อาชีพในฝันของหนูๆ คืออะไร? เกือบร้อยทั้งร้อยแทบค้นหาคำตอบว่า “เกษตรกร” จากปากเด็กและเยาวชนไม่เจอ ด้วยค่านิยมฝังหัวมาแต่ไหนแต่ไรว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” ต้องเผชิญกับ “3 น” คือ “เหนื่อย หนัก และหนี้” จนยากจะลืมตาอ้าปากได้
แต่เมื่อหันมามองเพื่อนร่วมอาชีพในแดนปลาดิบ กลับพบผลลัพธ์ที่ต่างออกไป คนรุ่นใหม่ที่นี่ต่างพูดถึงอาชีพของพ่อกับแม่ด้วยแววตาเป็นประกาย ในฐานะเศรษฐีรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จได้จากการเลือกที่จะเป็น “นายตัวเอง”
พลิก “นาข้าว” ให้เป็น “แผ่นดินทอง”
(ไร่นา กว้างสุดลูกหูลูกตาของเศรษฐีชาวไร่ญี่ปุ่น)
“ตอนนี้ผมก็ 60 กว่าปีแล้วครับ เกษียณแล้ว ก็ปล่อยให้ลูกบริหารเองได้แล้ว เราไว้ใจแล้ว เชื่อใจในฝีมือลูก และส่วนใหญ่ เราจะมีความคิดคล้ายๆ กัน ก็เลยให้เขาเดินหน้าทดลองสิ่งที่อยากทำได้เต็มที่ ผมเชื่อมือเขา”
อดีตเกษตรกรมากประสบการณ์ เจ้าของไร่ “Nagai Farm” ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นไร่ของเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จที่สุดรายหนึ่งประจำจังหวัดนากาโนะ พูดถึงลูกชายด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ ถึงตอนนี้ผู้เป็นพ่อได้ส่งไม้ต่อให้ทายาทอย่างเต็มรูปแบบโดยไม่มีอะไรต้องห่วงอีกต่อไป เพราะลูกชายของเขาคือ “เกษตรกรรุ่นใหม่” ผู้แปรรูป “ข้าว” ในไร่แห่งนี้มาทำเป็น “โมจิทอดปรุงรส” รวมถึงสินค้าขึ้นชื่อประจำเมืองอีกหลายชนิดจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
(ความภาคภูมิใจของผู้สืบทอดงานไร่ชาวญี่ปุ่น)
ชวนให้สงสัยว่าอะไรทำให้ทายาทชาวไร่แห่งนี้ ไม่วิ่งหนีงานหนักแต่กลับหนักเอาเบาสู้ และกลับมาพัฒนาให้ไร่เล็กๆ ที่มีพื้นที่ปลูกน้อยกว่าเกษตรกรเมืองอื่นๆ หลายเท่า สามารถหยัดยืนอยู่บนเส้นทางสีเขียวได้อย่างยิ่งใหญ่และเต็มภาคภูมิได้จนถึงตอนนี้ “ซุซูมุ นะงัย (Susumu Nagai)” เจ้าของไร่รุ่นลูกจึงเปิดใจอธิบายเหตุผลให้ฟังด้วยรอยยิ้ม
