วงการทีวีดิจิตอลยังร้อนระอุ! กว่า 4 เดือนแล้ว ปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับการสะสาง ผู้เชี่ยวชาญชี้กสทช.แจกคูปองล่าช้า ทำให้ประชาชนไม่เข้าถึงทีวีดิจิตอล ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน แถมแบกรับต้นทุนสูง หวั่นจะกลายเป็นฟองสบู่แตก! วอนรัฐแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ต้องบอกว่าตั้งแต่ทีวีดิจิตอลเปิดทดลองออกอากาศตั้งแต่เดือนเมษายน ผ่านมา 4เดือนแล้ว แต่ทว่าปัญหาเดิมๆ ก็ยังเคลียร์ไม่จบ! ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแจกคูปองที่ใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อจอทีวีระบบดิจิตอลและกล่องทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินนั้น ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะเริ่มแจกได้เมื่อไหร่กันแน่ เพราะพอจะถึงคราวแจกทีไร ก็มีอันต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก หรือปัญหาราคาคูปองที่แจก ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด ทำให้กระบวนการต่างๆ ต้องสะดุดตามไปหมด
ทีวีดิจิตอลเกิดยาก?
ด้าน “วิศรุต ปิยกุละวัฒน์” อุปนายกสมาคมสื่อดิจิตอลเพื่อผู้บริโภค (ประเทศไทย) ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวกับทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ว่า
“การที่ กสทช. ยังไม่แจกคูปองสักที เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก เพราะหลายครั้งที่กสทช.บอกว่าจะมีการแจกคูปอง แต่ก็ถูกเลื่อนด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เลยทำให้ไม่ชัดเจน ฉะนั้นตราบใดที่คนไม่มีคูปอง ไม่มี Set Top Box สำหรับดูทีวีดิจิตอล เขาก็ไม่สามารถรับชมรายการของช่องทีวีดิจิตอลได้ ทำให้ช่องทีวีดิจิตอลไม่เกิด แล้วพอไม่เกิด ผู้ที่ประมูลช่องไปก็จะมีปัญหา
“แล้วกรณีที่ช่อง 3 ไม่ย้ายมาอยู่ในช่องดิจิตอลที่เขาประมูลได้ ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ผมมีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการบางราย ทราบมาว่าบางครั้งผู้บริโภคที่ซื้อกล่องไปก็เอากล่องมาคืน เพราะไม่มีช่อง 3 ที่เขาอยากดู เนื่องจากรายการช่อง 3 ที่เราดูอยู่ทุกวันนี้ในฟรีทีวีไม่ได้มีอยู่ในช่องทีวีดิจิตอลด้วย แต่ช่อง 3 ผลิตคอนเทนต์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่มีละครที่คนเคยดู คนซื้อกล่องไม่เข้าใจว่าคนละช่องกัน พอเขาเห็นช่อง 3 ดิจิตอลไม่มีละครให้เขาดู เขาเลยเอากล่องมาคืน นี่ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง”
ถามว่าตลาดทีวีดิจิตอลตอนนี้เติบโตแค่ไหน วิศรุตตอบว่ายากจะชี้วัด แต่หากใช้เกณฑ์การนับจำนวนกล่องทีวีดิจิตอลที่มีอยู่ในตลาด ถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกล่องทีวีดาวเทียมหรือกล่องเคเบิลทีวี
“ตอนนี้เช็คเรตติ้งลำบาก เพราะคูปองยังไม่ลงสู่ตลาด การวัดเรตติ้งจึงยังไม่เกิดขึ้น จึงใช้ได้แต่การคาดการณ์ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่รับทีวีดิจิตอลผ่านระบบจานดาวเดียว แต่ยังมีเปอร์เซ็นต์น้อยที่รับชม สิ่งหนึ่งที่พอจะวัดได้บ้าง คือ จำนวน Set Top Box ของทีวีดิจิตอล เพราะเวลาที่ผู้ผลิตจะทำกล่องทีวีดิจิตอลนั้น จะต้องมีการไปขอสติกเกอร์จาก กสทช. แล้วตัวเลขตั้งแต่เปิดโครงการมาปีกว่า มียอดมาขอสติ๊กเกอร์ประมาณหนึ่งล้านสองแสนราย เท่ากับว่าตอนนี้มี Set Top Box ในตลาดหนึ่งล้านสองแสนกล่อง ซึ่งถือว่าไม่ได้เยอะแยะมาก เมื่อเทียบกับจำนวนกล่องดาวเทียม หรือกล่องเคเบิลที่รับชมกันอยู่ทุกวันนี้ ฉะนั้นเมื่อ Set Top Box ยังไม่ลงสู่ตลาด เรตติ้งจึงไม่เกิด พอเรตติ้งไม่เกิด ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 24 ราย ก็ต้องรับภาระแบกอึ้ง ซึ่งเขาก็รับภาระมานาน ตั้งแต่เขาประมูลช่องได้"
