xs
xsm
sm
md
lg

โยมให้มา อาตมาให้ไป “ไอโฟน 6” เหนี่ยวนำใจชาวพุทธสู่ทางธรรม!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“โปรยทานเงินแสน ร่วมบุญรับโชค ลุ้นรับ ไอโฟน 6” ไม่น่าเชื่อว่าประโยคดึงดูดใจดังกล่าวคือ คำชักชวน “เข้าวัดทำบุญ” ที่วัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลก ในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพราะไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ดูเป็น “โฆษณาเชิญชวนลุ้นโชค” อยู่วันยังค่ำ
โดยเฉพาะประเด็นเจ้าอาวาสใจป้ำทำทาน แจกไอโฟน 6 ถึง 5 เครื่อง เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีเงินสดอีก 3 แสนในพิธีกรรมโปรยทาน งานนี้ท่านบอกเลยว่า “วัดราชฯ ของเราให้นิดๆ หน่อยๆ แค่นั้นเอง”





กุศโลบายจากใจป้ำๆ ของเจ้าอาวาส

(ประกาศลุ้นโชคลอตใหญ่เอาไว้ชัดเจน - ขอบคุณภาพจาก ทีเอ็นเอ็น)
บอกได้เลยว่าฮือฮา!! หลากหลายความคิดเห็นไหลบ่าเข้ามาเมื่อทราบว่า วัดราชบูรณะ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก จัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบ 9 วัน 9 คืน ด้วยวิธีดึงดูดชาวพุทธเข้าวัดโดยการแจก “ไอโฟน 6” ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.57 ยาวไปจนถึง 4 ม.ค.58

ภายในงานจะอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมยอดนิยมของชาวพุทธ อาทิ การปิดทองลูกนิมิต 9 วัด 9 จังหวัด, การทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ, การสวดมนต์สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา, แก้ปีชง และการสวดมนต์ข้ามปี

ขาดไม่ได้เลยคือไฮไลต์เด็ดของงานอย่าง การแจกไอโฟน 6 จำนวน 5 เครื่อง โดยแบ่งเป็นภาคเช้า ช่วงนาคเข้าพระอุโบสถ 2 เครื่อง และภาคบ่าย หลังทำพิธีถวายลูกนิมิตอีก 3 เครื่อง ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ยังมีการแจกทานเป็นเงินพับ โดยมีตั้งแต่ธนบัตรใบละ 20 บาท จนถึง 1,000 บาท รวมเบ็ดเสร็จคิดเป็นเงิน 300,000 บาท!!


(เตรียมงานใหญ่ - ขอบคุณภาพจาก พิษณุโลกนิวส์)
ที่เห็นว่าต้องจัดหนัก-แจกยับกันขนาดนี้ ก็เป็นเพราะกุศโลบายส่วนตัวของเจ้าอาวาสนั่นเอง และบรรทัดต่อจากนี้คือเจตนาของ “พระครูสิทธิธรรมวิภัช” เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ จ.พิษณุโลก ที่เปิดใจบอกเล่าทุกเหตุผลเบื้องหลังเอาไว้กับ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ผ่านปลายสายแบบสดๆ ร้อนๆ

“มันเป็นของคู่กัน ทำบุญกับโปรยทาน แต่เผอิญทานในครั้งนี้มันเป็นไอโฟน 6 ไป เมื่อเขาให้ไอโฟน 6 มา เราก็เลยต้องให้ไอโฟน 6 ไป ไอโฟนนั่นก็เป็นของโยม โยมเขาเอามาจากอเมริกา เขาให้มา เขาซื้อมาถวายให้เจ้าอาวาส แต่เราก็คิดว่าเกินความจำเป็น ใช้แล้วก็ใช้ไม่ค่อยจะเป็น ก็เลยเอาไอโฟนไปใส่ฉลากโปรยทานดีกว่า แรกโยมเขาให้ 2 เครื่อง แต่ตอนหลังเขาเพิ่มมาให้อีก 3 ก็เลยกลายเป็น 5 เครื่อง

