เปิดหมวกโชว์ตีขิมสร้างรายได้ตั้งแต่วัยไม่ถึง 10 ขวบ ก่อนก้าวขึ้นครองตำแหน่งมิสทีนไทยแลนด์ปี 2007 ตามด้วยนางเอกละครในสังกัดวิกหมอชิต และเคยฝากผลงานไว้กับหนังเรื่องผีเข้าผีออก วันนี้ หญิง-กัญญาพัชญ์ ธนันต์ชัยกานต์ เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า "Kannya Brand" ซึ่งเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่เข้ามาเสริมจากอาชีพดารา/นักแสดง
"การเล่นละคร และการเป็นนักแสดงของหญิงอาจจะไม่ทำเงินให้มหาศาล หรือเป็นอาชีพที่มั่นคงสำหรับหญิง แต่การทำธุรกิจในวันที่หญิงยังเป็นดาราอยู่ สามารถต่อยอด และทำเงินให้หญิงได้ นี่คือโอกาสที่หญิงคิดว่า คนเราต้องมองให้ไกล ไม่ควรหยุดนิ่งๆ อยู่กับที่"
เป็นคำพูดของนักแสดงสาวร่างเล็กที่กำลังปลุกปั้นแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองให้เติบโตเป็นธุรกิจใหญ่ด้วยวัยเพียง 21 ปี แม้จะไม่เคยเรียน และทำมาก่อน แต่ดาราสาวท่านนี้กำลังจะบอกในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ว่า คนเราเกิดมาพร้อมกับคำว่า ทำไม่เป็น สิ่งใดที่ยังไม่เคยทำ ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้ พร้อมด้วยการเปิดใจถึงกระแสงานละครไม่รุ่ง จึงมุ่งมาเอาดีด้านธุรกิจ
เราต่าง "ไม่เป็น" มาก่อนทั้งนั้น
ทุกวันนี้ ดารานักแสดงหลายท่าน เริ่มมองไปถึงอนาคตในบั้นปลายชีวิตว่า จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตและครอบครัว โดยเฉพาะการเป็นดาราในยุคที่ดาราหน้าใหม่ผุดขึ้นพอๆ กับคอนโดมิเนียม หนึ่งในนั้นก็คือ การลงทุนทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง
หญิง คือหนึ่งในดาราวิกหมอชิตที่หันมาจับธุรกิจ เริ่มจากเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ ซึ่งเป็นงานที่เธอชอบอยู่แล้ว
"ถ้าเราทำอะไรเองตั้งแต่เด็ก เราล้มวันนี้ก็ไม่เป็นไร อีกอย่างเรามีไฟที่จะทำต่อ เพราะเรายังหาเงินได้ อย่างที่ทำแบรนด์เสื้อผ้า หญิงมองว่า อาชีพของนักแสดง ไม่ได้มีงานเข้ามาทุกวัน และเงินก็ไม่ได้ตายตัวอะไร บางเดือนได้น้อย บางเดือนได้มาก หรือวันนี้ฉันดัง พรุ่งนี้ฉันอาจจะไม่ดังแล้วก็ได้ หากมุ่งมั่นทำงานในวงการบันเทิงอย่างเดียว หญิงมองว่า ความเสี่ยงมีสูง ดังนั้น หญิงจึงหางานหรือธุรกิจทำไปด้วย" เธอเผย และขยายความต่อว่า
"มันเหมือนเป็นการมองหาโอกาสมากกว่าว่าจะต่อยอดอะไรได้บ้างจากการเป็นนักแสดงของเรา ส่วนตัวรู้สึกว่าช้าไปด้วยซ้ำ เพราะวัยรุ่นสมัยนี้ทำงานกันตั้งแต่ม.ปลายแล้ว อย่างคนใกล้ตัวหญิงคนหนึ่งตอนนี้อายุ 19 ปีแต่มีเงินเป็น 100 ล้านจากการขายรองเท้าคู่ละไม่กี่บาท"
ดังนั้น การจะทำอะไรก็แล้วแต่ อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองทำไม่เป็น อย่างน้อยๆ ต้องมีอยู่อย่าง หรือสองอย่างที่สนใจและอยากทำ เห็นได้จาก "หญิง" ที่อยากทำแบรนด์เสื้อผ้า ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่เคยทำมาก่อน สุดท้ายเมื่อลองได้ทำ จึงพบว่า ยังไม่เคยทำ ใช่ว่าจะทำไม่ได้
