ยาบ้าหลายล้านเม็ดกองรวมอยู่บนโต๊ะ!! เจ้าหน้าที่ตำรวจจับแรงงานเถื่อนใส่กุญแจมือ... คนส่วนใหญ่ได้เห็นแค่เพียงปลายทางการจับกุมเท่านั้น แต่จะมีสักกี่คนมีโอกาสฝ่าวงล้อม เข้าไปล้วงลึกบนเส้นทางลำเลียงที่บรรจุความโหดร้ายเอาไว้เต็มพิกัด และครั้งนี้ทางทีมงานจะพาผู้อ่านบุกสู่ใจกลางหมู่บ้านเล็กๆ ที่กฏหมายไทยเข้าไม่ถึง ดินแดนในเขตรอยต่อระหว่างไทย-พม่า หนึ่งใน 5 เขตป่ารกทึบที่ถูกใช้เป็นเส้นทางสายหลักในการลำเลียงสิ่งผิดกฏหมายทุกชนิดเข้าสู่ภาคตะวันตกของประเทศ ผ่านประสบการณ์จริงให้ร่วมระทึกไปพร้อมกัน!
แฉแหล่งกบดาน ธุรกิจมืด
เข็มนาฬิกาบอกเวลาเพียง 20.24 น. แต่ถนนลูกรังเส้นแคบๆ ทอดยาวสู่แนวป่าไร่อ้อยที่ผู้คนเคยพลุกพล่านช่วงกลางวันเริ่มแลดูเงียบงัน นานๆ ทีจะมีรถกระบะบรรทุกสินค้าสักคันแล่นผ่านมาด้วยความเร็วสูง ก่อนจะหายลับเข้าไปในเงาทะมึนทึบของต้นไม้ใหญ่ริมทาง ทิ้งให้บรรยากาศยามวิกาลกลับสู่ความอ้างว้างวังเวง
แต่ท่ามกลางความมืดใต้เงาไพร ยังมีแสงไฟของหลอดนีออนดวงเล็กๆ ส่องสว่างมาจากกระท่อมไม้หลังหนึ่งซึ่งตั้งเด่นอยู่ปลายทาง เผยให้เห็นกลุ่มชายนิรนามท่าทางดุดันในชุดเครื่องแบบทหาร ท่อนล่างนุ่งสะโหร่ง ยืนเจรจากับโชเฟอร์ขับปิ๊กอัพติดฟิล์มดำ ก่อนจะยืนมือเข้าไปรับถุงดำ แล้วส่งสัญญาณเปิดทางให้รถคันดังกล่าวมุ่งหน้าเข้าสู่เขตแดนไทยโดยไม่ขอตรวจค้นใดๆ ที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีในท้ายที่สุด
การลำเลียงสิ่งผิดกฏหมายผ่านมายังเส้นทางนี้ เป็นเรื่องที่คนในพื้นที่รู้กันดีว่ามักเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน และยาเสพติดจะเป็นสิ่งที่ถูกขนเข้ามามากที่สุด
“มีหมดแหละครับ ยาไอซ์ กัญชา เอโรอิน ของพวกนี้จะขนมาจากโรงงานผลิตในเขตต่างๆ ของพม่าเลย รับกันมาเม็ดละ 20 เพื่อมาขายในประเทศไทย 220 พ่อค้ารายใหญ่จะสั่งให้ลูกน้องขนขึ้นรถกันทีเป็นแสนๆ เม็ด แล้วลำเลียงแยกกันไป ตามชายแดนแต่ละจังหวัด แล้วแต่ว่าจะเข้าไปขายในไทยจังหวัดอะไร แต่ถ้ามาทางกาญฯ จะวิ่งมาทางเมืองเย (จังหวัดหนึ่งของพม่า)” นายแดง นามสมมติ ชาวไทยเชื้อสายมอญ วัย 30 ปี บรรยายให้เราฟัง ก่อนคลี่ปมสงสัย “ทำไม ทางการพม่าถึงปล่อยให้ผ่านมาได้?”
