xs
xsm
sm
md
lg

“พีธ-พีระ” ชวน..เลิกบูชาความรัก! โตแล้ว..หมดเวลาดาร์กแล้ว!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผิดหวัง เสียใจ คนรักเดินจากไป รู้สึกว่ามันคือความสูญเสียครั้งใหญ่ ต้องขอระบายด้วยการทำร้ายตัวเอง... บางรายทำไปเพราะแค่อยากเรียกร้องความสนใจ ทำไปเพราะต้องการทวงคืนความรักกลับมา แต่บางรายก็ทำไปเพราะมองไม่เห็นคุณค่าของลมหายใจที่เหลืออยู่แล้วจริงๆ
 
“สมัยวัยรุ่นผมก็เคยเป็น มันเป็นเพราะเราบูชาความรักมากเกินไป จนลืมไปแล้วว่ายังมีเรื่องที่ใหญ่กว่าความรักอยู่อีกนะ แต่คุณลืมมันไปหรือเปล่า?” ว่าแล้วศิลปินหนุ่มมาดนุ่มนายนี้ก็ค่อยๆ กะเทาะเปลือกความรู้สึกของเขาออกมา ก่อนเชื้อเชิญให้เราเข้าไปละเลียดรสหม่นๆ ของมันผ่านบทสนทนา ผ่านการแลกเปลี่ยนที่จะช่วยรื้อฟื้นให้คนขี้ลืมอีกหลายๆ คนจดจำได้อีกครั้งว่า... คุณค่าของชีวิตคืออะไร?


 

“ความรัก” ไม่ใช่ทุกสิ่ง...

["ความรักไม่ใช่ทุกสิ่ง" เพลงแห่งแสงสว่างที่พีธตั้งใจนำเสนอ]
ผมก็เคยเป็นนะ เคยบูชาความรักมากๆ แต่ก็ไม่เคยคิดทำร้ายตัวเองหนักขนาดนั้นหรอก แค่ทำไปตามประสาเด็กผู้ชายวัยรุ่นใจร้อนคนนึง (ยิ้มบางๆ) แต่มีคนใกล้ๆ ตัวเราน่ะทำ คนที่ทำร้ายตัวเองแบบหนักๆ เลยจริงๆ คนที่คิดว่าชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว ฉันจะตายเพื่อเธอ ไม่มีสติคิดแล้วว่าพ่อแม่จะเป็นห่วงแค่ไหน หรือตัวเองเคยมีความฝันไว้ว่าอะไรบ้าง”
 
ถึงแม้หัวข้อสนทนาระหว่างเราจะเริ่มต้นด้วยเรื่องที่ดูหนักมากเกินไปอยู่สักหน่อย แต่ศิลปินที่ดูมีโลกส่วนตัวสูงคนนี้กลับบอกเล่าทุกอณูความรู้สึกด้วยท่าทีสบายๆ อาจเพราะเขาไม่ใช่ “พีท-พีระ” คนเดิมในวันหม่นๆ วันนั้นอีกต่อไป แต่คือ “พีธ-พีราวัชร์ อัศววชิรวิท” คนใหม่ “พีธ-พีราวัชร์” ที่เปลี่ยนไป... แม้กระทั่งในตัวอักษรที่สะกดชื่อ และในมุมมองความคิดของเขาเอง
 
“เรียก พีธ-พีระ เหมือนเดิมก็ได้ครับ ผมยังใช้ชื่อนี้เป็นชื่อในวงการอยู่ แต่ขอเปลี่ยนเป็นสะกดด้วย ธ.ธง แทน” น้ำเสียงที่คุ้นหูช่วยแนะนำชื่อที่ไม่คุ้นตา พร้อมแนบรอยยิ้มเรียบๆ ฝากเอาไว้ รอยยิ้มที่ช่างดูขัดแย้งจากเรื่องเล่าความเป็นเขาในอดีตเสียเหลือเกิน

“พักหลังๆ ยิ่งเห็นในข่าวบ่อยมาก นิดนึงก็เอาละ ยิ่งมีโซเชียลฯ เข้ามา ยิ่งหนัก เราเห็นรุ่นพี่รุ่นน้องเรา หรือแม้กระทั่งตัวเราสมัยก่อนนู้น ตอน ม.3 เวลาเราเสียใจ อยากประชดเขาก็เอาละ หาเรื่องทำนู่นทำนี่ ต่อยกระจกก็เคย (ยิ้มปลงๆ) หนักหน่อยก็กินยาพาราฯ เข้าไปเป็นกำๆ เลย ถามว่าตายไหม..ไม่ตายหรอก แค่อยากเรียกร้องความสนใจ หรือบางคนอยากประชดมาก ขับรถไปชนตรงนั้นเลย เสร็จแล้วก็ต้องนอนอยู่ในไอซียู เห็นมาเยอะแล้วรุ่นพี่รุ่นน้องเรานี่แหละ


