คุ้นๆ ไหม? คิวยาวๆ คนเยอะๆ แบบนี้... ปรากฏการณ์ผู้คนรุมล้อมจ้องจะซื้ออยู่บริเวณหน้าห้างฯ พารากอน ชวนให้นึกถึงเมื่อครั้ง “Rotiboy” และ “Krispy Kreme” มาเปิดสาขาในประเทศไทยครั้งแรกและกำลังบูมมาก
ถึงตอนนี้ ป๊อปคอร์นสัญชาติอเมริกาเข้ามาบุกตลาดของว่างในบ้านเราอีกครั้ง หลายคนเห็นแล้วอยากที่จะลอง ขณะที่หลายรายก็เบื่อที่จะเห่อ คงต้องคอยดูกันต่อไปว่า “Garrett” ขนมที่ถูกขนานนามว่า “ป๊อปคอร์นไฮโซ” จะไปได้สักกี่น้ำในบริบทสังคมบ้านเราที่ถูกตราหน้าเอาไว้ว่า “ขี้เห่อ”
ลองมาแล้ว “ป๊อปคอร์นไฮโซ”
หลายคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับเจ้า “ป๊อปคอร์นไฮโซ” นามว่า “Garrett Popcorn” กันหนาหูว่าเป็นป๊อปคอร์นที่ “อร่อยที่สุดในโลก” จนอยากทำให้ลิ้มลองรสกันสักครั้งในชีวิต ว่ากันว่ามีสูตรเก่าแก่ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ทางฟากฝั่งอเมริกา และขยายสาขาไปทั่วโลก กระทั่งล่าสุดก็มาโผล่ที่ไทย สาขาสยามพารากอน เพื่อช่วยให้อีกหลายคนที่ยังไม่ได้ลิ้มชิมรสเข้าใจว่าเหตุใดจึงมีผู้คนมากมายพร้อมยอมต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอคอย และนี่คือความคิดเห็นอันล้นทะลักอินเทอร์เน็ตที่น่าจะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ ณ ขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น
"นึกถึง Rotiboy เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้..."
"เป็นของขึ้นชื่อของ Chicago ค่ะ ประมาณว่าใครมาเที่ยวนี่ต้องหากินกันให้ได้ สำหรับเรากินช่วงแรกๆ อร่อยมากค่ะ ชอบที่พวกถั่ว almond cashew ต่างๆ มันเต็มคำดี กินแล้วฟินมาก กินแล้วหยุดไม่ได้ อื้อหือ! ทำไมมันอร่อยแบบนี้นี่ แต่ผ่านไปสัก 5 นาทีก็จะเริ่มรู้สึกเอียน กินไปเรื่อยๆ ไม่ไหว คิดว่ามันหนักไป ซื้อมาถุงใหญ่ กว่าจะหมดล่อไปเป็นเดือนค่ะ ดีนะที่รสชาติไม่เปลี่ยนไปมาก"
"ถ้ารสคาราเมลก็จะหวานกรอบเต็มๆ เม็ดค่ะ ส่วนชิคาโกมิกซ์คือคาราเมลกับชีส กินชีสคำคาราเมลคำ หวานๆ เค็มๆ อร่อยดีค่ะ ถ้าคนไม่กินหวานอาจจะไม่ชอบ แต่ส่วนตัวเราชอบมากค่ะ เข้าขั้นเสพติดเลย กินแล้วหยุดไม่ได้จริงๆ"
"เคยทานค่ะก็รู้สึกว่าอร่อยนะคะ เคยทานรสชีสและรสหวาน แต่ราคาก็สูงเอาเรื่องอยู่ แต่ข้อดีของมันคือเก็บได้นานค่ะ จำได้ว่าตอนไปสิงคโปร์แล้วซื้อกลับมาทานที่เมืองไทยผ่านไป 3 วัน ยังกรอบอยู่เลย เรียกได้ว่าคุ้มค่าอยู่เหมือนกันค่ะ"
