ทนายโจทก์ร่วมญาติเสื้อแดง 96 ศพ ยื่นอุทธรณ์คดี “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งสลายม็อบ นปช.ปี 53 หลังศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ชี้กระทำผิดขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นอำนาจสอบสวนของ ป.ป.ช.
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (29 ก.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของนายสมร ไหมทอง อาชีพขับรถตู้ และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง อาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ในฐานะโจทก์ร่วมกับอัยการ ได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ ปภากโร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ อดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ.มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่ จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 บริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย คดีดังกล่าวศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมาว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย
นายโชคชัยกล่าวว่า โจทก์ร่วมทั้งสองยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา จึงขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาในประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งทางฝ่ายโจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานต่อชีวิต ตาม ป.อาญา มาตรา 288 และทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานนี้ โดยทาง ป.ป.ช.มีอำนาจพิจารณาเฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อาญา มาตรา 157 เท่านั้น การกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องจึงไม่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งโจทก์ร่วมก็ไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานนี้ด้วย นอกจากนี้ โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเอาความเห็นแย้งของนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอุทธรณ์ของพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองด้วย เนื่องจากคำพิพากษาของศาลดังกล่าวจึงยังคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมายอยู่ จึงขอให้ศาลอุทธรณ์โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำสั่งของศาลอาญาและให้ศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและให้รับคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว