คลิปอมแล้วดูด โชว์เสียวบนรถเปิดประทุน, แชร์สนั่น 3 สาวออฟฟิศปูเสื่อกินข้าวบนสะพานเชื่อมบีทีเอส และอีกมากมายหลายคลิปที่ถูกปล่อยออกมาและแพร่ให้ว่อนโลกออนไลน์ กลายเป็นข่าวใหญ่ให้คนถกเถียงแล้วมาเฉลยทีหลังว่าจัดฉาก ส่งให้หลายคนออกอาการเหวอทั้งสื่อและชาวเน็ตที่หลงเชื่อ...
นี่แหละคือยุคแห่งข้อมูลลวงซึ่งเต็มไปด้วย คลิปสร้างกระแส คนอยากดัง และนักโฆษณาผู้นิยมใช้ “มุกโกหก” มาเสนอขายผู้บริโภค
หยุด! เขางอกเพราะโลกออนไลน์
หลงแชร์กันให้ว่อนเน็ต วิจารณ์กันให้วอดวาย สุดท้าย “คลิปสาวใจกล้า ออรัลเซ็กซ์บนรถหรูเปิดประทุนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่” ก็เหมือนจะส่อแวว “จัดฉาก” อีกแล้ว หลังจากมีชาวเน็ตท่านหนึ่งปล่อยภาพออกมาให้เห็นว่ามีทีมงานรายรอบ น่าจะเป็นการถ่ายหนังหรือโฆษณาเสียมากกว่า จึงทำให้หลายคนถึงบางอ้อว่าคงถูกคลิปสร้างกระแสหลอกให้หัวปั่นอีกแล้วสินะ
(https://www.facebook.com/video.php?v=295102090691017&fref=nf)
(มือดีปล่อยภาพเบื้องหลัง บอกน่าจะเป็นการถ่ายทำมากกว่า)
ล่าสุด มี “คลิปสาวออฟฟิศ 3 รายปูเสื่อกินข้าวบนสะพานเชื่อมบีทีเอส” ล้อมวงเปิบมือกันกลางพื้นที่โล่ง ส่งเสียงทักทายเชิญชวนคนเดินผ่านไปมาให้แวะมาเปิบด้วยกันโดยไม่มีท่าทีเคอะเขิน ทำให้เกิดกระแสแชร์ต่อขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้คนดูไม่วิจารณ์กันแบบหลงเชื่อง่ายๆ กลับตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า “จริงเหรอ?” พร้อมกับจับผิดความไม่ปกติในนั้นว่าอาจเป็นไวรัลคลิปหรือคลิปโฆษณาเพื่อสร้างกระแสโปรโมตสินค้าอะไรบางอย่าง
(สาวออฟฟิศล้อมวงเปิบมือ วิจารณ์กันว่าน่าจะจัดฉากมากกว่าของจริง)
“ในส่วนของผู้มาแสดงความคิดเห็นในคลิปก็หลากหลายส่วนใหญ่บอกชอบ น่ารักดี บ้างก็ว่าทำแล้ว ถ้าไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ทำไป หรือกินแล้วก็เก็บให้เรียบร้อย บ้างก็ว่า น่าสมเพช หญิงไทยไม่สำรวมกิริยามารยาท บ้างก็ว่าอยากดังบ้างล่ะ หรือแปลกบ้าง บางรายว่าน่าจะเป็นเรื่องการตลาด ฯลฯ” ผู้ใช้เน็ตตั้งกระทู้แสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายเอาไว้ในกระทู้พันทิปที่มีชื่อว่า “จริงอ่ะ?... 3 สาวออฟฟิศปูเสื่อกินข้าวบนสะพานเชื่อม "บีทีเอส" สาทร”