"กินข้าวโพดถุงละ 5-10 บาทในงานวัดดีกว่า"
"แถวบ้านผม ข้าวโพดขายโลละ 7 บาท"
"ถ้า 90-100 กว่าบาท นี่ถือว่าลองของไม่เป็นไร แต่ถ้าซื้อเป็น 1,000 เพื่อแรดอวดชาวบ้าน ขอบอกว่าเมืองไทยเข้าสู่ยุคทุนนิยมเต็มๆ แล้วครับ"
"อร่อยจริง confirm มีคนซื้อมาฝากจากสิงคโปร์ แต่ถ้าซื้อกินเองคงนานๆ กินที แต่ต้องลอง ขอบอก"
"ไม่ได้มีอคตินะครับ แต่มันหวานแสบคอจริงๆ"
"สอนให้คนฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักถูกแพง คนไทยขี้เห่อ"
"กินไปก็เบื่อ อ้วนอีกต่างหาก"
"แถวยาวได้ประมาณ 2 เดือน เดี๋ยวก็เหมือนคริสปี้ครีม 55555 แต่เราก็กินคริสปี้ครีมนะ แค่รอคนเลิกเห่อค่อยซื้อ"
สอบปากคำ คนในคิว
ไม่ปล่อยให้สงสัยในกิตติศัพท์ได้นาน ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ LIVE ก็ลงพื้นที่สำรวจ Garrett Popcorn Shop ณ สยามพารากอน เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลาประมาณ 16.30 น. พบว่าปริมาณฝูงชนจำนวนมากยังคงอดทนรอต่อคิวยาวเหยียด ลูกค้าหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายืนรอมากว่า 3 ชั่วโมง รายแรกมาต่อคิวรอตั้งแต่ 7.00 น. แน่นอนว่า ท่าทีของลูกค้าที่ต่อคิวอยู่ในแถวมีอาการหงุดหงิดกับบริหารจัดการเรื่องเวลาของสินค้าดังกล่าว
จากการสังเกตการณ์ Garrett Popcorn Shops จะตั้งอยู่ในบริเวณตัวห้างฯ แต่จัดคิวไว้บริเวณด้านนอกของห้างฯ และทำการปล่อยลูกค้าเข้ามาซื้อหน้าร้านเพียงเล็กน้อยต่อครั้ง
ด้านเจ้าหน้าที่แจ้งว่า เปิดรับคิวมาตั้งแต่ช่วงเที่ยง โดยมีทั้งผู้ที่จองคิวผ่านทางอินเตอร์เน็ตมาก่อนล่วงหน้า เรียกว่าระบบ Fast Lane และระบบ Walk-in มาต่อคิวรอซื้อ ซึ่งปิดรับคิวตั้งแต่ช่วงเวลา 15.00 น. เพราะจำนวนลูกค้าชาวไทยให้ความสนใจล้นหลาม จำนวนคร่าวๆ วัดจากสายตานับกว่า 1,000 คิว
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทีมข่าวฯ สังเกตการณ์อยู่นั้น พบว่าผู้ที่ผ่านไปมาให้ความสนใจเดินเข้ามาไถ่ถามเป็นระยะๆ ว่า ยังซื้อได้อยู่หรือเปล่า? ยังเปิดรับคิวอยู่มั้ย? แม้กระทั่ง ผู้ที่ไม่รู้จักกันมาก่อนก็ตรงปรี่เข้ามาสอบถามผู้ที่รอคิวอยู่ในแถวว่า ขอฝากซื้อได้หรือเปล่า?
