลี้ยงพ่อแม่ไม่ได้ จนถึงวันนึงก็คิดว่ามันใช่ปะ ทำไมฉันต้องจน ต้องกินอุดมการณ์ขนาดนี้ด้วย พอเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยน โลกเปลี่ยนไป เราเลยรู้สึกว่าเป็น NGO ไม่จนบ้างได้ปะ เลยมาเปิดเป็น Social Enterprise องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม ทำงานพัฒนาควบคู่ไปกับดูเรื่องเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่แค่ให้ความรู้อย่างเดียว แต่ต้องอยู่ได้ด้วย เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว”
เปลี่ยนไปแค่ไหน? ก็ถือว่าเปลี่ยนไปมากเหมือนกันเมื่อเทียบกับความเป็น “มะขามป้อม” ในยุคแรกๆ ที่มีชีวิตเหมือนคณะละครเร่ รวมตัวกันเร่แสดงละครสะท้อนปัญหาสังคมแบบไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง กระทั่งจัดตั้งเป็นมูลนิธิบนพื้นที่เล็กๆ ในเมืองหลวงได้ จนขยายฐานมาอยู่ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ลงหลักปักฐานเปิดเป็นศูนย์อบรมพร้อมกับขับเคลื่อนปัญหาระดับท้องถิ่น
โดยเฉพาะปมเรื่องคนไร้สัญชาติใน “หมู่บ้านปางแดง” ที่ช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่เข้ามาช่วยตั้งแต่ยุคหาทุน บริจาคเงินกว่า 700,000 บาท เพื่อซื้อโฉนดและร่วมสร้างชายคาที่แข็งแรงให้ “ชนเผ่าดาราอั้ง” ได้ตั้งถิ่นฐานรกรากในผืนแผ่นดินไทย ไม่ต้องถูกไล่ในฐานะผู้อพยพที่ทั้งทางการไทยและพม่าต่างก็ไม่มีใครเอาอีกต่อไป อย่างที่ทุกวันนี้ชาวบ้านก็พอจะลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้ว จากโมเดลที่องค์กรช่วยกันป้อนให้
“ทุกครั้งที่เราพาใครขึ้นไปเยี่ยมบนดอย เราต้องตัดรายได้เข้าชุมชน ตัวเด็กที่มาเป็นนักแสดง (กายกรรม) ก็ต้องได้ จะเล็กจะน้อยยังไงก็ต้องได้ ชุมชนเองเวลามีคนเข้ามา เขาก็ได้ขายของด้วยค่ะ ส่วนที่เหลือจากนั้นก็ตัดเข้ากองทุน เวลาเราทำโปรเจกต์อะไรขึ้นมา เราจะคิดตลอดค่ะว่าถ้าเราได้ ปางแดงก็ต้องได้ด้วย
(น้องๆ “บ้านปางแดง” โชว์ความสามารถ)
อย่างเวลามีกิจกรรม เราจะไม่ทำกับข้าวเองนะคะ นานๆ ทำที เราจะให้ป้าๆ แม่บ้านในชุมชนมาทำ ให้โตไปด้วยกัน ช่วงหลังๆ เราก็มีจัดแบบ one day workshop ด้วยนะคะ หรือแบบครึ่งวันก็มี เวลาพ่อแม่เอาลูกๆ มา ถ้ามีเวลาแค่วันเดียว เราก็จะเวิร์กชอปเด็กตอนเช้าแล้วตอนเย็นก็พาขึ้นไปดูหมู่บ้านปางแดง ขึ้นไปทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนกับเด็กๆ บนนั้น
ทุกวันนี้ เราทำธุรกิจเพื่อสังคม เราเลยต้องมี 2 ขา ในส่วนที่เป็นขา “มูลนิธิ” มันทำกำไรไม่ได้อยู่แล้ว เหมือนโปรเจกต์ที่ทำกับหมู่บ้านปางแดงนี่แหละค่ะ ไม่มีกำไรเลย แต่ว่าเรายังมีขา “บริษัท” อยู่ จะเป็นฝั่งขาที่มีกำไร เช่น จัดอบรมเด็กฝรั่งจากโรงเรียนอินเตอร์ เราก็เก็บแพงนะ เพื่อเอาเงินส่วนนี้ไปส่งเสริมเด็กๆ บ้านปางแดง เอามาสร้าง Art Space เพื่อมาใช้ทำงานกับโรงเรียนในละแวกนี้”
อย่าแปะป้าย อย่าตัดสิน!