ปัญหาที่แก้ไม่จบ
วิศรุตมองว่า ปัญหาที่เรตติ้งของทีวีดิจิตอลไม่ดีเท่าที่ควรนั้น สืบเนื่องมาจากการยังไม่แจกคูปองทั้งสิ้น เพราะเมื่อไม่มีการแจกคูปองไปถึงมือประชาชน ก็ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน ส่งผลให้คอนเทนต์รายการไม่ดึงดูดคนดูเท่าที่ควร
“ประเด็นเรื่องคุณภาพคอนเทนต์รายการนั้น ผมมองว่ามันสืบเนื่องมาจากการไม่แจกคูปองนี่แหละครับ เพราะพอไม่มีการแจกคูปอง ผู้ผลิตก็ไม่กล้าลงทุนในเรื่องคอนเทนต์ เขาอาจกลัวว่าถึงจะมีคอนเทนต์ที่ดีมาก แต่ทำไปแล้วก็ไม่มีคนดู หรือกลัวว่าจะเป็นการออกอากาศไปแบบเสียประโยชน์ ทำให้ผู้ประกอบการยังต้องรออยู่ แต่ผมเชื่อว่าถ้ามีการแจกคูปองแล้ว ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนคอนเทนต์ในการผลิตมากขึ้น ทำให้มีรายการที่น่าสนใจกว่าเดิม
“ฉะนั้น ผมมองว่าวิธีการแก้ปัญหาคือ กสทช.ควรจะชัดเจนว่าจะแจกคูปองตอนไหน เพราะที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่เดิมจะแจกช่วง ส.ค. - ก.ย. ก็มีการขยับออกไปเรื่อยๆ ซึ่งการเปลี่ยนไปแนวนโนบาย จะสร้างความไม่มั่นใจในผู้ประกอบการ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ 24 ราย ผู้บริโภค และผู้ผลิต ซึ่งที่ประชุมได้มีการประชุมกัน มีการตั้งคำถามกับกสทช.ว่า จะใช้เวลาเท่าไหร่ในการแจกคูปองสู่ประชาชน ก็ได้คำตอบว่า 45 วัน หรืออย่างช้า 90 วัน คูปองจะไปถึงผู้บริโภค แต่แค่นี้ผู้ประกอบการก็กลุ้มล่ะ เพราะทำทีวีดิจิตอลมาหลายเดือน แต่ไม่เกิดเรตติ้งเสียที”
อันที่จริงปัญหาเลื่อนคูปองแจกนั้น ต้องบอกว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การโต้เถียงเรื่องราคาคูปองที่แจก ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้กระบวนการแจกล่าช่าออกไปอีก
“การที่เลื่อนแจกคูปองนั้น ต้องบอกว่ามีแรงกดดันหลายอย่าง ประเด็นแรกคือ เรื่องราคา ทีแรกตั้งราคาคูปองไว้ที่ 690 บาท พอถึงวันที่ประมูลทีวีดิจิตอลแล้วปรากฏว่ายอดเงินที่ได้จากการประมูลสูงมากกว่าที่คาดการณ์ ได้เงินมาประมาณ 5 หมื่นล้าน เลยเกิดการตั้งคำถามว่าควรจะได้คูปองราคาเพิ่มมากขึ้นไหม มีคนเสนอว่าหนึ่งพันบาทดีไหม แต่ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ออกมาบอกว่าแพงมากไป น่าจะเป็น 690 บาท แต่ก็มีอีกกลุ่มออกมาบอกว่าแจกคูปองราคาหนึ่งพันบาทดีกว่า ตอนนี้เลยมีการส่งเรื่องไปที่ คสช. เพื่อให้พิจารณาว่าควรจะใช้คูปองราคาเท่าไหร่กันแน่ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป” วิศรุตกล่าว
นอกจากนั้น วิศรุตบอกว่ายังมีปัญหาที่ “วิธีรับชม” ด้วย เพราะเมื่อรับชมทีวีในระบบที่แตกต่างกัน เช่น ระบบทีวีดาวเทียม ระบบทีวีเคเบิล ระบบทีวีดิจิตอล ทำให้แต่ละรายการมีตัวเลขช่องสถานีที่ไม่เหมือนกัน ส่งผลให้ผู้ชม “เกิดอาการงงงวยและสับสน” ได้ง่ายๆ โดยวิศรุตกล่าวว่า
