ไม่ใช่ผู้จัดอย่างป๋าเต็ด ไม่ใช่ศิลปินอย่างบอดี้สแลม แต่เขาสามารถสร้างได้ทุกสิ่ง ควบคุมได้ทุกอย่าง ภายในห้วงเวลาต้องมนตร์ที่ผู้คนมารวมตัวกันมากที่สุดเพื่อวัตถุประสงค์เดียว “เสพดนตรี” วินาทีที่สามารถทำให้คนตัวเล็กๆ จากเบื้องหลัง กลายมาเป็น “พระเจ้า” ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ภายใต้กรอบความรับผิดชอบที่เรียกว่า “นักออกแบบแสง”
ท้ามาแล้ว ทุกข้อจำกัด!
(โชว์ฝีมือในงาน "G16 GENIE FEST 16 ปีแห่งความร็อก")
“อยู่ๆ ผมจะปิดไฟบนเวที เพราะแค่อยากให้คนมองไปฝั่งนู้น ก็ทำได้ หรืออยากให้คนมองไม่เห็นอะไรเลย ก็ทำได้ หรืออยู่ดีๆ จะเอาไฟทั้งหมดยิงเข้าตาเพื่อให้คนร้องกรี๊ดแล้วมองไม่เห็นอะไรเลย ก็ทำได้ หรือจะให้เหลือไฟแค่ดวงเดียวอยู่บนหัวศิลปิน ทั้งๆ ที่เวทีใหญ่มาก เพื่อทำให้คนดูรู้สึกเศร้าๆ ก็ทำได้... มันให้อารมณ์เหมือนเราได้เป็นพระเจ้าอยู่เหมือนกันนะ”
ต้น-เรืองฤทธิ์ สันติสุข นักออกแบบแสงฝีมือฉกาจ ผู้คุมชะตากรรมทั้งศิลปินไทยและเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน ถ่ายทอดความรู้สึกเคล้ารอยยิ้มบางๆ บนมุมปาก บวกกับประกายบางอย่างที่แฝงเอาไว้ในดวงตา ทำให้รู้ได้ทันทีว่าบทสนทนาต่อจากนี้จะต้องสนุกกว่าที่คิดเอาไว้!
ไม่เลย... เขาไม่ได้พูดด้วยน้ำเสียงหยิ่งผยองหรือพ่วงด้วยท่าทีโอหังแต่อย่างใด แต่กลับเต็มไปด้วยความนอบน้อม นั่นเพราะเขาไม่จำเป็นต้องเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีอื่นใด นอกจากปล่อยให้ผลงานบอกเล่าเรื่องราวอันน่าทึ่งด้วยตัวมันเอง ถ้าเป็นคนในวงการตัวโน้ต คลุกคลีอยู่กับเทศกาลดนตรี จะรู้จักเขาดีในนาม “DuckUnit” ทีมออกแบบแสงที่เท่และสร้างสรรค์ที่สุดกลุ่มหนึ่งที่ยากจะหาใครเทียบ
ตั้งแต่งานสเกลใหญ่ๆ คนดูหลักหมื่นอย่าง “Big Mountain Music Festival” มาจนถึง “Fat Festival” เทศกาลดนตรีอินดี้ หรือแม้แต่คอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังของเมืองไทย ฮิวโก้, ปาล์มมี่, แบล็กเฮด, 25 Hours ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เรียกร้องให้เขาเป็นผู้เนรมิตภาพฝันให้เป็นจริงด้วยกันทั้งนั้น
(งานรื้อตอหม้อโฮปเวล "Smirnoff Reinvent Bangkok/ Hopewell")
(Palmy Barefoot Acoustic Concert)
(เวทีสุดอลังการ "Blackhead White Line Concert")
