xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทใหม่ของ “ฮิวโก้” หนุ่มเซอร์ หัวใจคันทรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังนำสัญชาติไทยไปวาดลวดลายเอาไว้อย่างสวยงามในระดับอินเตอร์ จนผลงานเพลงอัลบั้ม “Old Tyme Religion” โด่งดังในวงกว้าง ส่งให้ “ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์” กลายเป็นศิลปินเครางามที่ทรงเสน่ห์ที่สุดคนหนึ่งในสังกัด ร็อก เนชั่น (Roc Nation) อเมริกา

ล่าสุด เขาหอบประสบการณ์ทางดนตรีข้ามน้ำข้ามทะเล กลับมาเปิดหูเปิดตาชาวไทย ด้วยบทบาทใหม่ในฐานะ Music Director ของ “Palmy Barefoot Acoustic Concert” จึงเป็นโอกาสดีที่จะเปิดใจเซอร์ๆ ของเขาคนนี้ในหลายๆ มุม โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อวงการเพลงบ้านเรา ในฐานะศิลปินที่ผ่านงานมาแล้วทั้งในประเทศและระดับโลก




ไม่จำเป็นต้อง “โกอินเตอร์”

คิดว่าอะไรทำให้ศิลปินไทยส่วนใหญ่ โกอินเตอร์ได้มากที่สุดแค่ในเอเชีย?
ผมไม่รู้ครับ อาจจะเรื่องของเชื้อชาติด้วย เพราะคนเอเชียก็อยากเห็นคนเอเชียบนเวที มันอาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนที่หน้าตาเหมือนฝรั่งก็ได้ และสำหรับผู้ชายในวงการบันเทิงมันก็ง่ายกว่า เพราะเรื่องหน้าตา เรื่องรูปลักษณ์มันไม่สำคัญเท่า ผู้หญิงมักจะเสียเปรียบ ต้องสวย ต้องจัดเต็ม และถ้าเราไม่ใช่คนดัง เขาจะจัดเต็มให้เราหรือเปล่า? มันยากอ่ะครับ แค่ค่าตั๋วเครื่องบินอย่างเดียวมันก็เป็นเงินมหาศาลแล้ว

ผมว่าหลักๆ มันก็คงเป็นเรื่องภาษา ถ้าจะได้ออกเทปที่เมืองนอกก็ต้องร้องเพลงภาษาอังกฤษได้ดีเท่าเจ้าถิ่นหรือคนพื้นบ้านที่นั่น เพราะเราบินไปแข่งกับคนอเมริกันหรือคนอังกฤษ แล้วถ้าคุณเป็นคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษไม่ชัด มันก็จบ มันไม่ได้เกี่ยวกับฝีมือหรือความยุติธรรมเลย มันแค่นั้นน่ะ
เขาไม่ได้ต้องการฟังคนไทยร้องเพลงติดสำเนียง ก็เหมือนคนไทยที่ไม่ได้ต้องการฟังใครมาร้องเพลงไทยไม่ชัดๆ ให้ฟัง ตลอดเวลาที่ผมเป็นนักร้องไทย ผมเองก็พยายามระมัดระวังเรื่องความชัดของภาษาในเพลงไทย ระวังเรื่องการร้องติดสำเนียง ร้องแล้วไม่เข้าใจเนื้อร้อง หรืออยู่ที่นู่น ก็มีเรื่องการแต่งเนื้อร้องภาษาอังกฤษไม่ได้ หลายเรื่อง มันก็เลยยากไงครับ

รู้สึกมั้ยว่าคนไทยต้องให้ศิลปินได้รับการยอมรับจากเมืองนอกก่อน แล้วค่อยยอมรับ?
มันก็ไม่จริงเสมอไปครับ ก็มีศิลปินไทยเยอะแยะที่ไม่ได้โกอินเตอร์แล้วได้รับการยอมรับในเมืองไทย มันก็แล้วแต่ศิลปิน-นักแสดงแต่ละคนครับว่าเขาพอใจกับอะไร อยากจะทำอะไร-แค่ไหน
เหตุผลที่ผมไปทำงานที่เมืองนอกเพราะว่ามันมีช่องทาง ถ้ามันไม่มีช่องทาง ผมก็ไม่ได้ดิ้นรนเพื่อที่จะเล่นนอกประเทศไทยหรอก ผมไม่เคยคิดว่ามันจำเป็นต้องเล่นนอกประเทศเลยครับ

