xs
xsm
sm
md
lg

ถาม-ตอบข้อสงสัยยอดฮิตเกี่ยวกับ "แผ่นดินไหว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดของเชียงราย (5 พ.ค.57) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง บ้านเรือนชาวบ้าน-อาคารโรงแรมร้าวถ้วนหน้า แถมถนนสายเชียงใหม่-เชียงราย ทรุด เศียรพระองค์ใหญ่หัก-วิหารถล่ม ยอดฉัตรเหนือหลังคาวัดร่องขุ่น แหล่งท่องเที่ยวดังบิด-โค้งงอ
จากกรณีเหตุแผ่นดินไหวขนาดความแรง 6.2 ตามมาตราริกเตอร์ ศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.57 นับว่าเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งหากย้อนกลับไปดูประวัติการเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในจ.แห่งนี้ พบว่า เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2554 (ระดับ 6.3) ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้ได้เกิดเป็นกระแสฮือฮาให้ประชาชนเริ่มสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับ "แผ่นดินไหว" กันมากขึ้น

โอกาสนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live จึงขออนุญาตหยิบยกเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ "แผ่นดินไหว! พิบัติภัยที่คนไทยต้องพร้อมรับมือ" มาย่อยให้อ่านและพิจารณากัน ซึ่งเป็นการรวบรวมคำถามที่ถูกถามบ่อยหรือเป็นคำถามยอดฮิตจากบรรยายในโอกาสต่างๆ ของ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของงานเขียนเล่มดังกล่าว ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักแผ่นดินไหววิทยาหนึ่งเดียวของประเทศไทย

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อย่างไร

ดร.ไพบูลย์ : ทุกคนจะถามคำถามนี้ แผ่นดินไหวเกิดจากการที่เปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวทำให้มีแรงกระทำซึ่งกันทำให้มีการสะสมความเค้นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหินหรือเปลือกโลกในบริเวณนั้นเกิดการแตกหัก พังทลาย แล้วปล่อยพลังงานในลักษณะของคลื่นที่แพร่กระจายออกไปทุกทิศทุกทาง เมื่อคลื่นเดินทางไปถึงที่ใดก็ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเกิดขึ้น แรงสั่นสะเทือนจากคลื่นนี้เองที่ทำให้บ้านเรือนพังเสียหาย จากข้อมูลแผ่นดินไหวจะพบว่า แผ่นดินไหวเกิดตามแนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลกหรือแนวรอยเลื่อนที่เป็นส่วนที่มีความแข็งแรงน้อยนั่งเอง

ประเทศไทยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหรือไม่

ดร.ไพบูลย์ : แผ่นดินไหวรุนแรงคือแผ่นดินไหวที่มีขนาด M=6.0-6.9 หากย้อนไปดูประวัติการเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้ในประเทศไทยแล้วพบว่าเคยเกิดเมื่อปี พ.ศ.2478 ขนาด 6.5 และปี 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่อ.แม่สรวย จ.เชียงราย หรือในรอบ 77 ปี เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 2 ครั้ง อาคารและโบราณสถานเสียหายบ้าง แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เนื่องจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่ได้อยู่ในเมืองที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่น จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงได้อีกในทางภาคเหนือ ดังนั้นผู้ที่จะสร้างอาคารบ้านเรือนก็ควรที่จะออกแบบให้ต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวตามที่กรมโยธาธิการกำหนดไว้จะป้องกันความเสียหายได้