“เวลาจัดไฟน่าเกลียด คนจะรู้ครับ เช่น ถ้าอยู่ๆ ไฟมืดไปหรือไฟไปแยงตาคน จะโดนด่าทันที แต่เวลาจัดไฟเจ๋งๆ คนจะไม่ค่อยรู้หรอก (ยิ้ม) อย่างงานล่าสุด G16 (GENIE FEST 16 ปีแห่งความร็อก) บอดี้สแลมขึ้นไปเล่น ผมอยากทดลองปิดไฟไม่ให้เห็นหน้านักร้องบ้าง คิดว่าทำไมต้องมีแสงไฟส่องหน้าให้เห็นหน้าชัดๆ ตลอดเลยเหรอ จู่ๆ ก็เลยลองปิดไฟเลย คนดูก็ตกใจ จากนั้นก็ปล่อยควันออกมาเยอะมาก เพราะว่าอยากให้เพลงนั้นได้อารมณ์เหมือนพี่ตูน-บอดี้สแลม หายไปอยู่ในมวลเมฆ
คือจริงๆ แล้วสำหรับฝ่ายจัดแสง มันเป็นกฎเหล็กเลยนะครับว่าต้องห้ามให้ศิลปินหน้ามืด แต่ในเมื่อผมอยากจะลองแหกกฎ ให้หน้าเขามืด เราก็ต้องมีอะไรที่ให้คนดู ที่มันต้องเจ๋งกว่าตอนเห็นหน้าศิลปิน และมันต้องเข้ากับเพลงด้วยนะ ก็ทดลองกันไปเรื่อยๆ ครับ ที่ทำแล้วไม่เวิร์กก็มีเหมือนกัน”
(ทดลองให้หน้าศิลปินมืด ทำสิ่งที่นักจัดแสงคนอื่นไม่ทำกัน)
เพราะมีนิสัยชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ แบบนี้นี่เอง จึงทำให้ต้นไม่หยุดอยู่แค่เรื่องออกแบบแสงในคอนเสิร์ต แต่ขยายหน้าที่จนครอบคลุมไปถึงเรื่องออกแบบเวทีและลูกเล่นต่างๆ ที่ประกอบอยู่ในนั้นด้วย นี่แหละคือจุดขายที่ทำให้นักออกแบบความบันเทิงคนนี้ สรรค์สร้างงานออกมาได้ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
“อย่างตอนคอนเสิร์ตฮิวโก้ (Hugo Live in Bangkok) เขาบอกว่าอยากมีอะไรก็ได้ที่เป็นพิเศษในคอนเสิร์ตสักอย่าง งานนั้นผมไม่ได้ช่วยทำทั้งหมด แต่แค่ช่วยคิดที่เขาอยากได้ ผมรู้สึกว่าตัวเพลงมันเหมาะกับการจุดไฟเผาให้เหมือนคบเพลิง ให้มันดูยิ่งใหญ่ แต่งานมันจัดที่ อักษรา คิงเพาเวอร์ จุดไฟไม่ได้แน่ๆ ก็เลยต้องทำไฟปลอมขึ้นมา ผมก็เลยต้องออกแบบแท่งแคมป์ไฟอันใหญ่มาก ไปซื้อผ้ามา แล้วเอาพัดลมยักษ์มาลองเป่ากับคนในทีม ดูว่าได้สูงสักกี่เมตร เสร็จแล้วก็เอาไฟมาส่องย้อมสีมันให้เป็นสีเปลวไฟ และตรงนั้นก็จะมีระบบไฮดรอลิกส์เลื่อนขึ้นมาเสริมพอดี
ถามว่าที่ทำอยู่คืออะไร ออกแบบแสงมั้ย ก็ไม่ใช่ ออกแบบคอนเสิร์ตมั้ย ออกแบบผ้าเหรอ (ยิ้ม) คือจริงๆ แล้วสิ่งที่พวกผมทำคือต้องถามว่า “อยากได้อะไร?” แล้วค่อยมาดูว่าจะใช้วิธีการไหนเข้ามาช่วยสร้างมัน เพราะถ้าให้ออกแบบไฟอย่างเดียว ทำยังไงมันก็จะไม่ถึงจุดที่เราอยากได้ ก็เลยต้องออกแบบเวทีด้วย เลยเป็นสาเหตุที่เราต้องเลือกศิลปินที่จะทำให้ครับ คือไม่ได้รับทำให้ทุกคนที่ติดต่อมา ไม่ใช่เพราะเรื่องเยอะหรือเล่นตัวนะ แต่ที่เลือกเพราะว่าเราไม่ได้ทำเพราะต้องการจะเอาตังค์น่ะครับ แต่ทำเพื่อให้มันได้งานอะไรสักอย่างขึ้นมา และถ้าเพลงของวงเขา เราไม่ได้ชอบ มันทำไม่ได้จริงๆ”
DuckUnit-Handmade / 3D Projection Mapping on Head Sculpture-BlackHead Concert from DuckUnit on Vimeo.