ทีมข่าวเข้าไปสอบถามผู้ที่ได้คิวสุดท้ายของวันเปิดร้านวันแรก ซึ่งเป็นหนุ่มนักเรียนมัธยมปลาย จากโรงเรียนสาธิต มศว. หนุ่มวัยรุ่นรายดังกล่าวเผยว่ารีบมาต่อคิวรอทันทีที่โรงเรียนเลิก พร้อมเปิดใจด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า รู้สึกติดใจในรสชาติตั้งแต่ครั้งได้ลิ้มรสป๊อปคอร์นที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะรสชาติที่กลมกล่อม รวมทั้งวัตถุดิบเกรดเอ ส่งให้ป๊อปคอร์นอร่อยเลิศ ซึ่งตรงกับทัศนะของคนในคิวรายอื่นๆ ที่บอกสาเหตุที่ติดใจจนยอมมาต่อคิวยาวเหยียดในวันนี้ เป็นเพราะเคยลิ้มชิมรสมาก่อนแล้ว
“วันนี้มาดูเฉยๆ ค่ะ ไหนๆ ก็เดินมาม็อบมาอยู่แล้ว เลยมาดูลาดเลา ยังไม่ได้ตั้งใจว่าจะมาซื้อ ทราบว่าวันนี้เป็นวันเปิดตัววันแรก ส่วนตัวรู้จักมาก่อนอยู่แล้ว เคยทาน Garrett Popcorn ที่สิงคโปร์ เม็ดป๊อปคอร์นเขาจะต่างจากป๊อปคอร์นทั่วไป มันจะเป็นเม็ดกลมๆ จะเป็นพันธุ์ของเขา แล้วตัวเครื่องที่ใส่เพิ่มรสชาติมา ถ้าเป็นอัลมอนด์ก็อัลมอนด์จริงๆ ชีสก็ชีสจริงๆ ถึงรสถึงเครื่องว่างั้นเถอะ
พอมาเปิดในไทยก็ดีนะคะ จะได้ไม่ต้องบินไม่ซื้อที่เมืองนอกหรือสั่งจากเว็บ แต่พี่ไม่เคยซื้อจากเว็บนะแล้วก็ไม่เคยบินไปเพื่อกิน ไม่เว่อร์ขนาดนั้นค่ะ ที่เคยได้ชิมเพราะพาลูกไปเที่ยวแล้วหาอะไรทานพอดี ส่วนเรื่องราคา เริ่มต้นที่ 90 ถือว่าไม่แพงค่ะ เมื่อเทียบกับที่อื่น เพราะที่อื่นถ้าจำไม่ผิดเคยทานถุงละ 250 ถุงที่พับได้ มันก็เก็บไว้ได้นานเหมือนกัน หิ้วกลับมาทานก็ยังอร่อยอยู่ เป็นป๊อปคอร์นที่สำเร็จแล้ว ถุงเขาเป็นซีลพับและเก็บดี ของที่นี่ก็มีเซ็ตกระป๋องขายเหมือนกันค่ะ ราคากระป๋องละประมาณ 1,000 กว่าบาท ก็ตกใจเหมือนกัน” โอ๋-มนัสนันท์ แม่บ้านวัย 40 เล่าอย่างออกรส
“ว่างวันนี้พอดี เห็นว่าเปิดสาขาวันนี้วันแรกเลยตั้งใจมาค่ะ เคยทานมาก่อนที่ฮ่องกง ตอนที่ไม่ได้ไปเมืองนอกก็มีคนเคยซื้อมาฝากตอนไปเที่ยว ก็เลยชอบค่ะ ชอบรสแม็กคาเดเมีย นี่ก็มาต่อคิวตั้งแต่เกือบบ่าย 2 แล้วค่ะ รอมา 3 ชั่วโมงแล้ว รสที่อยากทานก็หมดไปแล้วค่ะ แต่ยังชิลอยู่ แต่ก็แอบรู้สึกว่าทำไมเขาบริหารจัดการแย่มาก (หัวเราะ) จริงๆ มันก็แค่ตักป๊อปคอร์นใส่ถุง จริงๆ แล้วก็ไม่แฮปปี้กับการยืนรอนะ แต่ไม่อยากหงุดหงิดไงคะ ถือว่ามาเปิดที่ไทยก็ดี เราจะได้ไม่ต้องไปกินไกลๆ ก็คิดอยู่ว่าต่อไปคนคงจะต่อคิวซาๆ ลงเหมือน Krispy Kreme น่ะแหละ ใครจะมองว่าเราเห่อ มาต่อคิววันนี้ ก็ฉันว่างนี่ มันก็เหมือนรอต่อคิวโออิชิ-ฟูจิ น่ะแหละค่ะ อย่าง โออิชิแกรนด์ 3-4 ชั่วโมงก็เคยรอมาแล้ว