เขื่อนศรีนครินทร์มีโอกาสแตกเนื่องจากแผ่นดินไหวหรือไม่

ดร.ไพบูลย์ : เขื่อนศรีนครินทร์ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ระดับหนึ่ง และหลังจากเขื่อนเริ่มกักเก็บน้ำในปีที่ 6 ก็เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 5.9 ในปี 2526 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากการกระตุ้นจากน้ำในเขื่อนหลังการกักเก็บน้ำ หลังจากนั้นในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา แผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณเขื่อนเป็นเพียงแผ่นดินไหวขนาดไมโคร คือมีขนาดต่ำกว่า 3 ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากรอยเลื่อนที่อยู่ในเขื่อนได้สูญเสียความแข็งแรงจึงไม่สามารถที่จะสะสมความเค้นได้มากอีกต่อไปแล้ว จึงไม่เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงอีก อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวขนาด 5.9 นั้นมีแรงสั่นสะเทือนที่สันเขื่อนเพียง 0.05 g เท่านั้น ซึ่งไม่ส่งผลต่อเขื่อนแต่อย่างใด

รอยเลื่อนระนองและคลองมะรุ่ยมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวอีกหรือไม่

ดร.ไพบูลย์ : จากการศึกษาวิจัยของนักธรณีวิทยาพบว่า รอยเลื่อนทั้งสองเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง กล่าวคือ เป็นรอยเลื่อนที่ยังมีการเกิดแผ่นดินไหว และพร้อมที่จะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อมีแรงมากระตุ้นให้รอยเลื่อนเกิดการขยับตัว ดังที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในสุมาตราเหนือขนาด 8.6 เมื่อ 11 เมษายน 2555 ได้กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวภูเก็ตเมื่อ 16 เมษายน 2555 ขนาด 4.3 และแผ่นดินไหวระนองขนาด 4.0 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2555 ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.7 ที่อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ตามข้อมูลการวัดแผ่นดินไหวพบว่า รอยเลื่อนระนองเคยเกิดขนาด 5.0 ในขณะที่รอยเลื่อนคลองมะรุ่ยเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 ดังนั้นรอยเลื่อนทั้งสองก็จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางไม่ถึงกับขนาดรุนแรงที่มีผลกระทบมาก

กรุงเทพฯ จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด M = 9.0 หรือไม่

ดร.ไพบูลย์ : ตอบได้เลยว่าอย่าไปเชื่อโหร เพราะไม่มีโอกาสเลยเนื่องจากกรุงเทพฯ ไม่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ได้ และโดยปกติแล้วแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ มักจะเกิดในแนวมุดตัวในมหาสมุทร

มีโอกาสเกิดสึนามิในอ่าวไทยหรือไม่

ดร.ไพบูลย์ : มีโอกาสน้อยมากๆ เพราะในอ่าวไทยไม่เคยมีแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 6.5 สำหรับสึนามิจากฟิลิปปินส์หรือญี่ปุ่นก็ไม่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งอ่าวไทยดังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นที่เพิ่งผ่านมา จึงไม่ต้องกังวลและอย่าเชื่อข่าวลือ

มีข่าวว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ที่รุนแรงกว่าแผ่นดินไหวสุมาตราเหนือขนาด 9.1 มากน้อยแค่ไหน

ดร.ไพบูลย์ : ไม่มีแน่นอน เพราะแผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งมีแนวพังทลายยาวถึง 1,200 กม. และแผ่นดินไหวขนาด 8.6 เมื่อ 28 มีนาคม 2548 ทำให้พลังงานที่สะสมอยู่ถูกปลดปล่อยออกมามากแล้วจะต้องใช้เวลาอีกนานเป็นร้อยปีในการสะสมความเค้นในระดับแผ่นดินไหวขนาดยักษ์เช่นนี้

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดสึนามิถล่มพร้อมกันทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย

ดร.ไพบูลย์ : อันนี้มาจากข่าวลือ เป็นไปไม่ได้เลย อย่าไปเชื่อเป็นอันขาด เพราะในอ่าวไทยไม่มีแนวมุดตัวที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และการเกิดสึนามิพร้อมกันทั้งสองฝั่งไม่ได้หมายความว่าจะเกิดแผ่นดินไหวพร้อมกัน และหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดสึนามิ หรือเกิดสึนามิแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะรุนแรง

พักนี้ได้ยินข่าวแผ่นดินไหวบ่อย มันเป็นสัญญาณว่าโลกจะวิบัติหรือไม่

ดร.ไพบูลย์ : มันไหวของมันตามปกติ ดังได้กล่าวในข้างต้น แต่บังเอิญว่าปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น และไวขึ้น ทำให้สามารถวัดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งประชาชนให้ความสนใจ สื่อต่างๆ เข้าถึงชาวบ้านได้มากขึ้น โลกไม่วิบัติแบบในภาพยนตร์แน่นอน สบายใจได้

เราจะทราบได้หรือไม่ อย่างไรว่าจะเกิดแผ่นดินไหว

ดร.ไพบูลย์ : สิ่งบอกเหตุก่อนเกิดแผ่นดินไหวได้มีการศึกษากันมาก โดยการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดิน การเปลี่ยนแปลงของเคมีบางตัวในน้ำใต้ดิน การเปลี่ยนแปลงปริมาณก๊าซเรดอนในแนวรอยเลื่อน การวัดความเค้นในดิน สนามแม่เหล็ก และพารามิเตอร์อื่นแล้วน้ำมาประมวลผลเข้าด้วยกัน แต่ก็ไม่สามารถระบุเวลาที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ชัดเจน และแม่นยำเหมือนการพยากรณ์อากาศ

ในประเทศที่มีการศึกษาวิจัยแผ่นดินไหวอย่างละเอียดก็พิจารณาจากแผ่นดินไหวนำหรือโฟร์ช็อก แต่เนื่องจากแต่ละพื้นที่อาจมีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องเก็บข้อมูลเพื่อศึกษากันอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง เช่นที่เคยเกิดที่ภูเก็ต ต้องมีเครื่องมือตรวจวัดที่ดีกว่านี้ อาจจะสามารถบันทึกโฟร์ช็อกได้ก่อนการเกิดเมนช็อก โดยสรุปต้องมีการเก็บข้อมูลแผ่นดินไหวที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้วิเคราะห์ แต่บ้านเราค่อนข้างยาก เพราะการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยไม่ใช่ภารกิจหลัก

ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวหรือไม่

ดร.ไพบูลย์ : ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้มีการปรับปรุงและเพิ่มจำนวนสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวจากเดิม 10 กว่าสถานีเป็น 40 สถานีก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเตือนภัยแผ่นดินไหวได้เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากความหนาแน่นของสถานียังไม่เพียงพอและการแปลผลก็ยังช้า ดังนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ทำได้เพียงรายงานการเกิดแผ่นดินไหว (ตามหลัง) แค่นั้น

ประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิ

ดร.ไพบูลย์ : หลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวได้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิโดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเพิ่มขึ้นอีก 2 ทุ่น รวมกับทุ่นที่ได้รับบริจาคในปี 2548 เป็น 3 ทุ่น ซึ่งด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ทำให้สามารถที่จะเตือนภัยสึนามิได้ทัน แต่สำหรับกรณีแผ่นดินไหวที่ยังไม่สามารถเตือนภัยได้นั้นก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว รวมทั้งการซักซ้อมก็ไม่จริงจัง ส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์ว่าประเทศไทยไม่น่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงนั่นเอง

ทำไมจึงยังมีการใช้มาตราริกเตอร์อยู่อีก ทั้งๆ ที่มีข้อจำกัด

ดร.ไพบูลย์ : มาตราริกเตอร์ เป็นการรายงานขนาดแผ่นดินไหวระยะใกล้ระทางไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร สำหรับข้อจำกัดขนาดสูงสุดของมาตราริกเตอร์ซึ่งเท่ากับ 7 นั้น ก็ไม่มีปัญหาสำหรับแผ่นดินไหวซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดไม่เกิน 7 ทำให้มาตราริกเตอร์ก็ยังใช้กันอยู่ทั่วไป สำหรับแผ่นดินไหวขนาดสูงกว่า 7 ก็ได้นำมาตราอื่นมาใช้รายงาน เช่น มาตราโมเมนต์

มีวิธีการการจำแนกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นอาฟเตอร์ช็อกอย่างไร