อาชีพที่ไม่มีจริงในไทย
พูดได้อย่างเต็มปากว่าที่รับจัดแสงและออกแบบในคอนเสิร์ตแบบทุ่มเทสุดแรงเกิดอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่า “ทำด้วยใจ” เพราะถ้าตั้งใจจะทำให้เป็นธุรกิจกันจริงๆ ผลลัพธ์มันจะไม่ออกมาอย่างทุกวันนี้
“จัดแสงในคอนเสิร์ต ทำยังไงก็ไม่คุ้มครับ ผมจะอธิบายยังไงดี มันทำเป็นอาชีพไม่ได้น่ะครับ เพราะมันไม่มีอาชีพนักจัดแสงในบ้านเรา เอาง่ายๆ ฝรั่งเขามีอาชีพ Lighting Designer จริงๆ ออกแบบแสงอย่างเดียวก็อยู่ได้แล้ว แต่ DuckUnit ของเราทำแบบนั้นไม่ได้
ทุกวันนี้เราต้องรับงาน Commercial รับทำโฆษณาไปด้วยถึงจะอยู่ได้ คือถ้าผมทำงาน Commercial ตัวเดียว ผมสามารถอยู่ในออฟฟิศไปได้อีกเดือน 2 เดือน แต่เวลาทำคอนเสิร์ตครั้งนึง ผมต้องอยู่เตรียมงานตรงนั้นเลย 2 เดือน แล้วตังค์ที่ได้ก็จะพอให้ใช้อยู่ในช่วง 2 เดือนนั้น แค่นั้น”
ต้องเข้าใจก่อนว่าหน้าที่ “นักออกแบบแสง (Lighting Designer)” กับ “บริษัทให้เช่าไฟ (Supplier)” ไม่เหมือนกัน และต้นก็เลือกแล้วว่าไม่ต้องการมีไฟเป็นของตัวเองเพื่อเก็บค่าเช่าไปพร้อมๆ กับรับค่าออกแบบ
“เพราะถ้าผมมีไฟของตัวเอง แล้วจะต้องออกแบบคอนเสิร์ต มันก็จะมีข้อแม้ว่าผมจะต้องใช้ไฟของผมเองหรือเปล่า จริงๆ แล้วมันก็อาจจะดีที่จะมีไฟของตัวเองแล้วให้เช่าไปด้วย มันอาจจะทำให้สามารถทำเป็นอาชีพได้จริงๆ แต่ผมเชื่อว่าเวลาออกแบบมา มันจะไม่ได้อย่างทุกวันนี้
ผมไม่สามารถที่จะวางไฟตัวนี้ไว้ที่ออฟฟิศ เพราะเหตุผลว่าเขามีงบให้เราแค่นั้น เราเลยให้ไฟตัวนี้เขาเพิ่มไม่ได้ ผมทำแบบนั้นไม่ได้แน่ๆ (ยิ้ม) ถ้าผมซื้อไฟมาลงทุนเอง ผมว่าผมเจ๊ง เพราะถึงเขาจะมีตังค์น้อยขนาดไหน ผมก็ให้ใช้ไฟหมด ฉะนั้น ห้ามซื้อมาลงทุนเอง ไม่งั้นเจ๊งแน่ๆ ถ้าเรารักมันขนาดนี้ก็อยู่แบบนี้ไปดีกว่า เป็นคนออกแบบนี่แหละดีแล้ว มันลงแรง ลงใจ ลงทุน ลงทุกอย่างเกินไป ต้องยอมรับว่าถ้าจะทำอะไรเป็นธุรกิจ มันต้องไม่เป็นแบบนี้
แต่พอเป็นแบบนี้ ก็จะมีคนถามบ่อยๆ เหมือนกันว่า ในเมื่อมีคนมาจัดวางไฟในคอนเสิร์ตให้อยู่แล้วเวลาจ้างบริษัทเช่าไฟ แล้วทำไมต้องจ้างพวกผมให้มาออกแบบอีก มันเท่ากับต้องเสียตังค์ 2 ต่อ ผมก็จะตอบกลับไปว่าตังค์ที่พี่เสียไปแพงๆ กับค่าเช่าไฟ พวกผมนี่แหละครับจะเป็นคนช่วยใช้ให้มันคุ้มเอง”
(Lomosonic T Minus Zero Concert)
ต้นบอกว่าเขาไม่เคยวิ่งไปหางาน แค่ทำอย่างที่อยากทำไปเรื่อยๆ แล้วคนที่ชอบงานเขาก็จะวิ่งเข้ามาหาเขาเอง ซึ่งก็มีบ่อยครั้งที่งานวิ่งมาปะทะอย่างจัง แต่เขาก็เลือกที่จะผลักไสมันออกไปเองด้วยเหตุผลที่ว่า “มันไม่คลิก”