“อยากได้สัญชาติ” คือคำพูดยอดฮิตของเด็กๆ บ้านปางแดงเมื่อมีใครถามเรื่องความฝันหรือถามว่าอยากได้อะไรเป็นของขวัญ และไม่ว่าจะได้ยินคำตอบแบบนี้ซ้ำอีกสักกี่ครั้ง คนทำงานในพื้นที่อย่างปุ้ยก็รู้สึกสะอึกได้ทุกครั้ง “อยากเป็นหมอ เป็นครู เป็นพยาบาล เด็กที่ไหนก็เหมือนๆ กัน แต่เด็กที่นี่ ถ้าให้แลกกับของขวัญทั้งหมด เขาไม่เอาของขวัญเลยก็ได้นะ เขาอยากได้แค่สัญชาติ”
เพราะสภาพไร้สถานะ-ไร้สัญชาติที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่นี่ต้องเผชิญอยู่ นอกจากจะทำให้พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติแล้ว ยังก่ออุปสรรคก้อนโตที่กีดขวางไม่ให้เดินไปสู่เส้นทางฝันได้ง่ายๆ และเพื่อลดช่องว่างระหว่างความไม่เข้าใจตรงนี้นี่เอง มะขามป้อมจึงพยายามจัดทริป ทำโปรเจกต์เยี่ยมชมหมู่บ้านขึ้นมา
(เด็กน้อยชนเผ่าดาราอั้ง บ้านปางแดง)
“พอโตขึ้น ส่วนใหญ่ก็ทำได้แค่รับจ้างเก็บพริกเก็บหอม พอจบ ป.6 ก็ไปต่ออะไรไม่ค่อยได้แล้วค่ะเพราะเขาจน เรื่องไม่มีสัญชาติก็เป็นปัญหาแล้ว ยังมีเงื่อนไขอื่นที่เกิดมาจากการไม่มีสัญชาติตามมาอีกเยอะแยะ ทำให้เป็นอุปสรรคใหญ่โตที่แก้ยากเหลือเกิน
แล้วอีกอย่าง เด็กทุกคนเขาไม่ใช่วัลลีนะคะ แต่คนอื่นจะชอบคิดว่าเด็กที่ยากจน มีเงื่อนไขในชีวิตเยอะจะสู้เสมอ จะบอกว่าเธอต้องสู้ชีวิตเหมือนวัลลีสิ เธอเป็นชาติพันธุ์ ต้องใส่ชุดคนเผ่า ต้องเชิดหน้าชูตาได้ ไม่มีข้าวกินเธอก็ต้องสู้ แต่จริงๆ แล้วจะมีเด็กกี่คนที่จะทำได้แบบนั้น นึกถึงเราตอนเด็กๆ โดนเงื่อนไขในชีวิตเยอะขนาดนี้อาจจะผูกคอตายไปแล้วก็ได้ (ยิ้มเนือยๆ)
ที่เราพาคนมารู้จักที่นี่ก็เพราะอยากให้เข้าใจกันมากขึ้น แค่นึกถึงชาวเขาแล้วอย่าเพิ่งพูดว่า สกปรก ค้ายา ตัดไม้ ฯลฯ อย่าเพิ่งแปะป้าย หยุดก่อน หยุดแป๊บนึงได้มั้ย? มาดูแง่งาม มาดูความเป็นมนุษย์แล้วค่อยตัดสินว่าเขาดีหรือไม่ดี เคยเห็นกับตาเองเยอะมากนะในเชียงดาว คือเราก็เข้าใจนะว่าเจ้าหน้าที่ต้องจัดการกับคนเยอะ อาจจะเหนื่อยแล้วก็หงุดหงิด แล้วชาวบ้านก็พูดไม่ชัดพูดไม่รู้เรื่องจริงๆ แต่เราก็ไม่ได้คิดถึงขั้นว่าต้องดีเหมือนแม่ชีเทเรซ่า ต้องรักทุกคน (ยิ้ม) ไม่ต้องขนาดนั้น จะมีอคติก็มีไป แต่คุณอย่ามาเลือกปฏิบัติ”
ละครรสหวาน สะท้อนความจริงรสขม
(ละครเงารสหวาน ผ่านการแสดงของเด็กๆ - ขอบคุณภาพ IG @id_nui)
ผลพวงจากการแบ่งแยกว่าพวกเขาไม่มีสัญชาติแบบเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้ชาวบ้านถูกแปะป้ายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ส่งให้ต้องถูกจับกุมในหลายๆ คดีโดยเฉพาะข้อหาบุกรุกป่า และอีกหลายคดีที่ถูกกล่าวหาให้เป็นแพะ “นอนอยู่ในบ้านดีๆ ช่วงตี 4 ตี 5 ก็สนธิกำลังกัน 400 คนไปล้อมจับหมู่บ้านเล็กๆ โดนไป 3-4 ครั้ง ปี 32 ปี 40 ปี 47 ทุกวันนี้คดีนั้นจบไปแล้ว แต่ก็ยังมีจับแบบนี้เรื่อยๆ อยู่ แต่จับใหญ่ๆ แบบนั้นไม่มีแล้ว ถ้าใครเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องมาศึกษาที่นี่อยู่แล้วค่ะ เพราะที่นี่โดนจนไม่รู้จะโดนยังไงละ เป็นชายขอบของชายขอบอีกที”