“ผมว่าจากการที่คุณพ่อพาผมเข้าไร่บ่อยๆ เห็นคุณพ่อแบกจอบเดินไปมา ทำงานทุกวันทำให้เรารู้สึกชินตา เหมือนกับเรียนรู้ไปโดยธรรมชาติว่าต้องมาทางนี้ แต่ตอนแรกก็ไม่ได้กะจะทำนานะครับ เพราะสนใจด้านปศุสัตว์มากกว่า แต่พอกลับมาก็เลยมาดูเรื่องข้าวด้วย พร้อมกับสานต่อสิ่งที่เรียนมาเพิ่มเข้าไปในไร่ด้วยคือเราทำฟาร์มโคนมไปพร้อมๆ กันด้วยครับ” เขาปิดท้ายด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ก่อนเปิดโอกาสให้น้องเขยได้แสดงทัศนะบ้าง
(โคนม อีกหนึ่งความสำเร็จที่เติมเข้ามาจากการศึกษาเล่าเรียน)
(ผลิตผลจากฟาร์มโคนมของไร่ Nagai Farm)
“ส่วนผม ผมไม่ได้อยากทำการเกษตรเลยนะครับ เพราะคุณตาของผมก็เป็นเกษตรกรมาก่อนเหมือนกัน รู้ว่าทำไปก็ไม่ค่อยจะได้กำไร เหนื่อยก็เหนื่อย ราคาเราก็เป็นคนกำหนดเองไม่ได้ ต้องขายตามราคาตลอด และดูจะไม่ใช่งานสนุก แต่พอได้มาเป็นลูกเขย ได้มาช่วยงานที่นี่ รู้สึกว่าเรามีทางเลือกนะ เราสามารถกำหนดราคาขายเองได้เพราะเราแปรรูปเอง เลยรู้สึกว่าสนุกที่จะทำครับ อยากจะช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ”
แค่เพียงคำอธิบายสั้นๆ จากปากคนลงมือทำ อาจยังนึกภาพไม่ออกว่ากว่าจะถูกขนามนาม “ตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในไร่” ประจำบ้านเกิดนั้นต้องฟันฝ่ากับอะไรหนักหนาแค่ไหน บรรทัดต่อจากนี้ไปคือเรื่องย่อชีวิตชาวไร่ของผู้สานต่ออาชีพเกษตรกรอย่าง “ซุซูมุ”
“ตอนแรกที่คิดแปรรูปทำเซมเบ้ขาย ผมก็ไปลงคอร์สเรียนที่โตเกียวเลยครับ ไปทำงานกับร้านเซมเบ้อยู่พักใหญ่ๆ เหมือนกัน ไปศึกษาวิธีทำแล้วก็กลับมาคิดค้นสูตรกันเอาเองครับ เพิ่งคิดใหม่ทำใหม่สำเร็จกันเมื่อ 4-5 ปีนี้เอง จริงๆ แล้ว ไร่เราทำมาหลายอย่างมากครับ ตั้งแต่คุณพ่อยังหนุ่มๆ ท่านก็เคยลองทำเต้าหู้มาก่อน กว่าจะมาลงตัวที่เซมเบ้กับโมจิทอดอย่างทุกวันนี้ ก็ถือว่าเราต้องหัดเรียนรู้อะไรใหม่ๆ กันอยู่ตลอดเหมือนกัน
ปัญหาอีกอย่างคือเรามีพื้นที่น้อยครับ และสภาพอากาศ จ.นากาโนะ ของเราก็ไม่ดีเท่าเมืองอื่นๆ ปัจจัยเรื่องน้ำก็ไม่ค่อยพร้อม แล้งบ่อยมากๆ ผลผลิตที่ได้เลยอาจจะไม่ได้เท่าไร่อื่นๆ เขา แต่เราก็ถือว่าเราทำเต็มที่ในแบบของเราแล้ว ลองสังเกตดู จะเห็นว่าเราปลูกผักหลายชนิดรวมๆ กัน ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยเมื่อ 30 ปีก่อนที่เกษตรกรจะนิยมปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวเท่านั้นและขยายเนื้อที่ให้ใหญ่ออกไปเรื่อยๆ แต่ก่อนเราก็เป็นอย่างนั้นครับ ปลูกข้าวอย่างเดียว