แล้วก็มีโยมบริจาคเงินเหรียญมาด้วย ห่อสตางค์เหรียญเหมือนโปรยทานบวชนาค มีฉลากอยู่ด้านใน แต่อันนี้จะมีทั้งสตางค์ มีทั้งฉลากด้วย บางคนพอโปรยทานไปก็อาจจะได้สบู่ ได้แฟ้บ ได้น้ำอัดลมกลับบ้าน แล้วก็มีทานใหญ่ๆ เพิ่มอีก ตีราคาแล้ว รวมหลายๆ อย่างก็จะถึงแสนได้ ก็เลยเรียกว่า “โปรยทานเงินแสน”

จริงๆ แล้ว ญาติโยมรายอื่นๆ ก็มีที่มอบอย่างอื่นมาให้มาเหมือนกันนะ มีมอบโคกระบือมาให้ เป็นโคกระบือ 3 ฤดู เปลี่ยนฤดูละสี เฉพาะกระบือ 3 ตัวนี้ก็ตกหลายแสนแล้ว เขาก็บอกมอบให้ แล้วแต่เจ้าอาวาสว่าจะให้ใคร ถ้าใครปรารถนาจะเลี้ยง เจ้าอาวาสก็จะมอบให้คนนั้น

ไอโฟนก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ เมื่อเขาถวายมาแล้ว เราจะให้ใครก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าอาวาส จะให้เก็บไว้เองมันก็ได้ แต่ไอ้เราอยากจะให้คนอื่นไป เพราะมันก็เกินความจำเป็นของอาตมาที่จะต้องใช้ ปกติก็ใช้ “ไอโฟน 10” อยู่แล้ว แบบมีปุ่มกดเอา (หัวเราะ) เลยคิดว่าไหนๆ ก็ทำบุญใหญ่แล้ว ทำบุญถวายลูกนิมิตและทำบุญให้ทานไปด้วยก็คงไม่เป็นอะไร


ถามว่าเป็นกุศโลบายมั้ย มันก็ไม่เชิงนะ เพราะมันก็เป็นการชักชวนไปในตัวด้วย บางทีให้นู้นให้นี้ไปก็ถือเป็นการชักชวนญาติโยมมาเข้าวัดเหมือนกัน บางทีก็เคยมีการช่วยเหลือทุนการศึกษาบ้าง ทางวัดก็ไปช่วยเหลือ และครั้งนี้เราก็อยากจะให้ พอมีโปรยทานก็เลยคิดว่ามีใครเคยให้อะไรมาบ้าง อาจจะมีเสื้อผ้า ข้าวสารอาหารแห้ง เราก็เอาไปใส่ฉลากเข้าไป รวมทั้งไอโฟนด้วย

ส่วนใหญ่วัดราชฯ ของเราที่ผ่านมาจะบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาเดือดร้อนทางสังคม ทำมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว เมื่อโยมบริจาคข้าวสารอาหารแห้งมา เราก็ให้ข้าวสารอาหารแห้งกลับไป เสื้อผ้าอาภรณ์ก็บริจาคให้เขาไป เขาให้โคกระบือมา เราก็มอบโคกระบือให้ผู้ที่จะเลี้ยงโคกระบือกลับไป โยมให้ไอโฟนมา เราก็ให้ไอโฟนกลับไป

