ยะลา - ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดแถลงข่าว 10 ผลงานเด่นในรอบ 6 เดือนแรก และ 10 แผนงานดีในรอบ 6 เดือนหลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่อาคารห้องโถง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย นายจำนัล เหมือนดำ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้ร่วมกันแถลงข่าว 10 ผลงานเด่น 6 เดือนแรก และ 10 แผนงานดี 6 เดือนหลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559
นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาฯ ศอ บต. กล่าวว่า การทำงานในห้วงที่ผ่านมา เน้นความเป็นเอกภาพของงานความมั่นคง และงานพัฒนา สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคเอกชน ตามแนวทางประชารัฐ โดยให้งานพัฒนาไปเสริมหนุนงานความมั่นคงของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ทำให้ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 ประชาชนให้ความร่วมมือ และพอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เหตุการณ์ความไม่สงบลดลงอย่างมาก ซึ่งวัดผลสำเร็จได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน
โดยชายแดนใต้โพล มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ตามโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับความพึงพอใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างครอบครัวคุณธรรม “สัจจะสันติสุข” ประชารัฐ ร่วมสร้างอำเภอสันติสุขชายแดนใต้
โดย 10 ผลงานเด่นครึ่งปีแรก ประกอบด้วย
1.งานฝึกทบทวนกองกำลังภาคประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล และ คสช.ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยอาสาสมัครป้องกันชาติ (ทสปช.) จำนวน 966 คน เพื่อสนับสนุนฝ่ายความมั่นคง โดยการเป็นเครือข่าย และบูรณาการกับศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) ดูแลความปลอดภัยในเขตเมือง/ชุมชน 12 เมืองหลัก
2.ศอ.บต.เปิดสายด่วน 1880 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หน่วยงาน ในการแจ้ง และรับแจ้งเหตุให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีเอกภาพ สามารถช่วยเหลือประชาชน หน่วยงานได้ 100% ระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 4,208 เรื่อง
3.งานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นงานรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล ที่ประชาชนร้องถึงเลขาธิการ ศอ.บต.ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 224 เรื่อง สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ข้อยุติแล้ว 174 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 78 และอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อหาข้อยุติ จำนวน 50 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 22
4.งานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ดำเนินการใน 2 กรณี คือ ตามมติ ครม. และตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ก.พ.ต.) โดยเยียวยาอย่างเป็นระบบรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม ในรอบ 6 เดือน ได้ช่วยเหลือเยียวยาทั้งด้านร่างกาย และทรัพย์สินแล้วจำนวน 220 ราย งบประมาณ 33,514,066 ล้านบาท นอกจากนั้น ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการสร้างค่ายครอบครัวอบอุ่น 69 ครอบครัว/200 คน และสร้างขวัญกำลังใจแก่เยาวชนกำพร้า 360 คน ให้ดำรงชีพในสังคมได้ปกติสุข รวมถึงการช่วยเหลือพัฒนาอาชีพแก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เป็นเครือข่ายผลิตสินค้าของดีชายแดนใต้