(ผลิตเอง มีโรงเก็บเอง สีข้าวเอง และแปรรูปเอง)
แต่ช่วงหลังๆ ตลาดข้าวขายไม่ค่อยได้ เพราะทุกวันนี้คนญี่ปุ่นกำลังบริโภคข้าวน้อยลง อันนี้เป็นปัญหาระดับชาติเลยครับ ทำให้เกิดภาวะข้าวล้นตลาด พวกเราเลยต้องหันมาทำให้คนกินข้าวให้มากขึ้น คิดกันว่าทำยังไงดี ก็เลยกลายเป็นทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวขึ้นมา อย่างที่เห็นก็จะมีเซมเบ้บ้าง แป้งโมจิบ้าง แล้วก็ขนมปังต่างๆ
เพราะเราจะปลูกข้าวอย่างเดียวต่อไปอีกไม่ได้แล้ว มันเสี่ยงเกินไป ตอนนี้ก็เลยหันมาทำฟาร์มโคนมควบคู่กันไปด้วย พยายามจะผลิตทุกอย่างเอง แปรรูปเอง และขายเอง เพื่อให้เราก้าวไปได้ไกลกว่าเกษตรกรรายอื่นๆ ถ้าเทียบกับคำว่า “เกษตรกร” สมัยก่อน แค่ปลูกพืชปลูกผัก ก็ถือว่าเป็นเกษตรกรแล้ว แต่ทุกวันนี้ จะเป็นเกษตรกรให้ได้เต็มตัว ต้องทำเอง ขายเอง ขยายฐานการผลิตเองด้วยครับ
(โมจิทอดอันเลื่องชื่อ แปรรูปข้าวจากไร่ Nagai Farm)
ตอนนี้ เราก็มีโรงงานเป็นของเราเองแล้ว แต่แค่เล็กๆ นะครับ ไม่ได้ทำใหญ่โตอะไรมาก ตอนนี้ก็ใช้ข้าวของตัวเอง แปรรูปเอง เอามาทอด ปรุงรส บรรจุหีบห่อเองทุกอย่าง ถึงจะเหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตจากการแปรรูปมันช่วยเพิ่มมูลค่าจากข้าวธรรมดาได้ถึง 15 เท่าเลยนะครับ ถือว่าคุ้มมาก เทียบกับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ไม่ได้แปรรูป แต่ขายข้าวให้โรงงานไปแปรรูปเองแล้ว แบบนั้นเกษตรกรจะได้ค่าตอบแทนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของการแปรรูปแค่นั้นเอง ทุกวันนี้ รายได้เราจะอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านเยน (80 ล้านบาท)ต่อปีครับ”
(ซุซูมุ นะงัย กับความสำเร็จในการแปรรูป "ข้าว" เป็น "โมจิทอด" อันเลื่องชื่อ)
ส่วนเรื่องโมจิทอดกับขนมเซมเบ้ของไร่ เราจะเน้นรสชาติแบบดั้งเดิม รสชาติที่ติดปากลูกค้าครับ เลือกทำรสชาติที่บริษัทใหญ่ๆ ยังไม่ทำ เราเลือกตีตลาดตรงนั้น เพราะรู้สึกว่าคนเริ่มโหยหารสชาติแบบดั้งเดิมที่แทบหาไม่ได้แล้ว เราเลยพยายามเลี่ยงสารปรุงแต่งอย่างที่บริษัทอื่นๆ ใส่ ของเราไม่ใส่สารกันบูดเลย มีแค่เกลือและน้ำตาลแค่นั้น เพื่อให้คนทานคิดถึงรสชาติขนมสมัยโบราณจริงๆ เรียกว่าเราไม่ได้ขายแค่เซมเบ้ แต่เราขายวัฒนธรรม ขายความรู้สึกดั้งเดิมเข้าไปด้วย”
