xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจการท่าฯ ! กรณี “ปืนขึ้นเครื่องบิน” ใครต้องรับผิด?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กับกระทู้ “เมื่อการท่าฯ ให้ผมเอาปืนขึ้นเครื่องบิน” ที่เผยรูปปืนปลอมบนเครื่องบินพร้อมระบุว่า ติดขึ้นมาโดยบังเอิญ เกิดเป็นประเด็นการรักษาความปลอดภัยที่หละหลวมจนผู้ใช้เครื่องบินต่างเป็นกังวล
ล่าสุดด้าน นาวาอากาศโทหลักชัย เฉลยปราชญ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ชี้แจงกรณีดังกล่าว ยืนยันระบบรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมเร่งตรวจสอบหากพบข้อผิดพลาด ขณะที่ผู้โดยสารคนดังกล่าวก็จะมีโทษตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ!
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ในแวดวงการบิน ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ LIVE เปิดใจท่าอากาศยานไทย เหตุใดจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น? มาตรการป้องกันในฐานะผู้ให้บริการจะเป็นอย่างไร? ต้องติดตาม

ผู้หาญกล้าท้าการท่าอากาศยาน?

ไม่แปลกหากประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่ในแวดวงการบินของเมืองไทย เพราะที่ผ่านมาการตรวจสอบสัมภาระขึ้นเครื่องมีการใช้เวลาและมีกรอบเกณฑ์มากมาย โดยมีจุดประสงค์สำคัญอยู่ที่การรักษาความปลอดภัย กระทู้ “เมื่อการท่าฯ ให้ผมเอาปืนขึ้นเครื่องบิน” กลายเป็นสิ่งที่ตบหน้าการท่าอากาศหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวเข้าอย่างจัง!

โดยรายละเอียดในกระทู้ดังกล่าวมีใจความระบุว่า การท่าอากาศยานมีการปล่อยให้ปืนปลอมที่บังเอิญติดกระเป๋าขึ้นไปอยู่บนเครื่องบิน โดยตัวเจ้าของกระทู้นั้นไม่มีเจตนาพกไป แต่บังเอิญติดมาด้วย ชวนให้เกิดความสงสัยในระบบรักษาความปลอดภัยที่มีช่องโหว่เกิดขึ้น จึงได้ถ่ายรูปลงอินสตาแกรมพร้อมแคปมาตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดชื่อดังเพื่อกระตุ้นเตือนในสิ่งที่เกิดขึ้น

รูปดังกล่าวที่ปรากฏในกระทู้เป็นรูปปืนปลอมในมือของเขาเองถ่ายให้เห็นเบื้องหลังเป็นเบาะนั่งบนเครื่องบิน ทั้งนี้เจ้าตัวระบุว่าเป็นเที่ยวบินจากเชียงใหม่ - กรุงเทพฯของสายการบินแห่งหนึ่ง

ต่อมา นาวาอากาศโทหลักชัย เฉลยปราชญ์ ผู้อำนายการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ก็ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่าจะมีการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมหาจุดบกพร่องแก้ไข โดยเจ้าของกระทู้ที่ถ่ายภาพดังกล่าวนั้นหากพบว่าเป็นจริงก็อาจถูกตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.ทางเดินอากาศ พ.ศ.2497

ทางด้านเจ้าของกระทู้นั้น หลังจากทราบข่าวการตั้งข้อหาดังกล่าวก็มีการโพสต์ตอบในอินสตาแกรมว่า “ขอบคุณครับ ถ้ามันไม่ใช่เรื่องจริงผมคงไม่โพสต์ ผมไม่ปิดชื่อ IG เพราะกล้าและยอมรับผลครับ พ่อแม่ผมบินแล้วเจอคนเอาปืนขึ้นเครื่อง ผมคงไม่ปลื้มแน่ ท่านรับผิดชอบไหวรึเปล่าผมก็อยากรู้”



มาตรฐานสากลคืออะไร?