แสดงว่าคำว่า “โกอินเตอร์” ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตศิลปินของฮิวโก้?
ไม่ครับ สิ่งที่จำเป็นคือการมีงานทำเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ประเทศอะไรก็ตาม




วงการเพลงไทยวันนี้

เทียบกับเวทีสากล มาตรฐานคอนเสิร์ตในไทย มีให้เห็นบ่อยมั้ยที่จัดเต็มเรื่องดนตรี?
ผมไม่ได้มองดนตรีเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขนาดนั้นนะ เสียงที่ออกมาบนเวทีมันก็ขึ้นอยู่ที่คนเล่น ขึ้นอยู่กับบรรยากาศบนเวที ทีมที่คุมซาวนด์ที่เป็นทีมไทยทั้งหมดที่เคยร่วมงานด้วยก็ไม่ได้แพ้เมืองนอก ตอนที่เราไปเมืองนอก เราก็เป็นศิลปินใหม่ เราไม่ใช่ศิลปินที่โด่งดังอะไร เพราะฉะนั้น มันเปรียบเทียบกันได้ยาก ผมแค่รู้ว่าใครเล่นดี ใครเล่นไม่ดี

ผมไม่สามารถบอกได้ว่าคอนเสิร์ตไหน ใครเขาต้องการเน้นเรื่องอะไร เน้นเรื่องซาวนด์มั้ย แต่สำหรับผม เราเน้นคุณภาพ แน่นอน Sound Engineer ก็มีผล แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่น้ำหนักนิ้วแล้วก็มือของศิลปินที่เล่นครับ และมันก็มีคนไทยเยอะแยะที่เก่งพอๆ กับคนที่อยู่เมืองนอก แต่เขามักจะอยู่ในวงแล้ว เราไปจิ๊กเขามาร่วมงานไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมบ้านเราและขนาดของตลาดบ้านเรามันเล็กมาก มันไม่สามารถหล่อเลี้ยงกลุ่มนักดนตรีมือปืนมืออาชีพหลายๆ คนได้ ทำให้คนฝีมือดีๆ ที่ว่างๆ มีเหลือแค่ตำแหน่งละคนในเมืองไทย จะดึงตัวมาร่วมงานแต่ละครั้งมันก็เลยยาก

พูดถึงเรื่องหน้าตาบ้าง คิดว่ายังมีผลต่อคนฟังอยู่มากมั้ยในเมืองไทย?
ถ้าพูดถึงในแง่นักดนตรีอย่างเดียว ผมว่าไม่เกี่ยวเลยครับ เพราะนักดนตรีหน้าตาขี้เหร่ในเมืองไทยก็ยังมีงานทำกันเยอะแยะ เรื่องจะอยู่รอดมั้ยในบ้านเรา มันเกี่ยวกับว่าบ้านเรามี 65 ล้านคน อเมริกามี 300 ล้านคน แล้วดนตรีจากอเมริกาฟังกันทั่วโลก เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล เพราะฉะนั้น โอกาสที่นักดนตรีเหล่านั้นมี โอกาสที่จะได้ทำงานกับวงมันเลยเยอะกว่า ปริมาณนักดนตรีก็เยอะกว่า การแข่งขันก็ดุเดือดกว่า ทำให้เกิดนักดนตรีหัวกะทิออกมาให้เห็นตลอด

ร่วมงานในระดับโลกมา กลับมามองวงการเพลงบ้านเราวันนี้ เป็นยังไงบ้าง?
จริงๆ แล้วมันก็เรื่องเดียวกันนะ เพราะคนเรามันมีอะไรที่คล้ายกันมากกว่าแตกต่าง ไม่ว่าจะมาจากประเทศอะไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่ผมเห็น คนเรามีความอยาก ความต้องการ ความอิจฉา วงการเพลงทุกที่ก็แข่งขันเหมือนกันหมดแหละ มันก็สนุกเหมือนๆ กัน คนประเภทเดียวกันก็จะอยู่ในวงการเพลง