“ ปัญหาคือ พอไม่ชัดเจนว่าสถานนี้อยู่ช่องไหนกันแน่ ทำให้เรตติ้งไม่เกิด เช่น ช่องนี้มีรายการทีวีดาวเทียมอยู่ที่หนึ่ง มีรายการดิจิตอลทีวีอยู่ที่หนึ่ง ความสับสนตรงนี้ทำให้มีเสียงบ่นจากเอเยนซีเยอะมาก ในช่วงแรกที่เปลี่ยนผังหรือประมูล มีลูกค้าหลายเจ้าขอชะลอการจ่ายเงินค่าโฆษณา เพราะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ ความผัวผวนเยอะ เอเยนซีไม่แน่ใจว่า เขาจ่ายเงินค่าโฆษณาไปแล้ว คนจะได้เห็นสินค้าของเขาหรือเปล่า
“ผมว่าวิธีแก้ปัญหาคือ กสทช.ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร อย่างไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการสรุปจาก กสทช.แล้วว่าให้ทุกระบบมีช่องเลขสถานีที่ตรงกัน ซึ่งจริงๆ แนวคิดนี้ควรจะทำตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ควรจะสร้างความสับสนให้คนดูตั้งแต่ตอนแรก การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนี้ จะสร้างความสับสนให้แก่ทั้งผู้ประกอบการเอง รวมถึงผู้บริโภคด้วย เพราะพอระบบหรือนโยบายไม่ชัดเจน ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้อย่างแน่นอน“
ตอนนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาแจกคูปองที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ปัญหาในการกำหนดผู้ผลิต Sep top box สำหรับใช้คูปองแจกแลกกล่องนั้นก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ด้วย
“ตอนนี้ไม่ใช่ว่าผู้ผลิต Set top box ทุกเจ้าจะสามารถใช้คูปองแลกซื้อได้ แต่ต้องเป็นเจ้าที่เข้ากับโครงการของกสทช.ด้วย แล้วการเข้าโครงการก็มีปัญหาว่า ต้องเป็นบริษัทที่มีเงินทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ทำให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์ว่าล็อกสเปคหรือเปล่า ตกลงจะมีกี่เจ้าที่สามารถเข้าโครงการได้ ตกลงไปตกลงมาก็มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ จนมาถึงปัจจุบันนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ เลยต้องมีการส่งเรื่องให้คสช. เพื่อพิจารณา
“ทุกวันนี้ผมเป็นห่วงสถานการณ์ปัจจุบันของทีวีดิจิตอลมาก เพราะถ้าหากยังไม่แจกคูปอง ผู้ประกอบการต้องตายแน่ๆ ผมพูดได้เลย เพราะผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าสัมปทาน รวมถึงค่าเช่าเครือข่ายที่ต้องจ่ายเดือนละหลายล้าน ซึ่งเขาต้องรับภาระมากมาย
“ผมกลัวภาวะฟองสบู่ในอุตสาหกรรมนี้จะแตก เพราะช่วงต้นของการมีทีวีดิจิตอล เกิดการซื้อตัวของเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่มีประสบการณ์ทางทีวีในราคาสูง เป็นการซื้อข้ามช่อง ฉะนั้นเจ้าของช่องต่างมีภาระเป็นของตนเอง คือ ค่าจ้างพนักงานตนเองนั่นแหละ ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเหมือนเช่นปัจจุบันนี้ ก็กลัวว่าอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลจะเกิดฟองสบู่แตก ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงๆ พนักงานหรือลูกจ้างจะลำบาก” วิศรุตกล่าว
เรตติ้งของทีวีดิจิตอลไปได้สวย?
ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ คาดว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่เป็นรายใหม่และยังไม่มีประสบการณ์ในทีวีมากนัก คงจะหืดขึ้นคอไม่น้อย ล่าสุดผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายรายยังรวมตัวกันยื่นคำขาดต่อกสทช.ว่าหากเรตติ้งไม่ดีขึ้นในสองเดือน จะไม่จ่ายค่าสัมปทานและยุติการผลิตรายการทันที!