บางคนทำแล้วเป็นผักไปเลยก็มี หรือกว่าจะฟื้นขึ้นมาก็อีกนานมาก แล้วพอตัวเองลืมคำว่ารักตรงนั้นไปแล้ว ก็เพิ่งมาคิดได้ว่า รู้งี้ไม่น่าทำเลย แต่บางคนก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาคิดแล้วครับ ตายไปเลยก็มี… เราก็ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่อยากเห็นอะไรแบบนี้ หรือให้มันเบาๆ ลงหน่อยก็ดี ยิ่งกับเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ ช่วงมีรักแรกแย้มยิ่งอันตราย ผิดหวังจากความรักอาจจะถึงขั้นคิดสั้นก็ได้

แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่วัยรุ่นด้วย ผู้ใหญ่บางคนที่พลาดไปก็มีเหมือนกันครับ พลาดเพราะบูชาความรักมากเกินไปไง มากจนลืมไปแล้วว่าเคยฝันอะไรไว้บ้าง... ฝันอยากมีภรรยา อยากมีสามีที่ดี อยากมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่พอเจอคนคนเดียวมาทำลาย ความฝันทั้งหมดก็หายไปเลย ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่ได้หายไปไหนหรอก คุณก็แค่ต้องหาคนอีกคนนึงมาทำความฝันของคุณให้เป็นจริง แต่คนจะไม่ได้คิดถึงข้อนี้ จะไปติดอยู่กับแค่คนคนเดียว กับความรักที่ฝังอยู่กับคนคนนั้นในตอนนั้น

คงมีเพียงไม่กี่วิธีที่พอจะช่วยให้สิ่งที่บรรจุอยู่ในหัวทั้งหมดนี้ ส่งต่อไปยังกลุ่มคนที่กำลังเจ็บป่วยทางใจได้ พีธจึงนั่งคุยไอเดียกับสมาชิกวง ให้มือกีตาร์รับหน้าที่กลั่นกรองมันออกมาเป็นเนื้อร้อง ส่วนเขาก็รับหน้าที่ควบคุมภาคดนตรี รับเป็นโปรดิวเซอร์เพลงนี้เองทั้งหมด จนออกมาเป็นซิงเกิลที่มีชื่อว่า “ความรักไม่ใช่ทุกสิ่ง” หวังเล็กๆ เอาไว้ในใจว่าท่วงทำนองและเสียงร้องที่บรรเลงออกไป จะช่วยส่องแสงให้ใครก็ตามที่กำลังจมอยู่ในหลุมดำแห่งความทุกข์ใจ ได้หลุดพ้นออกมาจากมันเสียที

[คำถามดาร์กๆ ที่ฝากเอาไว้ในเอ็มวี "ความรักไม่ใช่ทุกสิ่ง"/ ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “Mono Music”]

[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “Mono Music”]


“การทำร้ายตัวเองมันมีแต่จะทำให้สูญเสีย เพลงนี้เป็นเพลงที่พยายามจะบอกเขาว่าอย่าทำนะ พยายามให้เขาเห็นว่าในความรักที่ยิ่งใหญ่ที่เขานั้นน่ะ จริงๆ แล้ว มันมีความฝันที่ใหญ่กว่าความรักอีกนะ คุณลืมความฝันไปหรือเปล่า คุณเลยต้องมาทำร้ายตัวเองแบบนี้ เราพยายามนำเสนอมันออกไปในเชิงบวกครับ เป็นเพลงให้กำลังใจบวกแง่คิด

อย่างเอ็มวีเพลงนี้ก็จะเป็นเรื่องราวของคู่รัก 3 ประเภท คู่แรกเป็นคู่ของ ‘เซลแมนที่ไปรักเด็กสาวนั่งดริงก์’ คู่ที่สองเป็น ‘คู่เกย์ที่คู่รักแอบนอกใจ’ และคู่ที่สามคือ ‘นักกีฬาที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับโค้ชที่มีครอบครัวอยู่แล้ว’ ทั้งสามคู่จบลงที่ความเสียใจหมด และเขาก็คิดสั้นในรูปแบบที่ต่างกัน มีทั้งยิงตัวตาย, ผูกคอตาย และกระโดดตึกตาย... 



แต่สุดท้าย พวกเขาก็แค่คิดครับ คนที่จะใช้ปืนยิงตัวตาย จริงๆ แล้วเป็นไดร์เป่าผม, คนที่จะผูกคอตาย จริงๆ แล้วเล่นโยคะฟลาย ส่วนคนที่จะกระโดดตึกตาย เขาเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ และเลือกจะไปกระโดดสระว่ายน้ำแทน เราเสนอแง่คิดแบบนี้ออกไป เพราะอยากให้เห็นว่ามันยังมีทางออกอื่นอยู่อีกนะ สำหรับคนที่ครั้งนึงเคยมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นในชีวิต

คงไม่ผิดนัก ถ้าจะบอกว่าการถ่ายทอดศิลปะผ่านท่วงทำนองของพีธ เปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ดาร์กสุดๆ เรียกได้ว่า “ต้องเอาให้ถึงตาย” ยิ่งได้จับไมค์ร้องเพลงช้าเศร้าโชว์สดๆ เมื่อไหร่ เป็นต้องมีคนหลั่งน้ำตาให้กับการถ่ายทอดของเขา ผิดกับทุกวันนี้ที่แทบไม่อยากเห็นอะไรแบบนั้นอีกเลย