จะต่างกันที่เรื่องภาษาและขนาดของตลาด ตลาดไทยมันเล็ก ถ้าเปรียบเทียบกับตลาดอเมริกา และจริงๆ แล้ว เพลงที่เขาเรียกว่าเพลงสตริงหรือเพลงป๊อปไทย เพลงที่อยู่ในสไตล์สากล มันก็ยังเป็นตลาดส่วนน้อย และจริงๆ แล้ว เมืองไทยเราเนี่ย ยังไงลูกทุ่งก็ขายดีกว่าป๊อบ แต่คนส่วนใหญ่ชอบมองว่าป๊อบเป็นเรื่องใหญ่ในเมืองไทย ซึ่งมันไม่ใช่

สิ่งที่ทุกคนกำลังมองข้ามคือวงการลูกทุ่งต่างหาก ลูกทุ่งเป็นเรื่องใหญ่ในเมืองไทย คนแต่งเนื้อร้องลูกทุ่งคือบรรดาครูอาจารย์ นักร้องที่เก่งๆ ของเมืองไทยมักจะเป็นนักร้องลูกทุ่งหรือนักร้องหมอลำ นี่คือคนที่ผมนับถือ เพราะยังไงเขาก็ชนะอยู่แล้ว เขาทั้งร้องเก่ง ฝึกฝน และแนวเพลงแบบนี้มันก็อยู่ในสายเลือดของเขา





บทบาทใหม่ที่ไม่เคยลอง

คนส่วนใหญ่รู้จักฮิวโก้ในฐานะนักแสดง, นักร้อง, นักแต่งเพลง แต่ยังไม่เคยเห็นในมุม Music Director มาก่อน
ใช่ครับ นี่เป็นครั้งแรก (Palmy Barefoot Acoustic Concert) ครั้งนี้ผมทำหน้าที่จัดวงมา ประสานงานให้เขามานี่ แล้วก็ควบคุมการซ้อมให้แน่ใจว่ามี่ (ปาล์มมี่) จะได้สิ่งที่หวังไว้ เขาชอบดนตรีแนวคันทรี่โฟล์ก อยากทำคอนเสิร์ตแนวนี้ ผมก็มีหน้าที่ไปหาทายาท คนที่สร้างดนตรีแนวนี้มาเล่นให้เขา มันก็น่าจะเหมาะดี เหมือนถ้าผมอยู่เมืองนอก แล้วใครเขาอยากทำคอนเสิร์ตแนวลูกทุ่ง หมอลำ สามช่า ผมก็ต้องแนะนำอีกแบบนึง

ไม่ค่อยเห็นคอนเสิร์ตที่บอกแนวเพลงชัดขนาดนี้ในไทยเท่าไหร่
ผมไม่รู้ว่าปกติเป็นยังไง เพราะเราก็ทำตามที่เราเห็นมา ทำตามที่เราเรียนรู้มา

อะไรคือหน้าที่ของ Music Director?
ไม่รู้ครับ ผมรู้สึกว่าแค่คุมให้ดนตรีเป็นอย่างที่เจ้าของงานต้องการ นึกถึงตอนที่เราเป็นนักร้อง เอ...เราอยากให้อะไรมันเกิดขึ้นบ้าง เราไม่ชอบอะไรบ้าง นักดนตรีมาซ้อมแล้ววงไม่ได้แกะเพลง ซ้อมนานเกินไป ซ้อมเครียดเกินไป มันละเอียดอ่อนครับ การซ้อมหนักๆ มันก็ได้ประโยชน์ แต่ต้องอย่าทำให้ทุกคนเยินแล้วก็รำคาญ เกลียด แล้วก็เบื่อ ต้องรักษาความสนุกเอาไว้ แต่ก็อย่าเฮฮาเกินไป งานก็คืองาน