“จริงจัง” เท่านั้นจึง “ร่ำรวย”
สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดในตัวเกษตรกรคนรุ่นใหม่คือการศึกษาตลาด วางแผน และลงมือทำให้เกิดขึ้นได้จริง “โคอิจิ ยะมะชิตะ (Koichi Tamashita)” เจ้าของ “Yamashita Farm” เศรษฐีชาวไร่ชื่อดังประจำจังหวัดยามานาชิ คือเกษตรกรอีกรายที่ถือว่าทำการบ้านมาอย่างหนักในวันที่ต้องกลับมาสานต่อไร่ของคุณพ่อ ถึงแม้เขาจะต่อต้านการเป็นเกษตรกรมาทั้งชีวิต แต่พอถึงเวลาต้องรับผิดชอบ เขาก็คิดจริงทำจริงจนประสบความสำเร็จได้จากการแปรรูปลูกท้อในไร่มาทำเป็นไอศกรีม
(โคอิจิ ยะมะชิตะ เศรษฐีชาวไร่ผู้โด่งดังจากการแปรรูป ลูกท้อ ให้เป็น ไอศกรีมเงินล้าน)
(ไอศกรีมเจลลาโต้แห่งแรกที่ทำจากลูกท้อครบทั้ง 30 สายพันธุ์)
ที่สำคัญ เขาเป็นรายเดียวในประเทศญี่ปุ่นที่กล้าลงทุน 18 ล้านเยน หยิบลูกท้อทั้ง 30 สายพันธุ์มาทำเป็นไอศกรีมเจลลาโต้ จนยี่ห้อ “La Pesca” กลายเป็นร้านไอศกรีมชื่อดังที่ใครไม่แวะมา ถือว่ามาไม่ถึงจังหวัดนี้ และนี่คือเบื้องหลังชีวิตขมๆ อีกมุมหนึ่งของคนที่จำทนต้องมาสืบทอดกิจการของครอบครัว
“ตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น เราจะหางานกันตั้งแต่ยังไม่จบมหาวิทยาลัย ผมก็ไปเรียนที่โตเกียว แล้วก็ได้งานที่นั่นตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ พอเรียนจบแล้ว ผมก็อยากจะทำงานที่นั่นก่อน แต่พ่อผมไม่ยอม อยากให้ผมกลับมา ผมก็เลยหัวเสียนิดหน่อย (ยิ้มมุมปาก) ทะเลาะกับคุณพ่อด้วย แต่ยังไงก็ต้องกลับมา
ตอนแรก บ้านผมปลูกไร่องุ่นเป็นหลัก แต่ผมไม่ค่อยชอบไร่องุ่น พอพ่อเรียกผมให้กลับมาทำไร่ ผมก็เลยยื่นเงื่อนไขบอกพ่อผมไปเลยว่าผมอยากปลูกลูกท้อมากกว่า ถ้าให้กลับมาทำสวนลูกท้อ ผมจะทำ แต่เนื่องจากเราต้องใช้ที่ในไร่เดิมก็เลยต้องตัดต้นองุ่นทิ้งหมด ซึ่งพ่อผมก็ต้องกัดฟันยอมครับ เขาก็อนุญาตให้หั่นทิ้งได้ แต่เขาให้ผมเป็นคนทำนะครับ เพราะมันเป็นองุ่นที่พ่อผมปลูกมา เขาใจไม่แข็งพอที่จะหั่นทิ้งเองได้ (หัวเราะเบาๆ)