“เมื่อก่อนเราจะดีใจมากเลยนะ เวลาเห็นคนอินไปกับเพลงของเรา เพราะเราทำเพลงไง เราก็อยากจะเอาจิตวิญญาณของเรากับเขามาคุยกัน ให้รู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน คิดดูว่าเวลาร้องคอนเสิร์ต ต้องมีอย่างน้อย 1 คนร้องไห้เวลาผมร้อง (ยิ้มบางๆ) หรือเวลาทำเพลง ผมจะทำแบบให้เจ็บ เอาให้ตายไปเลย ฟังเพลงผมเนี่ยต้องร้องไห้ตาม ต้องรู้สึกให้สุดขั้ว แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าผมจะแต่งเพลงอะไรต่อไป ผมก็จะนำเสนออีกอารมณ์นึง คือไม่ได้เอาให้ตายเหมือนแต่ก่อนแล้ว อาจจะบอกว่าคุณร้องได้นะ แต่ร้องเสร็จแล้ว คุณต้องดีขึ้นนะ

เหมือนเราอยากให้เพลงของเราเป็นเหมือนยาน่ะ กินยาเข้าไปแล้วก็น่าจะดีขึ้นใช่ไหม เพราะถ้ากินแล้วแย่ลง อย่าไปกินเลยดีกว่า (ยิ้ม) ถ้าเสพงานผมเมื่อก่อนอาจจะหวานนอกขมใน แต่เดี๋ยวนี้รสเหมือนยานะ ขมนอกแต่หวานใน คือเพลงของเราจะไม่ทำร้ายใครให้เจ็บลึกในระดับนั้นแล้ว มันมีแต่จะสมูทขึ้น ไม่ดาร์กเท่าเมื่อก่อนอีกแล้ว”


 

ถึงเวลา... ปล่อยของ!!

ในเมื่อต้องการส่งตัวโน้ตให้สามารถเข้าไปเยียวยาความรู้สึกของผู้คนได้จริงๆ ตัวเภสัชกรผู้คิดสูตรทางดนตรีก็จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มโดสขนานใหญ่ ยกเครื่องการผลิตเม็ดยา เปลี่ยนจากระบบโรงงานเป็นแบบทำมือ ทุกเส้นเสียงที่สอดประสานออกมาเป็นงานเพลงชิ้นนี้จึงใช้ “ดนตรีจริง” เป็นตัวขับเคลื่อนทั้งหมด ซึ่งถือเป็นประสบการณ์การปล่อยของครั้งใหม่ที่พีธไม่เคยทำมาก่อน โดยเฉพาะการรับหน้าที่ปรุงโดสยาขนานนี้ให้แก่วงออเคสตราด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ควบคุมตั้งแต่เรื่องการร้องไปจนถึงการบันทึกเสียง

“คราวนี้เราใช้เครื่องจริงทั้งหมดเลยครับ (น้ำเสียงตื่นเต้น) เขียนโน้ตให้ แล้วก็จ้างนักดนตรีมืออาชีพมาเล่น ผมจะเป็นคนถ่ายทอดให้ ‘น้องตอย’ มือคีย์บอร์ดของผมอีกทีว่าอยากได้แบบนี้ๆ นะ โชคดีที่น้องคนนี้มันเป็นเด็กอัจฉริยะ เล่นดนตรีคลาสสิกสุดยอดมาก และมันก็เล่นกับผมมานานหลายปีแล้ว จะรู้ใจว่าพี่พีธจะเอาแบบไหน เหมือนเวลาเราไปเล่นกลางคืนด้วยกัน เราเล่นกันมาหมดทุกทางแล้ว เขาก็จะรู้ว่าถ้าผมบอกว่าประมาณนี้ มันคืออารมณ์ไหน น้องเขาก็จะช่วยสื่อสาร เขียนออกมาเป็นโน้ตคลาสสิกให้ ก็เลยยากน้อยลงไปหน่อยนึง

แต่ตอนต้องคุมอัดเครื่องสาย ต้อง conduct วงออเคสตราจริงๆ นี่ ยิ่งยากเข้าไปอีก คือถึงโน้ตที่เราเขียนไว้น่ะมันเป๊ะแล้ว แต่จะทำยังไงให้อารมณ์ของคนเล่น เล่นออกมาให้ได้เท่ากับอารมณ์ของเพลงที่เราต้องการ ก็บิลต์กันอยู่นานมากนะ อัดกันอยู่ 4 ชั่วโมงเลย ประมาณ 5 เทกได้ มันเหมือนเราจะนำเสนอคำว่า ‘ก.เอ๋ย ก.ไก่’ แบบไม่ใช่พูดแข็งๆ ธรรมดา แต่ให้เขาใส่อารมณ์ เอาลูกเอื้อนเข้าไป ก็มีใช้เครื่องดื่มเข้าไปช่วยบ้าง มีบิลต์ด้วยการเปิดเพลงให้เขาฟังบ้าง ทุกอย่างเกิดขึ้นในห้องอัดหมดเลย” ในแววตาของคนถ่ายทอดยังคงอัดแน่นไปด้วยเรื่องราว คล้ายเหตุการณ์หลายๆ อย่างยังคงวิ่งวนอย่างมีชีวิตชีวาอยู่ในหัวของเขา