"ของแบบนี้ นอกจากอยู่ที่ดวงแล้ว ยังอยู่ที่การมองหาคนใกล้ตัว หรือคนที่เรารู้จัก ลิสต์ออกมาก่อนเลยว่าคนนี้ทำอะไร พ่อทำอะไร แม่ทำอะไร เข้าไปคุยกับใครได้บ้าง เรื่องนี้ไม่มีใครสอนหญิง หญิงค่อยๆ มองหาผู้ช่วยจากคนใกล้ตัว แต่ละคนมีทักษะไม่เท่ากัน บางคนมีทักษะด้านไอทีสูงกว่า ส่วนหญิงเป็นคนชอบคิด ชอบจัดการ
พอเริ่มรู้ตัวเองว่า เป็นนักจัดการ ก็เริ่มมองหาโอกาส ทำธุรกิจเล็กๆ จากความชอบ ต่อยอดเป็นความฝันว่า ฉันอยากจะเป็นนักธุรกิจ แต่ข้อเสียหญิงคือ ไม่เก่งไอที แต่หญิงจะหาอีกมือมาช่วยทำงานให้ โดยเฉพาะเรื่องเว็บไซต์ที่หญิงไม่ค่อยถนัด หญิงก็จะมีแฟนคลับที่เก่งเรื่องนี้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา" เธอเล่า
"Kannya Brand" ธุรกิจนี้ได้แต่ใดมา
ชื่อนี้ เป็นแบรนด์เสื้อผ้าของ "หญิง" ที่คลอดออกมาได้ 8 เดือนแล้ว เริ่มจากไอเดียที่เจ้าตัวสนใจอยากจะตัดชุดใส่ออกงานเอง พอเริ่มมีคนชมว่าชุดสวย จึงเริ่มไปเรียนออกแบบเสื้ออย่างจริงจัง กระทั่งต่อยอดไปสู่การสร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง ซึ่งเป็นธุรกิจที่สนใจ แต่ยังไม่เคยทำมาก่อน
"คือจริงๆ มันมาแบบงงๆ นะคะ ส่วนตัวหญิงเป็นนักแสดงอยู่แล้ว และการเป็นนักแสดงต้องมีการแต่งตัวสวยๆ ออกหน้ากล้อง หรือออกงานอีเวนต์ต่างๆ และที่สำคัญ การแสดงละคร เราก็ต้องมีสปอนเซอร์ ด้วยหญิงเป็นคนตัวเล็ก หาไซส์ใส่ยากมาก บวกกับสไตล์ของหญิงก็ไม่ได้หาชุดใส่ง่ายๆ เวลาออกงาน หญิงก็อยากให้ทุกคนจำว่าลุคเราเป็นแบบนี้นะ ใสๆ สไตล์ญี่ปุ่น จึงเกิดเป็นไอเดียให้หญิงอยากตัดชุดใส่เอง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปยืมคนอื่น หรือมานั่งเย็บเพราะชำรุด
พอเริ่มสนใจตัดชุดใส่เอง และหาที่เรียนออกแบบอย่างจริงจัง ตอนนั้นเลือกไปเรียนที่สถานทูตฝรั่งเศสค่ะ ผ่านการแนะนำจากรุ่นพี่ที่เป็นดีไซเนอร์ท่านหนึ่ง ซึ่งตัวเขาร่ำเรียนวิชาจากที่นี่ และเป็นคนวาดรูปสวยมาก เมื่อเห็นแบบนี้ หญิงก็สนใจอยากเรียนบ้าง เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบวาดรูปอยู่แล้ว
กระทั่งมีชุดเป็นของตัวเอง พอใส่ไปออกงาน พี่ๆ นักข่าวก็ทักว่า ชุดสวยอ่ะ แบรนด์อะไร หญิงก็บอกพี่ๆ เขาไปว่า เป็นชุดที่หญิงตัดเองค่ะ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อแบรนด์ด้วย พูดแค่เล่นๆ ว่า หญิงแบรนด์ค่ะๆ (หัวเราะ) จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ 3-4 งาน เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น อยากให้ลองตัดออกมาจริงจังเพื่อทำขาย หญิงก็ออกแบบ และซื้อผ้ามาเยอะขึ้น ปรากฏว่า มีคนซื้อเพิ่มมากขึ้น"