สำหรับผม นิยามคำว่า Music Director คือคำว่า “เวอร์” ครับ เพราะจริงๆ แล้ว นักดนตรีเขารู้อยู่แล้วว่าจะเล่นอะไร เราก็ช่วยเรียกร้องกว้างๆ เพิ่มเข้าไปว่าขอให้เล่นเป็นแบบนี้ๆ หน่อยนะ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือความต้องการของมี่นั่นแหละครับ เขาคือคนเดียวที่รู้ว่าเขาควรทำ-ไม่ทำอะไร ผมแค่ช่วยคุมให้นักดนตรีเล่นออกมาได้อย่างที่มี่จินตนาการไว้

ทำงานกับ "ปาล์มมี่" ยากมั้ย?
สำหรับผมมันง่ายมาก เขาก็เป็นนักร้องที่มีรสนิยมค่อนข้างจัด ซึ่งผมชอบ ผมคุยกับคนแบบนี้รู้เรื่อง คนที่รู้ว่าตัวเองคือใคร รู้ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สามารถให้คำตอบที่จริงได้ เขารู้ว่าเขาต้องการอะไรจากผม และมันก็เป็นหน้าที่ผมที่ต้องทำให้ได้อย่างนั้น อย่างที่เขาต้องการ ตัวผมเองไม่ได้ละอายกับคำว่าลูกจ้าง และถ้าเรารับหน้าที่อะไรแล้ว เราก็ทำให้ได้อย่างที่นายจ้างต้องการ และผมอยากทำให้มันสุดๆ

ในฐานะศิลปิน คาดหวังต่อคนเสพศิลปะบ้างมั้ย?
ผมไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะผมรู้สึกว่าถ้าเราทำอะไรที่เพราะ คนก็ต้องชอบ ภาษาอังกฤษไม่มีคำว่าเพราะ แต่ภาษาไทยมี เพราะฉะนั้น คนไทยเข้าใจว่าการฟังเพลงมันต้องเพราะ มันเป็นเรื่องของรสนิยม มันไม่มีผิดถูก ผมไม่เคยมองว่าคนไทยเสพศิลปะน้อย เพราะคนไทยเท่าที่ผมเจอและคลุกคลี ที่คบมาตลอดและโตมาด้วยก็เสพศิลปะ ผมว่าคนไทยก็มีรสนิยม

ที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้ยินคำว่า “คันทรี่โฟล์ก” ในไทยเท่าไหร่ เพราะอะไร?
บ้าที่สุด (ส่ายหน้า) อัลบั้ม กัมพูชา ของพี่แอ๊ด-คาราบาว ก็รับมาตั้งนานแล้ว จรัล มโนเพ็ชร ก็มี มันมีรากเหง้าในเมืองไทยที่ลึกมาก เพียงแต่คนไม่เรียกมันว่า “คันทรี่โฟล์ก” ชอบไปเรียกกันว่าเป็นแนวเพื่อชีวิต หรือบอกว่าแนวโฟล์กเชย หรือเป็นดนตรีสำหรับคนต่างจังหวัดฟัง ผมว่ามันคงเป็นจริตของคนกรุงเทพฯ มั้ง ที่ลืมว่าคนไทยคลุกคลีกับดนตรีคันทรี่มานานมาก และมีดนตรีคันทรี่ของตัวเองด้วย

อะไรคือเสน่ห์ของดนตรีแนวนี้?
ความเรียบง่ายของมันครับ การไม่ต้องพึ่งพาอะไรที่หวือหวา หรืออะไรปลอมๆ เพราะมันจริงมากๆ เราจะได้ยินน้ำหนักนิ้วของแต่ละคน เพราะมันไม่ได้ผ่านเอฟเฟกต์ ไม่มีอะไรกลบ มันจะดิบ แต่ก็จะมีความอบอุ่นของไม้อยู่ด้วย




ทุ่มให้ครอบครัวคือความถูกต้อง
ฮาน่า-ฮาร์เปอร์-ฮิวโก้
วางแผนเส้นทางดนตรีของตัวเองไว้ยังไงบ้าง?
เราก็ยังอยู่ภายใต้สัญญา (บริษัท ร็อก เนชั่น จำกัด) ครับ ถ้าเขาเรียกให้กลับไปใช้งานเมื่อไหร่ ให้ทำอะไร ผมก็ต้องไป แต่เขาก็รู้ว่าผมก็มีงานทำที่นี่ด้วย จะให้อยู่ด้วยสัญญาค่ายอย่างเดียวก็คงอยู่ไม่ได้ ซึ่งเขาก็ให้อิสระผม ให้ทำงานที่ไทยได้ แม้แต่การบันทึกเสียงชุดนี้ อัลบั้มที่กำลังจะปล่อยต้นๆ ปีหน้า ก็บันทึกที่เมืองไทย แล้วก็เอาบุคลากรจากเมืองนอกมาอัดที่นี่