5.งานพัฒนาคุณภาพชีวิต งานอาชีพ การว่างงาน การลงทุนและสาธารณสุข มุ่งเน้นการพัฒนาโดยอาศัยความร่วมมือของรัฐ ประชาชน และเอกชนตามแนวประชารัฐ โดยมีผลงานที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมผู้ประกอบการ 515 กลุ่ม ผลิตสินค้าของดีชายแดนใต้ มีห่วงโซ่การผลิตต้นทาง กลางทาง ปลายทาง 100,000 คนเศษ มีอาชีพ มีรายได้เพิ่ม มีงานทำ และนำสินค้าไปจำหน่ายทั้งใน และต่างประเทศ 4 ครั้ง มียอดจำหน่ายรวม 26 ล้านบาทเศษ รวมทั้งต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาลจำหน่ายผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศ 30 แห่ง พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนระดับหมู่บ้าน (พนม.) 1,970 หมู่บ้าน และพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างอาชีพแก่ราษฎรรอบอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี 9 อำเภอ ส่งเสริมการกีฬาและท่องเที่ยว 3 จังหวัด 3 วัฒนธรรม 3 หมื่นคน รับบริจาคเตียงแก่ผู้ป่วยติดเตียง 12 เตียง มอบการอุปกรณ์ผู้พิการ 180 คน และสนับสนุนการออกกำลังกายแก่ผู้สูงอายุ 500 คน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จำนวน 250 คน โดยฝึกอบรมอาชีพ 6 สาขา ณ ศูนย์ฝึกอาชีพปิยามุมัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
6.งานพัฒนาและสร้างโอกาสทางการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา และประชาชนในพื้นที่พัฒนา และสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลงานที่สำคัญ คือ มอบเอกสารประกอบการติวเติมเต็มนักเรียน ม.6 แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการสอนสรุปเข้มสอนเติมเต็มความรู้แก่นักเรียนชั้น ป.3, ป.6 และ ม.3 ในโรงเรียน ขยายโอกาส 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 108 โรงเรียน 39,720 คน ร่วมกับ อบจ. จังหวัด สนับสนุนอาหารมื้อเช้าแก่นักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 11 โรงเรียน 1,458 คน ได้บริโภคอาหารครบ 5 หมู่ มีพัฒนาการทางร่างกายอารมณ์ และจิตใจดีขึ้น และส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) โดยได้รับรองมาตรฐานการศึกษา (ตาดีกา การันตี) 968 แห่ง จากทั้งหมด 2,110 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 45.88
7.ครอบครัวคุณธรรม สัจจะสันติสุขเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ตามแนวประชารัฐของรัฐบาล ด้วยเหตุครอบครัว คือ ฐานรากทางสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญ ศอ.บต. เชื่อมั่นว่า หากสมาชิกในครอบครัวมีคุณธรรมตามหลักทางศาสนา 3 ประการ คือ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม ชุมชน และมีจิตอาสาช่วยเหลือส่วนรวม แล้วจะนำพาสังคมชายแดนใต้เกิดสันติสุขได้ โดยทำงานร่วมกันของคณะทำงานของรัฐ ครอบครัว และเครือข่าย ศอ.บต. สร้างครอบครัวคุณธรรมด้วยให้สัตยาบัน 3 ประการ ดังกล่าว มีคณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชน ออกตรวจสอบ โดยผู้นำหมู่บ้าน ชุมชน และบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิให้การรับรอง ซึ่งศาสนาพุทธเรียกว่า “ครอบครัวญาติธรรม” และศาสนาอิสลามเรียกว่า “ครอบครัวฟาดีละห์” และร่วมกันเป็นพลังพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปเป้าหมาย ร้อยละ 60 ของครัวเรือนใน 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา (274,380 ครัวเรือน จาก 457,301 ครัวเรือน) ผลงาน สร้างครอบครัวคุณธรรม สัจจะ สันติสุขในพื้นที่ได้ ร้อยละ 62.29