“เคยมี AF (Academy Fantasia) โทร.มาให้ผมไปทำ ผมบอกเลยว่าผมทำไม่ดีหรอกครับ ผมทำไม่ได้หรอก ข้อหนึ่งคือ ผมไม่ได้ชอบฟังเพลงเขาหรอก ข้อสองคือ จริงๆ แล้วเขาไม่ได้อยากได้แบบผมหรอก พอถึงเวลาจริงๆ เขาก็จะอยากให้จัดแสงแบบศิลปินหน้าชัดๆ เพราะต้องเอาไปออกโทรทัศน์ เพราะฉะนั้น ผมจะไปอยู่ตรงนั้นทำไม ไปอยู่ก็ผิดที่ผิดทาง พอเขาโทร.มาชวน เลยตอบได้เลยว่า เราไม่เหมาะกันแน่ๆ
มันเหมือนเลือกผู้หญิงน่ะครับ คนนี้เดินมาสวยไฮโซเลย แต่ไม่เหมาะกับเราแน่ๆ เขาไม่ชอบเราหรอก เราก็ไม่ชอบเขาหรอก แต่เขาดูดีนะ เขาก็ว่าเราคงมีอะไรบางอย่าง (หัวเราะ) แต่สุดท้ายไม่ได้แน่ๆ ก็ไม่คบกัน แค่นั้นเอง มันคือทฤษฎีอย่างนั้นเลยครับ ผมก็เลยไม่ทำ” ตรงกันข้าม กับงานที่อยากทำ มองแล้วรู้เลยว่าคลิกกัน ต่อให้ทำฟรีๆ ต้นก็ทำให้ได้
UFO Tree Lighting Installation @ The Last fat fest from DuckUnit on Vimeo.
“มีวงนึง ชื่อวง Destop Error เป็นวงที่ไม่ดังสักที แต่ผมชอบเพลงเขา ผมทำให้ทุกคอนเสิร์ตที่เขาเล่นเลยครับ จะเวทีเล็กใหญ่แค่ไหนผมก็ทำให้ มีอยู่ครั้งนึงเขาไปเล่นที่ Fat (Festival) จะไปยืนดูเฉยๆ มันก็ไม่ได้ดั่งใจ รู้เลยว่าวงนี้จะมีแสงไฟสีชมพู สีเขียว มันไม่ได้แน่ๆ ผมก็เลยเดินไปขอทีมงานเขาเลยว่า ผมขอคุมไฟให้วงนี้แล้วกัน เดินไปจับบอร์ดเขาแล้วก็มั่วๆ ตรงนั้นเลย ก่อนวงจะขึ้นแป๊บเดียว
ไม่ได้วางแผนอะไร ไม่ได้รู้มาก่อนเลยว่าไฟเป็นแบบไหน เพียงแต่รู้ว่าต้องห้ามมีอะไร วงนี้มันคือวงยากจน คือวงดิบๆ ที่ไม่มีตังค์ ผมก็แค่ขึ้นไปบนบอร์ดควบคุมแล้วก็คิดว่า เราไม่ต้องทำอะไรถึงขั้นดีหรอก เราแค่อย่าทำอะไรที่มันไม่ดี แล้วมันจะจบ แค่เราเข้าใจวงว่าเขาเป็นยังไง แล้วก็เลือกที่เหมาะกับมัน แล้วก็จะดีเองครับ ไม่ต้องทำอะไรเยอะเลย”
“สีเขียว” ละลาย “อีโก้”
(เบื้องหลังคือ ผลงานคอนเสิร์ตทั้งหมด ทั้งไทยและเทศที่ผ่านมือต้นมาแล้ว)
อยู่กับ แสง-สี-เสียง มากว่า 10 ปี ย่อมรู้ดีว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนเราไม่ใช่น้อย แต่สีที่สามารถเปลี่ยนแปลงมุมมองความคิด พลิกชีวิตของนักออกแบบแสงอย่างต้นได้ กลับไม่ใช่สีของแสงอันละลานตาที่ปรากฏอยู่ในคอนเสิร์ต แต่กลับเป็นสีเขียวอ่อนๆ ของต้นไม้ใบหญ้า ในวันที่เขากลับไปพักสมอง ใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาตามครรลองของธรรมชาตินั่นเอง