กระทู้ดังกล่าวแน่นอนว่า สร้างบาดแผลให้กับท่าอากาศยานไทย และแน่นอนโดยเฉพาะส่วนหน่วยงานที่รักษาความปลอดภัย โดยในกระทู้ดังกล่าวก็มีการตั้งข้อสังเกตมากมาย ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยเจ้าของกระทู้คือ การเดินทางของเขาเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ หากเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศคงโดนจับไปแล้ว

แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนาม จากฝ่ายดูแลรักษาความปลอดภัยสนามบิน เผยว่างานในส่วนของการรักษาความปลอดภัยนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ มาตรฐานความปลอดภัยอันได้แก่ การป้องกันอากาศยานอุบัติเหตุ กับส่วนมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยอันได้แก่ การป้องกันผู้ประสงค์ร้ายต่อการเดินอากาศ

ในส่วนของมาตรฐานระหว่างเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศนั้น เขาเผยว่า เป็นไปตามมาตรฐานสากลไม่แตกต่างกัน ทำตามมาตรฐานของประเทศไทยคือมาตรฐานของกรมการบินพลเรือน ซึ่งมาตรฐานตรงนี้ก็ต้องไปสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

ทางด้านของรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆนั้น เขาเผยว่า หากมองในส่วนของหน้างานจะมีขั้นตอนการตรวจค้นในส่วนของกระเป๋าสัมภาระที่โหลดใต้เครื่องด้วยเครื่องเอกซเรย์ ขณะที่สัมภาระที่ผู้โดยสารหิ้วก็จะต้องผ่านเครื่องเอกซเรย์พร้อมกับที่ตัวผู้โดยสารเองที่ต้องเดินผ่านเครื่องบอดี้สแกนเนอร์โดยจะตรวจวัตถุโลหะหากเตือนก็จะต้องตรวจด้วยสแกนเนอร์อีกครั้ง

“ในส่วนของผมจะรับผิดชอบในส่วนของมาตรฐานเป็นสายวิชาการ ถ้าข้อมูลทั้งหมดผู้ปฏิบัติมีปัญหา ผมจะสนับสนุนเรื่องความรู้ต่างๆให้ แล้วผมจะเป็นหน่วยลงไปตรวจสอบซึ่งจะทำกันเป็นวงรอบ และเป็นหน่วยในการประสานในการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่”

โดยในส่วนของการตรวจสอบนั้น เขาเผยว่า มีการทดสอบถึงขั้นให้คนพกใบมีดคัตเตอร์ใส่ในเข็มขัดแล้วเข้าไปใช้บริการ บางครั้งก็ให้พกสารที่เมื่อเข้าเครื่องตรวจสอบแล้วจะแสดงผลคล้ายระเบิดเข้าไป ซึ่งหากตรวจไม่พบถือว่าไม่ผ่านมาตรฐานจะมีการส่งส่วนที่รับผิดชอบไปฝึกอบรมเพื่อแก้ไขไม่ให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นอีก

“ตัวเราเองก็ถูกตรวจจากกรมการบินพลเรือนด้านการรักษาความปลอดภัยปีละครั้ง และยังถูกตรวจสอบจากฝ่ายวิชาการด้านการรักษาความปลอดภัยซึ่งคนทั้งหมดก็ผ่านการเทรนจากICAO ปีละครั้งด้วย ทั้งหมดก็เป็นไปตามมาตรฐานสากลครับ”

ความผิดพลาดและการแก้ไข

กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น ในฐานะที่ทำงานด้านการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย แหล่งข่าวคนเดิม มองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยเขาคาดว่าน่าจะมาจากความผิดพลาดของคน หรือ human error ซึ่งมีต้นเหตุมาจากช่วงพีคที่ผู้คนเดินทางกันมากเป็นพิเศษส่งผลให้คนทำงานเกิดความอ่อนล้าทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้