ดร.ไพบูลย์ : อาฟเตอร์ช็อกจะต้องเกิดในบริเวณเดียวหรือรอยเลื่อนเดียวกันกับแผ่นดินไหวหลักหรือเมนช็อก และจะต้องมีขนาดสูงสุดต่างจากเมนช็อกอย่างน้อยที่สุด 1 หน่วย เช่น เมนช็อกขนาด 6.5 อาฟเตอร์ช็อกสูงสุดจะมีขนาดไม่เกิน 5.5 ถ้ามีขนาดแตกต่างกันน้อยกว่านี้ก็ถือเป็นเหตุการณ์ใหม่ ซึ่งเรียกว่าดับเบิลช็อก อย่างเช่นกรณีแผ่นดินไหวสุมาตราเหนือเมื่อ 11 เมษายน 2555 แผ่นดินไหวขนาด 8.6 และ 8.2 จึงถือเป็นดับเบิลช็อก และจากข้อมูลอาฟเตอร์ช็อกก็พบว่าอยู่กันคนละแนว

มหาวิทยาลัยใดบ้างในเมืองไทยที่เปิดหลักสูตรแผ่นดินไหว

ดร.ไพบูลย์ : ยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในเมืองไทยเปิดสอนหลักสูตรแผ่นดินไหว แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกษตรศาสตร์ สงขลานครินทร์ ขอนแก่น และมหิดล มีการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องซึ่งมีเนื้อหาทางแผ่นดินไหวในรายวิชา ธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ ฟิสิกส์ของโลก เป็นต้น แม้แต่ในต่างประเทศ หลักสูตรแผ่นดินไหวก็มีเฉพาะในบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น เนื่องจากต้องมีเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวเพื่อใช้ในการทำวิจัยและการเรียนการสอน ซึ่งต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมจริงๆ เท่านั้น

วิชาแผ่นดินไหว มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง

ดร.ไพบูลย์ : วิชาทางแผ่นดินไหวมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ

1. หาโครงสร้างภายในของโลก ลักษณะการวางตัวและเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ลักษณะของต้นกำเนิดแผ่นดินไหว จากคลื่นแผ่นดินไหว

2. การลดความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ เช่น การทำแผ่นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อให้วิศวกรนำไปออกแบบอาคารต้านแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว การศึกษาสิ่งบอกเหตุก่อนการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ การทำนายแผ่นดินไหว การเตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิล่วงหน้า

ดร.ไพบูลย์ ทิ้งท้ายในหนังสือไว้อย่างน่าสนใจ โดยนักแผ่นดินไหวท่านนี้ มองว่า ภัยพิบัติธรรมชาติ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สร้างความเสียหายหลายๆ ด้าน ความล่าช้าในการเยียวยามีปัญหาในหลายพื้นที่ เนื่องจากหน่วยงานที่รับชอบอยู่กระจัดกระจายในหลายกระทรวง ไม่มีเอกภาพในการทำงาน อย่างที่เห็นได้ชัดคือ การแก้ปัญหาอุทกภัยซึ่งท้ายที่สุดก็มาจบที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องนำวิธีกำกับดูแลและสั่งการคนเดียวมาใช้ เพราะถ้าปล่อยให้แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำเหมือนในอดีตที่ผ่านมาก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จในเวลาที่กำหนด หรืออาจจะล้มเหลวก็ได้

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีกระทรวงภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งกระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน โดยกระทรวงแห่งนี้จะต้องทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางป้องกันบรรเทาภัยพิบัติธรรมชาติควบคู่กับการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน และต้องไม่ลืมหรือละเลยการนำองค์ความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ

เรียบเรียบข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ แผ่นดินไหว พิบัติภัยที่คนไทยต้องพร้อมรับมือ (ดร.ไพบูลย์ นวลนิล) สำนักพิมพ์กรีน ปัญญาญาณ

เรื่องโดย ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live

ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!


กำลังโหลดความคิดเห็น