“ก่อนจะขนกันมา พวกพ่อค้า ส่งส่วยให้ตำรวจพม่าหมดแล้ว ถ้าทางไหนเสี่ยงตำรวจจะโทรรายงานให้พ่อค้าตัวใหญ่ โทรสั่งลูกน้องที่กำลังขนยา เปลี่ยนเส้นทาง คือเตรียมการไว้หมดแล้ว ทำอย่างนั้นมาเรื่อยๆ จนถึงเมืองแถบชายแดนก่อนจะเข้าไทย จึงหยุดพักยาตามจุดสต๊อกยา เพื่อเลือกอีกทีว่า เอาเข้าทางไหนถึงจะไม่เสี่ยง และจ่ายส่วยน้อยที่สุด ซึ่งตอนนี้ที่ผมรู้ ก็มีอยู่ 4 จุดพักใหญ่ๆ คือ 1. เมืองเย 2.ปะล๊านจะป้าน หรือชุมชนบ่อญี่ปุ่น ซึ่งบ่อญี่ปุ่นได้ยินมาว่ามีโรงงานผลิตยาลับๆอยู่ใต้ดินด้วย 3.ด่านเจย์ดีสามองค์ และ4. ที่นี่ หมู่บ้านคูเบ้า ที่ที่เข้าเขตไทยง่ายที่สุด เพราะอยู่ในการดูแลของทหารมอญ”
หากประมาณการณ์กันแค่เผินๆ จากการลงพื้นที่ของทีมข่าว ระยะห่างระหว่างหมู่บ้านคูเบ้า เข้าฝั่งไทย ไม่น่าจะเกิน 300 เมตร อีกทั้งยังพบว่า ด่านตรวจค้นคนเข้าเมืองมีอยู่เพียงจุดเดียว ซ้ำยังตั้งห่างไกลออกไปจากทางเข้าหมู่บ้านราว 1-2 กิโลเมตรอีกด้วย จึงทำให้เส้นทางดังกล่าว กลายเป็นพื้นที่ที่พ่อค้ายา จำชื่อกันได้ขึ้นใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากที่สุดสำหรับคนในพื้นที่อย่างแดง กลับไม่ใช่เรื่องยาเสพติด หากแต่เป็น “การลักลอบขนคนเถื่อน”
ห้ามป่วย-ห้ามตาย ขนคน-ค้ามนุษย์
ก่อนแรงงานเถื่อนจากฝั่งพม่าจะถูกขนมาถึงแถบตะเข็บชายแดนนั้นช่างน่าเวทนา เพราะนายหน้ามักใช้รถกระบะในการลำเลียงเพียงคันเดียว เพื่อไม่ให้เป็นจุดสนใจของผู้คน ซึ่งก็หมายถึงจะต้องมีชาวพม่าราว 27 ชีวิต ยืนแออัดยัดเยียดกันหลังกระบะโดยใช้แผ่นไม้ปูทับและวางผักบังหน้าเจ้าหน้าที่อีกที จากนั้นก็คลุมผ้ายางทับอีกชั้น ภายในรถเองก็ไม่แพ้กัน ต้องเบียดเสียดกันอีกนับสิบคน ทั้งนั่งซ้อนตัก ทั้งนอนบนที่พักเท้า ไม่เว้นแม้กระทั่งใต้ขาคนขับ ส่วนเส้นทางในการขนนั้นจะเลี่ยงถนนหลวง หันไปใช้เส้นทางชายป่าแถบเมืองชนบทหลังอาทิตย์ตกดิน
ที่สำคัญไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม จะไม่มีการจอดพักข้างทาง ทุกคนในรถจะต้องอดทน เจ็บไม่ได้ ป่วยไม่เป็น ไม่เช่นนั้นจะถูกนายหน้าคนขับปล่อยทิ้งให้นอนตายข้างทางเพียงลำพัง
