“ไม่มีเงินไม่มีสิทธิ์เรียน” “เข้าสถาบันดีๆ ต้องเสียแป๊ะเจี๊ยะ” “ได้วุฒิปริญญาตรี แต่ไม่มีงานทำ” “ในห้องเรียนไม่พอต้องเรียนพิเศษ” ฯลฯ เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาไทยวันนี้ ?
สอบตกยกชาติ เพราะครูหรือศิษย์
เด็กไทย 1 ใน 10 คนเรียนไม่จบม.3 และอีก5 ใน 10 พอใจแค่วุฒิปวช. กับม.6 ส่วนที่เหลือเพียง 3 ใน 4 เรียนจบปริญญาตรี แต่กลับมีเพียงคนเดียว ไม่ต้องเดินเตะฝุ่นตกงานภายในปีแรก ค่าเฉลี่ยนี้กำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย
“ทุกวันนี้ระบบการศึกษาของเรา ถ้าพูดกันตามภาษาบ้านๆ ก็คือ เราตัดตีนให้พอดีเกือก ไม่ได้ตัดเกือกให้พอดีตีน เราเคยป้อนความฉลาดในการใช้ชีวิตให้พวกเขาบ้างไหม นอกจากเน้นสอนแต่วิชาการ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กไทยถึงเป็นแม่ตั้งแต่วัยเรียน ทำไมเด็กไทยถึงต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ แล้วทำไมทุกวันนี้บ้านเราถึงมีเด็กนอกระบบเพิ่มขึ้นทุกปี”
นี่คือความเห็นของ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สคค.) ที่ออกมาแนะแนวทางแก้ไขปัญหาอันมีระบบการศึกษาเป็นตัวสุมไฟเอาไว้ ในงานชำแหละโครงสร้างการศึกษาไทย “ก ข ค ง ข้อนี้ไม่มีคำถาม.. หากคุณไม่เริ่มตั้งตั้งคำถาม” ซึ่งจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งยังแนะแนวทางไว้อีกว่า
“ภาครัฐต้องใจดี ใจกว้างมากขึ้น ควรเปิดโอกาสให้มีความหลากหลาย ให้มีทางเลือกมากขึ้น ให้คุณแม่มีทางเลือกมากขึ้นที่จะไม่ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะหาโรงเรียนให้ลูกได้ ทำยังไงระบบนี้มันจะอาทร สร้างโอกาสมากขึ้น ทำยังไงให้เรียนฟรีมีคุณภาพมันจะเป็นความจริง พ่อไม่ต้องปาดเหงื่อทุกครั้งที่เปิดเรียนแบบที่คุณพ่อว่า และผมคิดว่าเป้าหมายปลายทางคือเราอยากเห็นตรงนี้” ส่วนฉนวนเหตุที่ทำให้ระบบการศึกษาของไทยล้มเหลวไม่เป็นท่าอย่างทุกวันนี้”
ว่ากันว่าคำสอนจากคนเป็นครู คือตัวกำหนดทิศทางให้กับอนาคตของชาติ แต่ทุกวันนี้ในบ้านเรากลับยังพบว่า หลายๆ ครั้ง มีเด็กจำนวนไม่น้อยหลงผิด เพราะมีแม่พิมพ์เป็นตัวจุดชนวน ซึ่งวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ให้เหตุผลว่า
“เด็กไทยถูกสอนให้ฟังแล้วต้องเชื่อ ทั้งที่เชื่อกับฟังมันคนละความหมาย จริงๆ เราควรจะฟังทุกคนที่พูด ส่วนความเชื่อเป็นเรื่องของเรา ถ้าคนไทยคิดได้แบบนี้ เขาจะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งรอบๆ ตัวที่เขาได้รับ เพราะเขายังไม่เชื่อ แล้วเขาก็จะตั้งคำถามว่า เฮ้ย.สิ่งที่อาจารย์สอนจริงหรือเปล่า ทุกวันนี้คนไทยไม่ทันจะฟังก็เชื่อแล้ว สังคมมันถึงมีปัญหา เพราะงั้นผมว่าพื้นฐานการศึกษาบ้านเรา เริ่มตั้งแต่การถูกสอนเชื่อฟังครู เชื่อฟังผู้ใหญ่ ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่มันแตกต่างจากประเทศอื่น และอยากจะย้ำว่าการศึกษาทุกวันนี้ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียนอีกต่อไป เพราะทุกอย่างคือการศึกษาหมด แต่คนไทยยังติดกรอบว่า”
สอดคล้องกับรศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชี้แจงว่า
“ประเทศเราเป็นระบบเปิดเสรี ใครใคร่รับก็รับ เพราะแบบนั้นจึงมีครูเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ด้อยคุณภาพ เราลืมไปครับว่า ครูหนึ่งคนจะต้องอยู่กับเด็กนักเรียนเกือบสามสิบปี แล้วครูที่ด้อยคุณภาพ คุณธรรมต่ำ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนนโยบาย ปัจจุบันนี้ครูซึ่งในอดีตเคยเป็นวิชาชีพชั้นสูง ได้รับการยอมรับจากสังคม มีเกียรติ แต่ปัจจุบันวิชาชีพนี้ตกต่ำ เด็กบอกว่าครูทำงานเพื่อเงิน น่าสลดใจนะครับ ถึงเวลาที่เราน่าจะเปลี่ยนครูให้เป็นระบบปิด ต้องหาคนเก่งคนดี และที่สำคัญต้องเป็นคนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู เข้ามาทำหน้าที่นี้”
เสียงร้องที่ไม่มีใครได้ยิน