“ก่อนหน้านี้ มีช่วงที่ผมหยุดทำงานไปเลยครับ 2 ปี เพราะไม่รู้จะทำอะไร จะทำงาน Commercial ทำไปแล้วได้ตังค์ แล้วมันยังไง ทำได้พักนึงก็เบื่อ เคยไปร่วมแสดงศิลปะในญี่ปุ่นกับรุ่นพี่ในทีมอยู่ช่วงนึง ก็รู้สึกว่าสนุกดี แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าศิลปะมันคืออะไร ก็เลยหยุด แล้วไปเรียนภาษาแล้วก็ไปฝึกทำ Motion Graphic เพิ่มที่ออสเตรเลียอยู่ปีนึง พอกลับมาก็รู้สึกว่ายังไม่อยากทำคอนเสิร์ต รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ได้มีค่าหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ได้กลับมาเปิดคลิปงานที่เคยทำ มันก็หายไปไหนก็ไม่รู้ พอดีที่บ้านผมมีรีสอร์ทที่วังน้ำเขียว ก็เลยตัดสินใจไปหยุดงานที่นี่ แล้วไปช่วยเป็นผู้จัดการ ไปใช้ชีวิตที่นั่นอยู่พักนึง
ทำงานหน้าคอมพ์ มา 6-7 ปี เอาตัวไปอยู่ที่ภูเขาสักพัก ไปเจอเรื่องที่ธรรมดาในชีวิตจะไม่เจอ ไปดูแลแม่บ้าน แม่ครัว ได้เห็นเขาทะเลาะกัน ส่วนเราก็ต้องดูละครทุกคืน ตื่นมาจะได้คุยกับเขาได้ (พูดไปยิ้มไป) ไปมองชีวิตคน เห็นว่าพนักงานที่รีสอร์ท เขาไปทำงานตอนเช้า 8 โมง ได้เงินวันละ 200 เขาก็โอเคแล้วนะ อยู่ต่างจังหวัด กินข้าวน้อยๆ แบบนั้นมันก็แฮปปี้ดีนะ แต่พอผมอยู่ไปได้สัก 2 ปี รู้สึกว่ามันแฮปปี้เกินไป ตื่นขึ้นมาแล้วก็รู้อยู่แล้วว่าวันนี้ต้องทำอะไร ทำงานให้จบวัน ตกกลางคืนทำบัญชี เพื่อตื่นเช้ามาที่จะเจอวันใหม่แล้วก็เป็นเหมือนเดิม คือชีวิตมันถูกต้องแล้วนะครับ ไม่ต้องไปเหนื่อยทำอะไรที่กรุงเทพฯ เยอะๆ แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่ามันยังไม่ถึงเวลา”
(ไฟที่ออกแบบเอง จากไอเดีย นำจานสังกะสีของแม่ค้า มาต่อเข้ากับดวงไฟ)
จุดพลิกผันของชีวิต ณ จุดนี้เองที่ทำให้ชายหนุ่มคนเดิมกลับมาทดลองเล่นกับความบันเทิงที่เรียกว่า “คอนเสิร์ต” อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เขากลับมาทำมันในแบบที่ “เข้าใจ” มากขึ้น ไม่ต้องมาคอยตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนช่วงที่เต็มไปด้วยความสับสนอีกต่อไป
“แต่ก่อนจะชอบถามว่า แล้วเราจะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แต่หลังๆ มาไม่ถามแล้วครับ อยากทำก็ทำ ไม่ใช่เพราะเราตอบคำถามที่เคยสงสัยได้แล้วทุกอย่างนะ แต่คงเพราะแก่แล้ว (ยิ้ม) มันไม่มีเวลาให้ถามละ ทำเลยดีกว่า ทำไปเหอะ ถ้ามัวแต่ถามก็จะไม่ได้ทำอะไรสักที” ทุกวันนี้ ต้นจึงพยายามทำงานให้สื่อสารกับคนมากขึ้น ถ้าลองเงี่ยหูฟังงานของเขาดูดีๆ จะได้ยิน Message ที่ซ่อนเอาไว้ในนั้นอีกเยอะแยะ
“อย่างเช่น คอนเสิร์ตปาล์มมี่ (Palmy Barefoot Acoustic Concert) เขาอยากได้ความรู้สึกเป็นกันเอง ให้คนดูรู้สึกว่าเข้าไปแล้วเป็นอะคูสติกแบบสบายๆ ก็เลยต้องออกแบบเวทีให้เตี้ยๆ หน่อย เพราะถ้าเวทีสูง เขาจะดูเอื้อมไม่ถึง ส่วนที่ทำเวทีเป็นวงกลม เพราะต้องการให้รู้สึกอบอุ่น คนดูโอบล้อมเขา ตรงพื้นเวที ปาล์มมี่เขาอยากเดินเท้าเปล่า เลยคิดว่าคงต้องเป็นพื้นสนามหญ้า