หลังจากนั้นผมก็เริ่มปลูกลูกท้อ ดูแลเองทั้งหมด แต่จำนวนสวนลูกท้อมันก็มีแค่ครึ่งหนึ่ง ถือว่าไม่ได้เป็นงานหนักอะไร ระหว่างนั้นผมก็เลยไปทำงานในไร่อื่นๆ ด้วยเพื่อเพิ่มประสบการณ์ พอได้ไปร่วมงานกับคนอื่น ได้เห็นเกษตรกรเขามีไฟในการเป็นเกษตรกรกันจริงๆ พูดถึงว่าการเกษตรมันน่าสนใจหลายๆ อย่างเนอะ พอเห็นคนอื่นเขามีทัศนคติแบบนี้ มันก็เป็นจุดประกายให้ผมรู้สึกว่าทำไมเขาพูดด้วยความรู้สึกมุ่งมั่นและภูมิใจกันขนาดนี้ ผมเลยรู้สึกว่าผมจะทำแบบขอไปทีอีกไม่ได้แล้ว ต้องจริงจังบ้างแล้ว
(ร้านไอศกรีมเล็กๆ ติดกับไร่ ขายดีจนผู้คนจากต่างเมืองต้องแห่มาชิม)
ที่ตลกมากอย่างหนึ่งคือ ผมกลับต้องมาปลูกองุ่นอีกหลังจากเคยตัดออกไปหมดแล้ว เพราะพนักงานของผมบอกว่าอยากปลูกครับ (หัวเราะ) ต้องยอมรับว่าที่ตัดต้นองุ่นทิ้งตอนแรกที่กลับมาทำงานที่ไร่เพราะอยากจะต่อต้านคุณพ่อเฉยๆ ครับ มันเหมือนจะเป็นค่านิยมปลูกฝังมาจากสมัยก่อนแล้วครับ ผมถูกสอนมาว่าถ้าเป็นลูกชายคนโต ผมจะต้องมีหน้าที่สานต่อกิจการของครอบครัว ดูแลพ่อแม่ ดูแลบ้าน ถึงพ่อแม่จะเสียชีวิตไปแล้ว เราก็ยังต้องไปดูแลหลุมฝังศพของพวกเขาตลอด แต่ตอนนี้ ค่านิยมแบบนี้ไม่มีแล้ว ไม่จำเป็นแล้ว ผมก็เลยไม่อยากจะปลูกฝังความเชื่อแบบนี้ให้แก่ลูกๆ ของผมด้วย และเด็กๆ สมัยนี้ก็ไม่จำเป็นต้องแบกภาระขนาดนั้นอีกแล้ว”
(ไร่องุ่นที่เขาปลูกเพิ่มภายหลัง หลังเคยตัดทิ้งเพราะต่อต้านคุณพ่อ)
ถึงตอนนี้ เกษตรกรวัย 54 ปีอย่างเขามีลูกแล้ว 3 คน และดูเหมือนจะยังไม่มีวี่แววว่าใครอยากจะกลับมาสานต่อกิจการ “ลูกชายคนโตอายุ 17 แล้ว แต่ก็ไม่ได้บอกว่าอยากทำต่อเรานะ แต่ลูกสาวคนที่ 2 ดูเหมือนจะสนใจมาทางนี้อยู่เหมือนกัน ก็ดูกันต่อไปครับ ใจจริงแล้ว ผมไม่ได้ต้องการให้ลูกกลับมาสานต่อในทันทีทันใดนะ ผมอยากให้เขาไปหาประสบการณ์จากที่อื่นก่อนมากกว่า
ส่วนถ้าจะมีปัญหาเรื่องไม่มีลูกหลานมาช่วยดูต่อ ผมว่าเราก็แก้ได้ มันอาจจะถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่รักงานเกษตรจริงๆ ได้มีพื้นที่ให้เขาทำ จะได้ทำให้การเกษตกรมันไปได้ดีต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ แต่ถ้าจะจ้างคนงานมาช่วยทำแทน อาจจะต้องจัดการระบบในไร่ให้ดีๆ ต้องทำให้เป็นรูปเป็นร่าง จ่ายเงินเดือนให้เขาได้ตรงเวลา ซึ่งตอนนี้ไร่ของผมก็จดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัทอยู่ครับ”
ใครว่าชาวไร่เป็นเศรษฐีไม่ได้?
“เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าเด็กๆ ทั่วๆ ไปยังมองภาพเกษตรกรเป็นงานลำบาก ทำแล้วไม่ได้กำไร ไม่อยากมีใครมาทำสักเท่าไหร่ แต่เพราะหนูเรียนคณะเกษตรค่ะ หนูก็เลยไม่ได้มีความคิดเหมือนกับวัยรุ่นทั่วๆ ไป หนูได้สัมผัสงานในสวนในไร่และได้เห็นเกษตรกรหลายๆ รายก็ประสบความสำเร็จได้ ถึงที่บ้านหนูจะไม่มีไร่เป็นของตัวเองหรือไม่ได้ทำกิจการอะไรเกี่ยวกับด้านเกษตรเลย แต่หนูก็คิดไว้ว่าถ้าเรียนจบ จะทำงานเกี่ยวกับการวิจัยด้านอาหารค่ะ จะได้เอาเรื่องเกษตรไปใช้ให้เกิดประโยชน์”
(“ฮิโรโกะ” เด็กสาวรุ่นใหม่ผู้เห็นค่าอาชีพเกษตรกร)
นักศึกษาสาววัย 19 “ฮิโรโกะ คาโตะ (Hiroko Kato)” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยทสึคุบะ (Tsukuba University) บอกเล่าความรู้สึกให้ฟังในฐานะอาสาสมัครจากไร่ “Shimotsuma” ประจำจังหวัดอิบารากิ เธอบอกว่านี่เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ได้มีโอกาสมาช่วยงานในไร่ และคงจะมีครั้งต่อๆ ไปเพราะเธออาสามาทำด้วยใจรักในด้านการเกษตร
(ไร่สาลี่ จ.อิบารากิ ที่เปิดให้เด็กๆ เข้าเป็นอาสาสมัคร)
(เจ้าของไร่สาลี่ใจดี ประจำเมือง Ryugasaki)
ลองหันกลับมามองลูกหลานเกษตรกรในบ้านเรากันบ้าง เหตุใดจึงแทบหาความกระตือรือร้นให้กลับมาสานต่อไร่นาของพ่อแม่ไม่ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ปาริชาติ สาละวัน” วินมอเตอร์ไซค์วัย 37 ประจำรถไฟฟ้าราชเทวี หนึ่งในลูกหลานเกษตรกรผู้เลือกมาทำงานในกรุงเทพฯ ให้คำตอบได้
“ผมจบ ป.6 ครับ แต่ก็ไม่ได้คิดจะกลับไปทำนาต่อนะ เพราะคิดว่าบ้านเราไม่ได้ร่ำรวยอะไร เลยต้องมาหาดิ้นรนเอาข้างหน้า ออกมาทำงานกรุงเทพฯ พอปีนึงก็จะกลับไปเยี่ยมท่านทีนึง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำไม่ไหวแล้วเรียกเรากลับไป วันนึงเราก็คงต้องไปดู ตอนนี้ คุณพ่อก็อายุประมาณ 65 แล้วครับ ส่วนแม่ประมาณ 63 ปี แต่ถึงเวลาเราก็กลับไปทุกปีนะ ผมมีพี่น้องอีก 2 คน น้องทำงานในโรงงานที่ชลบุรี พี่ชายอยู่อยุธยา พ่อแม่เขาก็ไม่ได้ขอให้ลูกๆ กลับไปช่วยนะ แต่เราก็จะรู้เองว่าพอถึงฤดูเกี่ยวข้าว เราก็จะกลับไปช่วยท่าน ประมาณหลังเดือน พ.ย. หลังช่วงลอยกระทงไปแล้ว ผลัดกันไปกับพี่น้อง ถ้าพี่ว่าง พี่ก็ไป ถ้าพี่ผมไม่ว่าง ผมก็ไปแทน
(ปาริชาติ วินมอเตอร์ไซค์ หนึ่งในลูกหลานเกษตรกรผู้เลือกมาทำงานในกรุงเทพฯ)
เดี๋ยวนี้ เครื่องจักรมันเข้ามาผ่อนแรงได้เยอะแล้วครับ จ้างเขามาไถไร่ละ 200 ถ้าไถหว่านก็ตกไร่ละ 250 บาท ปีนึงก็ไถแค่ 2 ครั้ง ไถกลบหน้าดินก่อนรอบแรก แล้วเสร็จก็มาไถหว่าน คราด หลังจากนั้นก็รอฝนอย่างเดียว พอฝนมาก็ไปเอาหญ้าออกบ้าง ตรงไหนที่มันไม่เสมอกัน เราก็ดึงข้าวจากตรงสวยๆ มาเติมให้มันเต็ม แค่นั้นเอง มีเครื่องจักร มีรถไถ ทำไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จ ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องทำกันเป็นเดือนๆ กว่าจะเสร็จ