คนเราสมัยนี้จะให้เข้าวัด บางทีบอกว่า โยม...มาถวายทาน มาสมาทานศีล มาทำบุญเสริมบารมีนะ ส่วนมากก็จะไม่ค่อยจะมากัน ไม่ค่อยเข้าวัดกัน ก็เลยต้องใช้อย่างอื่นเป็นเครื่องชักชวน เป็นอุปกรณ์เชิญชวนให้คนเข้าวัด พอเขาเข้าวัดแล้ว เรามีอุปกรณ์อะไรเราก็ให้เขาได้ แต่ถ้าคนไม่เข้าวัด เราจะให้อะไรเขาได้ จะให้ธรรมะก็ไม่ได้ แต่ถ้าเชิญชวนเขามาได้แล้ว ต่อไปจะใช้กุศโลบายหรือวิธีไหน เราก็สามารถบรรจุธรรมะให้เขาได้ ให้มีศีลมีธรรมกันได้”

ลองให้เปรียบเทียบวิธีดึงคนเข้าวัดกับวัดอื่นๆ ดู เจ้าอาวาสบอกเลยว่ายังถือว่าวัดราชบูรณะแห่งนี้ให้น้อยแล้ว “บางแห่ง บางที่ บางวัด เขาจะแจกเป็นทุนการศึกษา อย่างวัดแถวๆ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นท่านแจกทุนการศึกษา 500 ทุน ทุนละ 3,000 บาท แล้วก็มอบเงินให้มูลนิธิอีก 20 มูลนิธิ มูลนิธิละ 1,000,000 บาท มูลนิธิวัดพระบาทน้ำพุให้ 2,000,000 บาท แต่วัดราชฯ ของเราให้นิดๆ หน่อยๆ แค่นั้นเอง อาตมาแค่มองว่าโยมให้มา เราก็ให้ไป แค่นั้นเองนะ



(เจ้าอาวาส ให้สัมภาษณ์สื่อถึงงานบุญใหญ่)
ถามว่าถ้าชาวพุทธที่มีจิตศรัทธามาร่วมงานบุญของวัดในครั้งนี้แล้วจะได้อะไรกลับไป เจ้าอาวาสจึงตอบกลับว่า “ถ้าโยมอยากได้ไอโฟนก็ได้ไอโฟนไป โยมมาทำบุญกับทางวัด ทำบุญด้วยปัจจัย วัดก็ได้ปัจจัยกลับไป ถ้าใครมาทำบุญปิดทอง เสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ก็จะได้บุญได้กุศลกลับไป มาทำบุญก็จะได้บุญกลับไป” และขอฝากทิ้งท้ายพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเอาไว้ดังนี้

“อยากจะฝากฆราวาสญาติโยมทั้งหลายเอาไว้ว่า ยังไงก็แล้วแต่ให้เราทำใจให้เป็นกลาง ตั้งใจถวายทาน ศีล เจริญเมตตาภาวนา เพิ่มดี-เติมดี ให้แก่ชีวิตของเราเอง ในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สิ่งที่ดีๆ ก็จะได้ย้อนกลับมาหาคนที่เพิ่มดี-เติมดีให้แก่ตนเองกัน”




วิธีดาบสองคม! วัดกันที่ “เจตนา”

พุทธพาณิชย์, สนับสนุนให้ชาวพุทธยึดติดวัตถุ, นี่หรือคือหนทางสู่ธรรมะในวันนี้?, ก็ดีแล้วนี่ คนจะได้เข้าวัดกันเยอะๆ ฯลฯ เกี่ยวกับประเด็นร้อนในผ้าเหลืองแบบนี้ บอกเลยว่าตัดสินยากเพราะมีทั้งดีและเสีย ถูกและผิด "ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ" อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอวิเคราะห์เอาไว้หลายๆ มุมมองอย่างคนที่เข้าใจสภาพการณ์ปัจจุบันและเข้าถึงหลักธรรมที่เรียกว่า “แก่นแท้”

“เรื่องนี้ก็พูดยากนะ แล้วแต่มุมมอง เพราะถ้ามองว่าท่านดึงคนเข้าวัดก็เป็นกุศลจิตที่ดี แต่ถ้าคนไปมองว่าท่านอยากให้คนเอาเงินไปบริจาควัดท่านเยอะๆ หรือเปล่าที่จะมองว่าไม่ดี เราอาจจะต้องเริ่มพิจารณาจากว่า ท่านดึงคนเข้าวัดไปทำอะไรบ้าง ในวัดจะมีการเรี่ยไรอะไรมั้ย คงต้องดูรายละเอียดกันดีๆ