จากนั้นเมื่อรถแล่นมาจนถึงที่หมายในเขตพื้นที่การปกครองของทหารมอญ จะเป็นครั้งแรกที่ผู้โดยสารทั้งคันได้เห็นเดือนเห็นตะวัน เพราะหลังจากนายหน้าคนขับลงไปเจรจากับทหารเสร็จสรรพ ก็จะมีรถกระบะอีกราว 4 คันมาจอดคอยอยู่ปลายทาง เพื่อรอส่งทอดแรงงานเถื่อนกลุ่มนี้ออกไปตามจุดต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ และในเวลาเดียวกันนั้น คนขับรถทุกคัน จะนำผ้าสีต่างๆ ที่ทหารมอญมอบให้ อาทิ แดง น้ำเงิน เหลือง เขียว และม่วง มาผูกไว้ที่ข้อมือของพม่าทุกชีวิตที่จะร่วมโดยสารไปกับรถคันของตัวเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่บอกเป็นนัยว่า "ได้ส่งส่วยให้กับกองกำลังมอญด่านแรกเรียบร้อยแล้ว"
คำบอกเล่าผ่านปากคำของแดงยังคงพรั่งพรูออกมาเรื่อยๆ เขาเผยความลับเรื่องผ้าที่คนภายนอกไม่มีวันรู้ว่า ผ้าแต่ละสี จะเป็นตัวกำหนดราคาค่าหัวของชาวพม่าเมื่อถึงด่านมอญชั้นต่อไป หากเป็นสีแดง จะถูกเก็บน้อยที่สุด คือแค่ 300 บาท เพราะผู้ที่ผูกสีนี้คือคนที่จ่ายค่าผ่านทางให้กับนายหน้าต้นทางเป็นจำนวนเงิน 12,000 ครบแล้ว อีกทั้งเฉดสียังเป็นตัวกำหนดว่า สีอะไร ไปได้ไกลแค่ไหน และสามารถข้ามฝั่งไปยังประเทศไทยได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีของคนที่ไปไม่ได้ ก็จะต้องอยู่ทำงานต่อในเขตมอญอีกระยะหนึ่ง
โดยจะมีนายหน้าจากโรงงานเถื่อนมารับซื้อไปเป็นกำลังในการผลิตของตัวเอง และส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานผลิตยาบ้า ที่ซุกซ่อนอยู่ในชุมชนบ่อญี่ปุ่น ก่อนจะได้เงินครบตามจำนวนที่ทหารมอญต้องการ จึงจะได้รับอิสรภาพเดินทางข้ามประเทศไปยังแผ่นดินไทยในท้ายที่สุด
สิ้นคำบอกเล่าทั้งหมดของเจ้าถิ่น ทำให้ผู้ฟังอดไม่ได้ที่จะทอดสายตาไปยังเส้นทางแคบๆ ตัดผ่านหมู่บ้านของเขา....
เบื้องหลังจุดเปลี่ยนพื้นที่สีเขียว
ภาพเด็กตัวน้อยๆ หน้าตามอมแมมกลุ่มหนึ่งพากันวิ่งตามหญิงนิรนามวัยกลางคนที่แบกถาดรองหม้อข้าวหม้อแกงขนาดใหญ่ไว้ด้วยศีรษะเพียงลำพัง จนกลายเป็นภาพเจนตาของคนในท้องที่ เพราะทุกๆ วัน เธอและเด็กๆ มักจะพากันเดินลัดเลาะป่ามาจากท้ายหมู่บ้าน เพื่อนำอาหารไปแจกให้กับผู้คนในชุมชน
บรรยากาศสองข้างทางที่เธอคุ้นชินช่างเงียบสงบ มีภูเขาและต้นไม้มากมายเผยให้เห็นอยู่กลายๆ ริมสองข้างทางเต็มไปด้วยบ้านไม้ที่ปลูกจากต้นไฝ่ ลูกเด็กเล็กแดงต่างตั้งอกตั้งใจฟังนิทานพื้นบ้านที่ปู่ย่ากำลังเล่า...