[งานยากแต่สนุก คุมวงออเคสตราในห้องอัด/ ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @peet_pilavat]
“พอดีวงออเคสตราที่มาเล่นให้เรา เขาคือวงดุริยางค์ทหารเรือครับ เป็นทหารอาชีพเลย ซึ่งเขาจะเล่นกันแบบมีวินัยมาก จะเล่นตามโน้ตแบบเป๊ะๆ มันจะให้อารมณ์ต่างจากคนที่เล่นดนตรีกลางคืนที่อาจจะไม่แม่นโน้ต แต่จะยืดหยุ่นกว่าและเต็มไปด้วย feeling ที่สวยงามกว่า ผมก็ต้องถ่ายทอดให้เขารู้สึกแบบนั้นให้ได้ ทำยังไงให้สามารถเอาฟีลลิ่งของ ‘นักดนตรีกลางคืน’ มาใส่ให้ ‘นักดนตรีกลางวัน’ ให้ได้ ก็เลยต้องบิลต์กันอยู่นานหน่อย ต้องบอกว่า ‘พี่ขอแบบลากขึ้นหน่อยได้ไหม ขอหวานกว่านี้ๆ ยืดกว่านี้อีกหน่อยนึง’ อะไรประมาณนั้น

[ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @peet_pilavat]
อัดเพลงนี้ประณีตมากจริงๆ ครับ พออัดออเคสตร้าเสร็จ ก็มาอัดไลน์กีตาร์, เบส, กลอง แยกอีกที ไหนจะเรื่องการตั้งไมค์อีก กว่าจะตั้งไมค์อัดให้ได้เสียงออเคสตราอย่างที่อยากได้ ต้องวางไมค์ล้อมตำแหน่งนักดนตรีทั้ง 6 คน จับๆ แก้ๆ กันอยู่พักใหญ่ๆ เลย แล้วพอซาวนด์มันออกมาแบบนี้ ผมเลยร้องด้วยความโรคจิตเลย (หัวเราะเบาๆ ในแววตาซุกซน) ไหนๆ เพลงมันมาแบบ hi-production ขนาดนี้แล้ว เราก็ต้องร้องให้ได้ไฮแบบเขาด้วยเหมือนกัน

คือปกติ ผมจะร้องท่อน A, B แล้วก็ท่อนฮุก แล้วพอท่อนมันซ้ำปุ๊บ เราก็จะก๊อบฮุกมาแปะใหม่เลย ไม่ต้องร้องใหม่แล้ว นี่คือวิธีที่เขาทำเพลงกันสมัยนี้ แต่เพลงนี้อัดเองทุกท่อนเลยครับ A, B, ฮุกแรก แล้วพอถึงฮุกที่ 2 อีก ก็ร้องฮุกใหม่อีก พอฮุกที่ 3 ผมก็ร้องใหม่อีก เพราะอยากให้มันพีกขึ้นไปเรื่อยๆ

ที่สำคัญ ผมเน้นว่าต้องไม่ edit หมายถึงว่าถ้าความยาวของท่อนนี้มันเท่านี้ เราก็ต้องร้องให้ได้ท่อนนั้นแบบเต็มๆ จะไม่มาแก้เป็นวรรคๆ เป็นคำๆ มันเลยทำให้เวลาร้องพลาด เราก็ต้องร้องใหม่หมดทั้งท่อน กลายเป็นทำงานเหมือนสมัยก่อนไปเลยที่ต้องร้องให้ได้ทั้งก้อนถึงจะผ่าน ซึ่งมันเหนื่อยมากนะ ร้องเพลงนี้อยู่ 4 ชั่วโมงกว่าแบบไม่หยุดเลย ตอนแรกก็แอบเครียดเหมือนกัน กดดันตัวเองว่า เฮ้ย..ทำไมร้องท่อนนี้ไม่ได้สักทีวะ แต่พอได้จิบไวน์นิดนึงก็ร้องสบายละ (หัวเราะ) อันนี้คือทริกของผมเลย

[ร้องจัดเต็มด้วยความโรคจิต เพื่อให้ได้ hi-production มาตรฐานเดียวกับดนตรี/ ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @peet_pilavat]

