'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอความร่วมมือ อาร์เอสฯ ถ่ายสดบอลโลกทุกนัด..'
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เบื้องต้นสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 จะทำการเชื่อมสัญญาณกับทางอาร์เอส เพื่อถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลกครั้งที่ 20 ให้ได้ชมกันแบบฟรีๆ ตามแนวคิดของ คสช. และ ททบ. ที่ต้องการเติมเต็มความสุขให้คนไทยได้เชียร์ฟุตบอลโลกกันอย่างจุใจ!
ส่วนข้อพิพาทระหว่าง กสทช. และ บริษัทอาร์เอสฯ ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งที่ 20 หรือ FIFA World Cup 2014 นั้นสิ้นสุดลงแล้ว โดยศาลฯ ตัดสินให้ทาง อาร์เอสฯ ชนะคดี!
เท่ากับว่า สามารถรับชมฟุตบอลโลกผ่านช่องฟรีทีวีได้เพียง 22 คู่ จากทั้งหมด 64 คู่ แต่หากอยากชมแบบเต็มๆ จะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือต้องซื้อกล่องสัญญาณของทางอาร์เอสฯ แต่การเข้ามากำกับดูแลของทาง คสช. ส่งผลให้คนไทยสามารถชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลกแบบสดๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านทาง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ส่วนจะครบทุกแมตช์หรือไม่..ต้องรอยืนยันอีกที
ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ยังคาบเกี่ยวกับศักยภาพการบริหารจัดการของ กสทช. เพราะตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรมาดูเหมือนยังไม่มีผลงานชิ้นโบแดงปรากฏต่อสาธารณะ
เช่นเดียวกัน กรณีพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์การแพร่ภาพฟุตบอลโลก ระหว่างภาครัฐกับเอกชนยักษ์ กสทช. และ อาร์เอสฯ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องฉาวที่ถูกประทับในประวัติศาสตร์ขององค์กรอิสระนี้
กสทช. ต้องรับผิด(ชอบ)
“องค์กรอิสระที่ชื่อว่า กสทช. ตั้งแต่มีหน่วยงานนี้มายังไม่เคยมีข่าวดีให้กับประชาชนเลย ทุกครั้งที่เป็นข่าว หน่วยงานนี้นำมาซึ่งความสับสน ข่าวร้ายให้กับประชาชน ตั้งแต่เรื่องฟุตบอล Euro เรื่อง Digital TV แล้วเรื่องล่าสุดคือเรื่อง ฟุตบอล World Cup ผมเลยขอตั้งคำถามกับคนในองค์กรนี้ว่า Are you an asset or a hindrance for this country?” ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจ เจ้าของบริษัท แกะดำ ทำธุรกิจ จำกัด วิพากษ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ แกะดำทำธุรกิจ blacksheep
ตามข้อมูลเปิดเผยว่า บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนลบรอดคาสติ้งแอนด์สปอร์ตแมเนจเม้นต์ จำกัด ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548
นั่นเท่ากับว่าการรับชมฟุตบอลโลกในปี 2014 จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรับชม หรือต้องซื้อกล่องสัญญาณของทางอาร์เอสฯ
ต่อมาทาง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ใช้อำนาจกฎหมายสั่งการตามกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) หรือ การถ่ายทอดสดกีฬาทางฟรีทีวี โดยประกาศเมื่อปลายปีที่แล้ว
อาร์เอสฯ จึงยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม นั่นเท่ากับว่าถึงแม้จะมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางฟรีทีวี แต่จะจำกัดการออกอากาศเพียง 22 คู่ จาก 64 คู่
รายงานข่าว เปิดเผยว่า คำพิพากษาชี้ว่าการประกาศกฎสัญญาอาร์เอสกับทางฟีฟา มีมาก่อนกฎมัสต์แฮฟ ของ กสทช. ฉะนั้น กฎดังกล่าวจึงไม่ยุติธรรมต่อบริษัท อาร์เอสฯ ไม่สามารถบังคับย้อนหลังได้ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ อาร์เอสฯ สามารถเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ตามที่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต อธิบายถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
“ประกาศมัสต์แฮฟของ กสทช. ออกมาหลังจากที่อาร์เอสซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกแล้ว ซึ่งกลายเป็นบังคับใช้ย้อนหลัง โดยทางกฎหมายถือว่าลิขสิทธิ์คือทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ดังนั้น การที่ไปวิพากษ์เขา และอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ มันก็ดูตลกๆ แต่ถ้าถามว่ารัฐสามารถทำได้ไหม ต้องมีเหตุผลที่ชอบธรรมมากพอในการที่จะทำอะไร ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก่อนที่รัฐจะทำอะไรก็ต้องมีหลักคือต้องให้ความชอบธรรมและหลักกฎหมาย รวมทั้งคำนึงถึงมาตรการที่ทำลงไปว่าแม้บรรลุวัตถุประสงค์จริง แต่ความเสียหายที่ตามมานั้นอาจไม่คุ้ม”