ส่วนชื่อ Kannya Brand มาจากตัวเธอที่ชื่อ "กัญญาพัชญ์" โดยเธอขยายความให้ฟังตามมาว่า "เอาแค่ชื่อ กัญญามาตั้งค่ะ กัญญาในภาษาไทยแปลว่า หญิงสาว หญิงก็เลยใช้คำว่ากัญญา เพราะเป็นเสื้อผ้าผู้หญิง ซี่งมันดูเหมาะเจาะกันดีมาก แถมไปกันได้ดีด้วย"
ออกแบบเองตั้งแต่โลโก้ ยันถุงหิ้ว
นอกจากออกแบบเสื้อผ้าแล้ว เธอยังออกแบบโลโก้ และถุงใส่เสื้อผ้าเองด้วย ด้านงานตัดเย็บจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายตัดชุดที่ร่ำเรียนมาเฉพาะทาง เพื่อให้งานตัดเย็บออกมาสวย และดูดีผ่านการออกแบบของตัวเธอเอง ส่วนการตลาดก็เรียนรู้จากคนใกล้ตัวที่รู้จัก
"พูดตรงๆ เลยว่า หญิงไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย เพราะเราเรียนนิเทศศาสตร์มา การตลาดก็ทำไม่ได้ ค่อยๆ ศึกษา หรือดูเอาจากคนใกล้ตัว โดยส่วนใหญ่จะเป็นแฟนคลับที่เข้ามาก่อน จากนั้นก็เป็นเพื่อน และกระจายไปสู่ตลาดในวงกว้างผ่านการบอกต่อ เช่น กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มนักเรียนอินเตอร์ ซึ่งตอนแรกก็งงว่าเฮ่ย! แบรนด์เรา เด็กอินเตอร์ใส่ (ทำหน้าตกใจ) ส่วนราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 1,200-3,900 บาท ส่วนคอลเลกชัน หญิงจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล อย่างตอนนี้ซัมเมอร์ก็จะมีเสื้อผ้าหลายแบบ เน้นสีสันสดใส ใส่สบาย ทั้งไปเที่ยว และทำงานได้ด้วย" เธอเล่า
สำหรับการทำการตลาด เธอเริ่มจากการออกบูทเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์เสื้อผ้าตามงานต่างๆ
"มีออกบูทไปบ้างแล้ว ที่เค วิลเลจ เหมือนเป็นการออกบูทของคนรักสัตว์ ซึ่งเราก็ชอบเลี้ยงน้องหมา น้องแมวอยู่แล้ว เขาเชิญหญิงไป หญิงก็ถือโอกาสนี้ไปสร้างภาพลักษณ์ด้านธุรกิจของหญิงด้วย มีการตกแต่งร้าน เอาแบบไปตั้งโชว์ และมีการขายของไปในตัวด้วย ซึ่งงานนี้ไม่ได้เน้นขายค่ะ แต่เป็นการตลาดโดยเน้นการสร้างภาพลักษณ์ เพื่อให้คนรู้จักหญิง รู้จักสินค้าของหญิงมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีการส่งไลน์ บอกข่าวให้ลูกค้าประจำดู เพราะการตลาดของหญิง เริ่มต้นมาจากอินสตาแกรม และอินเตอร์เน็ต ซึ่งมันมีข้อจำกัดในเรื่องของการสัมผัส และเลือกสินค้าจริงๆ การออกบูท ถือเป็นหนึ่งช่องทางดีๆ ให้ลูกค้าที่ตามหญิงทางอินสตาแกรม หรือทางอินเทอร์เน็ตได้มาดู ได้มาจับเนื้อผ้า และได้มาเลือกซื้อด้วยตัวเองค่ะ" เธอเล่า ก่อนจะเผยต่อไปว่า
"การที่แบรนด์ของเรา ได้ขึ้นห้าง ได้เป็นที่รู้จัก เป็นสิ่งที่คนทำธุรกิจใฝ่ฝันอยู่แล้ว แต่เบื้องต้น หญิงต้องทำโปรดักชันให้มันดีก่อน ทำให้มันคงที่ก่อน อย่างการส่งสินค้า ส่งแล้วลูกค้าไม่ตำหนิสินค้า หรือสินค้าผลิตได้จำนวนมาก เฉลี่ยกำไรออกมาแล้ว ออกมาเป๊ะนะ ไม่ขาดทุนนะ"