แต่ถ้าซื้อหญ้าปลอมมาปู มันจะดูไม่จริง จะใช้หญ้าจริงก็ไม่ได้ เพราะคอนเสิร์ตมี 2 รอบ หญ้าพังแน่ๆ ก็เลยต้องทำเนินขึ้นมา เอาถุงทรายไปวาง แล้วเอาหญ้าปลอมไปปูทับอีกที ให้มันดูมีมิติ ให้ดูไม่ปลอม ส่วนตัวหญ้าก็เอาสีสเปรย์ค่อยๆ ไปพ่น ให้มันดูเหี่ยวๆ แล้วก็เอาไก่ไปวางบนเวที 8 ตัว เพื่อให้รู้สึกว่ามันเป็นพื้นหญ้าจริงๆ
(แบบจำลอง-เวทีจริง เนรมิตฝันศิลปินให้เป็นจริง)
พอคนเดินเข้ามาในงานปุ๊บ เขาจะเห็นเวทีสว่างๆ สีเขียว แล้วก็มีไก่เดินอยู่ เขาจะนั่งที่ไหนไม่รู้ แต่เขาจะเดินไปที่เวทีก่อนเพื่อถ่ายรูปกับไก่ มันคือโมเมนต์แรกที่คนเห็นเวทีน่ะครับ แล้วเวทีมันพูดว่าอะไร เวทีมันพูดว่า “เข้ามาเลย! ถ่ายรูปได้นะ เราเป็นกันเองนะ” มันคือสิ่งที่พวกผมคิดดีไซน์ทั้งหมด หลังจากได้ปรึกษากับตัวศิลปินเรียบร้อยแล้ว
เวลาทำคอนเสิร์ต เสน่ห์มันอยู่ที่ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นน่ะครับ มันมีเวลาของมันวิ่งอยู่ ชั่วโมงสองชั่วโมง เราต้องคุมทุกอย่างในมือให้เป็นไปตามที่คิดมาจนจบ เราต้องรู้ว่าทำอะไรอยู่ เพื่ออะไร ในแต่ละเพลง ผมก็จะมีกราฟเขียนบอกไว้ว่า ท่อนนี้ เนื้อร้องนี้ เราต้องคุมไฟให้ขึ้นตอนไหน คำไหนของประโยค ท่อนนี้ต้องไฟสีนี้นะ มันรายละเอียดไปถึงขั้นนั้น
อย่างคอนเสิร์ตวง Lomosonic จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ฟังเพลงเขามาก่อนเยอะมาก แต่รู้สึกว่าวงนี้มีอะไรบางอย่างที่น่าจะต้องทำ ผมก็ใช้วิธีฟังเพลงเขาวันละ 5-10 รอบ ฟังจนเข้าไปในกระแสเลือด จนรู้สึกว่าเดี๋ยวท่อนนี้ต้องเอาไฟขึ้นนะ พูดแล้วอาจจะดูเวอร์ (ยิ้มเขินๆ) แต่ผมต้องฟังจนเข้าไปในจิตวิญญาณจริงๆ ถึงจะคุมแสงคุมทุกอย่างในคอนเสิร์ตได้ และนี่คือสาเหตุที่เราต้องเลือกวงที่จะทำให้ครับ”
ศิลปินที่ถูกลืม?
ในช่วงต้นของบทสนทนา ผู้สัมภาษณ์ยังคงมองผู้ชายที่อยู่ตรงหน้าในฐานะ “นักออกแบบแสง” แต่เมื่อได้พูดคุย ทำความรู้จักกับตัวตนและผลงานตลอดทางที่ทำมา กลับทำให้สายตาที่มองเขาคนนี้เปลี่ยนไป รู้สึกว่าต้นเหมาะกับคำว่า “ศิลปิน” เสียมากกว่า เพียงแค่งานศิลปะของเขายังไม่ได้ถูกนำไปใส่กรอบวางแขวนในแกลเลอรี หรือมีชื่อ “เรืองฤทธิ์ สันติสุข” แปะกำกับเพื่อบ่งบอกชื่อเสียง แต่งานของเขากลับซ่อนอยู่ในแสง-สี-เสียง แอบอิงอยู่ในจังหวะของตัวโน้ตแห่งโลกคอนเสิร์ต และดูเหมือนว่าเขาจะยินดีที่จะเป็นเช่นนั้น...