ท่ามกลางความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่หยั่งรากฝังลึกลงไปในแผ่นดินไทย เด็กคือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในวงจรอุบาทว์นี้ จนผลโพลสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบคโพล) ชี้ว่าเด็กไทยกว่าครึ่งขอปฏิรูปการศึกษา และนี่คือปากคำของเหยื่อ ที่ต้องหลั่งน้ำตาเพราะการศึกษาไทย
“ทุกวันนี้หนูมีสองทางเลือกในชีวิตค่ะก็คือ อดทนอยู่ในกรอบต่อไป หรือออกมานอกเส้นทาง กลายเป็นเด็กที่ไม่อยู่ในการศึกษาของระบบ หนูเป็นเด็กสายศิลป์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปเรียนในสายวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองชอบได้ เพราะกรอบเพราะระบบ สั่งให้หนูทำอย่างนั้น” น.ส.ธิดารัตน์ กุลแก้ว หรือน้องอาร์ต เผยความในใจ
“สังคมมองว่าเราเป็นคนเลว แต่ที่จริงเราไม่ได้เลว เราอยากกลับไปเรียน แต่อยากให้สังคมยอมรับพวกเรามากกว่านี้ อยากให้เปิดโอกาสให้เด็กนอกระบบอย่างพวกเราได้กลับไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง” อดิสรณ์ ผาไชยภูมิ เด็กนอกระบบ อดีตเด็กแว้นในจังหวัด ขอนแก่น
“มีความรู้สึกหนักใจช่วงที่โรงเรียนจะเปิดเทอมไม่กี่วันนี้ เพราะพ่อบอกไม่ถูกว่าจะหาเงินที่ไหนให้ลูกเรียน มีทุนเรียนฟรี 15 ปี แต่ทุกปีมีคำตอบที่โรงรับจำนำ” สุทัศน์ อินกกผึ้ง เปิดอกในฐานะผู้เป็นพ่อ ก่อนจะให้ดช.ธนพล อินกกผึ้ง หรือน้องลาติบ นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียนชุมชนบ้านทุ่ง จังหวัดกระบี่ ผู้มักตัดพ้อต่อว่าโชคชะตาออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ว่า “ผมไม่ได้ทอดทิ้งการศึกษา แต่การศึกษาทิ้งผม”
ขณะเดียวกันปัญหาของเด็กพิเศษกับทางเลือกในการเรียนก็ยากลำบากไม่แพ้กัน เพราะครั้งแล้วครั้งเล่าเกือบทำให้หัวใจคนเป็นแม่อย่างปิยนุช โชติกเสถียร แหลกสลาย
“ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา การจะหาโรงเรียนให้ลูกได้เรียนเป็นอะไรที่ยากลำบากมาก เพราะทุกครั้งที่พาลูกไปสมัครเรียน ก็ได้รับการปฏิเสธตลอด ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางโรงเรียนไม่มีคุณครูที่จบจากการศึกษาพิเศษมาดูแลลูก หรือบางครั้งบางโรงเรียนก็มี แต่ก็รับได้ในขีดที่จำกัด เราก็มานึกน้อยใจอยู่ว่า ทำไมลูกเราถึงต้องขาดโอกาสในการเรียน ความทุกข์มันอยู่ในใจจนทำให้เราต้องตัดสินใจ เสียสละตัวเองในการที่จะต้องลาออกจากงาน จะลาออกจากการเป็นแม่ก็คงไม่ได้ ก็เลยต้องเสียสละออกจากงาน เพื่อมาหาที่เรียนให้ลูก คุณแม่คิดว่า” เธอกล่าวทั้งน้ำตา
ไม่เพียงแต่ผู้เข้าเรียนเท่านั้นที่ต้องประสบกับชะตากรรมเซ่นพิษการศึกษาไทย เพราะแม้แต่คนเป็นครูก็หนีไม่พ้น
“ผมเป็นครูผู้รับนโยบายมาปฏิบัติ ทุกครั้งที่นโยบายเปลี่ยนคั่ว ครูต้องปรับการเรียนการสอนเพื่อการประเมิน ประเมินโน่นนี่นั่นจนครูไม่มีเวลา ต้องทิ้งห้องเรียน ทิ้งนักเรียน
ผลที่ออกมาคือการศึกษาตกต่ำ เด็กอ่านหนังสือไม่ออก เป็นอย่างนี้แล้ว อยากรู้ว่าเป้าหมายจริงๆ ของนโยบายคืออะไร แล้วจะเอายังไงกันแน่” สามารถ สุทะ ครูจากห้องเรียนเรือนแพ ร.ร.บ้านก้อจัดสรร จ.ลำพูน
ชี้แจงเหตุผลด้วยความอัดอั้นตันใจ
เสียงสะท้อนทั้งหมด ชี้ให้เห็นแล้วว่า ปัญหานี้เป็นเนื้อร้ายอันน่าวิตกแค่ไหนในระบบการศึกษาไทย ก็ได้แต่หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จะเลิกเพิกเฉยต่อวงจรอุบาทว์ แล้วลุกขึ้นมาชำแหละรากเน่าๆ ที่หยั่งรากลึกในระบบการศึกษามานานนี้ทิ้งเสียที!
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ติดตามเรื่องราวชีวิตจริงที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยของเด็กไทย ซึ่งเป็นประโยคกับคนทุกเพศวัย ผ่านรายการ "ก ข ค ง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันเสาร์ เวลา 14.05 - 14.30 น. จำนวน 13 ตอน เริ่มออกอากาศตอนแรก 26 เม.ย.57