ลองมองย้อนกลับไปในคลิปแชร์แหลกบนโลกออนไลน์เหล่านี้ จะเห็นว่าไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานพอสมควร ในวงการโฆษณานิยมใช้เป็นช่องทางการโปรโมตสินค้าในช่วงหลังๆ เพราะต้นทุนต่ำและดึงดูดความสนใจได้ทันตาเห็น โดยเฉพาะกรณีที่ส่งผลลบต่อความรู้สึกของคนในสังคม ยิ่งทำให้ “คลิปไวรัล” สร้างกระแสโปรโมตเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ มีผู้ชายออกมายืนชูป้าย “คุณแม่ผมหาย...ใครก็ได้ช่วยที” จนมีคนสงสารถึงขนาดถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วไปตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดพันทิปในเวลาต่อมาจนกลายเป็นประเด็นดัง สุดท้ายเจ้าของกระทู้มาเห็นคลิปโฆษณาภายหลังถึงกับเงิบ เข็ดวิธีโปรโมตที่เล่นกับความรู้สึกคนแบบนี้จนพูดไม่ออก หรือแม้แต่คลิปอาจารย์เขวี้ยงโทรศัพท์ของนักเรียนจนเละ ศิลปินเหวี่ยงแฟนคลับจนกลายเป็นข่าวดัง ท้ายที่สุด เฉลยภายหลังว่าข่าวที่ออกไปกลายเป็นแค่เครื่องมือหวังผลทางการตลาดของนักโฆษณา
(โฆษณาที่เคยถูกประณามเรื่องเล่นกับความรู้สึกของคน)
ในเมื่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกออนไลน์เชื่อถือแทบไม่ได้อีกต่อไป นักการตลาดชื่อดังอย่าง “อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” จึงชวนให้มานั่งวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้กันอีกสักที
“ยุคนี้เป็นยุคสมัยของคนที่ต้องการดังครับ อาจจะดังโดยที่ไม่ได้หวังผลทางการตลาด กับอยากดังเพื่อผลทางธุรกิจ ยิ่งสมัยนี้การสร้างคลิปและการสร้างกระแสเป็นเรื่องง่าย และทีวีก็จะหาข่าวจากคลิปหรือโลกออนไลน์ประมาณวันละ 2-3 ข่าวมานำเสนอโดยอาจจะไม่ได้ตรวจสอบ เลยทำให้คนบางส่วนใช้สื่อเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะคนอยากดัง เพราะเขารู้ว่าคนไทยสนใจเรื่องแบบว่า ยามหล่อ, สาวหล่อ, แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวที่สวยที่สุด แล้วตอนหลังมารู้ว่าเป็นสาวประเภทสอง
หรือแม้กระทั่งกรณีของคนที่ออกมาประกาศว่าจะซื้อเหรียญสิบที่มี พ.ศ.2533 ในราคา 100,000 บาท อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของคนที่รู้จักคิดประเด็นข่าวและใช้สื่อเป็นเครื่องมือ หรือแม้แต่น้องคนที่อายุ 19 ซื้อป้ายทะเบียนประมูลราคา 25 ล้านมาติดรถอัลเมร่านั่นก็ด้วย”
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคลิปไหนจริงหรือปลอม ข่าวไหนน่าเชื่อถือหรือกุขึ้นมา? จากประสบการณ์การเห็นงานโฆษณามาหลายต่อหลายชิ้นพอจะบอกจุดสังเกตได้ว่า “ก็อาจจะต้องดูว่ามันดูจงใจเกินไปมั้ย หรือโจ่งแจ้งเกินไปหรือเปล่า ตั้งใจเกินไปหรือเปล่า จู่ๆ เอาไมโครโฟนมากระทืบพื้น ก็ต้องคิดว่าคนบางคนทำกันขนาดนั้นจริงๆ เลยหรือเปล่า ทำแล้วถ่ายคลิปแบบนี้เลยเหรอ และลองดูสิว่ามันมีผลทางการตลาดมั้ย มีลักษณะสินค้าที่จะแฝงมาได้มั้ย เช่น ผมอยากจะเปิดตัวครีมตัวหนึ่ง เอาคนมาตบกันเลยกลางลานแล้วถ่ายคลิป แล้วตอนหลังมาเฉลยว่าใช้ครีมนี้ตบแล้วหน้าไม่แดง (หัวเราะ) แล้วใส่สินค้าเข้าไปทีหลัง อะไรแบบนี้อันนี้ยกตัวอย่างนะ
