xs
xsm
sm
md
lg

“นายทหารพระธรรมนูญ” เก่งทั้งบุ๋นและบู๊

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ พร้อมมีประกาศฉบับที่ 37-38 เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมาให้คดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯ หรือความมั่นคง และหลายๆ คดีที่เกิดขึ้นในระหว่างที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงของประเทศอยู่นั้นให้ไปอยู่ในอำนาจของ “ศาลทหาร” ในการตัดสินพิจารณาคดีความต่างๆ

ฉับพลันชื่อของ “ศาลทหาร” ก็ได้รับความสนใจจากประชาชน รวมถึงผู้มาทำหน้าที่เป็นตุลาการพระธรรมนูญศาลทหาร และนายทหารพระธรรมนูญผู้มีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาคดีความต่างๆด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ทีมงาน ASTVผู้จัดการ ขอขันอาสาพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักนายทหารพระธรรมนูญ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “นายทหารนักกฎหมาย” ซึ่งมิได้เป็นเพียงแค่ผู้นั่งบัลลังก์ พิพากษาคดีความ หรือการทำหน้าที่เป็นอัยการทหารพิจารณาสำนวนต่างๆให้ได้ความเป็นธรรมตามตำรานิติศาสตร์เขียนไว้เท่านั้น หากแต่กว่าจะได้ดำดงตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญมาหนึ่งนายนั้น ต้องผ่านการฝึกแบบชายชาติทหารที่เข้มข้นเพราะเมื่อถึงเวลาคับขันพวกเขาเหล่านี้ต้องวางตำราลงพร้อมจับปืนออกมายืนสนามรบเพื่อรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ

น.ท.ศรัณย์ ชื่นสัมพันธ์ หัวหน้าแผนกคดีปกครอง กองคดีสำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือ และอดีตตุลาการพระธรรมนูญ ประจำสำนักตุลาการทหาร กรมพระธรรมนูญ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้บอกเล่าถึงที่มาของ”ศาลทหาร” ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2434 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกระทรวงยุติธรรม ปรับปรุงเรื่องการศาลทั่วประเทศทำให้ระบบศาลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ศาลยุติธรรม เป็นศาลของพลเรือน และศาลทหารอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม

สำหรับศาลทหารได้มีพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารขึ้น ซึ่งรูปแบบองค์ประกอบก็เหมือนกับศาลยุติธรรม เพียงแต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้นล้วนเป็นนายทหารทั้งสิ้น อาทิ ตุลาการพระธรรมนูญ อัยการทหาร นายทหารพระธรรมนูญ และจ่าศาลทหาร ทำหน้าที่สืบสวนและสอบสวนคดีตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาพิจารณาและเสนอความเห็นทางกฎหมาย ทางปกครอง และทางวินัย ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย และให้มีอำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร


“ทหารพระธรรมนูญ” สวมวิญญาณทั้งทหารและนักกฎหมาย

ปัจจุบันตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญและนายทหารพระธรรมนูญผู้ช่วยที่สังกัดกองทัพบกมีจำนวนทั่วประเทศประมาณ 400 นาย โดยทั่วไป อัตราประจำหน่วยกำลังรบจะมีนายทหารพระธรรมนูญ 1 นาย ต่อ 1 กรมทหาร

ซึ่ง น.ท.ศรัณย์บอกว่าคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของนายทหารพระธรรมนูญนั้น ไม่ต่างจากคณะตุลาการศาลพลเรือนหรืออัยการแต่อย่างใด คือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีความรู้ทางกฎหมายระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา มีความประพฤติเหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่นายทหารพระธรรมนูญ หากแต่มีสิ่งหนึ่งที่นายทหารพระธรรมนูญศาลทหารต่างจากศาลพลเรือนคือต้องมีชั้นยศเป็นทหารชั้นสัญญาบัตร และจะต้องทำหน้าที่เป็นทั้งทหารและนักกฎหมายในเวลาเดียวกัน โดยในบทบาทหน้าที่ของการเป็นทหารก็จะต้องวางตนรักษาระเบียบวินัยของทหารโดยเคร่งครัด ครั้นเมื่อจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในด้านกฎหมาย ก็จะต้องสวมวิญญาณเป็นนักกฎหมาย ที่ยึดหลักจริยธรรมสำหรับวิชาชีพด้วยเช่นกัน