ดูค่อนข้างสมดุลเรื่องงานกับเรื่องครอบครัวได้ มีคอนเซ็ปต์การใช้ชีวิตยังไง?
จากเมื่อก่อน ผมอาจจะให้ความสำคัญกับงาน 90 เปอร์เซ็นต์ ให้ชีวิตส่วนตัว 10 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นให้ความสำคัญกับครอบครัว 60 เปอร์เซ็นต์ และอีก 40 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องงานแล้วครับ ผมเต็มที่กับงาน แต่ยามว่างผมก็อยู่กับครอบครัว ผมจะไม่มีสังคมอื่นๆ จะมีแค่เพื่อนที่ทำงานด้วย และเพื่อนที่สามารถเข้ามาอยู่ในชีวิตครอบครัวผมได้ หรือเข้าใจว่าชีวิตผมเป็นแบบนี้แล้วนะ เลยไม่ได้ตั้งเอาไว้ว่าคอนเซ็ปต์ชีวิตคืออะไร แต่มันคือความถูกต้อง

นอกเหนือจากบทบาทคุณพ่อ, นักร้อง, ศิลปิน, Music Director มีบทบาทไหนอีกมั้ยที่อยากให้คนเห็น?
ผมไม่ต้องการให้ใครเห็นบทบาทอะไรทั้งสิ้น ผมทำงานของผมอยู่เรื่อยๆ ผมแค่มีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ผมทำอยู่มันไม่ได้ผิดทาง ผมหล่อเลี้ยงตัวเองได้ งานผมไม่ทำให้ผมเป็นหนี้ก็โอเคแล้ว ส่วนเรื่องการเป็น Music Director ผมทำเพราะว่ามี่ชักชวนครับ ถ้ามี่ไม่ชวน ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะทำ เพราะเราเป็นศิลปิน แต่เราก็ทุ่มสุดๆ กับมัน คิดว่าน่าจะเป็นอะไรที่พิเศษ

ยิ่งถ้าคุณเป็นแฟนเพลงมี่ คุณจะได้อะไรเยอะที่สุดจากคอนเสิร์ตนี้ เพราะเขาก็ฟังเพลงพวกนี้มาตั้งนาน และมี่เขาก็เป็นศิลปินที่มีแค็ตตาล็อกเพลงที่ค่อนข้างใหญ่ 26 เพลงที่เลือกมาเล่น มันก็เป็นเพลงฮิตเกือบทุกเพลง เพราะฉะนั้น มันคงเป็นเรื่องน่าสนุกและน่าสนใจสำหรับคนที่ฟังเพลงมี่มาตลอด คุณจะได้ฟังมันในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านเครื่องดนตรีใหม่ๆ ผมเชื่อมี่ แฟนๆ เพลงมี่เองก็เชื่อเขา เพราะฉะนั้น มันก็ต้องออกมาดี

“Palmy Barefoot Acoustic Concert” จะจัดแสดงในวันที่ 21-22 กันยายนนี้ เวลา 19.00 น. ณ ฮอลล์ 106 ไบเทค บางนา จองบัตรได้ที่ Thaiticketmajor ทุกสาขา


รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก): Thaiticketmajor, แฟนเพจ Palmy5 และ แฟนเพจ Hugo
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ภาพ: ปวริศร์ แพงราช
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล











ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
เปลือยเท้า-เปลือยใจ “ปาล์มมี่” เธอคนนี้ไม่เคยหยุดสร้างเซอร์ไพรส์!
เอนหลังฟัง “ปาล์มมี่” บอกเหตุผลที่ “เปลือยเท้า” ร้องเป็นเพลง 
กำลังโหลดความคิดเห็น