สะเทือนขวัญชวนแขนขาสั่นในโลกโซเชียลฯ ไปกับภาพเด็กชั้นอนุบาลจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง ขึ้นไปนั่งโพสท่าถ่ายรูปบนหางจระเข้ระหว่างทัศนศึกษา สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นโลกออนไลน์ จนต้องลุกขึ้นมารื้อกฎระเบียบกันใหม่ เพื่อให้ทัศนศึกษาในประเทศไทยปลอดภัย ไม่พาเด็กไปเสี่ยงตายแบบนี้
ทัศนศึกษายุคเสี่ยงตาย
นอกจากประเด็นนักเรียนในฟาร์มจระเข้ ยังมีข่าวให้เห็นกันอย่างต่อเนื่องกับโศกนาฏกรรมน่าสลดใจของเยาวชนไทยที่เสียชีวิตในระหว่างเดินทางทัศนศึกษานอกโรงเรียน ไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์นักเรียนชั้น ม.4 ถูกคลื่นน้ำลากตัวลงสู่ก้นทะเลบริเวณอ่าวเสม็ด ไปจนถึงรถบัสทัศนศึกษาของ “โรงเรียนบ้านดงหลบ” พุ่งชนรถพ่วง 18 ล้อ สังเวยชีวิตผู้โดยสารตัวน้อยไป 15 ราย เจ็บกันระนาวราวครึ่งร้อย
หากมองตามหลักความเป็นจริง เวลามีการออกทัศนศึกษาแต่ละที โรงเรียนดีๆ ที่ไหนก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยลูกศิษย์ ยิ่งกับตัวครูบาอาจารย์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องรักษาความปลอดภัย ใส่ใจชีวิตนักเรียนอย่างถึงที่สุด ด้วยการวางกฏระเบียบอันเคร่งครัดรัดกุมไว้ แต่เหตุใดทุกวันนี้ กลับยังมีข่าวการเสียชีวิตในกรณีนี้อยู่เรื่อยๆ
ความน่าเป็นห่วงนี้ สรรพสิต คุมประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้เหตุผลว่า “เป็นเพราะทางโรงเรียนไม่ค่อยมีการประเมินความเสี่ยง ถ้าหากว่าทำตามกฎระเบียบที่ทางกระทรวงศึกษาธิการให้ ปัญหาตรงนี้ก็จะน้อย เช่นหนึ่งคือการประเมินความเสี่ยง ทางโรงเรียนจะต้องวางมาตรการป้องกันไว้ เช่น ถ้าไปทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับน้ำ ก็ต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือชีวิต หากเกิดเหตุจมน้ำ
ถ้าเดินทางด้วยรถยนต์ก็ต้องดูว่าเส้นทางที่ใช้มันมีความเสี่ยงตรงไหนยังไง แล้วที่สำคัญก็คือ เรื่องของพาหนะกับคนขับ ซึ่งทางโรงเรียนส่วนมากชอบเอาถูกเข้าว่า ไม่ดูว่าสภาพรถพร้อมหรือเหมาะสมกับงานไหม ส่วนคนขับก็ไม่ดูให้ดีว่าความรับผิดชอบหรือมีสติแค่ไหน ทีนี้มันก็ควรต้องไปจ้างบริษัทขนส่งที่มันมีมาตรฐานครับ เช่น ถ้าหากว่าเดินทางเกินกว่า 4 ชม. จะต้องมีคนขับสองคนผลัดกันขับ ไม่ใช่คนเดียวรวดเดียว”
ส่วนกรณีที่นักเรียนชั้นอนุบาลขึ้นไปนั่งโพสท่าบนหลังจระเข้นั้น แม้ตัวเด็กจะปลอดภัย ยังไม่ถูกฉีกร่าง แต่สำหรับผู้คุ้มครองสิทธิเด็กอย่างสรรพสิตกลับมองว่า ไม่สมควรปล่อยเด็กนักเรียนให้เข้าไปเสี่ยงอันตรายแบบนั้น
“โอ้ย!! อันนี้มันผิดมากเลย ผมคิดว่ามันเป็นการกระทำความผิดทางอาญาได้เลยนะ เพราะว่ามันเป็นการทำให้เด็กตกอยู่ในอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาแม้แต่ครูสอนจระเข้เองที่เคยเอาหัวไปแหย่ในปากจระเข้ ยังเคยถูกงับเลย เกือบตายไปแล้ว ดีเขาช่วยกันไว้ทัน ดังนั้น ผมมองว่า การปล่อยให้เด็กไปทำแบบนี้ มันเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” สรรพสิตกล่าวเสริม