ในขณะที่ช่องทีวีดิจิตอลรายใหญ่ที่มีประสบการณ์มาก่อนกลับทำท่าจะไปได้สวย เพราะจากผลสำรวจเรตติ้งล่าสุดโดย เอจีบี เนลสัน รีเสิร์ช ในช่วงวันที่ 1- 17 ส.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับความนิยมการรับชมทีวีในประเทศไทย พบว่าทีวีดิจิตอลบางช่องได้รับความนิยมแซงช่องอะนาล็อกแล้ว โดย 10 อันดับท็อปเท็นที่ได้รับความนิยม มีช่องทีวีดิจิตอลติดอันดับถึง 4 ช่องคือ เวิร์คพอยท์อันดับ 4 ช่อง 8 อันดับ 6 ช่อง MONO 29 อันดับ 9 และช่องทรูโฟร์ยู อันดับ 10
นอกจากนั้นหลังจากมีกระแสข่าวว่ากสทช.จะแจกคูปองให้จบภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้นั้น บรรดาช่องทีวีดิจิตอลก็ได้มีการปรับเนื้อหาสาระให้น่าสนใจมากขึ้น รวมถึงเอเยนซีใหญ่ก็ออกมาระบุว่าลูกค้าเตรียมเทเงินลงสื่อทีวีดิจิตอลกันบ้างแล้ว ดังนั้น คงต้องรอดูกันต่อไปว่าหากมีการแจกคูปองเสร็จสิ้นแล้ว จะทำให้เรตติ้งของทีวีดิจิตอลขยับขึ้นอีกหรือไม่
ด้าน “นวมินทร์ ประสพเนตร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลช่อง ”MONO 29” ได้ให้สัมภาษณ์กับ ASTV ผู้จัดการ Live ถึงปัญหาที่กสทช. แจกคูปองล่าช้าว่า
“ตอนนี้เราได้แค่ทำตัวเองให้ดีที่สุด ส่วนการสร้างการรับรู้การแจกคูปองยังไง เราก็ต้องช่วยๆ กัน เราไม่สามารถเร่งรัดหน่วยงานราชการ หรือ กสทช. ได้ว่า ต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าทุกท่านก็มีภารกิจหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้วล่ะ ตอนนี้สิ่งสำคัญคือทำคอนเทนต์ต่างๆในช่องของเราให้ดียิ่งๆขึ้น แล้วก็พร้อมที่จะเจริญเติบโตไปกับวงการทีวีไทย ซึ่งเราก็ต้องการอยู่ในกลุ่มผู้นำด้วย เพราะเมื่อวันนี้มีช่องเกิดใหม่มากมาย ถ้าเราอยู่ในกลุ่มผู้นำไม่ได้ ช่องของเราก็จะถูกลืมจากคนดู
“ตอนนี้คนที่สามารถรับชมได้ก็คือคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ ตามต่างจังหวัดก็เริ่มมีบ้างแล้วครับ หลังจากที่เราจัดกิจกรรมออกโรดโชว์ตามภาคต่างๆ ในหลายจังหวัด ก็ทำให้รู้ว่าบางส่วนก็ยังไม่เข้าใจว่าทีวีดิจิตอลคืออะไร พอเราได้พูดคุยประชาสัมพันธ์ไป ก็ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ผมว่าคงต้องรออีกสักระยะ น่าจะดีกว่านี้ครับ”
เมื่อถามว่าอะไรคืออุปสรรคที่ทำให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลยังไม่บูมเร็วเท่าที่ควร นวมินทร์ตอบว่า
“สำหรับคนอื่นที่ไม่บูมผมไม่ทราบครับ แต่สำหรับช่องของเรา MONO29 กำลังไปได้ดีครับ จาก เรตติ้งที่เพิ่งออกมา หลังจากช่อง MONO 29 ออกอากาศได้ประมาณ 3 เดือน พบว่ามีเรตติ้งเป็นที่น่าพอใจ หลังมีการปรับผังตามความเหมาะสม และปรับคอนเทนต์ต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทาง วันนี้เราเห็นความสำเร็จของการทำงานอย่างหนักในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในเรื่องของเรตติ้ง ถ้าเป็นในกลุ่มทีวีดิจิตอลด้วยกัน ช่อง MONO 29 อยู่ในอันดับ 3 จากช่องทีวีดิจิตอลทั้งหมด 24 ช่อง และถ้าเป็นเรตติ้งในกลุ่มของการรวมระบบอะนาล็อกกับทีวีดิจิตอลเราอยู่ในอันดับ 9 ซึ่งต้องยอมรับว่าช่องทีวีเดิมก็ยังมีเรตติ้งเหนียวแน่นอยู่ แต่มาวันนี้เรามาอยู่ในลำดับ 9 ได้ ก็ถือว่าเป็นการก้าวกระโดดสำหรับน้องใหม่ในแวดวงทีวีอย่างดีเยี่ยม
