“รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” ดูเหมือนจะไม่ใช่คำจำกัดความที่ครอบคลุมอีกต่อไปแล้ว เพราะล่าสุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยแนวทางใหม่ว่า ต้องการให้คำว่า “ฟรี” เหล่านี้ ทั้งใน “รถเมล์” และ “รถไฟ” มีไว้สำหรับ “ผู้มีรายได้น้อย” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “คนจน” เท่านั้น
จากเดิม ทั้งรถเมล์และรถไฟเวอร์ชันฟรีเหล่านี้ จะเปิดกว้างให้กับประชาชนทุกคนได้ใช้บริการสัญจรไปถึงจุดหมายด้วยภาระค่าใช้จ่ายศูนย์บาท แต่ระยะหลังๆ มักมีนักท่องเที่ยวผู้มีรายได้ดีหลายต่อหลายรายมาจับจองพื้นที่ใช้บริการ เบียดเสียดพื้นที่ที่ควรจะเอื้อเฟื้อให้แก่ผู้โดยสารผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มที่สมควรได้รับความช่วยเหลือเสียมากกว่า จึงมีความเห็นว่าในภายภาคหน้าอาจต้องแก้ไขมาตรการเดิมให้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะให้ยกเลิกมาตรการเดิมหรือเพิ่มการบริหารจัดการเข้าไปแทน
ตลอดช่วงที่มีนโยบายรถเมล์และรถไฟฟรีจากการสนับสนุนของรัฐบาลซึ่งได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 พบว่าทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์รวม 897.05 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ใช้บริการจากฝั่ง ขสมก.จำนวน 722 ล้านคน และฝั่ง ร.ฟ.ท. จำนวน 175.05 ล้านคน
หากพิจารณาเงินสนับสนุนเป็นรายเดือน พบว่าประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์ฟรีจากทั้งหมดจำนวน 800 คัน ได้รับการสนับสนุนถึง 255 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนประชาชนผู้ใช้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ขึ้นฟรีในขบวนรถชั้น 3 จำนวน 164 ขบวน คิดเป็นเงินสนับสนุนถึง 88 ล้านบาทต่อเดือน
คงต้องดูกันต่อไปว่า มาตรการใหม่ที่จะออกมาจะช่วยให้ผลประโยชน์ส่วนนี้เดินทางไปถึงพี่น้องประชาชนคนจนอย่างที่ทางรัฐบาลต้องการมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ๆ กระทรวงคมนาคมบอกไว้ว่าแนวทางใหม่นี้จะช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณได้กว่าเดิมถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754