ถ้าท่านเจ้าอาวาสมีเจตนาที่จะเอาเงินไปใช้ส่วนตัวก็อีกเรื่องนึง ซึ่งไม่น่าจะใช่เพราะนี่เป็นงานวัด ผลประโยชน์ที่ได้น่าจะเกิดขึ้นกับวัดมากกว่า เพราะฉะนั้น ผมเลยมองไปในทิศทาง “เจตนาดี” เสียมากกว่า เมื่อมีงานวัดเงินก็จะเข้าวัด และวัดที่มีระบบที่ดีก็จะมี “ไวยาวัจกร” ผู้ทำกิจแทนสงฆ์ มาดูแลเงินวัด ก็จะไม่มีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าเป็นวัดที่ไม่มีระบบที่ดี เจ้าอาวาสจะเอาเงินส่วนนี้ไปใช้อะไรผิดประเภท อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึง

มันมีหลายวิธีที่วัดพยายามดึงคนเข้าวัดซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการวิจารณ์กันได้ เช่น การพยายามแจกนู่นนี่ในวัด แม้กระทั่งการดึงคนด้วยการให้มีหนัง-ลิเกในวัด มีมหรสพในวัดก็จะถูกคนวิจารณ์ว่าไม่เหมาะกับวัด แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ค่อยถือเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะแบบนี้ก็มีมาคู่งานวัดมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วครับ ชาวบ้านก็ชอบเพราะจะได้เที่ยวงานวัด คนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าก็จะได้ไปขายของด้วย ได้ประโยชน์หลายอย่าง แต่คนที่เคร่งๆ อาจจะมองว่าของแบบนี้ไม่ควรให้มีในวัด เพราะถ้าตามพระวินัยจริงๆ อาจจะมองได้ว่าไม่เหมาะสมสำหรับพระหรือวัด



ส่วนกรณีที่ใช้กลยุทธ์แจกไอโฟน ก็เป็นไปได้ที่คนจะมองว่ามันจะเลยเถิดไปหรือเปล่า ก็ต้องดูวิธีการว่าท่านแจกกี่เครื่องและแจกยากง่ายยังไงบ้าง ถ้าเอาคำสอนทั้งพระธรรมและพระวินัย บางท่านอาจจะพิจารณาไปได้ว่า เอ...นี่เป็นการเอาวัตถุมาล่อคนหรือเปล่า ทำให้คนติดเรื่องวัตถุนิยมหรือเปล่า ก็อาจจะเป็นข้อเสียได้ แต่มันก็มองได้อีกมุมนึงครับว่า ก็ในเมื่อชาวโลกยังติดวัตถุกันอยู่ ยังบริโภคนิยมกันอยู่ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งของเหล่านี้มันดึงดูดใจเขา ทำให้เขาสนใจจะเข้าวัด อย่างน้อยก็ได้สร้างความฮือฮาให้คนสนใจ เพราะฉะนั้น จึงมองได้ทั้งดีทั้งเสียทั้งถูกและผิดนะครับ

มันอยู่ที่ว่าพอคนเข้าไปแล้ว ท่านจัดกิจกรรมอะไรที่จะทำให้คนได้เอาธรรมะกลับบ้านไปบ้าง นอกจากชักชวนเขามาทำบุญบริจาคทานแล้ว ถ้าเกิดท่านมีกิจกรรมที่จะให้ความรู้ ให้ปัญญาแก่ผู้บริจาคธรรมไปด้วย ผมก็คิดว่าถึงจะเสียบ้าง จะถูกมองว่าเลยเถิดไปบ้าง ก็ถือว่าผลที่ได้ยังคุ้ม แต่ถ้าคนส่วนใหญ่จะเข้ามาเพื่อจะเสี่ยงโชค ก็งานที่กำลังจะเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ได้ผลเสียมากกว่าได้ กลายเป็นทำให้คนติดเรื่องวัตถุนิยม แทนที่จะเข้าหาธรรมะ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับว่ากุศโลบายของวัดแหละครับว่าดีพอมั้ย

