กลายเป็นกระทู้ประเด็นแรง! เมื่อพบเหตุครูเรียกประชุมผู้ปกครองเพื่อจูงใจทำธุรกิจขายตรงก่อนชักจูงถึงขั้นพาเด็กไปร่วมสัมมนาธุรกิจโดยอ้างว่าเป็นทัศนศึกษา จากคุณครูที่ลูกศิษย์ต่างเคารพศรัทธากลับกลายเป็นนักธุรกิจขายตรง เกิดอะไรขึ้นกับจริยธรรมในแวดวงการศึกษา เด็กไทยจะต้องเจอกับอะไรเมื่อธุรกิจชนิดนี้แพร่ระบาดเข้าสู่โรงเรียนในแบบครูอาจารย์ขายตรงถึงลูกศิษย์และผู้ปกครอง
อุดมการณ์ครู
“ท่านอุทิศไม่คิดถึงความยากเย็น สอนให้รู้จัดเจน เฝ้าแนะเฝ้าเน้นมิได้อำพราง” นี่คือเนื้อเพลงบางส่วนจากเพลง พระคุณที่สาม เพลงที่บอกเล่าถึงคุณงามความดีและอุดมการณ์ของคนเป็นครู อุทิศคนแนะเน้นมิได้อำพราง ทว่า ถึงวันนี้สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เมื่อมีผู้ตั้งกระทู้ชื่อว่า “ประสบการณ์ประชุมผู้ปกครองครั้งแรก เป็นไปได้ถึงขนาดนี้แล้วหรอ” ในเว็บบอร์ดชื่อดัง บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการร่วมประชุมผู้ปกครองของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีการบอกเล่าถึงธุรกิจที่มีแนวคิดคล้ายกับการทำธุรกิจเครือข่าย
เจ้าของกระทู้เผยว่า มีการพูดถึงขั้นว่าจะมีการสอนให้เด็กไม่ต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยก็มีรายได้สูงและมีอิสรภาพทางการเงิน อีกทั้งยังมีการเก็บเงิน 550 บาทพร้อมทั้งมีการเปิดเผยว่า โรงเรียนจะพาเด็กไปร่วมฟังสัมมนาเกี่ยวกับธุรกิจดังกล่าวที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานีโดยชี้ว่าเป็นการทัศนศึกษา
แน่นอนว่า ต่อจากนั้นก็มีกระแสไม่เห็นด้วยมากมายที่โรงเรียนใช้อำนาจของความเป็นครูมาทำธุรกิจเครือข่าย ทั้งนี้ ตัวธุรกิจเองมีข้อครหาในสังคมอยู่มากพอสมควร ทว่า หลังจากข่าวดังกล่าวกลายเป็นประเด็นทางสังคมพงษ์ศักดิ์ ธีระวรรณสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาภาพกระจาดทองอุปถัมภ์ โรงเรียนที่ตกเป็นข่าวก็ออกมาชี้แจงว่า ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริง พร้องบอกว่าเป็นการเปิดโปรแกรมการเรียนที่ชื่อว่า ศิลป์ธุรกิจ ในการประชุมนั้นเป็นการพูดคุยถึงเรื่องของอนาคตของเด็กที่อาจมีธุรกิจของตัวเอง
“ที่มีข่าวจะมีการพาเด็กไปดูงานนอกสถานที่อันนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะอยากจะพาเด็กส่วนใหญ่ไปเห็นสิ่งที่เป็นบนโลกใบนี้ว่า เขาทำกันอย่างไร จะได้เป็นกำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจ และที่ผู้ปกครองมาในวันนั้น ผมได้บอกเลยว่าห้ามนักเรียนดำเนินการธุรกิจในช่วงนี้เด็ดขาดจนถึง ม.6 จะได้ให้เด็กมีโอกาสเลือกอนาคตเอง ส่วนคนที่เอาข้อความไปโพสต์นั้นไม่ใช่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนแต่เป็นคนนอก ทำให้สิ่งที่โพสต์เป็นเพียงข้อคิดเห็นของเขาเอง ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง”
เมื่อมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น แน่นอน หลายคนมองว่า กระทรวงศึกษาธิการน่าจะเข้ามาจัดการอะไรบางอย่าง ทว่า สุรพล เมฆแดง รองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 กลับมองว่า ผู้โพสต์ไม่ใช่ผู้ปกครองนักเรียนและเผยว่าการประชุมไม่ได้เกี่ยวโยงกับธุรกิจขายตรงแต่อย่างไร
อาจบอกได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการก็อาจจะไม่สนใจจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือไม่สามารถเอาผิดอะไรได้ เพราะจะว่าไปธุรกิจขายตรงหรือ MLM (Muti-level Marketing) ก็ไม่ใช่ธุรกิจผิดกฎหมายแต่อย่างใด
อำนาจของครูกับสังคมไทย
หลังจากเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ในสังคม แน่นอนในแวววงการศึกษาย่อมกลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายคนต้องคิดหาทางแก้ไข รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่ทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษา มองสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามาจากการที่ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้เข้ามามีอิทธิพลมากจนเกินไป จนทำให้แม้แต่ครูบาอาจารย์ไม่คิดถึงประโยชน์ของลูกศิษย์ กลับคิดถึงประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้งแทน
“มันกลายเป็นคนคิดว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์เหมือนกัน ตัวเองก็ได้ประโยชย์ด้วยแต่ไม่คิดอีกแง่หนึ่งว่ามันเป็นการค้าเกินไปหรือเปล่า ผู้ปกครองเขาจะไม่พอใจหรือเปล่า ยิ่งเป็นโรงเรียนยิ่งต้องคิดให้รอบคอบ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการค้าพอมาอยู่ในโรงเรียนมันต้องมีการคัดกรองให้ดี”
โดยในสังคมไทยนั้น ครูถือว่ามีอิทธิพลสูงทั้งการเป็นผู้ดูแลและเป็นผู้ให้คะแนนซึ่งมีผลชี้อนาคตของลูกศิษย์ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงอาจต้องยอมเพื่อไม่ให้มีปัญหา
“ตอนนี้มันเหมือนใช้อำนาจของการเป็นครูให้ผู้ปกครองต้องยอม เพราะเขาก็กลัวเดี๋ยวลูกเขาจะมีปัญหาก็จ่ายๆ ไป ยกเว้นคนที่รู้สึกไม่ถูกต้องเขาก็จะมาฟ้อง”
ทั้งนี้ หลายคนอาจมองว่าคนเป็นครูนั้นรายได้ต่ำจึงต้องประกอบอาชีพดังกล่าวเสริม รศ.วิทยากร กลับเห็นว่า รายได้ของครูนั้นมีพอสมควร เพียงแต่บางคนต้องการรายได้เพิ่มจากเดิมเท่านั้น และคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งนี้ไม่ผิด
ในส่วนของจริยธรรมและจรรยาบรรณครู เขามองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ครูไม่ควรใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองในการแสวงหาผลประโยชน์โดยทำให้ผู้ปกครองของลูกศิษย์รู้สึกเกรงใจ
การที่ธุรกิจขายตรงเข้าไปสู่วงการศึกษานั้น เขามองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการศึกษาเป็นจุดที่คนเยอะ มีโอกาสแทรกแซงเข้าไปได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการชักจูงด้วยสถานะของความเป็นครูที่พูดอะไรเด็กก็ต้องเชื่อฟัง
“จริงๆ เรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นว่าจะเป็นขายตรงหรือไม่ขายตรงนะ อะไรที่เป็นธุรกิจค้าขายในโรงเรียนมันต้องมีกติกาพอสมควร ไม่ใช่ใช้เส้นสายเข้าไปขายแล้วแสวงหาผลประโยชน์ ดังนั้น ทุกอย่างมันต้องระมัดระวัง อย่างน้ำอัดลม หรือจั๊งค์ฟู๊ดพวกอาหารขยะก็ไม่ควรมีขายในโรงเรียน แต่บ้านเรามันระบบทุนนิยมมากเกินไปไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้เท่าที่ควร”
ในส่วนของผู้ปกครองนั้น เขามองว่าการมีสมาคมผู้ปกครองที่แข็งแรงจะเป็นกลไกสำคัญในการยับยั้งสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันสมาคมดังกล่าวตามโรงเรียนต่างๆกลับไม่มีความแข็งแรงเท่าที่ควร
“ผมว่าปัจจุบันเราไม่ค่อยมีสมาคมผู้ปกครองหรือมีก็ไม่ค่อยมีความหมายเท่าที่ควร ควรจะให้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้แล้วก็ออกความเห็นหรือดูแลด้วย โรงเรียนจะได้มีโอกาสปฏิรูปมากขึ้น สมาคมผู้ปกครองบางทีจะเน้นเรื่องหาเงินเข้าโรงเรียน หรือฝากคนเข้าโรงเรียน แต่ไม่ได้ดูแลด้านคุณภาพของโรงเรียน ฉะนั้นสมาคมผู้ปกครองควรจะมีและส่งเสริมให้การทำหน้าที่การปฏิรูปการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น”
ธุรกิจเครือข่ายกับสถานะส่วนตัว
การมาถึงของธุรกิจขายตรงนั้นมีขึ้นในประเทศไทยมาอย่างช้านานแล้ว โดยมักจะอยู่ในรูปแบบของการขายสินค้าทำยอดซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ทางด้านการตลาดอย่างหนึ่ง ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เผยว่า การทำธุรกิจขายตรงแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นมีชื่อเรียกว่า MLM หรือ Muti-level Marketing ซึ่งเป็นการขายตรงแบบเครือข่ายหลายระดับโดยเงินที่ได้นั้นจะได้มาจากทั้งการขายสินค้าหรือใช้สินค้าด้วยตัวเอง และการหาคนเข้ามาร่วมธุรกิจ
