xs
xsm
sm
md
lg

“ตุ๊กแก - ความหลัง – หนังไทย” ในห้วงคำนึงของ “ต้อม – ยุทธเลิศ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางแสงสลัวในห้องรับรอง ขับกล่อมด้วยเพลงวันวานที่ประกอบภาพยนตร์ “ตุ๊กแกรักแป้งมาก” ผลงานเรื่องล่าสุดของเขา “ต้อม - ยุทธเลิศ สิปปภาค” ผู้กำกับมากประสบการณ์ส่งโค้ก - โซดาผสมแอลกอฮอร์นิดๆ ในแก้วใบเล็กประดับเชอรีผ่านลำคอ ความเย็นแอบร้อนผ่าวคงสลับเอาเรื่องราวชั้นดีออกมาบรรเลงเป็นบทสนทนา

“ผมเขียนบทหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สองมันก็ตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อนแล้ว ดังนั้นนี่ไม่ใช่หนังเรื่องสุดท้ายของผม กลับกันมันคือหนังเรื่องแรกๆของผมเลยด้วยซ้ำ” ผู้กำกับเอ่ยถึงหนังรำลึกวันวานของเขา

มิใช่วันวานส่วนตัว มิใช่ชีวประวัติ เขากล่าวย้ำ หนังเรื่องนี้นำเพียงเกร็ดเล็กน้อยของชีวิตส่วนตัวมาเป็นส่วนประกอบ แต่นั่นแหละ นักเล่าเรื่องมักแอบเร้นเรื่องจริงในเรื่องแต่งเสมอ ตุ๊กแกรักแป้งมากแอบบอกเล่าความจริงเบื้องหลังหนังไทย แฝงเร้นแรงบันดาลใจในฐานะคนทำหนังและรักหนังไว้เพียงใด มีเพียงในห้วงคำนึงของผู้กำกับมากประสบการณ์คนนี้เท่านั้นที่อาจบอกคุณได้

ตุ๊กแกรักแป้งมาก(และรักสิ่งอื่นด้วย)

“ในหนังเรื่องนี้มีคำสถบหยาบคายแน่นอน แต่มันดูได้ทั้งครอบครัวนะ ความหยาบคายในคำพูดมันไม่เท่ากับความหยาบคายที่มาจากจิตใจหรอก ในหนังเรื่องนี้แทบไม่มีตัวละครที่จิตใจหยาบคายเลย” ยุทธเลิศเอ่ยถึงภาพรวมหนังเรื่องล่าสุดของเขา

จากห่วงเวลายาวนาน เขาอยู่กับโปรเจกต์ที่พับเก็บไว้นานกว่า 15 ปี ด้วยเงื่อนไขเวลาต่างๆ ตั้งแต่ผู้คนยังไม่เข้าใจสิ่งที่เขากำลังจะเล่า จนถึงการมาของหนังเรื่อง “แฟนฉัน” เขาพับเก็บโปรเจกต์นี้ยาวนานก่อนเคี่ยวกร่ำตัวเองไปกับกาลเวลาของการทำงาน ประสบการณ์ที่มากขึ้นนำพาให้เขากลับคืนสู่โปรเจกต์ที่อยู่ในลิ้นชักมาอย่างยาวนานนี้ และการกลับมาครั้งนี้ก็มาด้วยวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป

“ปกติเราเชื่อมั่นตัวเองมาก ไม่เคยฟังใครนอกจากนายทุน แต่หนังเรื่องนี้เราเขียนบทให้แฟนอ่านก่อน หนังตัดมาให้ลูกดูก่อน ถ้าพวกเขาชอบก็ไปต่อ มันเปิดวิธีการทำงานใหม่ เป็นโลกใหม่ที่ละทิ้งตัวตน อีโก้ วางสิ่งไร้สาระพวกนั้นลงบ้าง เอาใจครอบครัวลูกเมีย(หัวเราะ) แต่ถ้าลูกเมียชอบซึ่งเขาก็เป็นคนธรรมดา คนทั่วไปก็น่าจะชอบนะ”

ตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้การปรับเปลี่ยนบทเกิดขึ้น จากตุ๊กแกที่เป็นนักมวยกลายมาเป็นนักเรียนช่างศิลป์ผู้หลงใหลการเขียนโปสเตอร์หนังและใฝ่ฝันอยากจะทำหนังของตัวเอง หากมองจากกลิ่นจากโทนดูเหมือนหนังเรื่องนี้จะแตกต่างจากทุกเรื่องที่เคยทำมา