บอกได้คำเดียวว่าเรื่องนี้ “พูดยาก” และเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่พูดลำบากแบบนี้นี่เอง มะขามป้อมจึงเลือกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ด้วยวิธีที่พวกเขาถนัดซึ่งก็คือการใช้ศาสตร์ “ละคร” เข้ามาเป็นสื่อกลางให้เรื่องหนักๆ แบบนี้ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในใจผู้ชมพร้อมๆ อรรถรสที่ได้รับชมจากการแสดงของเด็กๆ ส่วนผลที่ได้จะน่าพึงพอใจแค่ไหน สารที่ต้องการสื่อจะไปถึงระดับผู้เปลี่ยนแปลงนโยบายได้บ้างหรือเปล่า บรรทัดต่อจากนี้คือคำตอบ
“ที่ปางแดงมีปัญหาเรื่องน้ำประปาด้วย ทุกวันนี้เขาใช้ “ประปาภูเขา” กันค่ะ แต่น้ำก็แห้งมาก ชาวบ้านก็เลยคิดว่าจะเจาะบาดาลตื้นกัน กำลังหาเงินกันอยู่ แต่ด้วยปัญหาเรื่องไร้สัญชาติที่ทับซ้อนเข้ามา มันเลยยิ่งทำให้ปัญหาแก้ไปได้ไม่ถึงไหน เราก็เลยหยิบเอาเรื่องน้ำประปามาเล่น เรียกผู้ใหญ่มาทั้งชุมชน บอกเขาว่ามาดูละครเด็กกัน กึ่งเล่นกึ่งเอาจริง ตั้งคำถามว่าเราจะแก้ไขกันยังไงดี ผู้ใหญ่ก็ยกมือเสนอความคิดเห็นกันสนุกเลยทีนี้ พอจบละคร เราก็มาชวนคุยกันต่อ สุดท้ายบรรยากาศมันก็คลี่คลาย เกราะมันก็ลดลง”
ถ้าเลือกได้ อยากให้ใครมานั่งดูละครสะท้อนสังคมของเราบ้าง ใครที่น่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบได้? คนถูกถามได้แต่หัวเราะเบาๆ กลับมาเป็นคำตอบแล้วบอกว่าไม่เคยคาดหวังให้คนดูเป็นถึงระดับผู้บริหารประเทศเลย ขอแค่เป็นคนธรรมดาที่ถูกสารที่ส่งเข้าไปกระทบใจ นั่นก็สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่น่าพึงพอใจได้แล้ว
“ไม่จำเป็นว่าคนดูจะต้องเป็นคนใหญ่คนโตหรอกค่ะ (ยิ้ม) เพราะละครที่เราทำมันมีเนื้อหาที่สั่นสะเทือนความเป็นมนุษย์ในตัวคน มันสั่นสะเทือนหัวใจและน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นมันจะไประเบิดต่อเอง ศาสตร์ละครเนี่ยนะคะ ไม่ว่าคุณได้เล่นหรือดู มันจะทำให้คุณรู้จักตัวเอง เหมือนคำที่เขาบอกว่าดูละครแล้วย้อนดูตัวเองนั่นแหละค่ะ เราเริ่มจากมองดูและยอมรับตัวเองก่อน แล้วเราจะค่อยๆ ยอมรับความต่าง ยอมรับคนอื่นได้เอง จากการเอาตัวละครแต่ละตัวมาเปรียบเทียบกัน
จริงๆ แล้ว วิธีการสั่นสะเทือนจิตใจคนเรามันยังทำได้อีกหลายอย่างนะคะ ศิลปะมีอีกหลายแขนง ละครไม่ใช่อย่างเดียวที่จะสั่นสะเทือนได้ เป็นแค่ทางนึงที่จะช่วยเยียวยา เราเป็นคนทำสื่อ มีหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางเชื่อมคนนั้นกับคนนี้มาเจอกัน แต่ถามว่าละครของเราจะได้ผลไปถึงขั้นแก้ไขปัญหาสังคมได้เลยมั้ย เราไม่ใช่พระเจ้านะ ไม่ได้เป็นซูเปอร์ฮีโร่ขนาดนั้น (ยิ้ม) แค่ช่วยให้คนได้หันมาเห็นบางมุมบางเสี้ยวที่มันแตกต่างกันบ้าง เท่านี้เราก็รู้สึกประสบความสำเร็จมากๆ แล้ว”
---ล้อมกรอบ---
“แรงบันดาลใจ” “จุดเชื่อมโยงคนในเมืองกับคนบนดอย” และ “พื้นที่ศิลปะ” คือวัตถุประสงค์หลักๆ ที่ทำให้เกิดพื้นที่ชิลชิล 9 ไร่บนผืนดินเชียงดาวที่เรียกว่า “มะขามป้อม Art Space” แห่งนี้ขึ้นมา ปุ้ย-ศุภรักษ์ แกนนำกลุ่มละครมะขามป้อม บอกเอาไว้อย่างนั้น