นอกจากนี้ยังมีเรื่องพฤติกรรมสุดอันตราย ซึ่งไม่ได้ตกเป็นกระแสว่า มีบางโรงเรียนต้องการประหยัดงบประมาณ ใช้วิธีเดินทางออกทัศนศึกษายามวิกาล จุดนี้ สรรพสิตเน้นย้ำว่า“ตรงนี้ไม่ได้เลยครับ เดินทางไม่ได้เด็ดขาดเลย เพราะว่ากลางคืนเป็นเวลาที่อันตราย อุบัติเหตุร้ายแรงส่วนมากมักจะเกิดในเวลากลางคืน อย่างเช่น ชนท้ายรถที่จอดข้างทาง ตกเหว ตกห้วยนี่ทั้งนั้นเลย หรือไม่ก็อยู่ในช่วงที่ฝนตกหนัก ซึ่งเป็นช่วงทัศนวิสัยไม่ดี ก็ไม่ควรให้เด็กเดินทางเป็นหมู่คณะ ไม่ควรเลย”
เด็กตาย ใครซวย?
หลายคนคาใจว่า เมื่อมีการตายเกิดขึ้น ในระหว่างนักเรียนกำลังทัศนศึกษา ใครคือผู้รับผิดชอบ สรรพสิต ให้ความเห็นว่า ต้องพิจารณาก่อนว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าเป็นกรณีที่รถบัสนักเรียนชน ต้องดูว่าฝ่ายรถโรงเรียนพลาดเอง หรือเกิดจากความผิดพลาดของคู่กรณี แต่ถ้าเป็นเรื่องเด็กจมน้ำ หรือเสียชีวิตด้วยเรื่องใดๆ ที่เกิดจากความประมาทของครูที่ดูแล ตรงนี้ทางโรงเรียนจะต้องรับผิดชอบ”
ส่วนเหตุการตาย 15 ศพ ที่รถบัสโรงเรียนพุ่งชน รถพ่วง 18 ล้อ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้านผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ยังเน้นอีกว่า เป็นเรื่องที่สะเทือนใจที่สุดสำหรับเขา
“เนื่องจากเป็นเพราะเป็นรถที่ใช้ไม่ใช่รถใหม่ มันเป็นรถเก่าที่มาดัดแปลงแล้วก็เพิ่มเติมเข้าไปซึ่งมันไม่มีความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนั้นคนขับรถก็ไม่ใช่คนขับรถที่มีประสบการณ์ในเรื่องของการขับรถดูแลเด็กๆ ซึ่งจริงๆ แล้วคนขับรถที่คอยขับรถรับ-ส่งนักเรียนมันควรจะต้องมีความสามารถพิเศษ ในเรื่องของการควบคุมพาหนะที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เช่นการใช้ความเร็วในกติกา ตามกฎจราจร เข้าโค้งต้องรถความเร็ว แต่ปรากฏว่าไอ้คนขับรถพวกนี้มันเป็นแค่คนขับรถทั่วๆ ไป ซึ่งอย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้องเลยครับ ทางโรงเรียนต้องรับผิดชอบ”
เช่นเดียวกับภาพ เด็กและจระเข้ ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครม สรรพสิต บอกว่า “ทางโรงเรียนผิดที่ยอมให้เด็กเข้าไปขี่จระเข้แบบนี้ อย่างเจ้าของจระเข้ หรือครูอาจารย์ก็เกี่ยวข้องในแง่ของการดูแลไม่ดี ทำให้เด็กอยู่ในอันตราย อันนี้ก็คล้ายๆ ตัวสนับสนุน แต่คนที่ต้องรับผิดชอบหลักๆ ก็คือตัวเจ้าของฟาร์มจระเข้ครับ”
แม้ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนจะโพสข้อความขอโทษขอโพยผ่านหน้าเฟซบุ๊กโรงเรียนแล้ว กรณีที่ปล่อยปะละเลยให้เด็กนักเรียนเข้าใกล้จระเข้ โดยทางโรงเรียน และทางค่ายยอมรับในความผิดในกิจกรรมครั้งนี้ และจะไม่มีการจัดกิจกรรมที่ส่อไปในทางอันตรายอย่างนี้อีก แต่ดูเหมือนว่าข้อความดังกล่าว จะไม่สามารถชะล้างอารมณ์ขุ่นหมองของบรรดาผู้ปกครอง และผู้ที่ชมรูปเหล่านั้นได้เลย จนเรื่องนี้จุดปะทุดุเดือด ทำให้เหล่าหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวข้องต้องมาเร่งแก้ไข