“ผมทำงานมา 15 ปีแล้ว หนังดรามาหนังใสๆ แบบนี้มันไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง ก็สบายๆ พอเปิดกล้องมันไม่มีอะไรซับซ้อน การใช้กล้องวางคอมโพสมันไม่มีเรื่องพวกนี้แล้ว มันขึ้นอยู่กับว่าจะอิมโพรไวส์ยังไง ตรงนี้แก้ปัญหายังไงเท่านั้น”

ส่วนของสถานที่ถ่ายทำเชียงคาน เขามองว่าเสน่ห์อยู่ที่ความเก่า สำหรับเขาก็มองเรื่องนี้เป็นตลกร้าย เพราะหลายสิ่งแทนที่จะก้าวไปข้างหน้ามันกลับย้อนหลัง และหลายสิ่งที่เปลี่ยนก็ไม่สามารถย้อนกลับได้อีกแล้ว ท้ายที่สุดกับผู้คนที่คิดถึงวันวาน บ้านไม้ธรรมดาจึงกลายเป็นสิ่งมีเสน่ห์

“คนที่เคยมีบ้านไม้ ตึกแถววันหนึ่งเจริญขึ้นมาก็สร้างตึกแถวใหญ่เป็นปูน! แต่แล้ววันหนึ่งก็กลับมาคิดถึงอดีต แต่บ้านมันกลายเป็นปูนไปแล้ว ผู้คนเลยต้องไปเชียงคานไปดูอดีตตัวเอง ตลกนะ (หัวเราะ) หนังตุ๊กแกรักแป้งมากเราไม่สนใจหรอกว่าคุณจะดูไม่ดูที่นี่ แต่ถ้าใครไปเชียงคานคนนั้นต้องดู เพราะเราจะฉายไปที่นั่น 10 ปีไม่เลิก!”

เขากำลังเอ่ยถึงโปรเจกต์โรงหนังเพชรเชียงคานของเขาที่ตอนนี้เช่าที่เรียบร้อยเหลือเพียงหาทุนสร้าง พร้อมบอกว่า เงินหมดเพราะถ่ายหนังแล้วงบบานปลาย แต่อย่างไรก็ตามโรงหนังแห่งนี้ก็ต้องเกิดขึ้น

“มันจะเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ครับ จะมีการฉายหนังระบบเก่าดั้งเดิมให้เด็กรุ่นใหม่รู้ว่าหนังฟิล์มมันเป็นยังไง แน่นอนมีฉายหนังทั้งหมดของยุทธเลิศ แต่นั่นแหละครับ เงินดันหมดก่อน อยากถ่ายหนังให้มันดีๆ งบเลยบานปลาย”

ความหลัง “โปสเตอร์หนังข้างบ้าน”

“เด็กบ้านนอกน่ะครับ ไม่เคยคิดฝันจะเป็นผู้กำกับ แค่ชอบวาดรูป มีความฝันสูงสุดคือได้เขียนโปสเตอร์หนังที่โรงหนังข้างบ้านเท่านั้นเอง” ยุทธเลิศรำลึกความหลังผ่านแก้วโค้ก - โซดาเจือแอลกอฮอล์

ย้อนกลับไปในห้วงวัยเด็ก ผู้กำกับยังเป็นอาชีพที่ไม่มีใครรู้จัก เขาเพียงชอบดูหนังใฝ่ฝันอยากเป็นดารา และอยากวาดรูปโปสเตอร์จึงเข้าเรียนด้านศิลปะ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเขาได้ไปดูหนังที่โรงหนังแมคเคนน่าเชิงสะพานหัวช้าง หนังเรื่อง “ข้างหลังภาพ” เข้าฉาย โปสเตอร์ของหนังเรื่องนั้นสร้างความประทับใจให้กับเขา เพราะชื่อผู้กำกับคือ เปี๊ยก - โปสเตอร์ หรือ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ ผู้กำกับหนังรุ่นใหญ่ที่ก้าวขึ้นมาจากการเป็นคนเขียนโปสเตอร์หนัง!