ศิลปินที่ผู้คนไม่ได้ตั้งใจเข้าไปเพื่อเสพผลงานโดยตรง ผลงานที่ผู้ชมอาจจะไม่ได้ตั้งใจดู... ผลงานของศิลปินที่ถูกลืม
“ผมไม่ได้สนใจในจุดนั้นมั้งครับ จุดที่คิดว่าจะต้องมีชื่อเราแปะไว้ให้คนรู้ว่าเป็นงานเรา ถ้าเกิดต้องทำงานเดียวกันที่หอศิลป์ แต่ไม่ได้ทำอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ผมก็ไม่แฮปปี้ที่จะทำ ถ้าเทียบว่าผมต้องไปทำงานที่หอศิลป์ แต่ทำแล้วไม่ได้ดั่งใจ เช่น โปรเจ็กต์เตอร์ไม่มี หรือหอศิลป์ห้ามเจาะผนัง แบบนั้นผมไม่เอาดีกว่า สุดท้ายแล้ว ศิลปะของผมมันก็คงเป็นอะไรที่ทำแล้วมีความสุขครับ
มันเป็นเสน่ห์ของมันอย่างนึงนะผมว่า เพราะงานที่ทำในคอนเสิร์ตมันจะมีเวลาของมันที่จะต้องเล่าเรื่อง เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น ณ เวลานั้นเท่านั้น ถ้าเป็นภาษาศิลปะเขาจะเรียกว่า Site Specific น่ะครับ มันไม่สามารถเอาความรู้สึกนี้ไปตั้งที่หอศิลป์ได้ แต่ต้องมาที่คอนเสิร์ตเท่านั้นถึงจะได้เห็น และผมก็เลือกแล้วว่าผมจะเป็นแบบนี้ แล้วก็แฮปปี้กับการทำแบบนี้แล้ว”
ถ้าเคยได้ดูผลงานการจัดแสงรวมถึงลูกเล่นที่ต้นและทีมวางเอาไว้ในคอนเสิร์ต จะรับรู้ถึงความรู้สึกโดดเด่นแต่ไม่หวือหวา ดึงดูดความสนใจแต่ไม่แย่งซีนศิลปินที่อยู่ในคอนเสิร์ต เรียกได้ว่างานศิลปะของเขาเป็นเหมือนส่วนผสมของความกลมกลืน ถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจจ้องมองดู แต่คนที่อยู่ในคอนเสิร์ตจะ “รู้สึก” ได้เอง
“ถ้าให้วาดภาพคอนเสิร์ตที่ไม่มีการออกแบบแสงเลย ถามว่าเพลงมันจะเพราะน้อยลงมั้ย ก็ไม่นะครับ มันเหมือนเรานั่งกินเหล้ากับเพื่อน แล้วเพื่อนเล่นกีตาร์อะคูสติกแล้วเล่นเพราะ มันก็เพราะ บางทีเพราะกว่าเล่นในคอนเสิร์ตด้วยซ้ำ เพียงแต่ตอนอยู่ในคอนเสิร์ต เวลาคนไปดู เขาอยากได้อะไรที่มันเหนือธรรมชาติ เขาอยากได้โมเมนต์อะไรสักอย่างที่ในชีวิตธรรมดาจะไม่ได้เห็น คอนเสิร์ต มันไม่ใช่แค่ฟังแล้วเพราะครับ เพราะว่าถ้าฟังแล้วเพราะ ฟังจากซีดีมันเพราะกว่าเล่นสดแน่ๆ แต่มันคือการที่คนไปดูแล้วได้ความรู้สึกมากกว่าฟังเพลง
อย่างปาล์มมี่ คอนเสิร์ตเขาพยายามจะทำให้บ้านที่สุด บ้านจนคนดูจะได้ความรู้สึกว่า โห! มันบ้านขนาดนี้เลยเหรอวะ ก็จะเป็นความบ้านอย่างที่ในชีวิตธรรมดาไม่ได้เจอ หรืออย่างดูพี่เบิร์ด เราก็อยากได้ความรู้สึกว่าเขาเป็นซูเปอร์สตาร์ เอื้อมไม่ถึง หรือทำวงร็อกรุนแรงอย่าง Lomosonic ผมแค่อยากให้ได้ภาพที่ศิลปินปล่อยพลังออกมาให้เยอะที่สุดในโลก คนดูแล้วรู้สึกว่า อ้า...กูจะตายๆ นักร้องตะโกนเสียงสูงแค่ไหน ไฟมันก็ต้องตามไปให้ถึงเท่านั้น