ด้วยที่ตั้งซึ่งห่างจากเมืองเชียงใหม่เพียง 76 กิโลเมตร ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะเข้าถึงศิลปะ พอๆ กับสามารถสลัดทิ้งความวุ่นวายในตัวเมืองออกไปได้ ถ้าลองเดินดูรอบบริเวณจะเห็น “ขยะ” ที่ถูกนำมารีไซเคิลใหม่ให้กลายเป็น “ศิลปะ” ตั้งเรียงรายดึงดูดความสนใจอยู่ทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ของมะขามป้อมปะปนกับศิลปินท้องถิ่นที่เข้ามาร่วมสนุกกัน
“สมัยก่อนที่จะตั้ง “มะขามป้อม Art Space” เราเรียกที่นี่ว่า “Living Theatre” นะคะ เพราะเรามองว่าละคร-การแสดง คือศิลปะที่อยู่ในชีวิต งานศิลปะพวกนี้ก็เหมือนกันค่ะ เรารู้สึกว่าศิลปะมันอยู่รอบตัวนะ อยู่ในชีวิต จับต้องได้ งานศิลปะมันไม่ใช่สิ่งที่ต้องปีนกระไดดู คุณเป็นชาวนาก็เป็นศิลปินได้ เป็นแม่ครัวก็ทำกับข้าวอย่างมีศิลปะ มนุษย์ทุกคนมีความเป็นศิลปิน อย่าไปมองให้คำว่าศิลปะมันแยกขาดออกจากตัวคนเลย”
โรงละคร, โรงครัว, เรือนรับรอง, แหล่งเรียนรู้, สนามเด็กเล่น ฯลฯ ทุกรายละเอียดที่ประกอบให้กลายเป็นที่นี่ล้วนแล้วแต่เกิดจากศิลปะทั้งสิ้น พวกเขาจึงทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้จะมีที่พักในตัว แต่ก็ไม่ทำเป็นโฮมสเตย์เน้นธุรกิจ แต่รับเฉพาะกลุ่มคนที่เข้ามาอบรมเท่านั้น
“แค่อยากให้หลักๆ แล้วเป็นคนของเรา มาเพื่อ support กิจกรรมของเราก่อนค่ะ เพราะที่พักเราไม่ได้สบาย เราไม่ใช่โรงแรม ลองขึ้นไปดูจะเห็นว่าเรานอนกันเป็นแถวๆ อาจจะเป็นคนทางเดียวกัน คนที่ชอบท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์เหมือนกันน่ะค่ะ ถึงจะเหมาะ นี่เราเพิ่งเปิดส่วนของร้านกาแฟขึ้นมาได้ไม่นานค่ะ ทำให้ช่วยดึงคนนอกเข้ามาได้บ้าง นอกนั้นจะเกิดจากการชวนๆ กันมาแลกเปลี่ยน รู้จักกันแบบปากต่อปาก”
ทุกวันนี้ ถึงแม้ “มะขามป้อม Art Space” จะไม่ได้มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่อย่างน้อยก็ยังถือว่าเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ได้ และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้เดินอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย “มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง เดินดีๆ บ้าง แต่ก็ไปด้วยกัน ทุกคนที่รู้จักกัน หนุนส่งช่วยกัน แม้แต่ชาวบ้านปางแดง บางทีเราร้องไห้ เขาก็ร้องไปด้วยกันกับเรานะ เห็นเขาลำบากมากกว่าเราแบบนี้ เขาก็ยังลูบหัวเรา ปลอบเรานะ เหมือนกับเป็นเพื่อนเป็นญาติเป็นพี่น้องกันไปแล้ว ตรงนี้แหละที่คงยังเป็นแรงให้เราไปต่อได้ ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว”
บทเพลงจาก "ศิลปะรีไซเคิล" @มะขามป้อม Art Space
ชิมชา+ฟัง ดิ่งและหว่อ เครื่องดนตรีท้องถิ่น+ชุดชนเผ่า "ดาราอั้ง"
สัมภาษณ์โดย ASTVผู้จัดการ Lite
เรื่องและคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: อธิเจต มงคลโสฬศ
ขอบคุณภาพ: โปรแกรม "ความฝันวันเด็ก" โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ข้อมูลเพิ่มเติม: แฟนเพจ "มะขามป้อมเชียงดาว Art Space"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
บทความที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- “สัญชาติไทย” ของขวัญที่เด็กดอย “บ้านปางแดง” รอคอยมาทั้งชีวิต [ชมคลิป]