อย่างไรก็ตาม พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดใจหลังคำตัดสินว่า กสท. น้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในคดี และจะนำผลการตัดสินไปสู่การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ กสท. ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการรับบริการโทรทัศน์โดยเท่าเทียมกันอย่างเต็มความสามารถแล้ว
บทเรียนทัวร์นาเมนต์ลูกหนังโลก
อย่างไรก็ตาม การชมการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นความคุ้นชินของคนไทยไปแล้ว ต่างจากในต่างประเทศที่มีการเก็บค่าใช้จ่ายในการรับชมมหกรรมกีฬาจำพวกนี้ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงกีฬาอธิบายให้ฟังว่า กรณีของ อาร์เอสฯ ที่ยื่นฟ้องร้องทาง กสทช. เพราะใช้อำนาจกฎหมายสั่งการตามกฎมัสต์แฮฟ นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปตามครรลองของแง่มุมธุรกิจ
แน่นอนว่า เป็นความผิดพลาดของทาง กสทช. ที่ปฏิบัติงานอย่างล่าช้า จึงทำให้กฎที่นำมาจัดการกับทางเจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ถูกศาลฯ เพิกถอนไป
“ประชาชนเสียสิทธิ..มันเสียอยู่แล้ว แต่ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปตามวิถีของโลก มันหมุนไปเรื่อยๆ มาดูฟรีตลอดทั้งชีวิตเป็นไปไม่ได้”
สำหรับลิขสิทธิ์ทัวร์นาเมนต์ลูกหนังระดับโลก รัฐบาลควรเป็นคนกลางซื้อลิขสิทธิ์แล้วนำมาปล่อยให้ประชาชนรับชมกันแบบฟรีๆ เพราะในเรื่องความคุ้มค่านั้นมีสปอนเซอร์เข้ามาอยู่แล้ว และไม่ควรให้ลิขสิทธิ์ตกอยู่ในมือของเอกชน
อ้างอิงจากสำนักข่าวอิศรา ตัดทอนข้อมูลความว่า ยกตัวอย่างเรื่องหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลการแพร่ภาพในลักษณะดังกล่าว ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตท่านเดิม เปรียบการทำหน้าที่ของ กสทช.กับ ออฟคอม (Ofcom) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระกำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อแห่งสหราชอาณาจักร
ที่มีหน้าที่ในการทำงานเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ออฟคอมไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแลรายการ แต่ทำหน้าที่เหมือนกับสภาในการตรวจสอบ
“แต่ผู้ทำเรื่องนี้คือ department media culture sportหรือกระทรวงสื่อ วัฒนธรรมและการกีฬา เมื่อเขาลิสต์รายการที่จะแข่งแล้วก็ส่งไปให้สภาพิจารณาว่าจะให้รายการใดเป็นรายการที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของคนในชาติ เป็นรายการกีฬาที่สำคัญ แต่กระทรวงสื่อฯ ของเขา จะต้องทำการเรียนรู้ใหม่ทุกๆ 5 ปี เพราะว่าอัตลักษณ์หรือค่านิยมของคนในสังคมอาจเปลี่ยนไป เช่นอังกฤษ มีกีฬาที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของเขาคือฟุตบอล ต่อมาเขาอาจเป็นเป็นเทนนิส หรือบาสเกตบอลก็ได้
“หากย้อนกลับไปดูแผนของ department media culture sport แล้วเขามีรายชื่อกีฬาให้คนดู แต่เขาไม่ได้ไปบังคับให้รายการทีวีแต่ละช่อง หรือไปเอาลิขสิทธิ์ใครเขามา อย่างในประเทศอังกฤษ หากเป็นนัดสำคัญๆ ทางสภาสามารถยื่นข้อเสนอให้บีบีซีไปซื้อลิขสิทธิ์มาได้ นี้เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ไปยึดลิขสิทธิ์ของเอกชนมา เช่นที่ กสทช. พยายามทำ” อาทิตย์ กล่าว
คงต้องติดตามกันต่อว่า การแพร่ภาพฟุตบอลโลก FIFA World Cup 2014 ประชาชนชาวไทยยังมีลุ้นที่จะรับชมการแข่งขันทุกแมตช์ทางฟรีทีวีหรือไม่? เพราะข่าวลือที่ คสช. ขี่ม้าขาวมาช่วยให้คนไทยได้ชมฟุตบอลฟรี ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ คงจะคืนความสุขให้คอบอลกันอย่างจุใจทีเดียว
ส่วน กสทช. คงถูกสังคมตีตราว่าเป็นองค์กรอิสระที่ไร้น้ำยาอีกตามเคย
…........................
ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ Live
//////////////////////////////////////
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
///////////////////////////////