อย่างไรก็ดี เธอบอกถึงคอนเซ็ปต์แบรนด์ว่า "ใส่ได้ตั้งแต่เช้ายันเย็น กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้หญิงที่กึ่งๆ ทำงานแล้วก็เรียนอยู่ เป็นผู้หญิงยุคใหม่ เป็นผู้หญิงทำงาน คล้ายๆ กันกับหญิงที่จะทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย เวลาก็มีน้อย หากมีเสื้อผ้าที่หยิบมาใส่ได้เลย เปลี่ยนแค่เครื่องประดับ สีลิปสติก และร้องเท้า หรือผมนิดหน่อย ก็ออกไปงานได้แล้ว หลักๆ จะออกแนว ตัดเย็บสวย เข้ารูป ใส่สบาย ไม่ดูเวอร์จนเกินไป"
"ลุคเด็ก" จุดอ่อนของหญิงที่ต้องปรับ
ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเป็นเด็กมาตลอด เป็นจุดอ่อนให้หญิงค่อยๆ ปรับลุคให้ดูโตขึ้น เพื่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง
"ตอนนี้หญิงจะพยายามหา หรือรับเล่นบทที่โตขึ้นหน่อย หรืออาจจะเล่นร้ายไปเลย ถ้ารับแต่บทเด็ก หญิงทำธุรกิจไม่ได้ เพราะจะดูไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเรื่องนี้หญิงมองว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะภาพลักษณ์ในการเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า ซึ่งหญิงมองไปถึงการเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าในระดับโกอินเตอร์ด้วย ถ้า Kannya Brand ไปได้ดีในไทย ญี่ปุ่นคือประเทศต่อไปที่หญิงจะไปตีตลาด เพราะหญิงชอบประเทศนี้ และพ่อเลี้ยงหญิงก็เป็นคนญี่ปุ่นด้วย" เธอเผยถึงเป้าหมายในอนาคต
ส่วนกระแสที่ถูกมองว่า ละครไม่รุ่ง จึงหันมามุ่งด้านธุรกิจหรือเปล่า เรื่องนี้เธอจะตอบว่าอย่างไร ไปฟังกัน
"ได้ยินกระแสมาเหมือนกันค่ะ ส่วนตัวมองว่า อยู่ที่บทยังไม่เอื้อเท่าไร คือลุคของหญิงตอนนี้มันดูเด็กมาก เพราะหญิงถูกวางให้เล่นบทนี้มาตั้งแต่แรก ทุกคนก็จะติดภาพเด็ก ไอด้าไง หรืออาโปไง ส่วนผู้จัดบางคน หญิงคิดเองนะว่า ดาราคนนี้คงต้องเล่นเป็นเด็กอย่างเดียว บทอื่นฉันมองไม่ออก ดังนั้น หญิงเองไม่ได้รู้สึกแย่ หรือน้อยใจอะไรค่ะ เพียงแต่จะมีจุดยืนมากขึ้นเวลาไปออกงานต่างๆ เช่น แต่งเซ็กซี่ขึ้น จนคว้าตำแหน่ง FHM มาได้ 2 ปีซ้อน ดังนั้นบทต่อไปที่จะเล่น ถ้าจะรับก็ต้องเป็นบทที่โตขึ้น
ถามว่า มีกระแสแบบนี้เครียดไหม ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะหญิงไม่ได้คาดหวังว่าฉันจะต้องเป็นนักแสดงเบอร์หนึ่ง ไม่ได้คาดหวังขนาดนั้นค่ะ หญิงขออยู่ในจุดๆ นี้และต่อยอดในจุดที่หญิงยืนให้มีประโยชน์สูงสุด เพื่อจะเป็นนักธุรกิจหญิง และดาราไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหญิงอยากเป็นแบบนี้มากกว่า"
ถามต่อไปว่า ถ้าผู้ใหญ่ให้ไปเล่นในบทเซ็กซี่ และอาจจะต้องศัลยธรรม หรือทำหน้าอก หญิงบอกว่า "ถ้าเปลี่ยนแปลงคาแร็กเตอร์ หญิงทำได้ แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของตัวเอง คงคิดหนัก"
"ถ้าให้หญิงไปทำหน้าอก หญิงคงต้องคิดหนัก เพราะหนึ่ง เสริมมาแล้ว มันเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ทำแล้วจะออกมาดีหรือไม่ดี รอให้ถึงวันนั้นก่อนค่อยว่ากันอีกทีค่ะ (หัวเราะ) แต่ทุกวันนี้ หญิงมีความสุขในแบบของหญิง ไม่ศัลยธรรมก็มีคนมารัก มาชอบเราได้ แล้วเราจะต้องการอะไรอีกล่ะ
