ห้ามขายบุหรี่แยกมวน! กฎหมายใหม่เพื่อ ป้องกันนักสูบหน้าละอ่อนเข้าถึงสิ่งเสพติด เชื่อจะช่วยเยาวชนลดบุหรี่ได้ ขณะที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม หากร้านค้ายังลักลอบขาย จะได้ผลแค่ไหนกันเชียว?
ข้อห้าม 3 ประการ ลดปริมาณนักสูบรายใหม่
ห้ามขายบุหรี่โดยผู้เยาว์ ห้ามขายให้ผู้เยาว์ และห้ามขายแบบแยกมวน หรือขายเป็นซองเล็กๆ นี่คือแนวทางสำคัญ 3 ด้าน ที่ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงมาตรา 16 ของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ยากมากขึ้น เป็นมาตรการที่ควรบังคับใช้เพิ่มเติม เนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า มีแล้ว 97 ประเทศ ดังนั้นในร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จึงควรห้ามด้วยเช่นกัน
จากกรณีนี้เอง ทำให้เกิดคำถามต่างๆ ขึ้นมามากมายว่ามาตรการใหม่จะช่วยให้เยาวชนเลิกสูบหรี่ได้จริงหรือ? ทางทีมข่าวASTVผู้จัดการ Live จึงสอบถามไปยัง “ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์” ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า
“ในบ้านเราจริงๆ แล้วห้ามขายบุหรี่กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทีนี้เราสำรวจก็พบว่ามีเด็กที่บอกว่าจะซื้อได้ตามร้านชำ เด็กที่สูบบุหรี่อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 15-18 ปี ประมาณ70 เปอร์เซ็นต์ แล้วใน 70 เปอร์เซนต์นี้บอกว่าซื้อบุหรี่แบบเป็นมวน เพราะฉะนั้น กฎหมายมาตรการ นอกจากจะห้ามเด็กซื้อ ห้ามเด็กขาย แล้วควรที่จะห้ามขายแบบแยกมวนด้วย
ในประเทศไทยกฎหมายที่ว่าห้ามขายบุหรี่แบบแยกมวนมันไม่ชัดเจน มีแต่ว่าห้ามขายในซองที่ไม่มีฉลากคำเตือน อันนี้กฎหมายด้านสุขภาพ ถ้าเกิดซองไม่มีคำเตือนห้ามขายส่วนกฎหมายของสรรพสามิตบอกว่าให้ขายในซองที่มีแสตมป์ภาษีเท่านั้น แต่ว่าแกะซองออกมาเป็นมวนได้ กฎหมายเขาก็เลยยังไม่ได้สนับสนุนการควบคุมยาสูบที่ครบรอบด้าน ก็เลยเสนอว่าจะต้องมีกฎหมายใหม่ต้องมีการบรรจุข้อนี้เข้าไปด้วยให้มันครอบคลุมมากขึ้น”
มาตรการดังกล่าวข้างต้นนี้ มาจากการประเมินเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-18 ปี ที่ชอบซื้อบุหรี่เป็นมวน หากร้านค้าให้ความร่วมมือ ก็น่าจะลดปริมาณนักสูบรายใหม่ได้
“เราประเมินว่าเด็กที่มีอายุ 15-18 ปี มีประมาน 300,000 คนที่สูบบุหรี่ ขยายอายุไปจนถึงอายุ 20 ปี จะมีถึง 500,000 คน ที่สูบบุหรี่ เราคาดว่าการช่วยทำให้เพิ่มอายุ ก็คือว่าทำให้เด็กกลุ่มนี้ซื้อไม่ได้เลย แล้วร้านค้าก็ไม่ขายเป็นมวลด้วย มันน่าจะลดปริมาณนักสูบบุหรี่รายใหม่ ซึ่งจะมีปีละประมาณ 100,000 คน ลงได้ เราก็คำนวนไว้ประมาณนี้นะคะ”
ในส่วนของการไม่โชว์ซองบุหรี่ ณ จุดขาย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้สูบยับยั้งชั่งใจได้ และหากมีร้านค้าฝ่าฝืนต้องได้รับโทษทางกฎหมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยากให้มองว่าเป็นมาตรการเชิงป้องปรามมากกว่า เพื่อให้รู้ว่าบันทัดฐานของสังคมไทย คือห้ามขายบุหรี่ให้กับเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
“เรื่องการไม่วางซองบุหรี่ ณ จุดขาย ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ก็คือว่าเดินมาที่ร้านชำไม่เห็นขายบุหรี่ ก็อาจจะไม่ได้อยากสูบ ซึ่งนี้กฎหมายเก่ามีอยู่แล้ว ก็คือไม่ให้เปิดตู้บุหรี่โชว์ ก็คือถ้าผู้ใหญ่มาขอซื้อ ก็ให้ระบุยี่ห้อแล้วก็หยิบไปให้ได้ เราก็กำชับให้มากขึ้นว่าไม่ให้โฆษณาบุหรี่ ณ จุดขาย อันนี้ก็จะไม่ล่อตาล่อใจ ทั้งเด็กแล้วก็ผู้ใหญ่ด้วย
เรามีสำนักงานสถิติสำรวจประชากร ด้านสุขภาพ 2 ปี 1ครั้ง และก็สำรวจด้านพฤติกรรมสูบบุหรี่กับสุราทุก 3 ปี โดยสำนักงานสถิติเหมือนกัน ในนั้นจะมีกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี อยู่ด้วย และจะถามว่าคุณซื้อบุหรี่ได้มั้ย คุณสูบรึเปล่า คุณซื้อจากไหน แล้วเขาก็จะเอาตรงนั้นมาประมวล”
แพ้กลยุทธ์โฆษณาวันยังค่ำ?