“ตอนนั้นพี่เขา(เปี๊ยก โปสเตอร์) ก็เป็นแรงบันดาลใจของเขา แต่ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้ตัวหรอก เห็นว่าเขาเป็นคนเขียนโปสเตอร์แล้วมาเป็นผู้กำกับได้ก็ยังไม่ได้คิดอะไร จนมาได้ดูหนังเรื่อง ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย”

ผู้กำกับหนังเรื่องนั้นคือ อังเคิล - อดิเรก วัฏลีลา ผู้กำกับอีกคนที่ก้าวขึ้นมาจากการเป็นคนเขียนโปสเตอร์หนัง และยังเป็นลูกศิษย์ของเปี๊ยก โปสเตอร์อีกด้วย!

“มันทำให้รู้สึกว่า เฮ่ย! คนพวกนี้ ถ้าเขาเป็นผู้กำกับได้ เราก็น่านะ แต่ก็อีกนานเลยจนเรียนจบ จนเรียนต่อถึงค่อยตัดสินใจว่า ลองดู ลองทำแบบที่พี่เปี๊ยก ลองทำแบบที่พี่อังเคิลทำดู”

แต่เส้นทางก็อีกยาวนาน หลังจบด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาแอบคิดว่าจะไปเรียนต่อฟิล์มที่เมืองนอก ทว่าก็ไม่มีเงินเรียน จึงเรียนต่อด้านวาดรูปแทน ถึงจะเป็นแบบนั้นเขาก็ยังคงเก็บความฝันนั้นไว้ ยังคงสนใจอ่านหนังสือสั่งสมความรู้แม้ไม่มีเงินเรียน ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจว่าจะกลับมาเป็นผู้กำกับหนังโดยวิธีเข้าไปคุยกับนายทุน

“เขียนบทไปเสนอครับ บทเรื่องแรกๆของผมคือO-Negative (รัก - ออกแบบไม่ได้) แล้วมีปัญหากัน ผมไม่ได้ทำก็ต้องไปเขียนบทขึ้นมาใหม่ บทเรื่องที่ 2 คือตุ๊กแกรักแป้งมาก จากตอนนั้นก็ 15 ปีแล้ว แต่คนยังไม่เกตว่าผมกำลังจะทำอะไร ก็เลยเปลี่ยนมาทำมือปืน โลก/พระ/จัน

เรื่องราวหลังจากนั้น แน่นอน เป็นที่รู้กัน เขากลายเป็นผู้กำกับที่มีเที่ยวบินสูงชนิดปีต่อปี บางปีมีถึง 2 เรื่อง จากแอ็กชัน-ตลก ถึงหนังรักสุดโรแมนติก โด่งดังกับหนังผี เขากลายเป็นผู้กำกับที่สร้างหนังหลากหลายประเภทแต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ส่วนตัวไว้ได้อย่างครบถ้วน

หากเทียบเส้นทางการทำหนังของคนยุคเขากับยุคปัจจุบัน เขาเอ่ยอย่างใจกว้างว่า วิถีนั้นแตกต่างกัน สิ่งที่พบเจอจึงไม่อาจเทียบกันได้

“มันเทียบกันไม่ได้หรอกว่าเส้นทางของใครมันยากกว่ากัน ถ้าของผมยากผมก็คงมาไม่ถึง เช่นกันถ้าของผมง่ายเทียบกับคนอื่น บางคนก็มาเป็นผู้กำกับง่ายกว่าผม มันมีเรื่องของดวง จังหวะชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันเป็นเส้นทางของแต่ละคนมากกว่า”

ทำหนังก็เหมือนเล่นฟุตบอล

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีในวงการหนัง เขากำกับหนังมาแล้วกว่า 18 เรื่อง! ในยุคสมัยหนึ่งมีการพูดกันว่า เขาคือคนทำหนังที่รักษามาตรฐานของตัวเองไว้ได้ดีที่สุดคนหนึ่งของวงการ และเป็นไม่กี่คนที่สามารถคุยกับนายทุนรู้เรื่อง

“การมีหนังทุกปีมันไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราทำหนังได้เงินไม่ได้เงินนะ” เขาเอ่ยอย่างผู้เจนจัดในวงการ “มันเกี่ยวกับเรารักษามาตรฐานคุณภาพของการทำหนังได้มากแค่ไหนในสายตานายทุนมากกว่า เขาไม่ได้มองว่าเราทำหนังได้ตังค์ไม่ได้ตังค์ แต่เขามองที่ตัวเนื้องานของเรา แล้วค่อยมาลุ้นว่าได้ตังค์ไม่ได้ตังค์ ดังนั้น นายทุนทุกคนรู้ว่าเราทำงานยังไง ที่เหลือคือนั่งลุ้นว่าจะโดนไม่โดน ซึ่งทุกคนก็พร้อมที่จะลุ้นเสมอ”