ส่วนทำแล้วผิดไหม ไม่ผิดค่ะ เพียงแต่หญิงไม่อยากเอาเงินไปทุ่มกับตรงนั้น ความสุขของหญิงคือ ฉันจะทำอย่างไรให้ธุรกิจฉันต่อยอดไปได้ไกลๆ เงินหลายหมื่นบาทที่เอาไปทำศัลยกรรม เอามาทุนทำธุรกิจไม่ดีกว่าอีกเหรอ ได้เงินคืนกลับมาอีกด้วย ยกเว้นแต่หญิงจะมีเงินเหลือเฟือจริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องค่ะ"
ปัจจุบัน หญิง เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ นอกจากเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแล้ว เธอยังเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน "บุฟเฟต์โปรดักชัน" กับเพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยด้วย
"มีโปรดักชั่นที่ทำร่วมกับเพื่อนด้วยค่ะ ทำเป็นรูปบริษัทเลย ชื่อว่า บุฟเฟต์โปรดักชัน มีทำรายการ หนังสั้น อย่างช่อง 3 ทรูวิชั่นส์ก็มีให้มาทำเหมือนกัน ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ โดยหญิงจะอยู่ในส่วนประสานงาน หาสถานที่ หาสปอนเซอร์ หรือแม้แต่เสื้อผ้า หญิงจะเป็นคนรับผิดชอบ เพราะตัวหญิงไม่ค่อยเวลาด้วยค่ะ"
ท้ายนี้ ในฐานะดารารุ่นใหม่ที่เรียน และทำธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง เธอบอกว่า การแบ่งเวลาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
"หญิงได้เพื่อนดีมาก ก็คือกลุ่มบุฟเฟต์โปรดักชัน เรามารวมตัวกันเพื่อทำงาน หญิงไม่ค่อยมีเวลาให้เพื่อนหรอกค่ะ เพื่อนก็จะรู้ว่าหญิงไม่ค่อยมีเวลา ก็จะมีการบอก การนัดกันล่วงหน้า ว่า เฮ่ย! วันนี้แกต้องมาถ่ายให้ฉันนะ วันนี้แกต้องมาประชุมกับพวกฉันนะ หญิงก็จะรับรู้ และช่วยเหลืออย่างเต็มที่ นอกจากนี้ หญิงยังมีแม่และน้องคอยช่วยเรื่องธุรกิจอีกแรงค่ะ ถ้าไม่ได้แม่และน้องคอยช่วยก็คงหนักเอาการอยู่ค่ะ" เธอบอก ก่อนจะชี้แจงเรื่องกระแสพักการแสดงว่า
"หญิงไม่ได้พักการแสดงเพื่อมาทำงาน แต่หญิงพักการแสดงเพื่อมาเรียน เพราะหญิงเรียนอยู่ปี 4 และใกล้จะจบแล้ว คือถ้าเป็นละคร ยังไม่รับค่ะ ถ้ารับต้องต่อเนื่องค่ะ ผมก็ทำไม่ได้ หน้าก็สิวขึ้น หญิงเองก็ต้องอ่านหนังสือ ดังนั้น รอให้พร้อมก่อนแล้วจะค่อยๆ เริ่มรับค่ะ ส่วนงานทั่วๆ ไป อย่างงานอีเวนท์ก็ยังรับอยู่ค่ะ เพราะวันเดียวจบ"
นับเป็นตัวอย่างดารารุ่นใหม่ที่ไม่ได้รอรับงานในวงการบันเทิงอย่างเดียว แต่กลับฉกฉวยโอกาสในช่วงเวลาที่ชื่อเสียงพัดผ่านเข้ามา ต่อยอดทำธุรกิจเล็กๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตและครอบครัว แม้จะไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน แต่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
"สิ่งใดที่ยังไม่เคยทำ ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้"
สกู๊ปโดย ASTVผู้จัดการ Lite