ซึ่งกว่าจะมาเป็นนายทหารพระธรรมนูญนั้นต้องผ่านการฝึกหลักสูตรข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเป็นการฝึกตามแบบทหารเกือบทุกกระเบียดนิ้ว แม้ไม่ได้ฝึกหนักเท่านักเรียนทหาร แต่ถ้าใครไม่ผ่านหลักสูตรนี้อาจไม่ได้รับการบรรจุเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรโอกาสการได้เป็นนายทหารพระธรรมนูญอาจดูเลือนลางไป

การฝึกดูเหมือนง่ายสำหรับใครหลายคนแต่สำหรับหนอนหนังสือที่สองมือเคยจับแต่ตำรานิติศาสตร์เป็นร้อยๆเล่ม แล้ววันหนึ่งต้องมาจับด้ามปืนและฝึกทหารตามระเบียบของครูฝึกอย่างเคร่งครัด แต่ด้วยจิตอันแน่วแน่และใจที่ตั้งมั่นในการที่จะเข้ารับใช้สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทำให้ว่าที่นายทหารพระธรรมนูญทุกนายผ่านหลักสูตรนี้ไปได้ด้วยดี ซึ่งจะได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี


ชำนาญทั้งบุ๋นและบู๊

เมื่อได้รับการบรรจุเป็นนายทหารพระธรรมนูญแล้ว เข้ารับราชการหาประสบการณ์ได้สักระยะหนึ่งจากนั้นบรรดานายทหารพระธรรมนูญ ทั้ง กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ จะต้องไปเรียนร่วมกันยังโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยการเรียนที่นี้ทุกคนจะต้องเรียนหลักสูตรนายทหารพระธรรมนูญชั้นต้นและชั้นสูงเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะสำหรับการเตรียมพร้อมเป็นตุลาการพระธรรมนูญ

“หลักสูตรนายทหารพระธรรมนูญชั้นต้นและชั้นสูงเป็นหลักสูตรที่เพิ่มพูนความรู้ด้านกฎหมายเสมือนเนติบัณฑิตทุกประการ แต่ที่ต้องเรียนเพิ่มคือกฎหมายของทหาร เพราะในศาลทหารจะมีบทบัญญัติการลงโทษทางวินัยของทหารที่ต่างกันไปตามความผิด ซึ่งศาลพลเรือนไม่มี อาทิ เช่นผู้อาวุโสน้อยกว่าทำร้ายร่างกายผู้อาวุโสมากกว่า ถ้าในศาลพลเรือนคดีนี้จะเพียงแค่เปรียบเทียบปรับแล้วจบกันไป แต่ถ้าเป็นศาลทหารเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นผู้อาวุโสน้อยไม่เพียงแค่จ่ายเงินค่าปรับเท่านั้น แต่อาจมีโทษทางวินัยจนถึงขั้นสูงสุดอาจให้ออกจากราชการหรือประหารชีวิตเลยก็ได้ เหตุที่ศาลทหารต้องมีแบบนี้ก็เพื่อให้เกิดความเข้มงวดในการบังคับบัญชาตามสายงาน เพราะถ้าเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาแล้ว ในยามที่ออกศึกสงครามจะสั่งกันได้อย่างไร"

ส่วนหลักสูตรเพิ่มเติมต้องเรียนเกี่ยวกับการเขียนหนังสือทางราชการบันทึกข้อความต่างๆที่ต้องทำรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบอีกด้วย

