“อย่างเธอแค่มองไม่ได้หรอก ให้มองอย่างเดียวไม่ได้หรอก พบคนโดนใจอย่างเธอ ถ้าไม่คุยกับเธอ ฉันเสียดายของ” เจ้าของเพลงฮิตติดชาร์ตในวันวานจากยุคเทปคลาสเซ็ต “เสียดายของ” กลับมาอีกครั้งในมาดใหม่ แต่ไม่ใช่ในนามวง “Basher” อีกต่อไป ครั้งนี้เขาใช้ชื่อ “ปั้น-Basher” บินเดี่ยวในสไตล์ร็อก เพื่อจะได้ “ปล่อยของ” ที่สั่งสมมาในฐานะคนเบื้องหลังแบบไม่ต้องทนเสียดายอีกต่อไป
กลับมาครั้งนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป แม้แต่ตัวเขาเอง “ปั้น-เจษฎา ลัดดาชยาพร” เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงเขินๆ ถึงเบื้องหลังการฟิตหุ่นว่า ยอมลดน้ำหนักจาก 90 กว่ากิโลกรัมโดยการวิ่งวันละเป็นสิบๆ กิโลเมตร ถึงตอนนี้ เขากลับมาในมาดหล่อขรึมและเดินทางมาทักทายทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ผ่านสายตาของคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง กับวงการเพลงไทยที่นับวันจะ “อยู่ยาก” ขึ้นทุกที
อยู่ได้ แต่อยู่ยาก...
“ก่อนหน้านี้ ตอนเป็นวง Basher เคยอยู่ที่ค่าย Music Bug ครับ แล้วหลังจากนั้นก็ไปเป็นคนร้องไกด์ให้ศิลปิน เพราะศิลปินบางคนเขาไม่ได้แต่งเพลงเอง เราก็มีไกด์การหายใจในแต่ละท่อน มีร้องเพลงโฆษณาพักหนึ่งแล้วก็แต่งเพลงบ้าง พอหยุดจาก Basher ก็มีไปเล่นกลางคืนบ้าง แต่ไม่ได้เยอะมากครับ เพราะผมจะเน้นไปในสายห้องอัดมากกว่า
ถามว่าอยู่ได้มั้ย? มันก็จะมีงานโยนมาเป็นจ๊อบๆ เช่น การทำงานเพลงโฆษณา มีทั้งแบบได้ร้องเป็นเสียงหลักในนั้นบ้าง แล้วก็ร้องเป็นคอรัสบ้าง ถ้าเดือนนึงมีโฆษณามา 2 ตัว เราก็จะพออยู่ได้
ถ้าไปเดินเลือกกระเบื้องที่บุญถาวรก็จะได้ยินเสียงผมครับ (ยิ้มบางๆ) แต่เราไม่ได้อยู่ได้ด้วยค่าลิขสิทธิ์เพลงแบบนั้นนะครับ แต่อยู่ได้ด้วยงานจ็อบเล็กๆ ไปเล่นตามร้านอาหาร แล้วก็มีหุ้นเปิดร้านส้มตำกับเพื่อน พอย้ายมาอยู่ Mono Music ก็ได้มาสอนน้องร้องเพลง เป็น Voice Trainer ให้น้องๆ เพราะผู้ใหญ่ก็เห็นว่าเราก็ผ่านเวทีมาเยอะ ที่เคยดูแลให้ก็มีน้องๆ วง “อีโวไนน์ (Evo Nine)”, “แคนดี้มาเฟีย (Candy Mafia)” แล้วก็วง “จี-ทเวนตี (G20)”
ทำเบื้องหลังสักพักก็มีคนสนับสนุนให้เราทำเบื้องหน้าเต็มตัว และผมเองก็ยังไม่อิ่มกับเบื้องหน้า เลยได้มาเป็น “ปั้น-แบชเชอร์” ออกเดี่ยวๆ ดูบ้าง
ถ้าให้เปรียบเทียบกัน ระหว่างงานเบื้องหลังกับงานเบื้องหน้าว่าแบบไหนเป็นตัวเรามากกว่ากัน ผมว่าเวลาทำงานเบื้องหลัง จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ตัวเรา อย่างเวลาร้องเพลงไกด์ก็เหมือนเราร้องเพื่อไปสวมให้อีกคนหนึ่ง เริ่มมาจากคิดอารมณ์เพลงให้ก่อน ท่อนนี้อารมณ์เป็นอย่างนี้นะ ผมก็ต้องนำน้อง ร้องไกด์ให้เขาไปฟังที่บ้าน หายใจแบบนี้นะ เว้นแบบนี้นะ แต่ก่อนจะทำได้ เราต้องอ่านน้องก่อนนะครับ อย่างน้องๆ วงอีโวไนน์ เราก็ต้องดูว่าเขามีบุคลิกยังไง น้องมีหลายคน ก็ต้องดูว่าคนที่ดูขี้เล่นๆ กวนๆ ควรจะอยู่ท่อนไหน