เทียบกับป๊อปคอร์นของโรงหนัง ที่เห็นได้ชัดๆ เลยคือรสของชีสมันต่างกันมาก ปริมาณที่เขาใส่ชีสลงไป มันแทบไม่ต่างจากรสเค็ม-รสเนย เม็ดหนึ่งชีสเต็มท่วม เทียบกับป๊อปคอร์นของโรงหนังในราคาเดียวกัน คุณภาพมันต่างกัน อย่างเมเจอร์ราคา 200 แล้วที่นี่ ดูคุณภาพดิ และสาขาที่ไทยก็น่าจะถูกกว่าในเอเชียด้วยกันแล้วค่ะ เพราะเรตเงินของเราน่าจะถูกกว่าฮ่องกง” วี-วีรญา แสดงความคิดเห็นอย่างชัดถ้อยชัดคำ
คุ้มทุน 6,000 คนต่อสัปดาห์
แพงขนาดนี้ ใครจะไปมีเงินซื้อ? หลายคนคงคิดแบบนี้ แต่ ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ขอขัดเลยว่าเป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะจริงๆ แล้วคนไทยมีกำลังซื้อมากกว่าที่คิด
“เชื่อมั้ยว่าถึงจะแพงแค่ไหน แต่จริงๆ แล้วคนไทยมีกำลังซื้อนะ ใครบอกว่าคนไทยจน ผมไม่เชื่อเด็ดขาด ถ้าถึงขนาดซื้อ Garrett Popcorn ได้ ถ้าเทียบง่ายๆ กับเงินที่ต้องจ่ายเพื่อซื้อ Krispy Kreme กับที่ต้องจ่ายเพื่อซื้อป็อบคอร์นตัวนี้ ตัวนี้สูงกว่าเยอะ ถึงแม้ว่าจะซื้อถุงเล็ก แต่เทียบปริมาณกับจำนวนกันแล้ว ก็ยังถือว่าแพงกว่าอยู่ดี
เขาเพิ่มมูลค่าสินค้าเข้าไปด้วยคำว่า “นำเข้า” และป็อบคอร์นนี้มันมีส่วนผสมและเครื่องปรุงที่ไม่เหมือนของโรงภาพยนตร์ และเผลอๆ ราคาใกล้เคียงกันด้วย 100 กว่าๆ เหมือนๆ กัน จุดขายเขามีอยู่แล้วครับ ของที่มาจากเมืองนอก ยังไงแบรนด์ก็ได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว และยังมีรสชาติที่หลากหลายกว่า แต่ก็ต้องมาดูกันอีกทีครับว่ารสชาติจะถูกปากคนไทยหรือเปล่า เพราะคนไทยอาจจะไม่ชอบรสหวานเกินไป กระแสสุขภาพกำลังมาด้วย อาจจะกลัวผลที่จะตามมาได้ ก็ต้องดูกันต่อไป
แต่ถ้าให้เทียบตลาดป๊อปคอร์นแล้ว ในบ้านเราจะไม่ค่อยมีป็อบคอร์นสดๆ ให้ซื้อ ถ้ามีก็มีในโรงหนังซึ่งเป็นคนละเกรด แต่มีแต่ป็อบคอร์นที่เป็น Snack บรรจุซองขาย ความสดก็ด้อยลง แต่นี่จะได้ความหอม ความใหม่ด้วย เพราะฉะนั้น ตลาดป๊อปคอร์นที่ผ่านมายังไม่ค่อยโตเท่าไหร่ แต่รายที่กำลังจะเข้ามากินตลาดป็อบคอร์นก็น่าจะเป็น Garrett Popcorn นี่แหละครับ ถือเป็นแบรนด์ที่น่าจับตามองมาก”
สุชาติ เจียรานุสสติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาราเมล คริสป์ จำกัด ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ให้เปิดสาขา “Garrett Popcorn Shop” ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เปิดเผยว่าวางกลยุทธ์เอาไว้ให้แบรนด์นี้ติดอันดับป็อบคอร์นฟรีเมียมภายในเวลา 2 ปี