“ผมมองประเด็นที่เชียงใหม่ ช่วงพีคผมว่าเป็นความผิดพลาดจากคน การตรวจทุกอย่างสุดท้ายก็ต้องใช้ตาคนดู ถึงจะใช้เครื่องยังไงก็ตาคนมองกล้อง ตาคนเอกซเรย์ ช่วงพีคมันอาจมีความล้าความเครียดเกิดขึ้น แต่มาตรการเราก็ต้องเข้มงวดขึ้น แต่เรื่องของมาตรฐานก็เป็นไปตามระดับสากล”

ทั้งนี้ ตลอดการทำงานในส่วนของฝ่ายตรวจสอบนั้นเขาเห็นว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่ แต่ก็อยู่ในอัตราที่น้อยมาก 


“มันมีโอกาส human error ครับ เรามีมาตรฐานในการดูในการตรวจสอบอยู่ ให้นึกภาพวันหนึ่งเกิดไฟลต์พีกๆ วันหนึ่งเขาดูคนเป็น 1,000ซึ่งถ้ามีพีคมาเราก็ต้องจัดใหม่ ทำใหม่ เปลี่ยนในเรื่องของการเทรนเรื่องคน ซึ่งเราจะมีวงรอบของการควบคุมคุณภาพที่ค่อนข้างซีเรียสมากๆ”

ในส่วนของมาตรการแก้ไขเมื่อพบความผิดพลาดนั้น เขาเผยว่า จะเพิ่มการฝึกอบรมเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเน้นการแก้ไขในเชิงระบบ ขณะที่การควานหาตัวคนผิดมาลงโทษนั้นถือเป็นเรื่องสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น โดยทั้งหมดนี้ก็เป็นมาตรฐานสากลที่ยึดถือกันมา และเป็นวัฒนธรรมการทำงานการบินอย่างหนึ่งด้วย

“เพิ่มการเทรนครับ ไม่ใช่แค่วิชาการมันต้องมีภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎีภาคอะไรต่างๆ คือหลักการของเราจะไม่เน้นว่าต้องลงโทษอะไร แต่เราวนกลับมาที่ระบบมันบกพร่องตรงไหน 1. ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า เราทำตามมาตรฐานหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ผมตอบได้ว่า เราทำตามมาตรฐาน

“แล้วบกพร่องที่ไหน บกพร่องที่คนที่ความล้า เราก็เอาคนมาเทรนมากขึ้น ระบบวงรอบเป็นแบบนี้ มาตรฐานได้มั้ย? มีข้อบกพร่องตรงไหนเราก็ปรับตรงนั้น ปรับการเทรน ปรับระบบการคัดเลือก ปรับระบบฝึกอบรมก็จะปรับเป็นระบบ” 

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดขึ้นความผิดพลาดทั้งหมด เขาเผยว่ามีหลักๆ อยู่ 3 ปัจจัยได้แก่ คน(man) เครื่องมือ (machine) ผู้ใช้บริการ (media) โดย 2 สิ่งแรกนั้นถือเป็นสิ่งที่ควบคุมได้จึงต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับผู้ใช้บริการที่อาจจะมากขึ้นน้อยลงในแต่ละวัน

“สังคมไทยจะมีค่านิยมในการเสียบหัวประจานคนทำผิด แต่มาตรฐานการบินมันเป็นมาตรฐานสากลซึ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขไปที่ระบบไม่ใช่บุคคล คนทำผิดลงโทษไล่ออก ถ้าระบบมันมีปัญหาคนใหม่มาก็ผิดอีก วัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนไว้ใจกันแล้วปรับปรุงแก้ไขไปด้วยกัน มันเป็นมาตรฐานการบินที่คนในโซเชียลอาจจะไม่เข้าใจ คือถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ผู้โดยสารเขาก็จะไม่มาโพสต์แบบนี้ เขาก็จะเขียนรีพอร์ตรายงานมา เราพบปัญหาแบบนี้เราก็จะปรับปรุงแก้ไข”

ใครผิด?