ผมค่าใช้จ่ายเยอะครับ มีครอบครัวแล้ว มีลูก 2 คน ลูกคนโตอยู่ ม.1 คนเล็กอยู่ ป.3 เป็นผู้หญิงหมด ไหนต้องผ่อนรถมอ'ไซค์คันนี้ แล้วก็รถปิกอัพอีกคัน ขี่มอ'ไซค์รับจ้างวันๆ นึงก็ได้เงินตกวันละ 1,000 หรืออย่างน้อยก็ 700 บาท ถ้าบางเดือนเหลือเงิน ก็มีส่งให้พ่อแม่บ้าง แต่ถ้าไม่พอก็ไม่ได้ส่งครับ อาจจะให้แค่เดือนละ 1,000-2,000 บาท แล้วแต่ครับ”
ในมุมมองของลูกหลานชาวไทย สำหรับบางคน ถ้าจะให้กลับไปสานต่ออาชีพชาวนาชาวไร่ อาจยิ่งทำให้พ่อแม่ลำบาก ยิ่งเป็นการแย่งหม้อข้าวเดียวกันกินเข้าไปใหญ่ “ถามว่าจะให้ชาวนาปลดหนี้ได้ยังไง คงยากครับ พ่อแม่ผมทุกวันนี้ก็ยังเป็นหนี้ ธ.ก.ส.อยู่เลย พอไม่มีต้นทุนก็ต้องไปกู้ พอกู้ปุ๊บได้เงินมา ก็เอาไปคืนเขา จะมาทำใหม่ก็ต้องกู้อีก ก็กลายเป็นวงจรวัฏจักรอยู่แบบนี้ จะให้ไม่มีหนี้เลย ร้อยทั้งร้อยคงทำได้ไม่ถึงครึ่ง อันนี้เรื่องจริง” พี่วินคนเดิมบอกเอาไว้อย่างนั้น
แต่ให้วัดจากมุมมองของคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ ย่อมอยากให้ลูกๆ กลับมาช่วยดูแลผืนแผ่นดินบ้านเกิดมากกว่า “พยงฐ์ ศรีทอง” เกษตรกรหัวก้าวหน้าประจำ “ไร่แผ่นดินสีทอง” ไร่อินทรีย์ผสมผสานประจำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ขอบอกเล่าจากประสบการณ์ตรง
(พยงฐ์ เกษตรกรหัวก้าวหน้าประจำ “ไร่แผ่นดินสีทอง” พูดในฐานะคนเป็นพ่อที่อยากให้ลูกกลับมาสืบทอดกิจการ)
“ผมมีลูก 5 คน เป็นผู้ชาย 4 คนครับ คนโตอายุ 22, คนรอง 21, 19, 13 ปี แล้วก็คนเล็กเป็นผู้หญิง ตอนนี้ 7 ขวบแล้ว ก็ยังไม่มีใครประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะทำฟาร์มหรือจะกลับมาอยู่ที่บ้านนะ เหมือนกับทุกคนขอเวลาพ่อแม่ว่า ขอออกไปเผชิญกับโลกภายนอกสักระยะนึงนะ อาจจะอยากสัมผัสแสงสี สิ่งผาดโผนข้างนอก มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขาก็อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนกันด้วยมั้งครับ ก็เลยยังไม่มีใครอยากทำอาชีพเกษตรกร
จะบอกยังไงดีล่ะ เราก็เข้าใจนะ เพราะผมเองตอนวัยรุ่นก็ไม่เคยคิดอยากเป็นเกษตรกร มองว่างานมันหนัก ผมเองก็เป็นลูกหลานเกษตรกรมาก่อน ต้องช่วยพ่อแม่ทำไร่อ้อยมาตั้งแต่สมัยเรียนเลย เสาร์อาทิตย์ก็ต้องช่วย บางทีก็ต้องหยุดเรียนมาช่วยงานในไร่ด้วย อยากไปเรียนหนังสือ ไม่อยากกลับมาทำเกษตรเลย ก็เลยคิดว่าลูกเราอาจจะคิดเหมือนเราในตอนนั้น ลูกๆ ผมก็พูดเหมือนกันว่ามันร้อน มันไม่สบาย อยากทำงานที่สบายกว่านี้ครับ แต่เราก็บอกเขานะว่า ดูสิ ในขณะที่หลายๆ คนอยากจะมาเรียนกับพ่อกับแม่ แต่ลูกๆ เองกลับไม่ได้อยากมาทำแบบเต็มร้อยในแนวทางที่พ่อแม่ได้ทำไว้ให้