“เราวางช่อง MONO 29 โดยมีคอนเทนต์ที่แตกต่างไปจากช่องรายการทีวีดิจิตอลอื่นๆ ซึ่งของเราจะโฟกัสไปที่ภาพยนตร์และซีรีส์เป็นหลัก ตามคอนเซ็ปต์ที่ทางบริษัทได้ครีเอทขึ้นไว้ว่าเป็นช่อง “ฟรีทีวี ที่มีหนังดี ซีรีส์ดังมากที่สุด” ขณะที่ภาพยนตร์ที่นำมาเสนอนั้น จะมีทั้งจากฮอลลีวู้ด ไทย และเอเชีย เช่นเดียวกับซีรีส์เกาหลี จีน หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ผู้ชมได้รับชมภาพยนตร์ที่หลากหลายและความชอบของผู้ชมทุกกลุ่มครับ นอกจากภาพยนตร์และซีรีส์แล้ว ในช่องรายการทางMONO 29 ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ข่าว และรายการวาไรตี้ต่างๆ ด้วย โดยแบ่งเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ 70% ข่าวและสาระบันเทิง 25% ส่วนรายการวาไรตี้อีก 5% ครับ ความคิดที่ต่างในการทำรายการทีวี เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของช่อง “MONO 29” คือสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำด้านทีวีดิจิตอลในอนาคต
"เหตุผลที่ผมเน้นให้ช่อง MONO 29 เป็นช่องรายการที่มีหนังดี ซีรีส์ดังมากที่สุดนั้น เพราะผมมองว่า วันนี้ทีวีดิจิตอล มีช่องเกิดใหม่แล้วกว่า 24 ช่อง หากเราเองยังคงเน้นไปทำรายการวาไรตี้ หรือทำอะไรที่คล้ายๆ กับช่องอื่น ที่เขามีความชำนาญกันอยู่แล้ว เราเองก็คงจะไปสู้พวกเขาไม่ได้แน่นอน ดังนั้นเราเองจึงมองหาความเป็นเอกลักษณ์ และความโดดเด่นที่ฉีกออกไปจากเดิม เพื่อให้เกิดการจดจำแบรนด์ของช่องทีวีของเราในกลุ่มผู้ชมให้ได้มากที่สุด
ส่วนคำถามว่าในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าสถานการณ์ช่องทีวีดิจิตอลโดยรวมจะเป็นอย่างไร และช่อง MONO 29 จะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง นวมินทร์ตอบว่า
“ทุกอย่างคงดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ ผมเชื่ออย่างนั้น ฐานคนดูก็จะโตขึ้น สิ่งที่เราตั้งรับได้ในตอนนี้อย่างที่บอกไปตอนแรกเราต้องพัฒนาคอนเทนต์ของเราให้โดนใจผู้ชมมากที่สุด ผมว่างบโฆษณาก็เท่าเดิมในธุรกิจทีวี แต่ช่องที่มีเพิ่มมาอีก 20 กว่าช่อง แน่นอนว่าแต่ละช่องก็ต้องหาจุดที่จะไปครองใจคนดูของแต่ละช่องให้ได้ ถามว่าเราจะไปแข่งกับช่องอื่นไหม เราไม่ได้มองว่าช่องอื่นเป็นคู่แข่ง เรามองว่าคนดูต่างหาก ที่เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนดูมาดูช่องเรา เพราะว่าวันๆ หนึ่งเขาไม่จำเป็นต้องมาดูช่องเราช่องเดียว เขาอาจจะดูหลายๆ ช่องก็ได้ เพราะแค่กดรีโมตเขาก็ไปแล้ว เราก็หวังว่าเราจะเป็นหนึ่งในช่องที่เขาแวะเข้ามาชมดู ไม่ได้หวังว่าเขาจะมาอยู่กับเราทั้งวัน”
เรียกได้ว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่มีกลยุทธ์ดี วางแผนการตลาดเก่ง ก็อาจพอเอาตัวรอดในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ไปได้บ้าง ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เรตติ้งยังไม่ดี หรือสายป่านไม่ยาวมากนัก ก็อาจจะยังต้องเหนื่อยดิ้นรนต่อไปอีก ตราบใดที่กสทช.ยังไม่จริงจังในการแก้ปัญหาจริงๆ
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754