“พูดง่ายๆ ผมไปชวนคนมาอยู่ในสายผม รายได้ผมก็มาจากสายผมแล้วขายของด้วย เขาขายได้ผมก็ได้เงิน มันทำให้ได้ยอด ขณะเดียวกันคนที่ผมชวนมาก็ต้องไปหาลูกทีมที่เรียกว่าดาวน์ไลน์เพิ่มด้วย ส่วนผมก็เป็นอัปไลน์ ถ้าไม่มีลูกน้องก็ต้องขายเองก็เหนื่อย แต่ถ้าเขาไปหาดาวไลน์ให้ทำงานก็สบาย”
ดังนั้น เขามองว่าหน้าที่ของธุรกิจ MLM ก็คือการหาคนมาเป็นลูกทีม และต้องเป็นคนที่มีศักยภาพสามารถทำได้ ชักชวนคนมาเข้าทีมต่อไป โดยลักษณะการชักชวนมักจะเป็นการขายความหวังว่า คุณจะอยู่กับทีมผมแล้วประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายได้ผลตอบแทน
“คราวนี้ถ้าเป็นบริษัทดีๆ ตามต่างประเทศเขาก็มีความน่าเชื่อถือไม่มีปัญหาหรอก อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก แต่บริษัทอีกประเภทหนึ่งก็อาจจะทำอะไรก็ไม่รู้ แล้วบางทีขายของไม่ค่อยได้ก็ใช้วิธี MLM ขายแบบดั้งเดิมขายตามร้านต่างๆขายไม่ดี ก็เลยใช้วิธีMLM หาคนมาลูกพี่กินผลประกอบการของลูกน้อง”
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แม้ตัวกลยุทธ์ขายอย่าง MLM จะเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ลักษณะเฉพาะของการตื้อชักชวนคนรู้จักโดยมีผลประโยชน์ อีกทั้งคนไทยยังเป็นคนขี้รำคาญอีกด้วย
ในส่วนของกรณีที่เกิดขึ้นเป็นครูในโรงเรียนพยายามทำธุรกิจกับผู้ปกครอง เมื่อ 2 ปีก่อนก็เคยมีกรณีเจมส์ - เรืองศักดิ์ใช้ความมีชื่อเสียงของตนเองชักชวนแฟนคลับเข้าร่วมธุรกิจเครือข่ายเดียวกันกับที่เกิดขึ้นและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ถึงขั้นว่าเขาได้ทำลายความรักของแฟนคลับที่มีมาอย่างยาวนานไปแล้ว
ธันยวัชร์ มองในมุมนักธุรกิจว่า สามารถทำได้เพราะไม่ได้มีระบุในจรรยาบรรณว่า ห้ามให้ครูทำธุรกิจร่วมกับผู้ปกครอง อีกทั้งธุรกิจแบบ MLM ก็ไม่ใช่ธุรกิจผิดกฎหมายด้วย
สิ่งสำคัญคือสถานะความเป็นครู เขามองว่า ยังกลายเป็นข้อได้เปรียบได้การรู้จักคนเยอะอีกด้วย ทั้งยังได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นคนให้ความรู้ลูกศิษย์ ดังนั้น คนเป็นครูจึงเหมาะมากที่จะทำขายตรง
“คนที่ถูกชวนจะมีความเกรงใจเราสูง เพราะธุรกิจ MLM เป็นธุรกิจที่หาคนมาร่วมธุรกิจกับเรา และคนที่มาร่วมต้องมีศักยภาพสามารถหาคนเพิ่มมาได้ ดังนั้น ถ้าคุณอยู่โรงเรียนที่ดี ผู้ปกครองก็เกรงใจ แต่ปัญหาคือผู้ปกครองบางคนเขาก็ไม่ชอบแล้วเขาก็มาเขียนลงเว็บบอร์ดแบบนี้ไง”
ในส่วนของความผิด - ถูกนั้น เขามองว่าไม่ผิด คนทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็สามารถใช้ฐานะของตนเองกับการรู้จักผู้คนในการทำธุรกิจนี้ได้ทั้งนั้น แต่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมา คนถูกชวนจะรู้สึกอึดอัดหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยน
“ในกรณีนี้ผมไม่รู้ แต่ถ้าเป็นผม ผมไม่ทำ เพราะอาจจะทำให้ผู้ปกครองมองเราไปอีกแบบหนึ่ง ในแบบที่ไม่ใช่ที่เขามองเรามาก่อน เหมือนเราทำธุรกิจกับเขาน่ะ มันไม่ได้มีผลต่อความน่าเชื่อถือ มันทำให้คนมองเราดูไม่ดี”
..
ธุรกิจขายตรงยังคงเป็นที่ครหาในสังคมไทย แต่กลับถูกแพร่ไปยังสถาบันการศึกษาที่เป็นเสมือนต้นน้ำของสังคมที่เด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ทัศนคติหลายอย่างที่อาจถูกแฝงฝัง โดยธุรกิจลักษณะดังกล่าวนั้นมักจะต้องสงสัยว่าเต็มไปด้วยกลไกของความไม่ชอบมาพากลทั้งยังรอดพ้นจากการตรวจสอบ ท้ายที่สุดอนาคตของชาติจะต้องเผชิญกับการศึกษารูปแบบไหนกันแน่!
เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754