8.งานสนับสนุนสร้างผลิตภัณฑ์ยาง และปลูกพืชร่วม/แซมยาง จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เป็นไปตามกลไกราคาตลาดโลก ศอ.บต.ได้สนองนโยบายรัฐบาลในการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยได้จัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 2 แห่ง ใน จ.ยะลา คือ กลุ่มพัฒนาและแปรรูปยางตาชี อ.ยะหา และกลุ่มพัฒนาน้ำยางสดบ้านถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จแล้วสามารถรับซื้อน้ำยางสดได้วันละ 20 ตัน/วัน เกษตรกรขายน้ำยางสดได้ราคาสูงกว่าตลาด กิโลกรัมละ 1-2 บาท มีการจ้างงานทั้งวัยรุ่น และผู้สูงอายุ จำนวน 52 ราย ที่สำคัญได้ผลิตยางคอมปาวด์ส่งให้ ม.อ.ปัตตานี และบริษัทบินดาริน ผู้ผลิตยางปูพื้นสนามกีฬาฟุตซอล และผลิตยางปูพื้นสนามเด็กเล่น ถุงมือยาง ยางเส้น พื้นรองเท้า ยางรองพื้น อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งได้ให้บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิประสานชาวสวนยางปลูกพืชแซม/ร่วมยาง 1 ตำบล 1 แปลง ในพื้นที่ 37 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้
9.งานส่งเสริมยุวชนรักไทย ศอ.บต.มีนโยบายในการส่งเสริมกิจกรรมกีฬากับยุวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะก้าวไปเป็นเยาวชน และพลเมืองที่ดีในอนาคต และใช้กิจกรรมกีฬาเป็นสื่อเสริมสร้างบรรยากาศสมานฉันท์ และภาพลักษณ์ที่ดีได้จัดแข่งขันฟุตบอลยุวชนอายุไม่เกิน 12 ปี “ยุวชนรักไทย SBPAC CUP” ครั้งที่ 2/2559 มีทีมฟุตบอลระดับตำบลเข้าร่วมแข่งขัน 310 ทีม คัดเลือกเป็นแชมป์ระดับอำเภอ และแชมป์ระดับจังหวัด มีถ้วยรางวัลของเลขาธิการ ศอ.บต. และเงินรางวัลทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศระดับอำเภอ และจังหวัด ซึ่งยุวชนเหล่านี้มีทักษะความสามารถที่จะก้าวไปสู่นักฟุตบอลได้ในอนาคต ซึ่งมีผู้ปกครอง ญาติ พี่น้อง ประชาชนในหมู่บ้านช่วยเชียร์ให้กำลังใจ สร้างบรรยากาศที่ดี และสร้างรายได้ให้แก่พ่อค้าแม่ขายในพื้นที่อีกด้วย
และ 10.งานศาสนสัมพันธ์ สร้างสันติสุข การส่งเสริมบทบาทของผู้นำทางศาสนาทุกศาสนาให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสิ่งจำเป็นที่นำมาสู่สันติสุขได้อย่างยั่งยืน ได้จัดพิธีถวายผ้าประธานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา แก่วัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 23 วัด ได้พัฒนาศักยภาพผู้นำศาสนา คณะกรรมการมัสยิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 รุ่น จำนวน 320 คน เพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีความมั่นคง และพัฒนาต่อยอดมัสยิดสานใจต้านภัยยาเสพติด ดำเนินกิจกรรมศาสนาสัมพันธ์ร่วมกันของพระเจ้าอาวาส/พระสังฆาธิการ และอิหม่ามประจำมัสยิด โดยมีนายอำเภอ 36 อำเภอ บริหารจัดการจัดประชุมประจำทุก 2 เดือน/ครั้ง มีเป้าหมาย จำนวน 6,576 รูป/คน
นายภาณุ ยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากนี้ ยังประกอบด้วย 10 แผนงานดี 6 เดือนหลัง ประกอบด้วย ศูนย์ข่าวกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเป็นเครือข่ายดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน จัดตั้งศูนย์ข่าวดีชายแดนใต้ และคลิปภาพเสียงผ่านไลน์ จัดตั้งชุดอาสาคลายทุกข์ประชาชน ทุกเรื่อง ทุกพื้นที่ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน “จากผู้รับเป็นผู้ให้ ยืนหยัดแบ่งปัน” สร้างชุมชนหมู่บ้านสุขภาพดี อำเภอปลอดคนไข้ติดเตียง และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ครัวโรงเรียนเพื่ออาหารเช้า ครัวหมู่บ้าน เพื่ออาหารกลางวันตาดีกา คนยากจน โรงเรียนชุมชนคุณธรรม เกษตรกรก้าวหน้า (Smart Farmer) ประจำตำบล และแปลงเกษตรกรตัวอย่างริมทางหลวง กิจกรรมกีฬาสีข้ามโรงเรียน ค่ายลูกเสือเนตรนารี ให้เยาวชนมีความรัก ความสามัคคี ปรองดองในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งลูกเสือจิตอาสา ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ และกิจกรรมประชาชนรัฐช่วงรอมฎอน ร่วมปลูกไม้มงคลในวัด และกิจกรรมสำรวจ และจัดทำเอกสารสิทธิที่ดินวากัฟให้ถูกต้องตามกฎหมาย และหลักศาสนา