ศธ.เตรียมมาตรการไม้ตาย
สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือ(ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีมีการเผยแพร่ภาพทางโซเชียลเน็ตเวิร์กกรณีนักเรียนอนุบาล 3 คน ยืน และนั่งทับหางจระเข้ ที่สวนสัตว์แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ว่า ได้ประชุมองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี จาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา เป็นประธาน ได้เน้นย้ำความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ ควรต้องกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและเข้มงวด
ซึ่งแล้วๆ มา กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2536 ออกมาบังคับใช้ มีการกำหนดมาตรการควบคุมด้วย แต่บางครั้งครูที่พานักเรียนไป อาจจะเกิดความประมาทเลินเล่อทำให้เกิดเหตุ ขณะเดียวกันพบว่าบางครั้งโรงเรียนใช้วิธีการเดินทางกลางคืนเพื่อประหยัดงบประมาณ ทั้งที่ในระเบียบเน้นย้ำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางกลางคืน
นอกจากนี้ ระเบียบดังกล่าวมีการประกาศใช้มานานแล้ว อาจต้องทบทวนหรือปรับแก้ โดยสัปดาห์หน้า กระทรวงศึกษาธิการจะจัดประชุมคณะกรรมการดูแลการป้องกันอุบัติภัย พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก เป็นต้น ร่วมประชุมและดูว่าระเบียบที่ใช้อยู่นั้น ต้องปรับแก้จุดใด แล้วจึงออกแนวปฏิบัติประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
“อยากให้มีการประเมินเรื่องความเสี่ยงก่อนทุกด้านเลย เช่น ถ้ามีกิจกรรมทางน้ำต้องมั่นใจว่าเด็กไม่เป็นโรคประจำตัว แล้วก็สามารถว่ายน้ำได้ มีระบบช่วยชีวิต มีไลฟ์การ์ด ถ้าปีนเขาก็เหมือนกัน เด็กก็ไม่ควรจะมีโรคหัวใจ หรือโรคหืดหอบที่ออกกำลังกายมากๆ แล้วจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ อะไรพวกนี้อ่ะครับ ควรต้องประเมินก่อน ถัดมาก็คือประเมินเรื่องที่อยู่อาศัย ประเมินเรื่องอาหารการกิน ประเมินเรื่องของการเดินทาง ต้องประเมินหมดทุกด้าน”
และไม่ว่ามาตรการปรับแก้กฎระเบียบจากกระทรวงศึกษาธิการออกมาวิเศษแค่ไหน หากครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้ชิดตัวเด็กในระหว่างออกศึกษานอกโรงเรียน ยังคงปล่อยปะละเลย ทำงานอยู่บนความประมาทเลินเล่อ กฎเหล่านั้นคงไม่มีค่าเหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะการสูญเสียที่เคยเกิดขึ้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชีวิตเยาวชนตัวน้อยๆ เหล่านั้นต้องถูกสังเวย เพื่อเป็นบทเรียนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ธิติ ปลีทอง
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต