นานกว่า 4 เดือนแล้วที่ กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ประกาศตัวสู้ศึกภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนักการเมืองดังที่ไม่เคยคาดคิดว่าการขับไล่ทรราชย์ด้วยการตั้งเวทีม็อบต่อสู้ระบอบทักษิณในแบบสันติ-อหิงสา จะทำให้เขาแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่ต่างไปจาก สนธิ ลิ้มทองกุล ที่เคยทำมาเวทีพันธมิตรฯ มาขับไล่ทักษิณไปก่อนหน้านี้
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงว่าเขาตั้งงบสู้ศึกครั้งนี้ประมาณ 500 ล้านบาท โดยใช้เงินของตัวเองทั้งหมด
เงินจำนวน 500 ล้านบาทที่ "สุเทพ" วางไว้เป็นทุนสำหรับขับเคลื่อนครั้งนี้ สำหรับประชาชนอย่างพวกเราฟังดูแล้วเหมือนจะมากและเพียงพอในการขับไล่รัฐบาลนอมินีของ "ทักษิณ" แต่ในความเป็นจริงมันกลับไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้ เพราะเงิน 500 ล้านบาทใช้เพียงไม่ถึงเดือนก็ละลายหายไปกับเวที กปปส. ไม่ต่างไปจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใครจะคิดว่าการทำม็อบในแต่ละครั้งนั้นใช้ทุนมหาศาลเพียงใด!!
ขิง-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. กล่าวว่าการทำเวทีม็อบมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เฉพาะช่วงแรกที่ทำเฉพาะเวทีราชดำเนินแห่งเดียวก็ใช้เงินประมาณวันละ 4-5 ล้านบาท โดยส่วนที่แพงที่สุดคือค่าเช่าเวที ค่าเช่าเครื่องปั่นไฟ 2 เครื่อง ซึ่งต้องมีไว้สลับกันเพื่อพักเครื่อง และค่าน้ำมันที่ใช้สำหรับปั่นไฟรวมถึงอาหารการกิน ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของนักดนตรีและวิทยากร
บนเวทีที่มีสีสันดูสนุกสนานผสมผสานกับการเปิดโปงการทุจริตที่นำมาเผยแพร่ในแต่ละคืนทวีความดุเดือดมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถไล่รัฐบาลมีพิษของทักษิณได้ จนลุงกำนันสุเทพต้องปรับกลยุทธ์ยกระดับชุมนุมไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เวทีสามเสนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน แต่ยังไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลรักษาการได้ ลุงกำนันจึงต้องมีคำสั่งปิดกรุงเทพฯ ทันทีในวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา
แผนปิดกรุงเทพฯ ครั้งนี้ทำให้ กปปส. ต้องเปิดเวทีปราศรัยเพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงเวทีเดียว เพิ่มมาเป็น 8 เวทีทันที นั่นหมายถึงว่า กปปส. ต้องมีค่าใช้จ่ายในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอีก 7 เท่าตัว
ทั้งนี้โฆษก กปปส. เล่าเพิ่มเติมว่า ยิ่งช่วงหลังที่ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น มีคนมาปักหลักพักค้างค่าใช้จ่ายก็ขยับเพิ่มขึ้นอีกวันละ 1-2 ล้านบาท
