xs
xsm
sm
md
lg

โพสต์เดียวเตรียมตัวตาย! ยุคสมัยแห่งโลกออนไลน์ทำร้ายคุณ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊กไบค์ชนหมาขาด 2 ท่อน โพสต์ลงเฟซบุ๊กโชว์เพื่อนฝูง, เด็กมัธยมถ่ายข้อสอบGAT-PAT ลงอินสตาแกรม นี่เป็นเพียงการโพสต์เพื่อระบายอารมณ์ส่วนตัว แต่ใครจะรู้บ้างว่าแค่โพสต์เดียวจะกลายเป็นดรามาให้สังคมออกมาต่อว่าจนกลายเป็นประเด็นร้อน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนใช้โซเชียลฯ ต้องระวัง ไม่เช่นนั้นคุณอาจกลายเป็นจำเลยทางสังคมรายต่อไป!

โชว์โซเชียลฯ = ฆ่าตัวตายทางอ้อม

ในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายเรื่องราวที่เป็นประเด็นร้อนแรงไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอาชญากรรม หรือภัยสังคมต่างๆ แต่ถ้าหากเจาะลึกประเด็นไปในเรื่องของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ข่าวคราวความร้อนแรงคงไม่แพ้กันและปฏิเสธไม่ได้ว่า คนสมัยนี้หากมีความลับคงปิดไม่มิด เพราะมีพวกที่เสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่จำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะทำอะไรเป็นอันต้องบอกกล่าวให้คนรู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง 
ยกตัวอย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อหลายวันก่อน เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพรถบิ๊กไบค์หลังขับรถชนสุนัขขาดเป็น 2 ท่อน พร้อมข้อความว่า “ฉลามกัดหมา RIP” เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ไม่มีความสลดเลยแม้แต่น้อย แต่กลับถ่ายรูปสุนัขที่ขาดเป็น2ท่อนได้อย่างหน้าตาเฉยโดยไม่สะทกสะท้านหรือมีความเสียใจที่ทำให้สุนัขเสียชีวิตเลย ในทางกลับกันก็มีบางกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเจตนาของผู้โพสต์อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้
 
คล้ายกับกรณีของเด็กนักเรียนสาวม.6 ที่งานเข้าอย่างจัง เมื่อถ่ายรูปข้อสอบและกระดาษคำตอบGAT PAT ซึ่งมีการระบุชื่อ-นามสกุล และเลขบัตรประชาชน โพสต์ลงในอินสตาแกรมพร้อมทั้งบรรยายใต้รูปว่า “คะแนนติดลบล้วนๆ 5555555555 #RIP#gat#pat #m6” สร้างความโกลาหลเมื่อมีการวิจารณ์ตามมาเกี่ยวกับ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่าจะมีวิธีการลงโทษนักเรียนสาวรายนี้อย่างไร เพราะการที่ทำแบบนี้ทุจริตในการสอบ และอาจส่งผลกระทบทำให้นักเรียนชั้น ม.6 ทั่วประเทศต้องมาทำการสอบใหม่อีกครั้ง
 
จากประเด็นดังกล่าวที่ได้รับรู้ ทำให้เกิดเป็นกระแสตามมาว่ามันสมควรแล้วหรือ? ที่ทำอะไรจะต้องป่าวประกาศให้คนอื่นได้รู้ จนเกิดเป็นภัยร้ายกลับมาฆ่าตัวเองในภายหลัง จะเห็นได้ว่าเรื่องเหล่านี้คือภัยที่ใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) กล่าวว่า
 
 
“คนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นมีความกระตือรือร้นอยากจะพูดหรืออยากจะแสดงออก ในลักษณะเนื้อหาที่โพสต์นี้ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ชอบเอาโทรศัพท์มือถือมาถ่ายคลิป ถ่ายภาพเพื่อโพสต์ลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก่อนหน้านี้สื่อไม่ได้เข้าถึงตัวประชาชนมากถึงขนาดนี้ ประชาชนเลยจะถูกสื่อครอบงำค่อนข้างมากคือจะพูดหรือจะทำอะไรไม่ค่อยได้พอมีอะไรเข้ามาเราก็จะตื่นเต้นพอสมควร สิ่งที่ง่ายที่สุดคือพบเจออะไรมาก็จะเอามาโพสต์หลายคนเป็นคนที่ชอบเซลฟี่ตัวเองแล้วโพสต์ เขาบอกกันว่าบุคคลเหล่านี้คือคนที่ให้ความสำคัญกับตัวเองมากเป็นพิเศษ หรือว่าจริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่มีคอนเทนต์อื่นอะไรที่เกี่ยวกับตัวเอง การโพสต์รูปจึงเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดที่จะพูดถึงตัวเขา”
 
จำไว้! ถ้าไม่อยากเป็น "จำเลย" ของสังคม
 
ปฏิเสธไม่ได้หากมีใครบอกว่าคนยุคใหม่เสพติดโซเชียลฯ มากเกินไปหรือเปล่า? เพราะมันคงเป็นอย่างที่เขาพูดจริงๆ หากลองย้อนกลับไปมองที่หน้าเฟซบุ๊กตัวเอง คงพบเพื่อนในโลกออนไลน์ที่แชร์เรื่องราวโดยไม่ซ้ำกันแต่ละวัน
 
“เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตจะดีตรงที่ว่าให้เราพูดเรื่องตัวเองได้ก่อนคือใช้ข้อความในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนเช่น การใช้ไลน์หรือเมสเซนเจอร์ ลักษณะเหล่านี้จะแสดงว่าเราเริ่มใช้เทคนิคการสื่อสารในทางที่ดี แต่ยังมีอีกลักษณะหนึ่งที่เราอาจจะเข้าถึงบ้างแต่ว่าน้อย ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ คือการใช้คอมพิวเตอร์พูดในเรื่องสาธารณะหรือพูดในเรื่องสังคม
 
การใช้อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ในสังคมที่เราต้องดูว่าใช้พูดแค่เรื่องส่วนตัวหรือเปล่า อย่างบางคนก็โพสเรื่องส่วนตัว แชร์แต่เรื่องส่วนตัวเช่น รูปอาหาร รูปสัตว์เลี้ยง อันนี้ไม่ได้ผิดนะ แต่เป็นการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในทางที่จะผลักดันตัวเองทางสาธารณะให้มากขึ้นคนไทยจะมีนิสัยที่ชอบสื่อสารอยู่แล้ว หลังๆ เลยมีเพจคลิปแฉ เช่น มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง หรือเจอคนหล่อคนสวยบอกด้วย ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นพื้นที่ของการแบ่งปัน ความคิดเห็นหรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเท็จจริง แต่ถ้าอยากโพสต์-แชร์ในพื้นที่ส่วนตัวส่วนต้องโพสต์ลงใน เฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม
 
ถ้าเป็นคนสมัยก่อนเขาจะเขียนไดอารี่แล้วก็จะบันทึกเรื่องราวชีวิตประจำวัน แต่คนปัจจุบันนี้จะบันทึกด้วยการถ่ายรูปมากขึ้น เพราะการโพสต์ด้วยภาพมันง่าย เพราะ 1 ภาพ มันแชร์ความหมายได้ตั้งหลายอย่าง ไม่ว่าจะถ่ายรูปตัวเอง ถ่ายรูปอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยว เพราะคนสมัยนี้มันพูดกันน้อยใช้ภาพในการสื่อสารมากขึ้น คนในปัจจุบันจึงมีทักษะการเขียนที่ต่ำลง
 
ส่วนคนที่โพสต์รูปเซลฟี่มากๆ จะเป็นโรคที่มีความเสี่ยงในเรื่องของการไม่มั่นใจตัวเอง หรือเป็นโรคหลงตัวเองเพราะเขารู้สึกว่าความสุขของเขามาจากการโพสต์รูปแล้วมีคนมากดไลค์ แต่มันก็คือความสุขที่ฉาบฉวย”
 
เมื่อSocial Network เป็นสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันและขาดไม่ได้ เราจึงต้องระมัดระวังและเลือกใช้ให้ถูกวิธี โดยการปลูกฝังว่าสื่อออนไลน์นั้นมันเป็นความสุขที่ฉาบฉวย แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ของคนรอบข้างต่างหากคือสิ่งสำคัญ
 
“โซเชียลเน็ตเวิร์กถือเป็นดาบ 2 คม ถ้าใช้ดีก็เกิดประโยชน์ ถ้าใช้ไม่ดีก็เป็นโทษ ข้อแนะนำก็คือว่าใน 1 อาทิตย์ ต้องไม่ใช้สื่อในโลกออนไลน์มากเกินไป และไม่ต้องไปจริงจังอะไรกับมันมาก เช่น ความเห็นคนที่ในเชิงตำหนิ ถ้าไม่ชอบใจผมแนะนำให้ลบทิ้ง เราไม่จำเป็นที่ต้องเป็นเพื่อนกับทุกคน ในชีวิตจริงเรายังเลือกคบเพื่อน เพราะฉะนั้นในอินเตอร์เน็ตเราก็ทำแบบนั้นได้เหมือนกัน

ต้องพยายามคัดกรองข้อมูลข่าวสารในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา ถ้าเราซีเรียสหรือจริงจังมากเกินไปนั้น เราอาจจะสูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะที่สุดแล้วมันก็เป็นแค่เครื่องมือการสื่อสารของคนทั้งโลก เราควรจะรักษาความสัมพันธ์ของคนรอบข้างให้ดีที่สุด” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ กล่าวทิ้งท้าย





ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น