ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีใต้มีการพัฒนาทั้งในทางเทคโนโลยีและศิลปวัฒนธรรมจนสร้างชื่อเสียงเป็นประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียและเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ทว่าหลังจากเอเชียนเกมส์ครั้งที่ผ่านมาซึ่งเต็มไปด้วยข้อกังขาของการโกง! จากมหกรรมกีฬาที่นำพาชื่อเสียงกลับกลายเป็นสร้างความอัปยศ! กระแสสวนกลับที่รุนแรง กีฬาที่สร้างความสามัคคีกลับกลายเป็นสร้างเกลียดชัง แปลเปลี่ยนจากกระแส “เกาหลีฟีเวอร์” เป็น “เกาหลีขี้โกง” ไปทั่วโลกโซเชียล
เอเชียนโกง 2014
กระแสความไม่ชอบมาพากลที่เกิดในกีฬาระดับชาตินั้นมักจะถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีการตัดสินที่เอนเอียงไปทางฝั่งเจ้าภาพ อินชอนเกมส์หรือเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ที่เจ้าภาพเป็นถึงมหาอำนาจประเทศหนึ่งแห่งทวีปเอเชียอย่างประเทศเกาหลีใต้ก็เช่นกัน ทว่าข้อครหาที่เกิดขึ้นในการแข่งขันกีฬาครั้งนี้กลับฉาวโฉ่ขึ้นเรื่อยๆ
ลมปริศนาในสนามแบดมินตัน
เหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ในแมตช์การแข่งขันที่ รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันชาวไทยแพ้ให้กับ แบ ยอน จูน นักแบดมินตันชาติเจ้าภาพ โดยสาเหตุที่พ่ายแพ้นั้นนักตบขนไก่ชาวไทยแสดงความเห็นว่า สนามมีลมค่อนข้างแรง และไม่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน
เหตุการณ์ในสนามแบดมินตันยิ่งฉาวกว่าเดิมเมื่อทีมงานจากประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงกรณีที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีการทำข่าวนำเสนอให้เห็นวิถีของลูกขนไก่ที่ดูเหมือนโดนลมพัดจากฝั่งเกาหลีอยู่เสมอ
มวยปล้ำอิหร่ายแพ้น่ากังขา
อีกกรณีที่เกิดขึ้นคือมวยปล้ำที่ชาติเจ้าภาพเอาชนะชาติอิหร่านแบบน่ากังขา โดยในการแข่งขันนักกีฬาชาติเจ้าภาพถูกจับทุ่มไปหลายครั้งแต่คะแนนกลับไม่ขึ้น จนท้ายที่สุดเมื่อเวลาการแข่งขันหมดลงนักกีฬาจากชาติอิหร่านถึงขั้นหมดแรงล้มลงกลางการแข่งขัน ก่อนที่กรรมการจะชูมือให้ฝั่งเกาหลีเป็นผู้ชนะพร้อมสีหน้าที่เต็มไปด้วยความผิดหวังของฝ่ายแพ้ที่พ่ายแพ้ให้กับความอยุติธรรมจากการตัดสินที่เกิดขึ้น
“จุดโทษน่ากังวล” กับ “แฮนบอลที่มองไม่เห็น”
ก่อนเกมการแข่งขันนัดประวัติศาสตร์ที่ทีมชาติไทยลงแข่งทัวร์นาเมนต์นี้ได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยผลการแข่งขันและฟอร์มการเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ ปลุกให้กระแสบอลไทยกลับมาฟีเวอร์อีกครั้ง ทว่าเมื่อทีมต้องโคจรมาเจอเจ้าภาพอย่างเกาหลีใต้หลายคนเริ่มหวั่นใจว่า “เกาหลีจะโกงหรือเปล่า”
จนเมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้นและเกิดการตัดสินที่ไม่ยุติธรรม ตั้งแต่การฟาวล์เล็กๆน้อยๆ ของทีมชาติไทย และการฟาวล์อย่างรุนแรงของทีมชาติเกาหลี จุดแตกหักแรกของเกมคือจุดที่ทีมชาติไทยทำฟาวล์นอกเขตโทษแต่กลับถูกตัดสินให้เป็นจุดโทษทำให้เกาหลีออกนำชาติไทยไปถึง 2 ประตูในครึ่งแรก จนถึงช่วงกลางครึ่งหลังก็เกิดจังหวะปัญหาเมื่อผู้เล่นเกาหลีใต้ล้มลงและพยายามใช้มือเล่นบอลแต่ผู้ตัดสินกลับเมินเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่มีภาพช้าให้เห็นในจังหวะการตัดสินที่เป็นปัญหาอีกด้วย
กีฬามวย...ต่อยยังไงก็แพ้