ที่เคยทำมาก็มีทั้งงานที่ใช้ไฟมาก ปล่อยพลังเยอะมาก กับงานที่ใช้ไฟน้อยมาก เพื่อให้ได้ความรู้สึกน้อยแต่มาก ไฟทั้งคอนเสิร์ตใช้ไม่ถึง 20 ดวง คือถ้าจะทำให้น้อย ความน้อยของมันจะต้องพีคไปถึงจุดสูงสุด หรือถ้าจะปล่อยพลังให้เยอะๆ ความเยอะก็ต้องพีกไปถึงจุดสูงสุดเหมือนกัน ผมเชื่อว่าถ้าเราคุมได้แบบนี้ ถ้าเราทำดีจริง ถึงคนดูไม่ได้ตั้งใจดู Production หรือการจัดไฟของเรา แต่ถ้าเราทำถึง ถึงเขาไม่ได้ตั้งใจเสพ แต่เขาจะรู้สึก”
เคยมีเหมือนกัน ช่วงที่อีโก้สูงๆ สมัยทำ Motion Graphic เป็นภาพเคลื่อนไหวฉายบนจอประกอบคอนเสิร์ต อยากให้คนเห็นผลงานของตัวเองจนถึงขั้นไม่สนใจว่าจะต้องดับไฟดวงอื่นๆ บนเวที ทำให้หน้าศิลปินจะมืดเป็นเวลานานๆ เพียงเพื่อต้องการโชว์คลิปแอนิเมชั่นของตัวเอง แต่สุดท้าย ต้นก็หาจุดสมดุลเจอ จุดที่งานศิลปะของเขาไม่ได้เรียกร้องให้ดูมันมาก ไม่ได้โดดเด่นจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้ถูกลืม มาจนถึงตอนนี้ เขาก็ยังใช้ความรู้สึกเดียวกันนี้ในการทำงาน ค่อยๆ ทำไป ไม่ได้ต้องการสร้างชื่อเสียงให้คนสนใจ เปรียบไปแล้วคงเหมือนวิธีที่เขาใช้เวลาไปออกทริปปั่นจักรยาน ตั้งใจปั่นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงเส้นชัยเอง
“ผมชอบปั่นแบบระยะทางไกล เหมือนเมื่อวานทั้งวัน ผมไม่ทำอะไรเลย เตรียมจักรยานอย่างเดียว เพราะรู้ว่าถ้าพรุ่งนี้ไปปั่น ฝนจะตกแน่ๆ ต้องปั่น 300 กม. ทำยังไงให้ปั่นแล้วถึงที่หมายได้ตามเวลาที่กำหนด ก็หาถุงพลาสติกมาห่อกันฝน หาคลิปมาหนีบ
ตอนนี้โลกมันหมุนเร็ว ถ้าอะไรฉาบฉวย เดี๋ยวมันมาแล้วมันก็ไป ผมไม่ไหวกับการจะวิ่งตามอะไรขนาดนั้น ฉะนั้น ผมเลือกจะทำอะไรของตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ทำ แล้วถ้าพื้นฐานชีวิตแน่น เดี๋ยวโลกที่มันหมุนเร็วๆ ก็จะหันมาเห็นเราเอง
ทุกวันนี้ ไม่ค่อยมีใครรู้หรอกว่าผมทำตรงนี้มาหลายปีมากแล้ว แต่ว่า รู้-ไม่รู้ ไม่เป็นไรเลยครับ เพราะถ้าผมทำแล้วอยากให้คนรู้มากๆ แต่คนไม่รู้สักที มันก็ทุกข์ แต่ถ้าผมทำแล้ว ผมมีความสุข เดี๋ยวคนมารู้เอง ผมก็สบายใจ คนไม่รู้ก็ไม่เป็นไร คนรู้ก็ถือเป็นกำไรไปเอง”
(ศิลปะที่ซ่อนอยู่ในคอนเสิร์ต)
(สร้างสรรค์แบบทดลอง ก่อนสร้างให้เกิดจริงบนเวที)
ภาพ: วรวิทย์ พานิชนันท์
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ DuckUnit, duckunit.tv
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754