มันไม่ใช่ตัวเราเลย แต่เราก็มีความสุขนะครับ ได้อยู่กับดนตรี อยู่กับเด็กๆ ก็ต้องมีความพิถีพิถันอีกแบบ คือบางอย่างตัวเราอาจจะยังไม่ชอบ แต่อีก 2 คนว่าดีแล้ว เราก็อาจจะต้องปล่อยผ่านไปง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นงานเราเอง ก็จะเป็นความพิถีพิถันอีกแบบนึง มันก็อยู่ที่เรา คือดนตรีมันไม่มีอะไรผิดนะครับ ทำเพลงหนึ่งอยู่ที่ว่าจะชอบมั้ย ถ้าไม่ชอบก็คือไม่ชอบ มันไม่มีว่าเพราะหรือไม่เพราะ ดนตรีมันดีหมดแต่อยู่ที่รสนิยมการเสพเพลงมากกว่า
จริงๆ แล้ว ผมว่าผมอยู่เบื้องหน้าก็ได้ เบื้องหลังก็ได้ครับ แต่ที่ชอบทำเบื้องหน้าเพราะชอบเวลาเล่นสด รู้สึกว่าสนุกดีเวลาไปเจอคนในคอนเสิร์ต ได้เล่นกับวง ได้เดินสาย เสน่ห์ของมันคือคำว่า Feel Live/Rock มันมันดีน่ะครับ และถ้าได้เล่นเพลงที่คนคิดถึง คนร้องตาม จะเป็นอะไรที่สนุกมาก แต่ถ้าไปอยู่เบื้องหลัง ก็จะได้อีกฟีลนึง เราก็จะได้แต่เห็นความสำเร็จของน้อง มีคนร้องเพลงที่เราแต่งให้น้องๆ
อย่างเพลง “ไม่พูดก็ได้ยิน” ของน้องวง “G20” อันนี้ผมทั้งไกด์ ทั้งแบ่งท่อน ทำหลายๆ อย่าง สอนน้องมากับมือเอง ให้ความรู้สึกเหมือนสิ่งที่เราช่วยกันคิด ส่วนเพลงของเราเอง มันก็ให้ความรู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบ คนอื่นก็ชอบด้วย”
“ร็อกแท้ๆ” ในไทย ไม่มีจริง!!?
“โมเดิร์นร็อก” คือแนวเพลงในซิงเกิลใหม่ของเขากับการบินเดี่ยวครั้งแรก ในเพลงที่ชื่อว่า “คนไม่ใช่ คือไม่ใช่”
และเมื่อพูดถึงคำว่า “ร็อก” กันขึ้นมา จึงทำให้ผู้สัมภาษณ์นึกถึงคำพูดที่ว่า “ร็อกแท้ๆ ไม่มีหรอกในประเทศนี้” อย่างที่เคยได้ยินบ่อยครั้งจากปากคนดนตรี จึงขอถามคนในวงการผู้คลุกคลีมาแล้วทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และนี่คือคำตอบในแบบตรงๆ สบายๆ ของเขาที่จะทำให้หลายคนเข้าใจวงการเพลงในมุมลึกๆ มากขึ้น
“ร็อกแท้ๆ ก็มีนะครับ แต่จะเป็นรุ่นพี่อย่าง “หิน-เหล็ก-ไฟ” หรือ “เป้-ไฮร็อก” ต้องพูดกันตรงๆ เรื่องวงการเพลงนะครับ เราต้องมองในมุมธุรกิจด้วย สมมติผมทำเพลงออกมาเป็นร็อกจ๋าเลย แต่ผมชอบคนเดียว ก็คงต้องฟังคนเดียว อันนี้ไม่ผิดนะครับ แต่แค่ทำให้คนอื่นเข้าไม่ถึง มันลึกเกินไป เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมองทางค่ายด้วย เราก็ต้องทำขาย
คำว่า “ร็อกจริง-ร็อกไม่จริง” คงเป็นเพราะต้องดูจากเรื่องทำออกมาเพื่อให้ขายได้ด้วยครับ เพราะเพลงสมัยนี้ถ้าจัดอยู่ในกลุ่มความเป็นร็อก คงต้องทำให้เมโลดี้ติดหู คนร้องพอใจ ทางค่ายฟังก็พอใจ คนฟังก็พอใจ อยู่ตรงกลาง ก็เลยทำให้อาจจะเกิดคำว่า “ร็อกไม่จริง” ขึ้นมา เพราะถ้าจะทำให้เป็น “ร็อกจริงๆ-ร็อกแท้ๆ” ออกมา กลุ่มคนฟังก็อาจจะน้องกว่า
ส่วนเพลงของผมตอนนี้ น่าจะเป็น “โมเดิร์นร็อก” หรือ “ป๊อปร็อก” ครับ แต่ยังไงก็อยากให้มองที่เมโลดี้มากกว่า อย่างเมโลดี้ของเราจะไม่เหมือนคนอื่นมาตั้งแต่ตอนออก Basher แล้วครับ มันจะมีความเฉพาะตัว บวกกับซาวนด์ดนตรีที่มิกซ์ไม่ให้มันป๊อปมากและให้โมเดิร์นมากขึ้น