เริ่มจับกีตาร์มาตั้งแต่วัย 18 ผ่านไป 19 ปีแล้ว ถ้าไม่ลอง “ปล่อยของ” ตอนนี้ ก็ไม่รู้จะไปปล่อยตอนไหนแล้ว นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผู้ชายมาดนิ่งคนนี้ ลุกขึ้นมาปลุกคอร์ดร็อกใส่เข้าไปในเลเวลความเป็นป็อป และทำมันออกมาในแบบของเขา แม้จะแอบหวั่นๆ อยู่ลึกๆ ในใจอยู่ไม่น้อยว่า เพลงของเขาอาจ “ไม่ขาย” ถ้าไม่ทำตามสูตรที่เคยทำมา

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน ด้วยความเป็นป็อป เราจะตั้งมาตรฐานเอาไว้เลยว่า อย่าไปใส่เกินขั้นที่ 5 นะ เสียงกีตาร์เอาเท่านี้พอ เพราะถ้าแตะที่ 5.1 เมื่อไหร่ เดี๋ยวมันจะร็อกไป เดี๋ยวมันจะเข้มไป เดี๋ยวมันจะไม่ป็อป มันจะมีหลักการบางอย่างที่ตีกรอบเราเอาไว้ แต่ช่วงที่หยุดไป เราก็ไปนั่งคิดกับตัวเองว่า จริงๆ แล้ว เราน่าจะทำในสิ่งที่เราอยากจะทำมากกว่า ทำในสิ่งที่เราเป็น นี่เลยเป็นครั้งแรกที่พาร์ทดนตรีเราเข้มขึ้นมาถึงระดับ 8 ได้ (ยิ้ม) แต่ยังไม่ถึงระดับร็อกนะครับ เพราะร็อกคือระดับ 10 เรายังคงแนวป็อปเหมือนเดิม แต่เป็นป็อปที่น้ำหนักไม่เท่าเดิม แต่ก็มีกลิ่นความเป็นร็อกให้เห็น

ผมก็จะเล่น ‘เพาเวอร์คอร์ด’ ซึ่งเป็นคอร์ดที่ชาวร็อกเขาเล่นกัน แต่แค่ใช้กีตาร์โปร่งมาทำ ให้มันได้อารมณ์ของการกระแทก ให้มันได้ไดนามิก ได้น้ำหนักที่แตกต่าง แล้วมันก็จะทำให้เพลงเราออกมาได้อารมณ์ไปอีกแบบนึงขึ้นมาทันที ออกแนวบัลลาร์ดป็อปแล้วก็มีกลิ่นร็อกเข้ามาปนหน่อยๆ ผมได้รับอิทธิพลมาจากเพลงยุค 90's เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ได้กลิ่นดนตรีพวกนี้อยู่แล้ว อย่าง “Guns N' Roses” เราก็ถูกหลอมมาทางนี้ แต่ก็จะอยู่แค่เฉพาะแค่ตอนโซโลกีตาร์เท่านั้น ที่เหลือก็จะเป็นอิทธิพลจากยุคคลาสสิก มีพวกเครื่องสายเข้ามาร่วมด้วย

ยอมรับว่าตอนแรกก็หวั่นเหมือนกัน เพราะมันค่อนข้างจะแตกต่างจากเพลงก่อนๆ ของผม คือมันไม่ใช่เพลงรักสามเส้า ไม่ใช่เพลงอกหักจะตาย ไม่ใช่เพลงสมหวังจนตัวลอย แต่มันเป็นเพลงอารมณ์กลางๆ และเพลงกลางๆ แบบนี้มันก็เสี่ยงอันตรายมาก เพราะมันไม่ใช่เพลงที่จะฮิต แต่ผมมีความเชื่อเหลือเกินว่า ด้วยเมโลดี้ที่มันเป็น ‘เพลงเพราะ’ และด้วยความหมายที่ดีของมัน เดี๋ยวเพลงมันจะทำงานของมันไปเอง... เท่าที่ไปลองอ่านฟีดแบ็กเพลงดู ก็มีคนมาคอมเมนต์บ้างแล้วครับว่าเนื้อเพลงดี เพลงเพราะมากเลย (ยิ้ม) แค่นี้มันก็ตอบโจทย์ของผมได้เยอะมากแล้วล่ะ”


 

มันคือ “ศิลปะ” ไม่ใช่ “ธุรกิจ”

“นับจากวันนี้ ย้อนกลับไปอีก 2 ปี คือช่วงที่น่าเบื่อที่สุดของวงการเพลงแล้ว” นี่คือโลกธุรกิจเพลงผ่านสายตาศิลปินมากความสามารถวัย 37 ปี “มันเป็นยุคที่คนทำอะไรออกมาเหมือนเดิม เพลงแพตเทิร์นเดิมๆ เราก็ได้แต่คิดว่าทำไมไม่เปลี่ยนบ้าง เปิดวิทยุก็เจอแต่เพลงแบบนี้ เพลงแนวเบเกอรี่ก็หายไป พวกเพลงดีๆ ของแกรมมี่ที่เคยมีเมื่อก่อนก็หายไปจะหมดแล้ว แต่ช่วงหลังๆ ก็เริ่มมีวงหน้าใหม่ค่อยๆ โผล่ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ เขาก็เป็นหน้าเก่าในทางศิลปินกลางคืนแหละ คนพวกนี้เก่งอยู่แล้ว และเดี๋ยวน่าจะมีเพลงเพราะๆ ถูกปล่อยออกมาอีกเรื่อยๆ แต่คงต้องใช้เวลาหน่อย