นอกจากตำราเรียนทางวิชาการแล้วการฝึกระเบียบวินัยตามแบบลูกผู้ชายชาติทหารก็ยังต้องได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตร อดีตตุลาการพระธรรมนูญ เล่าให้ฟังว่า ใน 1 วันของการฝึกวิชาทหาร เพื่อสร้างระเบียบวินัย ตั้งแต่เช้าตรู่จะมีครูฝึกผู้ชำนาญการรบซึ่งบางครั้งอาจถูกส่งมาจากพลร่มป่าหวาย หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในนาม “นักรบหมวกเบเรต์แดง" กล้ามโตมาฝึกให้นักเรียนทุกคนมีตั้งแต่วิดพื้น วิ่งระยะไกล ซึ่งทุกคนต้องเข้าฝึกวิชานี้กันเกือบทุกวัน ถ้าใครไม่ผ่านต้องซ่อมจนกว่าจะผ่าน เพราะมิเช่นนั้นก็จะไม่จบหลักสูตรโรงเรียนเหล่าพระธรรมนูญ

เหตุผลที่นายทหารพระธรรมนูญทุกนายต้องชำนาญทั้งบุ๋นและบู๊ นั้น น.ท.ศรัณย์ บอกว่าวันใดวันหนึ่งที่พลรบไม่พอนายทหารพระธรรมนูญทุกคนต้องวางค้อนแล้วจับปืนออกไปป้องกันประเทศได้ และขณะที่ทหารกำลังรบออกไปรบกับข้าศึก นายทหารพระธรรมนูญต้องรักษาอยู่ในที่มั่นพร้อมรบ เมื่อถึงไพ่ใบสุดท้ายทุกนายต้องรบได้ ต้องปกป้องประเทศ และต้องตายเพื่อประเทศได้ทุกนายเฉกเช่นทหารกล้า

ทหารนักกฎหมายคนของ “พระราชา”

การตัดสินพิพากษาคดีของศาลทหารในยามปกติก็ว่าหนักใจแล้ว ยิ่งมาตัดสินและดำเนินคดีความในชั้นศาลช่วงที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกเหมือนอยู่ในขณะนี้ ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้แก่คณะผู้พิพากษามากยิ่งขึ้น เพราะการตัดสินของศาลทหารในช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึกอยู่นั้นคำตัดสินของตุลาการศาลทหารถือเป็นที่สุดจำเลยไม่สามารถอุทรณ์และฎีกาใดๆทั้งสิ้น จึงต้องทำให้คณะตุลาการศาลทหารทุกนายทำงานด้วยความรอบครอบบริสุทธิ์ยุติธรรม

“การทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ เป็นสิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต เพราะก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ทุกคนต้องได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าจะทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยส่วนตัวแล้วการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึกถือเป็นเรื่องที่กดดันคณะผู้พิพากษาที่สุดเพราะผลการตัดสินเป็นเช่นใดจำเลยต้องยอมรับผลการตัดสินนั้น ไม่สามารถยื่นอุทรณ์หรือฎีกาได้เหมือนอยู่ในภาวะปกติ ในส่วนตัวผมแล้วถ้าเราตัดสินคดีถึงจุดที่หนักใจที่สุด ผมจะนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะถ้าเราทำในนามพระปรมาภิไธย เราก็ถือว่าในชีวิตนี้ของการทำงานไม่มีอะไรที่อยู่เหนือสถาบันอันเป็นที่เทิดทูนยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด” อดีตตุลาการพระธรรมนูญสรุปทิ้งท้ายด้วยความปลาบปลื้มใจ



* ล้อมกรอบ*
คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามประกาศ(คสช)ฉบับที่ 37-38 เมื่อวันที่ 25 พ.ค มีดังต่อไปนี้
1.ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.107-112 อาทิ การหมิ่นประมาท/ดูหมิ่นแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ
2.ความผิดต่อความมั่นคง ป.อาญา ม.113-118 อาทิ การสะสมกำลังพล/อาวุธเพื่อเป็นกบฏ
3.ความผิดตามประกาศ/คำสั่ง คสช.ที่ 7.25,39,40,41 อาทิ ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือ ให้บุคคลมารายงานตัว ถ้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกให้รายงานตัวถือเป็นความผิด
4.ความผิดเกี่ยวโยงกับประกาศฯ ฉบับที่ 37/57 อาทิ คดีที่ไม่มีอยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่มีการ กระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754





กำลังโหลดความคิดเห็น