แต่ที่ต้องรู้ไว้อย่างคือ คนไทยไม่ชอบให้ใครมาหลอก เป็นนิสัยอย่างหนึ่งเลย ไม่ต้องการรู้สึกว่าเป็นคนโง่ตกเป็นเหยื่อ ถ้าคุณสร้างกระแสแบบนี้มากๆ เพื่อหลอกคนให้สนใจ พอมาเฉลยทีหลังแล้วคนเขารู้สึกตกเป็นเหยื่อ รู้สึกว่าโง่ คนก็จะไม่พอใจสินค้าตัวนั้นเอง เพราะฉะนั้น คนทำก็ต้องระวัง ทำให้พอเหมาะสม อย่าทำให้คนที่เข้าไปร่วมแคมเปญคุณโดยไม่รู้ตัวกลายเป็นคนไม่ฉลาด
ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าการที่เราเป็นเจ้าของสื่อของตัวเอง ทำให้สามารถสร้างกระแสได้ แต่การจะสร้างกระแสให้แพร่กระจายไปทั่วก็ต้องใช้สื่อใหญ่เข้ามาเล่น แต่สื่อใหญ่ก็ต้องดูว่าคุณจะตกเป็นเหยื่อเขาหรือเปล่า ดูว่าประเด็นนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลทางการตลาดหรือเปล่า อย่าเอาชนะกันที่ความเร็วอย่างเดียว”
ไหวตัวทันก่อนแชร์ หัดจับผิดระหว่างชม!
มองอีกแง่ ถึงแม้จะมีหลายคนหลงเชื่อหลงแชร์ แต่ “ผศ.ดร.ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ” อดีตอาจารย์ประจำ สาขาวิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่ายังมีผู้บริโภคอีกหลายรายเริ่มไหวตัวทันและไม่ได้ถูกหลอกง่ายๆ ขนาดนั้นอีกต่อไป จึงมองว่าเริ่มเป็นสัญญาณที่ดีที่จะรู้เท่าทันสื่อต่างๆ มากขึ้น
“มันมีคนทุกจำพวกที่ใช้โซเชียลมีเดียทำให้เราพิจารณาลำบาก แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าคนสมัยนี้ไม่ได้โง่ขนาดนั้นนะ ถ้ามันมี Tie-in สินค้า คนจะพอดูออก คนเดี๋ยวนี้รู้ทันสื่อมากขึ้น รู้ทันนักการตลาดมากขึ้น เริ่มรู้แล้วว่าเดี๋ยวต่อไปคงเห็นโฆษณาเต็มๆ เดี๋ยวคงเห็นสรยุทธเอาไปพูดในรายการมั้ง เขาซื้อกันเป็นกระบวนการ คลิปเหล่านี้จะมีในเว็บดังๆ เยอะอยู่แล้ว ทำให้คนเห็นเยอะและเริ่มตั้งข้อสงสัยว่ามันอาจจะเป็นโฆษณา
อย่างคลิปผู้หญิง 3 คนปูเสื่อกินข้าว ก็เห็นกระแสคนเริ่มสงสัยเยอะนะคะ และถ้าคนเริ่มตั้งคำถาม ไม่หลงกลง่ายๆ แสดงว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกแล้ว และสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้น่ากลัวต่อการถูกหลอกขนาดนั้นอีกต่อไป ถ้าคนสงสัยไว้ก่อน แสดงว่าเป็น Good Sign นะ”