ทำเพลงมาขนาดนี้แล้ว ถึงจะชินกับระบบ “ซิงเกิล” ที่ใช้มาสักพักใหญ่ๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “เพลงดีๆ” ค่อยๆ หายตัวไป

“จริงๆ แล้วมันก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสียนะ การปล่อยแบบซิงเกิล มันทำให้คนไม่ลืมศิลปิน เพราะเราจะได้ทยอยปล่อยเพลงไปเรื่อยๆ 3-4 เดือนปล่อยที และเพลงแต่ละเพลงที่จะปล่อยออกมาได้ มันก็ต้องเป็นเพลงที่ ‘สุด’ แล้วเท่านั้น เพราะมันต้องไปแข่งกับซิงเกิลอื่นๆ ของศิลปินคนอื่นๆ อีก แต่ละคนก็เลยต้องปล่อยเพลงที่ดีที่สุดของตัวเอง ณ วันนี้ออกมาแข่งกัน แต่ระบบนี้มันก็ทำให้เพลงดีๆ ที่เคยซ่อนอยู่ในอัลบั้มหายไปด้วย

[ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @peet_pilavat]

คือถ้าออกเป็นอัลบั้มเหมือนเมื่อก่อน คุณอาจมีเพลง best อยู่ในนั้น แล้วปนด้วย ‘เพลงตาม’ เพลงที่ 1, 2, 3 ซึ่งอาจจะไม่ใช่ ‘เพลงขาย’ แต่ข้อดีของพวกเพลงตามในอัลบั้มก็คือ คนฟังจะได้แนวคิดแปลกๆ ใหม่ๆ แบบที่ไม่จำเป็นต้องทำเพลงแมสออกมาตลอด และเราก็จะได้เพลงดีๆ ที่ซ่อนอยู่ในอัลบั้มนั้น ซึ่งหาไม่ค่อยเจอในยุคนี้แล้ว พอเปลี่ยนมาปล่อยเป็นซิงเกิลหมด มันเลยกลับมาสู่ ‘ระบบขายของ’ เป็นหลัก

แต่ก็ยังมีนะ ศิลปินที่ยังออกเป็นอัลบั้มและทำแบบนั้นได้อยู่ คนที่ยังคงมาตรฐานสูงของตัวเองเอาไว้ ยังทำเพลงแบบประณีต ยังอัดเครื่องดนตรีสด ผมก็ยังพอเห็นอยู่ และจริงๆ แล้ว ผมว่าคนทำเพลงหลายๆ คนก็อยากทำงานดีๆ ออกมาแหละ แต่เขากลัวกันว่า ทำงานดีแล้วจะไม่ฮิต พอไม่ฮิตก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ดัง พอไม่ดังก็ไม่มีงานจ้าง เขาก็อยู่กันไม่ได้ มันเลยไม่ค่อยกล้ามีใครทำกันไง ส่วนใหญ่เลยทำแต่อะไรที่คิดว่าขายได้แน่นอน วงการเพลงบ้านเราก็เลยหยุดอยู่แค่นี้ ยังไม่ค่อยไปถึงไหน”

ที่หนักกว่านั้นคือ ทุกวันนี้คนดนตรีไม่สามารถถอนทุนคืนได้จากงานเพลงที่สู้อุตส่าห์ปลุกปั้นขึ้นมาได้อีกต่อไป อย่างที่รู้ๆ กันว่าต้องไปตามเก็บเกี่ยวผลิตผลในงานโชว์แทน และด้วยระบบที่โหดหินแบบนี้นี่เอง ที่ส่งให้แรงกดบนบ่าหลายๆ คนหนักขึ้นๆ เรื่อยๆ จนกลายเป็นเส้นทางการคัด “ตัวจริง” ที่พร้อมต่อสู้เพื่อสร้างผลงานคุณภาพไปโดยปริยาย

“คุณจะได้ตังค์นิดหน่อย ถ้ายอดไลค์คุณเยอะ และจะได้ตังค์อีกนิดหน่อย จากค่าโหลดริงโทน ถ้าเพลงคุณดังมากๆ แต่สุดท้าย รายได้หลักส่วนใหญ่ก็มาจากการแสดงโชว์นี่แหละครับ คนที่จะยังอยู่ได้ก็เลยต้องเป็นคนที่รักในสิ่งนี้มากๆ แล้วก็ยังทำมันต่อไป และผมก็เชื่อว่ายังมีคนแบบนี้อีกเยอะนะ ศิลปินดีๆ อีโก้เยอะๆ ที่ยังจะทำงานเพลงแบบนี้ต่อไป เต็มที่ เขาก็ไปหางานอื่นมา support อาชีพนี้ เพื่อช่วยให้หล่อเลี้ยงความฝันของตัวเองได้ต่อไป ผมเชื่อว่ายังมีคนแบบนี้อยู่ และผมก็เป็นหนึ่งในคนที่กำลังพยายามอยู่เหมือนกัน (ยิ้ม)

พอระบบหลายๆ อย่างกลายเป็นแบบนี้ มันก็ทำให้เราต้องแตะโจทย์อื่น ไปทำสินค้าพรีเมียม ทำแผ่นเสียง ทำคอนเสิร์ต มันต่างจากสมัยก่อนมากที่ทำเพลงออกมา ขายได้ก็จบตรงนั้นเลยได้ แต่กลายเป็นว่าเราต้องมองว่าให้ไกลกว่านั้น ต้องมองว่าทำเพลงนี้สำเร็จออกมาแล้วจะเอาไปใช้ทำอะไรต่อได้บ้าง มันถึงจะรอด


ในเมื่องานเพลงที่ผลิตออกมาให้ราคาค่างวดอะไรไม่ได้เท่าเดิมแล้ว ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ๆ บางค่ายจึงต้องหันหน้าพึ่งคำว่า “ลิขสิทธิ์เพลง” ใช้วิธีเก็บดะเพื่อให้ตัวเพลงกลับมามีมูลค่าในตัวเองอีกครั้ง แต่ในฐานะศิลปิน-นักแต่งเพลง(ฮิต) มาแล้วหลายเพลงอย่างเขา กลับมองไม่ค่อยเห็นข้อดีของการถือลิขสิทธิ์ไล่บี้ใครเท่าไหร่ ถึงแม้ว่าแท้จริงแล้ว พีธจะมีสิทธิ์ยื่นเรื่องขอส่วนแบ่งจากคนที่เอาผลงานของเขาไปใช้ได้อย่างสบายๆ ก็ตาม แต่เรื่องเหล่านี้กลับไม่เคยอยู่ในหัวของเขาเลยด้วยซ้ำ

“คิดดูว่าถ้านักดนตรีกลางคืนเอาเพลงไปร้องคัฟเวอร์แล้วร้านไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ เขาก็ไม่มีสิทธิ์ร้อง เพราะถ้าถูกเรียกเก็บ เขาต้องจ่าย (เพลงละ) 700 แล้วนักดนตรีกลางคืน ร้องชั่วโมงนึงได้ตังค์ 800 จะให้เขาเหลือเงินกี่ร้อยกลับบ้านกันล่ะจริงไหม ผมว่าค่าลิขสิทธิ์มันคงดีต่อองค์กรมั้ง เพราะเขาขายอะไรไม่ได้แล้ว เขาก็ต้องอาศัยวิธีเก็บจากทางนี้แหละเป็นรายได้หลัก จนบางร้านถึงขั้นต้องติดป้ายเลยนะว่า ‘ขอความกรุณานักดนตรีทุกคน อย่าร้องเพลงของค่ายนี้’ เพราะกลัวถูกจับ คือกฎหมายตรงนี้มันก็ดีต่อการจัดการพวกก๊อบฯ งานนะ แต่มันไม่ค่อยเวิร์กกับอะไรแบบนี้หรอก

จริงๆ แล้ว คนแต่งเพลงทุกคน เขาถือว่าเขาทำงานศิลปะกันทั้งนั้นแหละ เขาต้องอยากให้คนเสพผลงานของเขาอยู่แล้ว ยิ่งคนเอาเพลงเขาไปร้องมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรู้สึกดีสิ นี่แหละคือพีอาร์เพลงแบบที่เราไม่ต้องเสียตังค์เลย อย่างผม ผมก็ไม่เคยไปเรียกเก็บอะไรกับใครนะ ทุกเพลงที่ผมแต่ง ทุกคนสามารถเอาไปใช้ได้หมด แค่ได้ค่าตอบแทนจากค่าจ้างแต่งเพลง แค่นั้นผมพอแล้ว มันคืองานศิลปะน่ะ ผมขอยืนยันว่า งานเพลงมันไม่ใช่ธุรกิจ





“เพลงดี” ไม่ต้องประดิษฐ์

[ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @peet_pilavat]
ถ้าให้พูดถึงเพลงดี "ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน" เป็นเพลงที่น่าพูดถึงมาก เพลงที่เขียนจากชีวิตจริง เรื่องราวดูไม่ได้มีอะไรมากเลย แต่ว่าเป็นเพลงดี เป็นเพลงเพราะ แล้วก็ดังด้วย ไม่ต้องใช้ดนตรีหรูก็ได้ ดนตรีเรียบๆ ก็ไปได้ แต่พอเพลงมันใช่และเข้าใจง่าย ไม่ต้องใช้ภาษาคมกริบ ฉันจะเอามีดแทงหัวใจเธอให้ทะลุด้วยคำคมในเพลงอะไรแบบนั้น (หัวเราะเบาๆ)

ฟังปุ๊บแล้วมันแตกต่าง เพราะเขาใช้ภาษาง่ายๆ แบบไม่ต้องเค้นออกมาให้คม มันเป็นภาษาธรรมชาติ แล้วก็ตอบโจทย์ของคนที่รอฟังเพลง มันให้ความรู้สึกว่า เอ้อ..เราไม่ได้ยินเพลงแบบนี้มานานแล้วนะ

