หลังจากเป็นกระแสสังคมกับกรณีข่มขืน - ฆ่าบนรถไฟ สร้างความโศกสลดให้กับผู้คนในสังคมตามต่อมาด้วยความเคลื่อนไหวรณรงค์ “ข่มขืนเท่ากับประหาร” ถึงตอนนี้คำพิพากษาต่อ “เกมส์ วันชัย แสงขาว” คนร้ายก็ออกมาเป็นบทลงโทษที่สาสมกับความรู้สึกของประชาชน นั่นคือการประหารชีวิต!
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 ศาลจังหวัดหัวหิน นัดอ่านคำพิพากษาคดีสะเทือนขวัญ กรณีที่ นายวันชัย แสงขาว หรือ เกมส์ อายุ 22 ปี พนักงานปูเตียง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก่อเหตุข่มขืน และฆ่าอย่างโหดเหี้ยม
ทั้งนี้ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิต วันชัย แสงขาว จำเลยที่ 1เนื่องจากมีความผิดตามฟ้อง และเป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย โหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม สมควรลงโทษสถานหนัก มีความผิดหลายกระทงดังนี้ ฐานฆ่าผู้อื่น ให้ลงโทษประหารชีวิต, ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ให้ลงโทษจำคุก 9 ปี, ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี, ฐานซ่อนเร้นศพ ให้จำคุก 1 ปี ฐานเสพยาบ้า ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน
เมื่อรวมความผิดแล้วให้ลงโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แม้คนร้ายจะอ้างว่า รับสารภาพเพราะสำนึกผิดแล้ว ศาลเห็นว่า จำเลยจำนนต่อหลักฐาน ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งหลังได้ฟังคำพิพากษาแล้ว คนร้ายมีสีหน้าเรียบเฉย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำตัวกลับเรือนจำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงโทษประหารในประเทศไทยนั้นอาจต้องติดตามกันไปในระยะยาว เพราะในระหว่างปี 2546-2551 (ยังมีโทษอยู่แต่ไม่มีการนำนักโทษไปประหาร) แต่ในวันที่ 24 ส.ค. 2552 มีการฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษชาย 2 คนที่เรือนจำบางขวาง คือ บัณฑิต เจริญวานิช อายุ 45 ปี และจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ อายุ 52 ปี ที่ถูกจับกุมข้อหาค้ายาเสพติดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2544 และศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตถึงวันนี้มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดยาให้ตายทั้งสิ้น 6 คนเท่านั้น
หลังจากคำพิพากษาประหารชีวิตออกมาจึงไม่แปลกหากหลายคนจะมองว่า เดี๋ยวไม่นานคนร้ายก็ลอยนวล ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ LIVE จึงได้สอบถามไปทาง พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า หากเป็นตอนนี้นายเกมส์ก็ถูกพิพากษาประหารชีวิตแล้ว ทว่าก็ยังคงมีเงื่อนไขหลายอย่างทั้งเงื่อนไขในการยื่นอุทธรณ์ที่หากเข้าเกณฑ์ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้และต้องติดตามต่อว่าคำพิพากษาจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากไม่เข้าหลักเกณฑ์คนร้ายก็จะถูกคุมขังและอาจมีการลดหย่อนโทษเกิดขึ้นได้
“คำถามคือแล้วเขาจะโดนประหารจริงๆมั้ย อันนี้ 1 ต้องมาดูก่อนว่ามันเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายว่าจะอุทธรณ์ได้มั้ย อันที่ 2 เวลาเขาไปติดคุกจริงๆแล้ว เขาอาจจะมีโอกาสได้รับการพระราชทานอภัยโทษก็ได้ อย่าลืม แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องถูกจองจำอยู่ในเรือนจำเป็นหลายสิบปีนะครับ ถึงตอนนั้นสมมติได้รับพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งถ้าเขาติดประมาณ 20 ปี สมมตินะครับ กว่าจะออกมาเขาก็ได้รับความทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสจากการถูกจองจำแล้ว”
แม้กระแสสังคมจะรุนแรงในการเรียกร้องให้การประหารชีวิตเป็นบทลงโทษสถานเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองในมุมนักอาชญาวิทยาว่า ถึงตอนนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่แม้ในระดับสากลว่า โทษประหารนั้นช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้จริงหรือไม่
“ในหมู่นักอาชญาวิทยาก็ยังมีการถกเถียงกันว่า ผู้กระทำผิดในลักษณะฆ่าคนตาย ไม่เฉพาะข่มขืนแล้วฆ่านะครับ ควรโดนลงโทษประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งด้านหนึ่งมองว่าการประหารจะทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดในลักษณะเดียวกันเกิดความเกรงกลัว ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าการจำคุกตลอดชีวิตเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างถาวรและเป็นตัวอย่างของกระบวนการลงโทษที่สร้างความเกรงกลัวได้เหมือนกัน”
หลังคำพิพากษานี้ หลายคนตั้งความหวังว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมกับข้อเรียกร้อง “ข่มขืนเท่ากับประหาร”นักอาชญาวิทยาคนเดิมมองว่า เป็นการพิพากษาตามตัวบทกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นนั้นมีโทษประหารชีวิตจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีการรณรงค์กันแต่อย่างใด
เขามองว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้การทำงานของกระบวนการยุติธรรมค่อนข้างไปได้อย่างราบรื่น เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักอาชญาวิทยาที่การสืบสวนมีความรวดเร็ว แม่นยำ โปร่งใสไม่จับแพะ พร้อมทั้งมีการลงโทษอย่างทันท่วงทีซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่คิดจะก่อคดีในลักษณะเดียวกันเกิดความยำเกรงได้
“สำหรับผมเองกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็มองว่าเป็นกรณีการก่อคดีที่สะเทือนขวัญ ผมก็มองว่าเป็นคดีที่เหมาะสมกับโทษประหาร แต่คำตัดสินต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อ”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754