วิธีคิดวิถีหนังของคนทำงานนั้นมีหลากหลาย เส้นทางการมาเป็นผู้กำกับของแต่ละคนแตกต่างกันก็อาจประสบความสำเร็จเหมือนกันได้ ไม่มีเส้นทางไหนที่รับประกันว่าวิถีหนังแบบนั้นจะประสบความสำเร็จ

“เรื่องพวกนี้มันมากับตัว ไม่มีวิธีหรอก วิธีของพี่ถ้าเกิดคนอื่นใช้มันอาจจะไม่ได้ผล คือถ้าคุณไม่ใช่พี่หม่ำ(จ๊กมก) ไปใช้วิธีเดียวกับพี่หม่ำมันก็ใช้ไม่ได้ เสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) เขาก็ไม่คุยด้วยหรอก การทำภาพยนตร์หรืออะไรก็แล้วแต่ มันคือประสบการณ์ของใครของมัน สอนกันไม่ได้ มันเป็นตัวตน มันเป็นวิถี วิธีการมาเป็นผู้กำกับมันก็ไม่เหมือนกันและไม่เหมือนกันก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ มันก็ประสบความสำเร็จได้”

วิถีหนังที่เคี่ยวกรำตัวเองมาอย่างยาวนาน หลายคนอาจอิ่มตัวกับการทำสิ่งเดิมแต่กับเขางานหนังถือเป็นงานที่สนุก อาจจะเหนื่อยแต่ก็คล้ายการเตะบอล เหนื่อยแต่สนุก

“เตะบอลเหนื่อยหรือเปล่า เหนื่อยแต่แม่งโคตรสนุก! ตลอดเวลาหลายปีเราทำหนังหลายประเภทมาก แต่มันก็เหมือนเราเตะบอลเหนื่อยแล้วไปเล่นบาส ไปตีสนุกฯ มันก็ลูกกลมๆเหมือนกัน บางทีเบื่อก็ไปเล่นรูเล็ก (หัวเราะ)”

คำพูดที่ว่า จินตนาการไม่มีที่สิ้นสุด ดูจะใช้กับเขาได้มากที่สุด ยุทธเลิศยิ้มพร้อมเผยเคล็ดลับการทำหนังว่า เขาใช้จินตนาการในการทำงาน และมันไม่มีที่สิ้นสุด ข้อมูลความรู้สำหรับสมองมนุษย์อาจมีวันที่รองรับไม่ไหว แต่จินตนาการเป็นสิ่งตรงข้าม

“ข้อมูลความรู้คุณเป็นฝ่ายเก็บรองรับบางทีอาจรับไม่ไหว แต่จินตนาการคุณต้องปล่อยออก มันต่างกัน ความรู้กับจินตนาการ และพี่ทำงานโดยใช้จินตนาการมากกว่า สบายๆ เพลงโน้ตมี 7 ตัว 3 นาที เพลงก็เล่นฮิตแล้วฮิตอีก หนังมีเวลา 2ชั่วโมง เรามีเวลาอิมโพรไวส์เยอะมาก จะเล่ายังไง จะฮุกคนยังไง งานหนังเป็นงานที่สนุกและท้าทายเราอยู่ตลอดเวลา ยิ่งประสบความสำเร็จยิ่งท้าทาย เพราะคุณต้องกระโดดข้ามความสำเร็จของตัวเอง มันขึ้นอยู่กับว่า มาตรฐานของคุณตั้งไว้ที่มาตรฐานคุณภาพงาน หรือว่าได้เงิน หรือได้ใจ”

หนังดีไม่มีในโลก

บนโลกนี้มีหนังอยู่หลายประเภท คำกล่าวหนึ่งที่น่าสนใจในวงการคนทำหนังคือ หนังทุกเรื่องเป็นหนังที่ดี หนังที่ไม่ดีคือหนังที่ไม่ได้สร้าง คำกล่าวนั้นมีฐานคิดมาจากการทำงานหนังภายใต้เงื่อนไขมากมาย ทว่าในมุมมองของยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับที่จบตรงมาจากสายศิลปะ เขามองว่าภาพยนตร์คืองานศิลปะ และศิลปะไม่มีคำว่าดีหรือไม่ดี