เหมือนได้กลับไปสู่เพลงสมัยก่อน รุ่น 90's พวกเพลงที่เล่าออกมาจากใจ เล่าด้วยภาษาง่ายๆ ตรงๆ แต่เพลงยุคปัจจุบัน เขาจะพยายามหาคำที่เชือดเฉือน ปลุกใจ หาคำที่แรงๆ มาแต่งให้คนรู้สึกโดน ซึ่งหลายๆ ครั้ง ผมก็รู้สึกว่ามันดูประดิษฐ์เกินไปนะ คือมันเป็นกวีแหละ แต่เป็นกวีที่พยายามจะปั้นเกินไปหน่อย เลยให้ความรู้สึกว่ามันแข็งไป ประดิษฐ์ไป จนบางทีก็เหนื่อยที่จะฟัง



นักบวชพาร์ทไทม์...

[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “Mono Music”]
“ดนตรี-ครอบครัว-ศรัทธา” ผมมี 3 ส่วนที่บาลานซ์ชีวิตอยู่ตอนนี้ครับ (ยิ้ม) หลังจากมีครอบครัว มุมมองหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไป พอเป็นพ่อแล้วช่วยให้เราใจเย็นลงเยอะมากนะ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาขับรถไป แล้วเจอแท็กซี่ถูกผู้โดยสารเรียกอยู่ข้างหน้า ปกติอาจจะตบไฟเลี้ยวขวาแซงเลย แล้วก็หงุดหงิดว่าทำไมไม่ไปซะทีวะ แต่เดี๋ยวนี้เหรอ (ถอนหายใจแล้วยิ้มบางๆ แถมให้) ตามสบายเลยพี่ แล้วนับไปอีก 15 วินาที และไม่ถึง 15 วิ เขาก็ไปแล้วนะ เขาไม่จอดเกินนั้นหรอก

ผมว่าผมใจเย็นลงเยอะมากจริงๆ ทุกวันนี้เวลาเจอปัญหานู่นนี่ที่ทำให้เหนื่อยใจ พอได้เห็นหน้าลูกก็หายแล้วครับ หรืออย่างชีวิตคู่ บางทีก็มีเถียงกันบ้าง หันไปดูลูก ไม่เถียง ไม่ทะเลาะละ เลี้ยงลูก เล่นกับลูกดีกว่า (ยิ้ม)... เอาแค่ทุกวันนี้ตอนตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่จะทำก็คือ เรามองลูกก่อนเลย ดูซิ..เขาตื่นหรือยัง เสร็จแล้วก็หอมเขา หอมเสร็จค่อยมองหน้าแม่เขาที่อยู่ข้างๆ มันเป็นความรู้สึกที่แบบว่า... ต่อให้เราได้นอนแค่ 2 ชั่วโมงหรือชั่วโมงเดียว ง่วงแค่ไหน เราก็ไม่เหนื่อย

[มุมดาร์กในชีวิตเปลี่ยน เพราะคำว่า "ครอบครัว"/ ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @peet_pilavat]

ส่วนเรื่องศรัทธา ทุกวันนี้ผมนับถือนิกายตันตระครับ บูชาพระพิฆเนศ พระแม่อุมา พระศิวะ ฯลฯ บูชาองค์เทพ เราจะมีพิธีขอ ถ้าขอแล้วได้ก็จะมีพิธีขอบคุณ แต่เป็นการขอบคุณด้วยการนั่งสมาธิถวายลมหายใจเพื่อเป็นการขอบคุณองค์เทพ มีแค่นี้เลยครับ ไม่ต้องบน ไม่ต้องมีอะไรมาแลกเปลี่ยนทั้งนั้น ธูปยังไม่ต้องจุดเลย แค่ใช้กุหลาบโปรย ขอพร แล้วก็นั่งสมาธิ สวดบูชาองค์เทพก็พอแล้ว

ไม่ค่อยมีใครรู้ว่า อีกพาร์ทนึงของผม ผมเป็นนักบวชนะ (ยิ้มเย็นๆ) พอผมว่าง ช่วงที่ผมไม่ได้เป็นศิลปิน สัก 2-3 ชั่วโมง ผมจะเข้าไปช่วยวัดทำนู่นทำนี่ ไปเป็นอาจารย์ที่นั่น คอยให้คำแนะนำว่า ถ้าใครอยากขอเรื่องอะไร ควรจะไหว้องค์เทพองค์ไหน ยังไงบ้าง แต่ไม่ได้จูงศรัทธาอะไร... ทุกวันนี้ ผมมีความสุข มีครอบครัวที่ดี มีการงานที่ดี มีสังคมที่ดี มีคนดีๆ อยู่รอบๆ ตัว เท่านี้ผมก็แฮปปี้มากแล้ว





สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพบางส่วน: อินสตาแกรม @peet_pilavat และแฟนเพจ “Mono Music”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น