เมื่อถามถึงว่า มาตรการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่ ผู้อำนวยการ (ศจย.) ยังกล่าวต่อว่า มาตรการนี้เป็นการป้องกันทั้ง 2 ส่วน คือป้องกันในด้านของวัตถุประสงค์ คือกระตุ้นไม่ให้อยากสูบ และป้องกันไม่ให้มีการโฆษณา และห้ามเด็กสูบ แต่การที่จะสร้างแคมเปญรณรงค์นั้นถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ถือว่าเป็นสิ่งที่แยบยลกว่ามาก
“ในเชิงที่เราจะไปทำงานรณรงค์ฝั่งเยาวชน คือมันก็ทำอยู่แต่ว่าในการตลาดของบุหรี่มันเค้าแยบยลกว่า เงินที่จะโฆษณาแข่งกันระหว่างแคมเปญรณรงค์กับเงินที่โฆษณาของบริษัทบุหรี่ มันเทียบกันไม่ได้และถ้าเราจะทำฝั่งทำการรณงค์เราต้องใช้เงินไม่รู้ต้องเท่าไหร่ และก็ไม่รู้ว่าผลมันจะเป็นยังไงด้วย
ขณะที่ทางบริษัทบุหรี่เขามีกลยุทธ์ที่เข้าถึง เช่น ฝากเพื่อนไปสูบ ฝากเพื่อนไปลองบุหรี่ใหม่ๆ หรืออาจจะมีแนะนำบุหรี่ถูก รวมทั้งมีการไปสร้างความรู้สึกจงรักภักดีต่อแบรนด์ คุ้นเคยกับแบรนด์พวกนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราสู้เขาไม่ได้หรอกที่เราจะไปรณรงค์แบบซอฟต์ๆ เราต้องใช้มาตรการในสิ่งที่รัฐมีและปกป้องคนประชากร และผู้สูบหน้าใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตเพราะว่าถ้าสูบแล้วจะติดไปประมาณ 20 ปี และก็จะเริ่มป่วยหรือไม่ก็ตาย มันติดระยะยาว เพราะฉะนั้น มันต้องเบรกตั้งแต่ตอนต้นๆ”
เยาวชนไทย หลายต่อหลายคนยังเข้าใจผิด คิดว่าการสูบหรี่เป็นเรื่องที่เท่ ทาง ศจย. จึงพยายามลบภาพลักษณ์นี้ให้หมดไปแล้วช่วงหนึ่ง แต่ก็ยังมีคนกลุ่มใหม่ที่อยากทดลอง โดยเริ่มมาจากบุหรี่ที่ผิดกฎหมาย
“จริงๆ แล้วภาพลักษณ์เรื่องเท่ เราก็ทำให้มันลดลงไปเยอะแล้วนะ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าจะมีกลุ่มคนกลุ่มใหม่ เรียกว่าเป็นสังคมใหม่ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงจะมีการจับกลุ่มสูบบุหรี่ รวมทั้งผู้หญิงที่ทำงานเริ่มมีเงิน โสด และมีสังคมของตัว อาจจจะเริ่มสูบบุหรี่ขึ้นมามากขึ้น อย่างตอนนี้มีบุหรี่ผิดกฎหมาย อย่างบุหรี่รสสตรอเบอรี่ ผู้ขายก็จะให้ลองก่อน เข้ามายั่วยุ ทำให้เกิดความสนใจ พอสูบไปสักพักหาซื้อบุหรี่แบบนั้นไม่ได้ ก็มาซื้อบุหรี่ไทยก็สูบไปเรื่อยๆ”
ทั้งนี้ จึงไม่อยากให้เด็กไทยคิดว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ท้าทายหรือคิดว่าสูบแล้วเท่ อยากให้ลองนึกถึงผลระยะยาวที่จะตามมาด้วย นอกจากจะเสียสุขภาพแล้วยังสิ้นเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย
“เยาวชนอย่าตกเป็นเหยื่อของภาพลวงที่เข้าใจว่าสูบบุหรี่แล้วมันเท่ หรือว่าสูบบุหรี่มันเป็นความท้าทาย อย่าไปตกเป็นเหยื่อค่ะ เราต้องรู้เท่าทันว่าเราเริ่มสูบแล้วมันจะนำไปสู่การติดได้ ติดแล้วมันก็จะตามมาด้วยสุขภาพที่แย่ลง สิ้นเปลืองไปกับการใช้เงินมาซื้อบุหรี่” ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวโดยASTVผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754