xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยฮ.ตก (อีกครั้ง)! โศกนาฏกรรมซ้ำซากของทหารไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นอีกโศกนาฏกรรมจากความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แทบจะกลายเป็นเหตุซ้ำเดิมที่หลายครั้งก็ชวนให้สงสัยในหลายประเด็นกับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก พรากเอาชีวิตวีรชนชาติทหารออกจากงานรับใช้ชาติ ออกจากชีวิตที่ควรจะได้ดำรงอยู่ตลอดไป...

ล่าสุดก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดพะเยา มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตถึง 9 นาย 1 ในนั้นได้โพสต์ข้อความเป็นนัยยะถึงลางบอกเหตุว่า เขาอาจต้องไปเสี่ยงชีวิตและไม่ได้กลับมาอีก

เรื่องเศร้าซ้ำซาก

“ได้เวลา เย้ยฟ้า ท้าลมหนาว อีกแล้ว...ฮ.เก่า นักบินใหม่...อากาศปิด ประตูนรกเปิด...” คือข้อความสุดท้ายที่ขึ้นเป็นสถานะบนเฟซบุ๊กของ จ.ส.อ. อนันต์ ชมเชียงคำ ผู้เป็น 1 ในเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งล่าสุด

โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพภาคที่ 3 รุ่นเบลล์ 212 เกิดตกที่บ้านดอกบัว หมู่ 10 ต.ท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 9 รายด้วยกัน จากเหตุการณ์ดังกล่าว พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีคำสั่งให้ คณะกรรมการนิรภัยการบิน ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุโดยละเอียดและดำเนินการต่ออากาศยานดังกล่าวทันที

ต่อมา พล.ต.ธนา จารุวัต โฆษกกองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พร้อมยืนยันว่า เฮลิคอปเตอร์ รุ่น เบลล์ 212 ยังมีประสิทธิภาพดี สามารถใช้งานถึง 30 ปี และจะใช้งานต่อไป ที่ผ่านมาทางกองทัพบกดูแลบำรุงรักษาเป็นอย่างดี

ทว่า ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้นก็มีชาวบ้านหลายคนบังเอิญเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ต่วน บุญปลอด อายุ 66 ปี ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ เผยว่า ขณะเลี้ยงวัวอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ ได้ยินเสียงเหมือนเครื่องยนต์กระตุกและร่อนไปเกี่ยวกับต้นไม้แล้วระเบิด จากนั้นเครื่องก็ตกลงและเกิดระเบิดซ้ำอีกครั้ง

ทั้งนี้ รายชื่อนายทหารทั้ง 9 นายประกอบด้วย 1. พล.ต.ทรงพล ทองจีน (รอง มทภ.3) 2. พ.อ.กิตติ สุวรรณเจริญ (รอง ผอ.กกบ.ทภ.3) 3. พ.อ.ยุทธพงษ์ เพื่อนฝูง (ฝยย.ทภ.3) 4. พ.ท.วุฒิศักดิ์ สุนทรสุข (ผช.นายทหารฝ่ายส่งกำลังบำรุง ทภ.3) 5. จ.ส.อ.อนันต์ ชมเชียงคำ (ชรก.ผยย.ทภ.3) 6. พ.ท.มานิต สุรเสนา (นักบิน) 7. ร.อ.วรพงษ์ ช่างสลัก (นักบิน) 8. จ.ส.อ.สมภพ มาลัยวงษ์(ช่างเครื่อง) 9. จ.ส.อ.อพิรุณ แสนดอนคู่ (ช่างเครื่อง)

อย่างไรก็ตาม ข้อความสุดท้ายของนายทหารคนดังกล่าวกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาความเก่าของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ท้ายที่สุดแล้วก็ก่อให้เกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น แต่อีกมุมก็ยังมีผู้แสดงความเห็นในด้านตรงข้ามที่ว่า เหตุครั้งนี้อาจยังคงมีสาเหตุอื่นที่ต้องสืบสวนกันต่อไป

