xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียน(โกง)เกมส์! หรือกีฬาจะไม่ได้สร้างความสามัคคี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากเป็นที่ครหากับความโปร่งใสในการตัดสินกีฬาอินชอนเกมส์ หรือเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุด จากข้อครหาสู่การแฉแหลก จากความสามัคคีสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ชวนให้สงสัยว่ามหกรรมกีฬาเหล่านี้แท้จริงแล้วจัดขึ้นเพื่ออะไร

มหกรรมโกงกีฬาระดับประเทศ!
 
การแข่งขันกีฬาในระดับภูมิภาคต่างๆ ส่วนหนึ่งจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ด้านหนึ่งก็เป็นการแข่งขันซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีผู้ชนะกับผู้แพ้ และในเมื่อไม่มีใครอยากจะเป็นผู้แพ้ การทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะจึงเกิดขึ้นได้

และแทบทุกครั้งที่เกิดข้อกังขาขึ้นการตัดสินก็มักจะโอนเอนไปทางประเทศเจ้าภาพอยู่เสมอ ในเอเชียนเกมส์หรือกระทั่งซีเกมส์ก็มักจะมีการโกงหรือการตัดสินที่ค้านสายตาเกิดขึ้นบ่อยๆ จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติที่ชาติใดเป็นเจ้าภาพก็ต้องมีการโกงกันเล็กๆน้อยๆเกิดขึ้นในบางประเภทกีฬาที่สามารถโกงได้

ล่าสุดกับอินชอนเกมส์ เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ที่ประเทศเกาหลีใต้ กับข้อกังขาที่ทำเอาแฟนกีฬาไทยพากันส่ายหน้า เมื่อนักกีฬาชกมวยมวยหญิงไทยต้องพ่ายแพ้ให้กับนักมวยหญิงจากประเทศจีน แม้ว่ากรรมการจะให้ชนะ 1 เสียง เสมอ 2 เสียง กลายเป็นความพ่ายแพ้ที่ทำให้ใครหลายคนเกิดข้อสงสัยกับการตัดสินกีฬามวยที่ถูกเปลี่ยนกติกาให้ไปอยู่เบื้องหลังโดย สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ หรือ ไอบา

ซึ่งความไม่ชอบมาพากลของไอบาตั้งแต่การเปลี่ยนกติกา การตัดสินจากรูปแบบที่เคยแสดงคะแนนตามจำนวนหมัดมาเป็นการตัดสินแบบที่ไม่ให้เห็นคะแนนทำให้เกิดปัญหากับความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการตัดสินมาโดยตลอด

หากยังจำกันได้เมื่อ 2 ปีก่อนกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกก็มีการตัดสินที่ค้านสายตาอยู่หลายครั้ง โดยครั้งสำคัญเห็นจะเป็นกรณีของแก้ว พงษ์ประยูร นักชกชาวไทยที่แพ้ให้กับซู ชิ หมิง นักชกจากจีนอย่างขาดลอย ทั้งนี้ ความไม่ชอบมาพากลก็ปรากฏจากการเผยคะแนนดิบที่กรรมการจากโมร็อกโกให้คะแนนแก้วแพ้ขาดทั้งสามยก ซึ่งไม่ว่ามองยังไงคะแนนของแก้วในยกสามก็ไม่ควรแพ้หรือถูกทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่น

ล่าสุดก็มีกรณีที่เป็นข่าวดัง หลังจากแบ ยอน จูนักกีฬาแบดมินตันเกาหลีสามารถเอาชนะรัชนก อินทนนท์นักกีฬาแบดมินตันชาวไทยในรอบก่อนรองชนะเลิศประเภทหญิงเดี่ยว นักกีฬาชาวไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่า เพราะสนามมีลมที่ค่อนข้างแรงและไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน

จากนั้นทีมนักกีฬาแบดมินตันของจีนและโค้ชของนักกีฬาญี่ปุ่นก็แสดงความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า เกาหลีมีการควบคุมกระแสลมให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบ ซึ่งกระแสลมมีการเปลี่ยนฝั่งตามผู้เล่นเกาหลีขัดขวางการตีของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งยังมีการเผยว่า นักกีฬาแบดมินตันของเกาหลีได้ลงซ้อมในสนามแห่งนี้ก่อนแข่งล่วงหน้าถึง 15 วัน โดยมีการทำข่าวพร้อมคลิปภาพเหตุการณ์แสดงถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง

นี่เป็นเพียง 2 กรณีที่เกิดในเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุดเท่านั้น แต่หากย้อนกลับไปก็จะพบว่า ยังมีอีกหลายกรณีที่การแข่งขันในระดับภูมิภาคนั้นจะมีการตัดสินที่เข้าข้างเจ้าภาพอยู่เสมอ

กีฬาสร้างความสามัคคี?

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในส่วนของมหกรรมกีฬาเหล่านี้คือการที่มันอยู่จับโดยมีเปลือกห่มของการสร้างความสามัคคีร่วมกันระหว่างภูมิภาคนั้นๆ แต่อีกด้านมันก็เป็นการแข่งขันที่จะต้องหาผู้ชนะอีกด้วย

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่า การจัดการแข่งขันในลักษณะนี้นั้นโดยทั่วไปแล้วมีขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักกีฬาของแต่ละประเทศได้แสดงความสามารถในการแข่งขันกัน โดยการที่นักกีฬาจากต่างประเทศต้องเดินทางไปแข่งขันก็ทำให้เกิดความร่วมมือกันฉันมิตรขึ้นได้

“การที่นักกีฬาของแต่ละประเทศได้มาแสดงความสามารถแข่งขันกัน มันก็อาจจะทำให้เกิดความร่วมมือ กันฉันมิตรขึ้นได้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมนะครับ”

ทว่าในส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นก็คือการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในรูปแบบของเหรียญรางวัลที่มาจากการแพ้ - ชนะ ซึ่งชาติที่เป็นเจ้าภาพนั้นก็ต้องการคว้าเหรียญรางวัลให้ได้มากที่สุด

“แต่ทีนี้ประเด็นคือไอ้ความพยายามที่จะเอาชนะกันเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศตัวเองโดยวิธีการที่ไม่ยุติธรรมของนักกีฬาที่เข้าแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเจ้าภาพก็มักจะมีกลยุทธ์อะไรต่างๆ เพื่อที่ตัวเองจะได้เหรียญทองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อันนี้มันก็น่าเสียดายที่แต่ละครั้งมันก็มีปัญหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กัน”

ทั้งนี้ เขามองว่า การแพ้ - ชนะนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกิดขึ้นมากกว่า

“แต่ประเด็นนี้ความเป็นกีฬามันก็บอกอยู่แล้วว่า มันต้องมีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งแพ้ - ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด มันเป็นเรื่องที่เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเขาเผยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขันลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องของเกมกีฬา ไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลแต่อย่างใด

“โดยทั่วไปก็ไม่ถึงกับกระทบอะไรครับ” เขาเอ่ยเสียงชัดเจน “เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องกีฬา ไม่กระทบต่อเรื่องความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลแต่อย่างใด คือแต่ละประเทศเรื่องแบบนี้ก็มีตุกติกกันบ้าง ซึ่งพอเราก็ไม่สามารถหาข้อพิสูจน์อะไรมันก็หายๆไป แต่โอเค มันก็น่าสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะไม่มีทางทราบข้อเท็จจริงได้ และจะว่าไปคือมันก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นในวงการ”


ทั้งนี้ การเอาชนะด้วยเล่ห์กลต่างๆ เขามองว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดความภูมิใจอย่างแท้จริง และหากมองในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับของประชาชนแล้ว สิ่งนี้ก็กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้อีกด้วย

“มันไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลแต่ระดับประชาชนก็คงมีคนดูที่อินมากๆด้วย คือการเอาชนะโดยใช้เล่ห์กลต่างๆ ถ้ามีอยู่จริงมันก็ดูไม่สง่างามน่ะ ได้ไปก็ไม่มีความภูมิใจอะไรหรอก คือถ้าถูกโกงแพ้มันก็ไม่เป็นธรรมกับนักกีฬาและไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่โกงด้วย ประเทศใดก็ตาม ถ้าชนะใจคนดูถึงแพ้ก็ถือว่าชนะไปแล้ว แต่ถ้าชนะแล้วก็ชนะใจคนดูด้วยมันก็เป็นที่ชื่นชมสง่างาม มันก็ดี ทำให้ได้รับความชื่นชมในความสามารถของนักกีฬา”

ในมิติของผู้ชมนั้นแน่นอนว่า ก็ได้รับความเพลิดเพลินในการรับชมการแข่งขัน ซึ่งหากมองในมุมที่ดีงามการแข่งขันที่เกิดขึ้นหลายครั้งต้องยืนอยู่บนการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เขายกตัวอย่างการแข่งขันตะกร้อที่ทีมชาติไทยสามารถเอาชนะทีมชาติพม่าไปได้ ทั้งสองทีมแข่งขันกันอย่างจริงจังแต่เมื่อรู้ผลก็จับมือกัน และยิ้มแย้มเข้าหากัน

“ฝ่ายไทยก็ไปไหว้ฝ่ายพม่าที่แพ้ ขณะที่ฝ่ายพม่าเองก็มาแสดงความยินดีกับฝ่ายไทย อย่างงี้มันเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมทั้ง 2 ฝ่าย คือเวลาแข่งขันก็แข่งขันกันอย่างสุดความสามารถเลย แต่พอแพ้ก็ยอมรับและคนชนะก็ให้เกียรติคนแพ้”

ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์หากมีข้อกังขาเกิดขึ้นคือการแสดงออกของกองเชียร์ ตั้งแต่การประท้วงอย่างรุนแรงบนพื้นที่ออนไลน์ หากหนักกว่านั้นคงจะเป็นการก่อเหตุรุนแรงภายในสนาม ศ.ดร.ไชยวัฒน์ มองว่า ควรแสดงออกตามกรอบที่มีไว้ และตามเส้นแบ่งที่พอทำได้เพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

“สำหรับกองเชียร์ปกติเราก็ต้องเชียร์นักกีฬา คือถ้าเขาเล่นอย่างเต็มฝีมือแล้วแพ้ก็ยอมรับ ฝึกนิสัยของการยอมแพ้ให้เป็น ถึงแพ้แต่เล่นกันเต็มที่แล้วก็ไม่ควรเสียอกเสียใจหรือทับถมอะไรนักกีฬา แต่ถ้าชนะเราก็ค่อยยินดีกับนักกีฬาที่ขยันขันแข็งในการฝึกซ้อมก็ชื่นชมกันตามสมควร

“แต่ถ้าถูกโกงมันก็เป็นธรรมชาติคงมีปฏิกิริยาแสดงออกตามสมควรแต่ก็ให้อยู่ในขอบเขตเพื่อให้กรรมการรู้ว่าตัดสินอย่างนี้ได้อย่างไร แต่ก็ไม่ต้องไปใช้ความรุนแรงอะไร ใช้ปฏิกิริยาให้เห็นความไม่พอใจในการตัดสินเท่านั้น”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE





ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754





กำลังโหลดความคิดเห็น