ให้พูดในฐานะคนที่ใช้โซเชียลมีเดียคนหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญวงการโฆษณาและสื่อสารมวลชนมองว่า พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนสมัยนี้เกิดขึ้นฉับไวมาก “เรียกว่าเป็น “Nowism” เห็นแบบไหนก็ส่งต่อไปแบบนั้นเลย เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียต้องใช้อย่างมีวิจารณญาณกันมากขึ้น เพราะทุกคนก็ทำตัวเป็นสื่ออยู่เหมือนกันทุกวันนี้ ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เหมือนๆ กัน พอคนหลายๆ คนแชร์กันออกไปเยอะๆ หลายคนรวมๆ กัน ผลที่ไปถึงคนปลายทางก็อาจจะไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสื่อเลยก็ได้
(คลิป ล้อมวงกินปูเสื่อกินข้าว)
เพราะฉะนั้น จะโพสต์จะแชร์อะไรออกไปต้องระวังให้ดี เหมือนคำพูดที่พูดไปแล้วแหละค่ะที่มันแก้ไขอะไรไม่ได้ ถึงแม้จะตามแก้ไขทีหลังได้ ตามแก้ Edit เนื้อหาในโพสต์ต่างๆ ได้ แต่คนที่เห็นไปแล้วกี่ล้านคนก่อนหน้านั้น ไม่มาเห็นที่แก้ใหม่ล่ะ เราก็ทำให้เขาเข้าใจผิดไปแล้ว
สื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอข่าวให้คนเห็นและจำเป็นต้องทำด้วยความรวดเร็ว ในเมื่อต้องการ “พาด”(หัว)ลงก่อนสำนักข่าวอื่นๆ ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะต้อง “พลาด” เร็วกว่าคนอื่นเขาด้วย และถ้าพลาดแล้วก็ต้องแก้ข่าวที่ผิดพลาดไปให้ใหญ่เท่าสิ่งที่คุณเผยแพร่ไปในตอนแรก เพราะบางคนพูดว่าคนอื่นไปแล้วใหญ่เบ้อเร่อ พาดหัวข่าวใหญ่มาก ทีเวลามาแก้ข่าว พาดลงกระจิ๊ดเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าลงข่าวไป 100 ที่ชงข่าวนั้นจนทำให้เกิดผลลบ ถ้าจะต้องแก้ข่าว ก็ควรจะแก้ไป 100 หรือ 150 ไม่ใช่มาลงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ นี่น่าจะเป็นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับสื่อมวลชนในยุคนี้นะคะ”
คนปล่อย-ผู้ชม สมน้ำสมเนื้อ!!?
นักการตลาดอย่างอาจารย์ธันยวัชร์เข้าใจดีว่า เมื่อเรื่องราวเกิดกลายเป็นกระแส บางครั้งสื่อก็เลือกที่จะไม่นำเสนอไม่ได้ “จะบอกว่าสื่อไม่ต้องเล่นประเด็นนี้ก็อาจจะยากบางที เพราะถ้าสำนักข่าวอื่นลงแล้วอีกที่ไม่ลง ก็ถือว่าเสียประเด็นไป โดยเฉพาะข่าวทีวี มีช่องทีวีดิจิตอล เฉพาะช่องข่าวอีกตั้งกี่ช่อง ถ้ามัวแต่ไปตรวจสอบมากๆ ก็อาจจะไม่ทันคนอื่น
ยกเว้นว่าสื่ออาจจะต้องมาจับมือกันว่าข่าวนี้ไม่เอานะ เขากำลังใช้เราเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่นะ แบบนี้ต้องมีการตกลงกันในสมาคมผู้สื่อข่าวครับ มันต้องมีกฎกติกา ไม่อย่างนั้นก็เหมือนคนอื่นต่อคิวหมด แล้วมีรถคันนึงแซงไปแล้วถึงก่อน ได้ประเด็นไปสำนักข่าวเดียวมันก็ไม่แฟร์ สื่อจึงต้องมีวิจารณญาณว่าจะนำเสนอเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