หลังจากโสภิดา สะทุมรัมย์มวยหญิงไทยแพ้ให้กับนักชกจีนไปแบบค้านสายตาทั้งที่คำตัดสินจากกรรมการ3 คนนั้นให้ฝ่ายไทยชนะคะแนน 1 คนและอีก 2 คนให้เสมอ ทว่าผลกลับออกมาเป็นให้ไทยเป็นฝ่ายแพ้ แต่เหตุการณ์นั้นก็ยังไม่กังขาเท่ากับที่ทักส์ซ็อกต์ ยัมไบร์นักชกจากมองโกเลียถูกตัดสินให้แพ้คะแนนฮัม ซัง มยองนักมวยจากเกาหลีใต้ ทั้งที่นักชกชาติเจ้าภาพถูกชกจนเลือดอาบ
อีกกรณีบนผืนผ้าใบที่สะเทือนใจผู้ชมคือความพ่ายแพ้ของ สาริตา เทวี นักชกสาวจากอินเดียถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่จากฟอร์มการชกที่เหนือกว่าชาติเจ้าภาพอย่างเห็นได้ชัดแต่กลับถูกตัดสินให้แพ้ โดยเธอตัดสินใจไม่รับเหรียญเงินจากการแข่งขันและตรงไปคล้องเหรียญดังกล่าวให้กับนักชกชาติเจ้าภาพแทน คลิปเหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์ส่งต่อและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความกล้าหาญในการกระทำและการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น
ล่าสุดกรณีดังกล่าวยิ่งถูกวิจารย์อย่างต่อเนื่องเมื่อสหพันธ์มวยนานาชาติหรือไอบาแทนจะที่จะพิจารณาถึงผลการตัดสินที่ผิดพลาด กลับแถลงการณ์จะลงโทษนักชกสาวชาวอินเดียแทน!
we want fair play
“ขี้โกง oh cheat 치트 unfair”
“Korea cheaters เกาหลีขี้โกง 한국의 사기꾼 "
"이 속임수 플레이 나는 그것을 가지고 เล่นโกงแบบนี้ คุณภูมิใจเหรอ”
กลายเป็นถ้อยคำคอมเมนต์ในเพจ “2014 Incheon Asian Game” เพจอย่างเป็นทางการของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงความเห็นแย้งต่อการทำหน้าที่ในฐานะเจ้าภาพที่เป็นปัญหา โดยมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นเหล่านี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการโพสต์ภาพเหตุการณ์ในการแข่งขันต่างๆพร้อมข้อความ จนถึงภาพล้อเลียน
หลังจากกระแสรุนแรงดังกล่าว ทางเพจ “2014 Incheon Asian Game” ก็มีการออกแถลงการณ์ข่มขู่ผู้ที่กระทำดังกล่าวทันทีว่าจะลบคอมเมนต์เหล่านั้น และบล็อกผู้ใช้ที่ก่อเหตุ พร้อมยืนยันว่า สนับสนุนการแข่งขันที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
“R.I.P AIBA” ก็เป็นอีกถ้อยคำที่ปรากฏในเพจ “AIBA” เพจของสหพันธ์มวยนานาชาติ
กระแสการแสดงความไม่เห็นด้วยที่ทบเท่าทวีจากการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมหลายครั้งส่งผลให้เกิดการแสดงความไม่เห็นด้วยในหลายรูปแบบ นับแต่การทำภาพล้อเลียนนักกีฬาเกาหลีที่ชนะอย่างไม่น่าชนะ ภาพเหตุการณ์น่ากังขาที่เกิดขึ้นในกีฬาฟุตบอล ภาพใบหน้าของนักชกเกาหลีที่อาบไปด้วยเลือดแต่กลับได้ชัยชนะ คลิปวิดีโอการแข่งขันก็ถูกแชร์ถูกโพสต์คัดค้านผลการตัดสิน
ล่าสุดก็มีคลิปเพลง “ขอให้โอปป้าจงเจริญ” ที่เอาทำนองจากเพลง “ขอให้เจ้าภาพจงเจริญ” ของวงสามโทนมาแปลงเนื้อร้องล้อเลียนเจ้าภาพเกาหลีที่โกงในหลายชนิดกีฬา
“เกาหลีฟีเวอร์” สู่ “เกาหลีขี้โกง”
หลังจากชัยชนะที่ได้มาในหลายชนิดกีฬา ไม่แปลกหากประเทศเกาหลีจะรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ชัยชนะที่ได้มาพร้อมกับข้อครหาดูจะไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง
“ภาพลักษณ์แบรนด์ (Brand Image) ของประเทศเกาหลีได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก สิ่งที่ประเทศเกาหลีพยายามส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมของเขา อย่างละครและหนังภาพยนตร์มายังประเทศไทยตลอดสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคแดจังกึมเข้าไทยปี 2548 ทำให้คนไทยรักความเป็นเกาหลีมาตลอด และถูกนำเอามาเป็นยุทธศาสตร์ของเกาหลีในการส่งออกสินค้ามาไทย”