เรื่องนี้เป็นเหมือนดาบสองคมครับ มีทั้งแง่ดีและไม่ดี ต้องยอมรับว่าอาจจะมีข้อที่สามารถติติงว่าไม่เหมาะสมอยู่บ้างในเรื่องวัตถุนิยม แต่วัดก็ยังมักจะต้องใช้กุศโลบายแบบนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้น ผลบุญจากงานครั้งนี้มันคุ้มค่า วัดได้เงิน ญาติโยมก็ได้บุญได้ปัญญาด้วย ก็อาจจะมองว่าถึงจะเสียแต่ก็คุ้มค่า คงต้องมองในรายละเอียดกันอีกที




อนุโลมได้ แต่อย่าให้ถึงเกรดเอฟ!

การโปรยฉลาก-ลุ้นโชค ที่ทางวัดจัดเป็นกิจกรรมในครั้งนี้ ถ้าให้เปรียบไปแล้ว อาจารย์มองว่ายังไม่หนักถึงขั้นเข้าข่ายการพนันอย่างที่บางวัดเคยล่อชาวพุทธด้วยจากแจกสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่น่าจะคล้ายเกมสอยดาวในงานวัดเสียมากกว่า “สอยแล้วมีรางวัลให้ คนรู้อยู่แล้วว่าเน้นทำบุญ แต่ถ้าได้ของดีๆ แพงๆ กลับไปก็ถือเป็นโชคของคุณ เพราะของเหล่านั้นก็เป็นของที่คนบริจาคมาให้วัด แต่ก่อนรางวัลใหญ่หน่อยอาจจะแจกทีวี แต่เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นโอโฟน

เวลาจัดงานวัด ส่วนใหญ่ทางวัดจะเน้นมหรสพดึงคนมาเข้าร่วมครับ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการดึงด้วยความศรัทธา ความศักดิ์สิทธิ์ มีพิธีต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งหมดนี้ก็เป็นกุศโลบายในการดึงคนให้เข้ามาทำบุญ มีหลายอย่างครับ อย่างทุกวันนี้เราก็ฮิตเรื่องสวดมนต์ข้ามปีกัน ก็มีหลายวัดที่ไม่ได้ให้แค่มานั่งสวดมนต์ธรรมดา แต่สวดแล้วมีพระแจกบ้าง หรือจัดพิธีเหมือนสวดสะเดาะเคราะห์ไปในตัว เป็นการเอาศรัทธาความเชื่อมาเป็นกุศโลบาย อาจจะไม่ได้เน้นแจกเงินแจกของ แต่ก็ถือว่าดึงด้วยพิธีกรรมเหมือนกัน ก็ถูกมองว่าเน้นเรื่องพิธีกรรมและอภินิหารมากไปมั้ย เพราะฉะนั้น แต่ละวิธีถ้าเอาพระธรรมวินัยมาจับจริงๆ ก็จะมีข้อตำหนิติติงได้ไม่มากก็น้อย แต่ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมองว่าสิ่งเหล่านี้ซีเรียส เพราะเป็นศรัทธาที่สืบทอดกันมานาน