(รวมคลิปโฆษณาที่ถูกก่นด่าไปทั่วเมือง)
ส่วนคนทำโฆษณา คลิปไวรัลสร้างกระแสเหล่านี้ก็ต้องมีจรรยาบรรณบ้าง ถ้าสร้างกระแสมากไปโดยไม่สนใจอะไรก็จะส่งผลกระทบต่อตัวเอง อย่างก่อนหน้านี้ มีสินค้าตัวหนึ่งใช้เหตุการณ์ช่วงที่มีระเบิดเยอะๆ ทำคลิปสร้างกระแสเพื่อเปิดตัวสินค้า เอากล่องไปวางไว้ตามที่นั่งของผู้โดยสารในที่จอดรถ คนก็คิดว่าเป็นระเบิด พอเฉลยออกมากลายเป็นการเปิดตัวขนมตัวหนึ่ง ข่าวออกมาคนก็รู้สึกแย่ว่ามาเล่นกับกระแสแบบนี้ไม่ดีนะ คนทำกำลังตกใจอยู่ สุดท้ายสังคมก็จะลงโทษสินค้าตัวนั้นเองครับ”
เช่นเดียวกับอาจารย์วิฏราธรที่มองว่าเหรียญมี 2 ด้าน ข่าวสารต่างๆ จึงมีหลากหลายมุม “เรารู้กันดีว่านักสร้างสรรค์สื่อมีทั้งคนดีแบบวิเศษที่ส่งเสริมสังคมจัด วัฒนธรรมจัด สารคดีจ๋า ละครที่ตอบโจทย์ว่าควรรู้คุณคน มันก็มี 2 ขั้ว อีกขั้วหนึ่งก็มีละครที่ตบตีแย่งสามี มีเรื่องตลกโปกฮาทะลึ่งโป๊เปลือย พูดง่ายๆ คือมันเป็นเรื่องที่ตอบความต้องการของคนอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้น สื่อเหล่านั้นจะขายไม่ได้ ไม่มีใครเปิดดู ประเด็นคือเพราะคนชอบเสพอะไรแบบนี้ สื่อเลยต้องส่งอะไรแบบนี้ไปให้
ถ้าจะด่าสื่อ ก็ต้องมองอีกด้านหนึ่งด้วยเสมอ สื่อก็เหมือนเหรียญ 2 ด้าน เหมือนคนเราที่ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ โฆษณาก็เหมือนกัน โฆษณาดีๆ ดูแล้วน้ำตาไหล ทำให้คนรู้สิ่งที่ดี อะไรควรทำไม่ควรทำก็มี โฆษณาที่เลวก็มี ข่าวที่จริงก็มี ข่าวที่กุขึ้นมาก็มี ละครที่ดูแล้วดีให้อะไรกับคนดูก็มี ละครที่ดูแล้วน้ำเน่าแต่คนก็ชอบก็มี มันมีทั้งหมด อยู่ที่ว่าจะเลือกบริโภคอะไร เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีแบบนี้ แต่เป็นเรื่องที่ควรจะทำหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องคิดกันต่อไปค่ะ
จากปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้คิดได้ว่า ในขณะที่คนทั่วไปเคยตกเป็นเหยื่อของสื่อ ทุกวันนี้ สื่อก็สามารถตกเป็นเหยื่อของคนสร้างกระแสเหล่านี้ได้บ้าง ก็ถือว่าไม่มีใครเหนือใครอีกต่อไปแล้ว ถึงคุณจะมีสื่ออยู่ในมือ แต่คุณก็สามารถถูกใช้ได้เหมือนกัน ถือว่าสมน้ำสมเนื้อกันแล้ว”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- จัดฉาก? คลิป 'สาวอมแล้วดูด' เสียวนี้บนรถหรูเปิดประทุน
- ตามหาแม่อัลไซเมอร์! ไวรัลสร้างกระแสจากความสงสารของคน