“ภาพยนตร์คืองานศิลปะ ดังนั้นมันไม่มีคำว่าดีไม่ดี มีแต่ชอบไม่ชอบ ภาพยนตร์ไม่มีตรรกะอะไรเลยครับ มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่คณิตศาสตร์ ไม่มีการคำนวณใดๆ มันคือรสนิยมล้วนๆ”

ปัญหาหนึ่งในการถกเถียงเรื่องหนังดีไม่ดี สำหรับเขาที่เป็นคนทำหนังคือนักวิจารณ์ แต่กับการทำงานเขายึดตัวเองเป็นหลัก

“ผมไม่สนเสียงวิจารณ์ คือผมเข้ามาเป็นผู้กำกับโดยไม่เคยปรึกษาหรือไถ่ถามว่าผมทำงานเป็นยังไง คนพวกนี้ไม่ได้อยู่สาระบบของผม คือเวลาเราจะฟัง ต้องฟังคนที่หวังดี นักวิจารณ์ถ้าเขาหวังดี เขาไม่วิจารณ์แบบสาดเสียเทเสีย ส่วนใหญ่มันมีอยู่ไม่กี่ตัวหรอก ยังไม่อยากเรียกนักวิจารณ์ ปัญหาคือคนพวกนี้ไม่เข้าใจศิลปะ ศิลปะมันคือเรื่องของรสนิยมความชอบ คนพวกนี้เอาความชอบของตัวเองมาตัดสินความชอบของคนอื่น ซึ่งพวกนี้จบอะไรมาละ? ผมก็งงนิดนึงว่า มันอะไรกัน”

แน่นอน เขามองถึงเพื่อนร่วมอาชีพแล้วก็พบว่า มีผู้กำกับหลายคนในเมืองไทยที่สนใจเสียงวิจารณ์ บางคนถึงขั้นตามอ่านทุกกระทู้ที่พูดถึงหนังของตัวเอง เขาฟันธงเลยว่า คุณอยู่ไม่ได้หรอก

“ผมว่ามีผู้กำกับหลายคนนะ ที่ทำหนังแล้วมานั่งแคร์ว่าใครเขียนด่าบ้าง คุณไม่ได้เกิดหรอก ภาพยนตร์มันเป็นเรื่องของคุณ มันเป็นโลกของคุณ คุณต้องสร้างโลกของคุณขึ้นมา”

หนังไทยต้องรสเด็ด

“รัฐบาลแม่งไม่เข้าใจศิลปะ!” นี่คือวาบแรกหลังจากคำถาม อะไรคือปัญหาของวงการหนังไทย? เขาเอ่ยต่อ “ศิลปะคุณต้องให้เงินสนับสนุนเพราะส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้หวังผลกำไรทางธุรกิจ ผู้กำกับ คนเล่นดนตรี พวกนี้คนทำงานศิลปะมันทำด้วยใจ ดังนั้น มึง(รัฐ)ต้องซัปพอร์ตคนที่ทำอะไรด้วยความรัก เพราะความรักสวนทางกับธุรกิจเสมอ”

เขาเชื่อว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่ตอบแทนจรรโลงชีวิตทุกคนในสังคม ทว่าความจริงอันแสนเจ็บปวดคือ ในชั่วโมงเรียน 1 สัปดาห์ของเด็กกลับมีวิชาศิลปะเพียง 1 ชั่วโมง เขาได้แต่ถอนใจ ยังมีอีกความเชื่อหนึ่งที่เขาได้แต่ส่ายหน้า นั่นคือความเชื่อที่ว่า คนเก่งศิลปะคือคนที่วาดรูปเก่ง

“มันไม่ใช่! ศิลปะมันมีอยู่ในทุกคน ศิลปะคือการใช้ชีวิต การมองโลกอย่างสวยงาม มองชีวิตแบบบวก นั่นคือพวกศิลปะ วาดอะไร ทำอะไรก็สวย แต่คุณไม่ต้องวาดรูปสวยนะ คุณมองโลกสวยคุณก็เป็นศิลปินแล้ว”

กลับมาที่ปัญหาวงการหนัง เขาอธิบายต่อ ปัญหาคือประเทศนี้มีคนที่เข้าใจศิลปะน้อยมากจนไม่สามารถขับเคลื่อนหรือรักษาภาพยนตร์ให้อยู่อย่างภาคภูมิได้ วงการศิลปะของต่างประเทศมักได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือมูลนิธิเสมอ
เมื่อรูปการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่จะประคับประคองให้วงการหนังอยู่ได้ก็คงหนีไม่พ้นการทำหนังให้ทำเงิน ทว่าปัจจุบันหนังไทยที่ทำเงินระดับกลางกลับลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงหนังทำเงินถล่มทลายและขาดทุนย่อยยับ