กลุ่มปัญญาชนกลุ่มหนึ่งอาจจะมองว่าการดึงคนด้วยกุศโลบายแบบนี้ ทำให้คนได้แค่กระพี้ ไม่ไปถึงแก่นของศาสนาจริงๆ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าวัดสมัยก่อนหรือในพระธรรมวินัยระบุไว้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สมัยนั้นยังไม่มีเรื่องการสร้างและบำรุงวัด ไม่จำเป็นที่วัดต้องมาหาเงิน ส่วนใหญ่จะมีเศรษฐีคอยอุปัฏฐากอยู่แล้ว จึงไม่ปรากฏว่าพระต้องออกมาวิ่งเต้นหาเงินหาดูแลวัด เพราะฉะนั้น กิจกรรมที่เกิดในวัดก็จะมีแค่คนมาทำบุญ ถวายภัตตาหาร มาฟังพระเทศน์ มาสนทนาธรรมกับพระ ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็จะมาสอนธรรมะตอนค่ำเป็นประจำ ก็เลยจะไม่มีพิธีกรรมแบบทุกวันนี้



เอาเป็นว่า ถ้าจะไปเข้าร่วมงานบุญแบบนี้ ผมว่าให้คิดว่าเราเน้นเรื่องทำบุญ ไปเอาปัญญา ไปช่วยวัด ช่วยพระศาสนา แต่ถ้าไปจับฉลากแล้วได้ของขวัญมีราคา ก็ให้ถือว่าเป็นกำไร เป็นอานิสงส์ผลบุญก็แล้วกัน แต่อย่าไปให้ความสำคัญมากกว่าบุญที่เราจะไปทำ เพราะถ้าเราคิดว่าเราจะไปเสี่ยงโชคเอาไอโฟน 6 มันก็จะกลายเป็นว่าเราไม่ได้มีเจตนาที่เป็นกุศลเลย ก็ขอให้เอาเรื่องรางวัลเป็นของแถม ไปแล้วติดไม้ติดมือมาก็ได้ แต่เป้าหมายหลักขอให้เป็นการทำบุญช่วยเหลือพระศาสนาก่อนจะดีกว่า

ต้องยอมรับว่าพิธีกรรมที่ดึงคนแบบนี้มันเป็นกระพี้ เป็นแค่เปลือกของธรรมะ แต่มันก็สำคัญต่อความอยู่รอด เพราะถ้าต้นไม้ไม่มีกระพี้ มันก็ไม่รอด สุดท้าย แก่นของธรรมะก็จะไปไม่รอด เลยทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับกระพี้เหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่บางครั้งก็ต้องดูว่ากระพี้เหล่านี้มันมากเกินไปหรือเปล่า เพราะบางครั้งเข้าวัดก็มีแต่เรื่องให้คนทำบุญ เรี่ยไรเยอะแยะไปหมดจนดูเหมือนจะเกินเลยไปบ้างเพราะมีพิธีกรรมมากไป ในขณะนี้การให้ธรรมะ ให้ปัญญามีน้อย ก็ต้องมาดูว่าจะทำยังไงให้การให้แก่นของศาสนาไปสู่ชาวพุทธมากขึ้น และลดเรื่องพิธีกรรมให้น้อยลง แต่จะไม่ให้มีเลยคงจะยาก

ยกเว้นบางวัดที่เก่งจริงๆ อย่าง ท่านพุทธทาสฯ หรือท่าน ว.วชิรเมธี ท่านสามารถเรียกศรัทธาญาติโยมได้แล้ว ท่านสามารถดึงคนกลุ่มนึงที่อาจจะไม่ชอบเรื่องพิธีกรรม แต่ชอบเรื่องปัญญามาได้ เราก็ต้องยอมรับว่าบางวัดยังทำแบบ “เกรดเอ” แบบนี้ไม่ได้ ท่านก็อาจจะต้องทำแบบเกรดบีไปก่อน แต่ขออย่าให้ไปถึง เกรดซี หรือ เกรดดี เลย ไม่งั้นเดี๋ยวจะเกินเลยไปถึง “เกรดเอฟ” เดี๋ยวมันจะรับกันไม่ได้

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- ฮือฮาอีกแล้ว! วัดดังพิษณุโลกบวชพระใหม่-โปรยเงินสดแจก 3 แสนบาท ไอโฟน 6 อีก 5 เครื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น