มองแค่แว๊บแรก ใครบ้างจะคิดว่าชุมชนอันเงียบสงบ ที่คนเมืองใหญ่บางคนกำลังแสวงหา จะซุกซ่อนความลับที่คนภายนอกไม่เคยรู้ ไม่เคยได้เห็น อย่างชุมชนแห่งนี้
ราว 30 ปีก่อน “คูเบ้า” เป็นแค่พื้นที่ว่างเปล่ากลางป่ารกทึบแนวตะเข็บชายแดนฝั่งพม่า มีเพียงบ้านเรือนอยู่ไม่กี่หลังที่สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของชาวมอญผู้อพยพมาจากยอดเขาลูกต่างๆ ในมลฑลตะนาวศรี รวมตัวกันลัดเลาะมาทางแม่น้ำซองกาเลีย เพื่อจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือแสวงหาพื้นที่สักแห่งไว้ลงหลักปักฐานใช้ชีวิตกับพวกพ้อง
ทุกคนในตอนนั้นมีวิถีชีวิตเรียบง่าย สงบ อยู่กินกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูล ใช้ทรัพยากรที่พอจะหาได้ภายในป่าเลี้ยงปากท้อง บ้างตัดอ้อย บ้างทำสวนปลูกผัก บ้างเพาะเลี้ยงสัตว์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะนำเข้าไปขายในเมืองเย รัฐมอญ ประเทศพม่า และปฏิบัติอย่างนั้นเรื่อยมา
จนกระทั่งวันหนึ่งในระหว่างที่คนในหมู่บ้านกำลังลำเลียงพืชผลเข้าไปขายในเมืองเยเหมือนทุกวัน ก็บังเอิญได้พบกับพรานล่าสัตว์ชาวพม่า-มอญเข้า จึงมีการพูดคุยกันตามประสาคนชาติเดียวกัน และการพบกันระหว่างคนแปลกหน้าต่างถิ่นในครั้งนั้นเองที่ผลักดันให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป
แดงเล่าให้ฟังต่อว่า พรานป่าคนนั้น ชี้นำให้ชาวมอญในหมู่บ้านคูเบ้า เลิกขายสินค้าเดิมๆ เพราะรายได้น้อย แต่ให้หันมาล่าสัตว์ป่าเหมือนอย่างตน เพราะนายหน้าค้าสัตว์ป่าจะรับซื้อในราคาสูงมาก แต่ติดที่ว่า วิธีการขาย จะต้องลักลอบนำสัตว์ที่หาได้เข้าไปส่งในฝั่งไทยเท่านั้น
แม้จะดูสุ่มเสี่ยงอันตราย แต่แดงยังเล่าต่ออีกว่า เนื่องจากฐานะของคนในชุมชนจะเรียกได้ว่า มีพออยู่พอกินแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ไม่เคยมีโอกาสสวมเสื้อผ้าดีๆ หรือใช้สิ่งที่คนในสังคมเมืองใช้ ข้อเสนอนี้จึงเป็นที่สนใจของคนในหมู่บ้านมากมาย จนหนุ่มฉกรรจ์ในหมู่บ้านหลายคนเริ่มหันมาล่าสัตว์ป่า แล้วลักลอบเข้าไปขายในฝั่งไทยที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตามคำบอกเล่าของพราน
เมื่อเรื่องนี้เริ่มลามไหลไปถึงหูทหารผู้มีอิทธิพลในกองทัพมอญเข้า ว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ในเขตการปกครองของของพวกเขา สามารถข้ามฝั่งเข้าไปทำการค้าในเขตแดนไทยได้อย่างง่ายดาย จึงใช้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของพื้นที่ ส่งกองกำลังทหารไปวางประจำจุดทางเข้าหมู่บ้าน และตั้งเป็นด่านเก็บเงินค่าผ่านทางระหว่างชายแดนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากชาวบ้านที่ต้องการจะนำของเข้าไปขายในรัฐไทยมาจนทุกวันนี้
จากหมู่บ้านที่เงียบๆ เลียบชายป่าไร่อ้อย จึงกลายเป็นเส้นทางลำเลียงสิ่งผิดกฏหมายระหว่างประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา..
ภาพความเงียบสงบของชุมชน ชวนให้จินตนาการไปไกลถึงสิ่งที่คนในหมู่บ้านต้องเปิดใจยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข....
เมื่อไหร่กัน.. เด็กชาวมอญที่กำลังวิ่งเล่นซุกซนใต้ร่มไม้ใหญ่กลางหมู่บ้าน จะตื่นมาเห็นดวงตะวันก่อนหน้าพ่อค้ายาเสพติด
เมื่อไหร่กัน.. ชุมชนแห่งนี้จะไม่ตกเป็นเครื่องมือในการขนย้ายสิ่งสกปรกข้ามประเทศ
และอีกนานแค่ไหนที่พวกเขาทุกคนจะไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง มีแต่ความทุกซุกซ่อนซ่อนในดวงตา เพียงเพราะชายฉกรรจ์ท่าทางดุดันในเครื่องแบบทหาร ที่ยืนประจำการอยู่ในกระท่อมไม้ปลายทางตรงนั้น
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
เรื่องโดย ธิติ ปลีทอง
ภาพโดย ปัญญพัฒน์ เข็มราช