“ความเป็นมาของคำพูด "อากาศปิด นรกเปิด" มาจาก พลโทชีวัน โหละบุตร ตอนที่ท่านเป็น ผอ.กกบ.ทภ.3 และ รอง เสธ.ทภ.3 เวลาเดินทางโดย ฮ.เพื่อไปตรวจความต้องการด้านส่งกำลังบำรุง ท่านจะพูดคำนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับทุกคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยเสมอๆ ครับ เป็นคำพูดแบบนักรบสมัยก่อน "เมื่อเราทำความดีใยต้องกลัวกับนรก" ไม่ได้มีความหมายในแบบที่เขาเล่าว่า ซึ่งคนใน กกบ.ทภ.3 จะเข้าใจในความหมายของคำนี้ เพราะเป็นสิ่งเตือนใจให้กับการปฏิบัติภารกิจในฐานะจุดสูงสุดของการส่งกำลังบำรุง ตามสายการบังคับบัญชาในระดับกองทัพภาค” Witchakron Yongsawad

“เห็นโพสต์กันเต็มเฟซ วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ผมขอพูดดังนี้ 1.จ.ส.อ.อนันต์ ที่โพสข้อความนี้ไม่ได้เป็นช่างเครื่อง หรือนักบินแต่อย่างใด เป็นผู้โดยสาร ไม่มีความรู้ด้านการบินแม้แต่นิดเดียว 2.ฮ.ลำนี้ ถ้าเทียบตามรุ่นที่ประจำการยังไม่ถือว่าเก่า มี 2 เครื่องยนต์ มีความเชื่อถือได้สูง ใช้เป็นฮ.หลักสำหรับภารกิจvipของกองทัพภาคที่ 3 3.สภาพอากาศในวันนั้นที่ฮ.ยกตัวขึ้นจากค่ายขุนเจือง ก่อนประสบเหตุ ทัศนวิสัยปกติ ไม่ได้อากาศปิดแต่อย่างใด ถ้าอากาศปิด นักบิน ซึ่งเป็นผู้บังคับอากาศยานไม่นำอากาศยานขึ้นบินอยู่แล้ว คนที่เป็นนักบินทราบหลักความปลอดภัยข้อนี้ดี 4.นักบินที่ทำการบิน ไม่ใช่นักบินใหม่แต่อย่างใด พ.ท.มานิต (สุรเสนา) ครูการบินชั้น1 ของbell-212 มีประสบการณ์สูงเป็นนักบินชั้นยอดอันดับต้นๆ ของหน่วยบิน ความคิดการตัดสินใจดีเยี่ยม มีประสบการณ์การบินมากกว่า 20 ปี ร.อ.วรพงษ์ (ช่างสลัก) มีความสามารถในการบินสูง ในภารกิจบินเข้าพื้นที่รับ-ส่ง ผู้บังคับบัญชา แทบจะไม่ใช้นักบินใหม่อยู่แล้ว ส่วนสาเหตุนั้นรอการสืบสวนต่อไป” Peeratchai Frem

รางวัลของความเศร้า

หลังเหตุเศร้าของเหล่าทหาร ความสูญเสียมักตามมาด้วยรางวัลแห่งความดีงาม แม้ว่าแท้จริงแล้วเกียรติยศเหล่านั้นอาจไม่สามารถทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้มากนัก

เหตุเศร้าครั้งนี้ก็เช่นกัน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกเผยว่า กองทัพบกมีการปูนบำเหน็จพิเศษ 7 ขั้น พร้อมเลื่อนยศให้ 9 นายทหารที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่

“จากอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้มีกำลังพลเสียชีวิต 9 นายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ นับเป็นการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่ายิ่งของกองทัพบกที่ได้เสียสละ มุ่งมั่น ทุ่มเท ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ เหตุการณ์ในครั้งนี้นำมาซึ่งความเสียใจอย่างสุดซึ้งของผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ครอบครัว ตลอดจนประชาชนที่ทราบข่าว”

ปัจจุบันกองทัพภาคที่ 3 ได้เข้าดูแลและอำนวยความสะดวกในทุกเรื่องให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ กองทัพบกได้ดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิกำลังพล การมอบเงินช่วยเหลือตามสิทธิของทางราชการโดยจะได้รับประมาณ 2-6 ล้านบาท ตามสิทธิของแต่ละบุคคล พร้อมกันนี้กองทัพบกได้ปูนบำเหน็จพิเศษ 7 ขั้น และขอพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งจะได้รับพระราชทานยศสูงขึ้นดังนี้

พลตรีทรงพล ทองจีน ,พันเอกกิตติ สุวรรณเจริญ ,พันเอกยุทธพงษ์ เพื่อนฝูง, พันโทวุฒิศักดิ์ สุนทรสุข และ พันโทมานิต สุระเสนา ทั้ง5ท่านจะได้รับพระราชทานยศสูงขึ้นเป็น "พลเอก" สำหรับ ร้อยเอกวรพงศ์ ช่างสลัก ได้รับพระราชทานยศเป็น "พันเอก" , จ่าสิบเอกอนันต์ ชมเชียงคำ ได้รับพระราชทานยศเป็น "พลโท" ,จ่าสิบเอกอพิรุณ แสนดอนดู่ ได้รับพระราชทานยศเป็น “พลตรี” และจ่าสิบโทสมภพ มาลัยวงษ์ ได้รับพระราชทานยศเป็น "พันโท"

งบไม่พอหรือเปล่า?

เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกไม่ได้เกิดครั้งแรก หากยังจำกันได้เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2554 และเป็นเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่มีเฮลิคอปเตอร์ตกต่อเนื่อง 3 ลำในช่วงเวลาเพียง 8 วันเท่านั้น เป็นเหตุสลดที่เกิดในระหว่างภารกิจจับกุมผู้บุกรุกป่าไม้ระหว่างตะเข็บชายแดนในพื้นที่อำเภอ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เหตุดังกล่าวนำความโศกเศร้ามาสู่ผู้คนในสังคมมาก เพราะเหตุต่อเนื่องที่นำมาซึ่งความสูญเสียโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตถึง 17 นายด้วยกัน

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ ความเก่าของอากาศยาน คุณภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่อาจมีปัญหา แต่ทว่าเมื่อสำรวจไปถึงงบประมาณที่กองทัพได้รับนั้น ตั้งแต่ปี 2549 - 2556 กระทรวงกลาโหมก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้มีมากขึ้นมาตลอด

โดยในปี 2549 ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 85,936 ล้านบาท ปี 2550 ได้รับงบประมาณพุ่งสูงขึ้นมาเป็น 115,024 ล้านบาท จนถึงปี 2556 งบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับก็พุ่งสูงถึง 180,491 ล้านบาท

ประเด็นเรื่องงบประมาณขาดแคลนหากมองจากตัวเลขที่มหาศาลของงบประมาณที่มี คำถามจึงมักถูกตั้งไปที่การใช้จ่ายของกองทัพซึ่งมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดนับตั้งแต่ มหากาพย์เรือเหาะ เครื่องตรวจจับระเบิดจีที200 รถหุ้มเกราะยูเครน

มีรายงานจากโครงการศึกษาวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการเปิดเผยว่า หน่วยงานที่มี “อำนาจ” หรือเป็นที่น่า “เกรงขาม” จะได้รับโอกาสจัดสรรงบประมาณมากกว่าหน่วยงานอื่น ตัวอย่างเช่น กระทรวงกลาโหม

ประเด็นสำคัญหนึ่งที่คณะวิจัยดังกล่าวระบุไว้คือคำให้สัมภาษณ์ของอดีตผู้บริหารสำนักงบประมาณท่านหนึ่ง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณกระทรวงกลาโหมไว้ว่า

“เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปตรวจสอบได้ แม้แต่ สตง.(สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) ก็เถอะ ดังนั้นจึงมีการทุจริตสูง ถ้ามีกระบวนการกลั่นกรองการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพที่โปร่งใสโดยเฉพาะ เราดูในแง่ของอาวุธว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ได้ดูเพื่อเปิดเผยความลับของประเทศนะ แต่ควรมีแผนป้องกันประเทศที่กำหนดไว้ชัดเจนกว่านี้ว่าจะทำอะไร ไม่ต้องบอกเราหรอกว่าจะต้องมีจำนวนอาวุธเท่าไร เพื่อให้เรารู้กรอบวงเงินคร่าวๆ ในการจัดซื้ออาวุธแล้วซอยมาเป็นงบแต่ละปี แล้วตอบคำถามให้ได้ว่าเมื่อได้มาแล้วจะมีไว้เพื่ออะไร”



เรื่องเล่ายาวนานของทหารผู้รักและซื่อสัตย์ในหน้าที่ได้รับเหรียญตราและเกียรติยศในวาระสุดท้ายเป็นเรื่องราวสุดซาบซึ้ง ทว่าก็คงไม่มีใครปรารถนาให้โศกนาฏกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเอง ท้ายที่สุดคงมีแต่การปฏิรูปกองทัพเท่านั้นที่จะจัดการกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดาการ LIVE



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754







กำลังโหลดความคิดเห็น