ถ้าจะให้พูดถึงวงการเพลงเท่าที่ทำงานตรงนี้มา ผมเกิดมาตั้งแต่ยุคเทปเลยครับ จนมาเป็นซีดี จนตอนนี้เป็นระบบดิจิตอลแล้ว ทุกวันนี้ นั่งอยู่บ้านยังเคยมองเทปคาสเซ็ตของตัวเองเลยครับ (ยิ้ม) มองกลับไปก็รู้สึกว่าวงการเพลงตอนนี้กว้างมากครับ สมัยนู้น ขายชุดแรกระดับ 30,000 ตลับก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจแล้วนะ แต่ตอนนี้มีสื่อเยอะ มี Youtube ให้น้องๆ ได้โปรโมตตัวเองได้ เสพเพลงได้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนกว่าจะหาอัลบั้มดีๆ ซักอัลบั้มได้ต้องเดินหาแทบตาย เดี๋ยวนี้แค่เสิร์ชก็เจอแล้ว ก็รู้สึกว่ากว้างขึ้นครับ
วงการนี้ คนที่ทำงานตรงนี้คงแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเลยคือ “อยู่เพราะรัก” และอีกประเภทคือ “อยากกอบโกย” เพราะสมัยก่อนขายได้เป็นล้านๆ ตลับ ก็เลยทำให้สมัยก่อนยังอาจจะมีคนหวังรวยจากทางนี้อยู่ แต่ทุกวันนี้ ผมมองว่ามันไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ศิลปินมีเยอะมาก จะให้ประสบความสำเร็จเป็นพลุแตกเหมือนเมื่อก่อน คงเป็นไปไม่ได้แล้ว คงต้อง “อยู่ได้ด้วยความรัก” กันเลย
ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาไปร้องไกด์ ถ้าเป็นคนไม่มีชื่อ พูดกันตรงๆ เลยว่า “โนเนม” อาจจะได้แค่ 1,000-2,000 บาท แต่ถ้าคนรู้จักขึ้นมาหน่อย อย่างผม คนรู้ว่าเป็น “พี่ปั้น” นะ หรือ “พี่อิน-บูโดกัน” นะ อาจจะได้เรตอยู่ที่ 5,000-10,000 บาท แต่เดือนหนึ่งจะมีซักกี่ครั้งใช่มั้ยครับ ก็เลยอาจจะทำให้คนในวงการนี้อยู่ยากขึ้น
วงการเพลงสมัยนี้อยู่ได้ด้วย “ใจรัก” จริงๆ ครับ อย่างแรกเลยคือต้องรักมันจริงๆ ก่อน ไม่ได้ไปหวังรวย ทำแบบสนุกกับมัน รักมัน เดี๋ยวสิ่งที่ตามมาก็จะเกิดผลเอง ผมมองว่าเด็กสมัยนี้เก่งๆ เยอะ แต่อาจจะคิดได้ไม่เท่าคนสมัยก่อน คนรุ่นก่อนๆ อาจจะคิดเยอะกว่า ดนตรีมันไม่มีอะไรผิดหรอกครับ แต่ต้องคิดเยอะๆ หน่อย
ต้องยอมรับว่าเพลงที่จะดังได้ง่ายๆ ในสมัยนี้ คือเพลงประกอบละคร ไม่ก็เพลงประกอบภาพยนตร์ครับ ผมก็กำลังจะมีเหมือนกัน เป็นเพลงประกอบละครของค่าย Mono (ยิ้ม) ประเด็นนี้ผมมองว่ามันคงเป็นเพราะเรื่องความถี่มั้งครับ อย่างเมื่อก่อน เพลงมีน้อย วิทยุเยอะ พอเปิดเพลงนี้บ่อยๆ เข้า คงก็ได้ยินแต่เพลงนี้ มันก็เลยดังง่าย
ก็เหมือนเพลงประกอบละครครับ สมมติละครฉายศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เปิดทุกอาทิตย์ พอขับรถก็มีวิทยุเปิดอีก มันก็ติดหู แล้วก็ขึ้นอยู่ที่พระเอก-นางเอกในละครด้วย (หัวเราะ) จริงๆ นะครับ บางเรื่องเพลงโคตรดีเลย แต่พระเอก-นางเอกยังไม่โดน ก็ไปยาก แต่ถ้าพระเอก-นางเอกดัง เดี๋ยวดังแน่เพลงนี้”
(ร้องสดๆ "คนไม่ใช่ คือไม่ใช่" - ปั้น Basher)
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ข้อมูลเพิ่มเติม: แฟนเพจ “Pun Basher”
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754