พ.ร.บ.ทางเดินอากาศ พ.ศ.2497 มีบทบัญญัติถึงการกระทำผิดฐานนำปืนปลอมขึ้นอากาศยานดังนี้

มาตรา 79 ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) ส่งหรือพายุทธภัณฑ์ไปกับอากาศยานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามมาตรา 25

(2) ส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสัตว์ไปกับอากาศยานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 26

(3) เป็นผู้ประจำหน้าที่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 42

ในกรณีที่ผู้ควบคุมอากาศยานทำการบินโดยรู้ว่ามีผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตามที่พ.ร.บ.ทางเดินอากาศระบุไว้และปากคำของผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ดูเหมือนเจ้าของกระทู้ต้นเรื่องต้องมีความผิด อย่างไรก็ตาม ในมุมของ แหล่งข่าวจากส่วนรักษาความปลอดภัยสนามบิน เห็นว่า หากไม่มีเจตนาก็อาจไม่ผิด แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามีเจตนากฎหมายก็ต้องตามลงโทษ โดยเขาแสดงความเห็นในฐานะคนทำงานว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก

ในส่วนของการพกปืนไปกับอากาศยานนั้น สามารถทำได้โดยมีขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ต้องโหลดใต้เครื่อง เขาเผยว่า ทหารภาคใต้เดินทางโดยมีการนำปืนขึ้นเครื่องทุกวัน

“ถ้าจะเอาขึ้นเครื่อง คุณต้องเอาปืนมาที่จุดที่รับอาวุธปืนจะมีการขอดูทะเบียน ขอแยกกระสุนแล้วเอาปืนนั้นโหลดไปใต้เครื่อง นึกภาพเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่ภาคใต้ บางครั้งก็ต้องมีการพกปืนเพื่อความปลอดภัยของเขา กฎหมายมันมีมาตรฐานหมด ซึ่งลักษณะแบบนี้ถ้าตรวจเจอก็ไม่มีความผิดครับ ก็อาจจะมีการสอบถาม เอาไปทำอะไร รบกวนโหลดลงใต้เครื่อง เราดูที่เจตนาครับ”

ทั้งนี้ ในส่วนของการโพสต์ภาพดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการทำงานของท่าอากาศยานไทย เขามองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีกด้วย

“ผมว่าเขาทำไม่เหมาะสม วันหนึ่งมีผู้โดยสารผ่านท่าดอนเมืองกว่าหมื่นคน มันก็มีกลุ่มคนหนึ่งที่พยายามจ้องจะเอาโน่นเอานี่ขึ้นมาโชว์กัน มันน่ากลัวครับ คือถ้าจับได้ว่าจงใจก็ผิดเต็มๆ คนที่โพสต์ทำเพื่ออะไร ตามหลักการคุณโพสต์ไม่ได้ คุณต้องรายการกับท่าอากาศยานเมื่อพบเจอข้อบกพร่อง และถ้าตั้งใจทำเพื่อโชว์มันก็ผิดพ.ร.บ.เดินอากาศแน่นอน ซึ่งการนำมาตั้งกระทู้ให้คนด่าแบบนี้มันนำไปสู่วัฒนธรรมเสียบหัวประจานหาคนผิด สุดท้ายก็จะนำไปสู่วงเวียนของการปกปิดเพราะไม่มีใครอยากถูกลงโทษ

“แต่เราต้องแก้ไขที่ระบบอย่าให้มันเกิดขึ้น ปัญหาเกิดขึ้นตลอดแต่เราต้องมีระบบการรายงานสอบสวน ถ้าเจอปัญหาแล้วแก้ที่ระบบ ปัญหาก็จะหมดไปครับ”

เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754





กำลังโหลดความคิดเห็น