เขามองว่า หากหนังไทยสร้างหนังแนวเดียวแล้วทำระดับ 100 ล้านบาท อุตสาหกรรมหนังก็อยู่ได้ แต่คำถามคือแล้วพื้นที่ของความแตกต่างสร้างสรรค์จะไปอยู่ที่ไหน หากหนังทุกเรื่องสร้างขึ้นมาเพื่อเงิน 100 ล้าน

“บอลลิวูดสร้างหนังแนวเดียว ต้องเต้นตลอด มีเพลง มันก็อยู่ได้ เพราะมันคือรสนิยม ทางเลือกของศิลปะมันไม่ใช่ว่าต้องพัฒนาอย่างเดียว ถ้ามองว่าการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยคงไม่ต้องกินส้มตำกันแล้ว แต่ทำไมเรายังกินอยู่เพราะมันคือวัฒนธรรมของเราไง คุณกินเบอเกอร์ กินอาหารญี่ปุ่นแต่ก็ยังต้องกินข้าวแกง กินส้มตำ เพราะมันคือตัวตนของคุณ”

ประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปี มองในฐานะนักทำหนัง เขาบอกเลยว่า คนไทยชอบดูหนังไทย เพียงแค่ปรุงให้ดี รสให้โดน ทุกคนพร้อมรับประทานอยู่แล้ว

“แต่ต้องทำให้ถูกรส ส้มตำก็ต้องแซ่บต้องปรับให้อร่อย เสิร์ฟดีๆ ไม่ใช่เอาสปาเกตตีโหระพาใบกะเพรามาเสิร์ฟ คนไทยชอบดูหนังไทย เหมือนอินเดียชอบดูหนังบอลลิวูดที่เต้นน่ะ เขาไม่กระแดะกัน”

ดรามาวงการหนัง “เลียนแบบหรือแรงบันดาลใจ?”

การลอกงานคืออาชญากรรมสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ นี่คือคำกล่าวในเชิงอุดมการณ์สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ในหลายวงการ กับวงการภาพยนตร์สิ่งนี้กำลังเป็นประเด็นขึ้น และหากมองมาที่ผลงานล่าสุดของเขาเองก็มีหลายคนเทียบกับ “แฟนฉัน” เรฟเฟอเรนซ์? แรงบันดาลใจ? หรือลอกเลียน? เขาตอบเลยว่า คนเราคิดเหมือนกันได้

“ตุ๊กแกฯแรงบันดาลใจมันมาจากความเป็นเด็กบ้านนอกของเรา ถ้า 15 ปีก่อนตุ๊กแกฯสร้างก่อน แฟนฉันก็คงถูกหาว่าลอก คือคนเรามันคิดเหมือนกันได้”

กับกรณีที่เป็นข่าว เขามองว่า ปัญหาอยู่ที่ความเหมือน เหมือนขนาดไหน? ตัวปัญหานั้นมักจะเกิดจากตัวตนของงานที่อาจไม่ชัดเจนพอ ไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้จึงต้องหยิบยืมเรฟเฟอเรนซ์มาใช้งานโดยไม่ได้ทำงานที่ออกมาจากข้างใน

“ผมไม่เคยใช้เรฟเฟอเรนซ์ ผมทำจากตัวเอง คือไม่ได้ดูหนังแล้วอยากทำหนังแบบนี้ ส่วนใหญ่ผมจะเกิดจากเราอยากทำเรื่องแบบนี้ แล้วเรฟเฟอเรนซ์จะตามมาก็ต่อเมื่อเรื่องมันเป็นแบบนี้แล้วมันใกล้เคียงกับเรื่องไหนก็ยกให้นายทุนดู แต่เราก็ไม่เคยส่งเรฟเฟอเรนซ์พวกนี้ให้นายทุน เราส่งบทไม่มีเรฟเฟอเรนซ์ อ่านบทชอบแล้วก็บอก”

เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์





ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



ตุ๊กแกรักแป้งมาก
อาเปี๊ยก โปสเตอร์
หนังเรื่อง “ข้างหลังภาพ”
พี่อังเคิล
ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย
ฉากย้อนวัยวาดโปสเตอร์หนัง
กำลังโหลดความคิดเห็น