"ที่ราชดำเนินช่วงเดือนธันวาคมต่อเนื่องมกราคมมีคนมาก ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6-7 ล้านบาท ช่วงแรกเงินไม่พอแต่เรายังมีเงินที่คนช่วยบริจาคผ่านบัญชีธนาคาร 2 บัญชี ที่ใช้ชื่อบัญชี "ครัวราชดำเนิน" และ "ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม" ที่เปิดไว้เพื่อความสะดวกสำหรับคนที่ต้องการช่วย และเพื่อความชัดเจนโปร่งใส แต่เมื่อดีเอสไออายัดบัญชี ก็เริ่มมีปัญหาครับ เพราะคนทั้งในและต่างประเทศที่บริจาคผ่านบัญชีตอนนั้นได้ประมาณวันละ 1-2 ล้านบาทตรงนั้นก็หายไปทันที เหลือแต่จุดรับบริจาคข้างเวทีที่ได้จากคนมาชุมนุมช่วยกันประมาณวันละ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท"
คำสั่งอายัดบัญชีของกปปส. ทำให้ลุงกำนันต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เพราะทุกๆ วันมีแต่ค่าใช้จ่าย แต่เงินรับนั้นน้อยลง แต่ลุงกำนันก็ยังเชื่อว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการช่วย แต่พวกเขาคงไม่รู้ว่าจะยื่นมือมาช่วยได้อย่างไร ในที่สุดลุงกำนันสุเทพจึงตัดสินใจออกเดินเรียก “แขก” ไปตามถนนต่างๆ ของกรุงเทพฯ
และต้องถือเป็นอีกหนึ่งภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่า มีประชาชนคนไทยหัวใจรักประชาธิปไตยที่มายืนรอลุงกำนันอยู่สองฟากถนนเนืองแน่นเต็มไปหมด ตลอดเส้นทางการเดินจะเห็นประชาชนทุกคนมือหนึ่งถือนกหวีด อีกมือถือธนบัตรเพื่อหยิบยื่นให้ถึงมือลุงกำนัน เพื่อหวังต่อลมหายใจของม็อบให้ยืนหยัดสู้กับระบอบทักษิณ
นอกจากนี้ยังมีเหล่าศิลปิน ดารา และบุคคลมีชื่อเสียงอีกหลายคนที่พร้อมใจกันจัดกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นออกแบบเสื้อยืด เล่นดนตรี ขายของ ฯลฯ เพื่อหาเงินเป็นกอบเป็นกำหลายล้านบาท เพื่อช่วยหนุนม็อบอีกทางหนึ่ง
"ทุกวันที่ได้รับบริจาคที่เห็นใส่เป็นถุง มีทั้งแบงก์พัน แบงก์ร้อย แบงก์ยี่สิบ บางทีเป็นเหรียญ ทุกวันที่ได้เงินมาพวกเราจะนำมานับในเต็นท์ที่ กปปส. และนำไปใช้จ่ายอย่างที่บอกคือ เวที น้ำมัน เครื่องปั่นไฟ อาหารนักดนตรี และวิทยากร อย่างตอนนี้ยอดเงินบริจาคที่ประชาชนช่วยกันทุกช่องทางประมาณ 50 ล้านบาท แต่เวทีเรามีเพิ่มขึ้นอีก 6 เวที ทุกเวทีค่าใช้จ่ายเหมือนกันหมด ที่ทำได้ตอนนี้คือต้องใช้อย่างประหยัดทุกอย่าง แกนนำ กปปส. ช่วยกันบริหารจัดการเองทั้งหมด ไม่ได้จ้างออร์แกไนซ์เลยนะครับ ชนิดที่ว่าใครถนัดตรงไหนทำตรงนั้น"
คำพูดที่ ขิง-เอกนัฏ พูดนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ ศักดิ์ชัย กาย เคยบอกเมื่อหลายเดือนก่อน ที่เคยให้สัมภาษณ์กับเราว่า คืนวันที่ 4 ธันวาคม 2556 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้โทรศัพท์หาเขากลางดึกเพื่อขอให้มาช่วยจัดดอกไม้ให้เวทีราชดำเนินเพื่อฉลองและเป็นการถวายพระพร ตอนนั้นศักดิ์ชัย กาย ปลาบปลื้มและดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในการเทิดพระเกียรติในหลวงบนเวทีราชดำเนิน งานนั้นแม้สาทิตย์จะถามค่าใช้จ่าย แต่ผู้ชายที่ชื่อศักดิ์ชัย กาย ก็ปฏิเสธที่จะรับ เพราะเต็มใจและดีใจที่ได้ทำงานถวายในหลวง อีกทั้งรู้ฐานะทางการเงินของ กปปส. เป็นอย่างดี