("ไร่แผ่นดินสีทอง ไร่อินทรีย์ผสมผสาน จ.สุพรรณบุรี)
ในช่วงนึง เราอาจจะคิดว่าวิถีชีวิตข้างนอกน่าจะสบายกว่าการอยู่กับไร่กับฟาร์ม แต่พอเราได้ไปเผชิญโลกภายนอก จะพบว่าวิถีเกษตรเป็นวิถีชีวิตที่สงบ และมันก็มีความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศนะ หรือถ้าไม่ฝันไปถึงระดับประเทศ ในระดับครอบครัวของเราเอง ถ้ารู้จักการจัดการ เราก็สามารถจะพึ่งตัวเองได้ ทุกวันนี้ ผมก็กลับมาทำไร่ใกล้ๆ กับของพ่อแม่นี่แหละครับ แต่ทำกันคนละอย่าง เพราะพ่อแม่ผมจะทำนาแบบวิธีการเดิมอยู่ แบบใช้ยาฆ่าแมลง แต่เรากลับมาทำอีกวิถีทางนึง เราทำเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตเราก็ไม่ได้มากเท่าแบบใช้สารเคมี แต่เราก็เชื่อว่าเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้เราอยู่ได้
ที่อยากให้รู้คือทุกวันนี้งานทำไร่ก็ไม่ได้หนักอะไรขนาดนั้นแล้วนะผมว่า ไม่ได้เน้นใช้แรงงาน ออกแนว Smart Farmer พยายามเอาความรู้สมัยใหม่มาใช้มากกว่า แต่ที่ลูกหลานบางคนไม่ยอมกลับมาอาจจะเพราะพ่อแม่ด้วยครับส่วนหนึ่ง เท่าที่สัมผัสแล้ว คนในชนบทส่วนใหญ่เลยจะอยากให้ลูกได้เรียนและไปทำงานที่อื่น คำว่า “เป็นเจ้าคนนายคน” มันยังมีอิทธิพลอยู่นะในบ้านเรา คืออยากให้ลูกได้ไปร่ำไปเรียนกันสูงๆ พอจบมาแล้วก็ไม่อยากให้กลับมาเป็นเกษตรกรเหมือนพ่อแม่ ทั้งที่ความจริงบางคนที่ไม่ได้เรียนสูงอะไร แต่มาทำเกษตรจนเป็นเถ้าแก่ มีรายได้ดีก็มีเยอะเหมือนกัน เป็นเพราะว่าไม่ค่อยมีลูกหลานกลับมาทำการเกษตร คนที่อยู่ที่ยังมีแรงก็เลยมีโอกาสที่จะทำแล้วรุ่งเรือง ทำแล้วสามารถเข้าถึงที่ดินได้มากกว่า”
(เปิดให้เด็กๆ ได้สัมผัสวิถีธรรมชาติที่ทรงคุณค่าที่แท้จริง)
เจ้าของไร่อินทรีย์เชิงผสมผสานมองว่าอาจแก้ไขปัญหาไม่มีใครกลับมาสืบทอดกิจการต่อด้วยการจดทะเบียนเป็น “บริษัท” แล้วจ้างแรงงานกันอย่างเป็นจริงเป็นจังมาแทนที่กำลังลูกหลานที่หายไปเสียเลย ทำอย่างที่เจ้าของไร่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นนิยมทำกัน หรืออาจเปิดพื้นที่ให้อาสาสมัครประจำเข้ามาศึกษางาน ช่วยงานในไร่แลกความรู้และอาหาร ในระหว่างรอทายาทตัวจริงเปลี่ยนใจกลับมาเห็นคุณค่าของคำว่า “เกษตรกร”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Lite
เรื่องและภาพ: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- “เศรษฐีชาวไร่แดนอาทิตย์อุทัย” รวยเพราะ...?
- เห็นโอกาสในทุกวิกฤต! นี่แหละ “เศรษฐีชาวไร่ยุคใหม่” แห่งญี่ปุ่น
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754