ภาพลักษณ์ของสินค้าถูกส่งต่อมาโดยมีสื่อละคร ภาพยนตร์เป็นหัวหอกในเชิงวัฒนธรรม เขามองว่า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแต้มต่อให้สินค้าและการท่องเที่ยวเกาหลีเป็นที่นิยมมากขึ้น
“ภาพลักษณ์สินค้าเกาหลีและการท่องเที่ยวเกาหลีมีความน่าชื่นชอบ (Likeable) ชนะสินค้าชาติอื่นๆ ก็เพราะมีการนำเอาไปอยู่ในละครและภาพยนตร์ รวมถึงดารา นักร้องที่เป็นตัวแทนของสินค้า ก็ถูกนำเอามาจัดกิจกรรม และบ้างก็เป็นตัวแทนสินค้าของไทยเองด้วย”
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ผ่านมานี้ความน่าชื่นชอบของเกาหลีกลับถูกทำลายลง เขาเห็นว่าสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในมุมมองด้านการตลอด
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกีฬาเอเชียนเกมส์ ความน่าชื่นชอบของเกาหลี ถูกทำลายลงไป ซึ่งกระทบไปถึงคุณค่าของแบรนด์ความเป็นเกาหลีที่ลูกค้ารับรู้โดยรวม สินค้าไทยตัวไหนที่ใช้นักร้องเกาหลีเป็นพรีเซ็นเตอร์ก็หนาว ๆ ร้อน ๆ กันแล้วตอนนี้”
ประเด็นการโกงที่เกิดขึ้นนั้นในยุคปัจจุบันถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นอ่อนไหว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาดเห็นว่า กีฬาเอเชียนเกมส์นั้นเป็นรูปแบบการสื่อสารที่กว้างขวาง มีคนติดตามมากมายจึงอาจแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
“ลูกค้าในยุคปัจจุบันทุกคนมีความรู้สูงขึ้นและเข้าถึงเปิดรับสื่อมากขึ้น ที่สำคัญคือ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เน้นการซื้อสินค้าที่มี “คุณค่า” ไม่ใช่แค่คุณค่าจากตัวสินค้าแต่ยังรวมไปถึงคุณค่าอื่นๆ เช่น ความดีงามที่แบรนด์สินค้านั้นทำให้แก่สังคม
“ซึ่งสินค้าเกาหลีถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับ การตัดสินของกรรมการในกีฬาเอเชียนเกมส์ แต่แน่นอนว่าจะถูกเชื่อมโยงเข้าไป เป็นหนึ่งในการลงโทษทางสังคม จะเห็นจากกรณีนี้เลยว่า ชัยชนะที่เขาได้มา ไม่คุ้มค่าเลยเมื่อเทียบกับมูลค่าแบรนด์ที่สูญเสียไป (Brand Equity) ทั้งแบรนด์ความเป็นเกาหลี และ แบรนด์อื่น ๆ ที่เกียวข้องกับเกาหลี”
ในส่วนของผลระยะยาวจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ กระแสจากทั้งในเว็บบอร์ดหรือโซเชียลต่างก็แสดงจุดยืนจะเลิกซื้อสินค้าจากเกาหลีทั้งหมด เขามองว่าอาจเป็นการทำลายสายสัมพันธ์ของ 2 ประเทศที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ซึ่งการประท้วงต่างๆ ควรมุ่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวกับโดยตรงมากกว่า
“อย่าโจมตีทุกอย่างที่เป็นเกาหลี เพราะอาจจะเป็นการปลุกลัทธิคลั่งชาติ และพัฒนาเป็นปัญหาระดับประเทศได้ อย่างประเทศไทยเอง เราก็มีสินค้าที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมาย ทั้งกระเป๋า NaRaYa ผลิตภัณฑ์สปาErb น้ำหอม Sheve Sheva สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ถั่วโก๋แก่ ซึ่งลองคิดดูว่าเราแบนสินค้าเขาได้ หากเขาแบนสินค้าเราด้วยละ ทั้งสองฝ่ายก็เสียหายทั้งคู่อยู่ดี วิธีโต้ตอบวิธีนี้จะสร้างความเสียหายต่อทั้งสองชาติ ไม่มีอะไรดีขึ้น”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
Post by John Petersen.
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754