โฆษก กปปส. ยังบอกอีกว่า ทุกวันนี้สตาฟ์และวิทยากรหลายคนก็ขอไม่รับค่าจ้าง แม้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะลดลงไปแล้ว แต่ก็มีรายจ่ายใหม่งอกขึ้นมาคือการเข้าไปช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตขณะชุมนุม
"คนเจ็บและผู้เสียชีวิต เราทิ้งไม่ได้ เพราะเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน เราต้องแบ่งเงินที่มีให้เป็นค่ารักษาพยาบาลและต้องเพิ่มทีมรักษาความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้น เมื่อยุบเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วไปเพิ่มอีก 8 เวที ทุกอย่างก็เหมือนเดิม คือเฉลี่ยเวทีละ 5 ล้านบาททุกคืน สรุปค่าใช้จ่ายของกปปส.ในการทำม็อบต่อวันประมาณ 40 ล้านบาท ดังนั้น ทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มาสำคัญมาก ซึ่งคือเงินบริจาคของประชาชนทั้งนั้น"
เมื่อถามว่า หลังปิดกรุงเทพฯ มานานกว่า 20 วัน แต่ยังไม่บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ขณะที่การเงินของกปปส.ก็ร่อยหรอลง คิดจะยุบเวทีบ้างหรือไม่? เอกนัฏบอกว่า ตอนนี้แม้จะเป็นห่วงในบางจุด แต่ก็เชื่อว่า "สุเทพ" คงไม่ยอม
"ตรงนี้คงเป็นเรื่องที่ทางผู้ใหญ่ต้องคุยกัน แต่ถ้าถามเรื่องเงินผมเชื่อว่าลุงคงเท่าไรเท่ากัน ที่ผ่านมาไม่พอ ลุงก็เอาที่ดินของตัวเองไปจำนอง ส่วนเข็มก็ทำปฏิทินขาย พวกเราต้องช่วยพ่อจนกว่าจะชนะ" เอกนัฏ ในฐานะโฆษก กปปส. และลูกบุญธรรมของ "สุเทพ" กล่าวทิ้งท้าย
จากวันนั้นถึงวันนี้ "ลุงกำนัน" กำลังเผชิญปัญหาไม่ต่างจาก "สนธิ ลิ้มทองกุล" ที่ทำม็อบพันธมิตรเมื่อหลายปีก่อน ศึกทุบหม้อข้าวของกำนันครั้งนี้จะได้รับชัยชนะหรือไม่ นอกจากใจพร้อมแล้ว เงินต้องพร้อมด้วย เพราะหลายปีที่ผ่านมา พวกเราต่างปล่อยให้ "ต้นไม้พิษ" ที่ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" เติบโตออกดอก-ออกผลแพร่เชื้อไปทั่วประเทศมาช้านาน ทำให้การกำจัดชนิดถอนรากถอนโคนนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ข่าวโดย ทีมข่าว Celeb Online
---ล้อมกรอบ---
เปิดบัญชีม็อบ กปปส.
1.ค่าเวที ค่าเครื่องเสียง
ถ่ายทอดสด คิดเป็น 2-3 ล้านบาทต่อวัน
จอแอลซีดี 1 จอ คิดเป็น 1 แสนบาทต่อวัน
เดิมเวทีหลักราชดำเนินใช้ แอลซีดี 14 จอ คิดเป็น 1.4 ล้านบาทต่อวัน
เมื่อย้ายมาใช้เวทีปทุมวัน มีเวทีหลัก ใช้ 8 จอ เวทีอื่นๆ ต้องมีอย่างน้อย 2-3 จอ รวมแล้วเพิ่มขึ้นอีกกว่า 20 จอ คิดเป็น 2.8 ล้านบาทต่อวัน (แต่มีส่วนลดราคา เช่น เช่า 3 วัน ฟรี 1 วัน)
2.ค่าอาหาร ประมาณ 1 ล้านบาทต่อวัน
3.ค่าเบี้ยเลี้ยงอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย และอาสาสมัครอื่นๆ 2,000 คน
จ้างแบบเหมาจ่าย ราย 3 วัน คิดเป็นเงิน หลายแสนบาทต่อวัน
4.ค่าเต็นท์ขนาดใหญ่ 4 หมื่นบาทต่อหลังต่อวัน
5.ค่ากิจกรรมอื่นๆ เช่น วงดนตรีที่มาแสดง ค่าตกแต่งเวที หลายแสนบาทต่อวัน