“ตลาดป๊อปคอร์น ในประเทศไทย มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ป๊อปคอร์น ระดับพรีเมียมยังมีน้อยมาก บริษัทจึงต้องการเข้ามาสร้างมูลค่าตลาด ในเบื้องต้น Garrett Popcorn มีให้เลือก 7 รสชาติ ราคาเริ่มต้นที่ 90-2,300 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบราคาในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ไทยถือว่ามีราคาที่ถูกกว่า และหลังจากนี้ของไทยจะมีการพัฒนาสูตรใหม่ๆ ให้เข้ากับคนไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งราคาจำหน่ายนั้นจะไม่แตกต่างกันมากครับ เพราะว่าใช้วัตถุดิบจากแหล่งเดียวกัน แต่อาจจะต่างกันตรงที่ค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ย 10% และตั้งเป้าหมายมีลูกค้าบริการประมาณ 6,000 คนต่อสัปดาห์ และสาขาแรกจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 2 ปี”
ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะคุ้มทุนได้อย่างที่เจ้าของแบรนด์ป็อบคอร์นไฮโซรายนี้วาดหวังไว้หรือเปล่า เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้มากที่สุดในโลกแล้ว
“หลักการอย่างหนึ่งของการตลาด เขาบอกไว้ว่าต้องพยายามอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า แต่สินค้าบางอย่าง พอมันมีความสะดวกมากเกินไป ลูกค้าก็ไม่สนใจเหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ปรากฏการณ์ของ Krispy Kreme ตามแง่หลักการตลาด เราต้องพยายามขยายช่องทางทางการตลาดให้ได้มากที่สุด คือพยายามขยายสาขา เปิดที่เซ็นทรัลพระราม 9, เซ็นทรัลลาดพร้าว แต่ปรากฏว่ามนต์แห่งความขลังก็เสื่อม คนก็เข้าไปซื้อน้อยลง เลยเป็นไปได้ว่า คนเรา อะไรที่มันน้อยๆ คนจะสนใจ พออะไรที่มันเยอะๆ คนก็จะลดความสำคัญลงไป กระแสการต่อคิวซื้อก็เลยลดลง
คราวนี้มาถึงเคส Garrett Popcorn อาจจะมาจากพฤติกรรมที่คนไทยไปต่างประเทศแล้วซื้อมาเป็นของฝาก พออะไรก็ตามที่มันอยู่แดนไกล มันหามายาก มันก็จะมีคุณค่า แต่พอมาขายในเมืองไทย ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าจะมีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่เคยทาน Garrett Popcorn เลยทำให้เขามาต่อคิวซื้อ
ท้ายที่สุด ผมก็ยังยืนยันว่า เวลาจะทำการตลาดอะไรก็ตาม ตัว Product มันต้องดี เพราะไม่งั้นแล้ว ลูกค้าไปชิม ไม่มี First Impression โอกาสที่เขาจะกลับมาซื้ออีก มันไม่มีแน่นอน ทีนี้ก็ต้องมาดูอีกว่ารสชาติถูกปากคนไทยหรือเปล่า เพราะ Garrett Popcorn ก็จะมี Feedback ที่คนตอบกลับมาส่วนหนึ่งเหมือนกันว่ารสชาติมันหวานเกินไป เข้มข้นมากเกินไป กลับมาถึงคำถามที่ว่าเขาใช้กลยุทธ์รับจ้างต่อคิวจริงๆ อย่างที่หลายคนสงสัยหรือเปล่า สุดท้ายแล้ว ถึงจะใช้กลยุทธ์นี้เรียกคนให้มาสนใจได้จริง แต่พอคนมาซื้อชิมแล้วไม่ถูกใจ ถึงจะสร้างกระแสต่อแถวได้ แต่ตัวสินค้านั้นจะขายได้ในระยะยาวหรือเปล่า ต้องดูที่ตัวแบรนด์นั้นว่ามันจะสร้างคุณค่าได้มากน้อยแค่ไหน
บอกตรงๆ ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่คาดเดาลำบาก ตอนแรกเราอาจจะโฟกัสไปที่ผู้บริโภคกลุ่มนึง แต่พอถึงเวลา กลุ่มที่เราคาดไว้อาจจะไม่ซื้อ อาจจะเป็นอีกกลุ่มนึงก็ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง Blackberry ตอนที่เข้าเมืองไทยใหม่ๆ ฝรั่งงงเลย เพราะต่างประเทศเขาโฟกัสไปที่คนวัยทำงาน แต่บ้านเรากลับฮิตในหมู่เด็กวัยรุ่น แต่กรณี Garrett Popcorn เขาน่าจะเลือกโลเกชั่นได้เหมาะกับกลุ่มผู้ซื้อของเขาที่มีกำลังซื้อแล้วล่ะครับ”
ปรากฏการณ์ขี้เห่อ คนไทยใช่เลย!
ให้ลองวิเคราะห์ปรากฏการณ์การต่อคิวซื้อของคนไทยที่พบเห็นบ่อยๆ ทุกครั้งที่มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา ก็ไม่ใช่ว่าต่างชาติไม่เป็น เพียงแต่คนไทยอาการหนักและเกิดขึ้นบ่อยกว่าเท่านั้นเอง หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกไว้อย่างนั้น
“ที่คุยๆ กับเพื่อนผมที่ไปต่างประเทศบ่อยๆ และซื้อ Garrett Popcorn มาให้ผม บอกว่าส่วนใหญ่ที่เห็นคนไปต่อแถว เป็นคนไทยเกือบหมดเลยนะ โดยเฉพาะที่สิงคโปร์ เพราะฉะนั้น เขาก็ประเมินได้ไม่ยากว่าคนไทยมาต่อแถวซื้อเยอะขนาดนี้ แล้วทำไมไม่เปิดสาขาในไทยเลยล่ะ ในเมื่อสินค้ามีอยู่ และลูกค้าก็พร้อมซื้อ ก็เอาสินค้าวิ่งมาหาลูกค้าซะเลย
เทียบกับในต่างประเทศ เวลามี Gadget ใหม่ๆ มา เขาก็จะต่อคิวกันเหมือนกัน เช่น Apple ออกอะไรใหม่มา เขาจะรู้สึกดีมากถ้าได้เป็นคนแรกที่ได้ถือ Gadget ใหม่ที่ออกมาจากแบรนด์นั้น ได้ใช้ก่อนในขณะที่คนอื่นไม่มีโอกาส เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์ต่อคิวในเมืองนอกก็มี อย่างตอน Harry Potter ออกหนังสือเล่มใหม่มา ก็มีคนต่อคิว แต่กับแบรนด์ของกินในบ้านเขาอาจจะไม่ค่อยมีให้เห็นเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่กับคนไทย เราอาจจะเป็นสุขนิยม ความสุขของเราก็มีกันไม่กี่เรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการกิน
และอีกอย่างหนึ่ง มันอาจจะเป็นความท้าทายด้วยมั้งครับ และอาจจะซื้อไปฝากเพื่อน เพราะถ้าจะซื้อของกินตามห้างฯ ตอนนี้ก็ดูธรรมดา พอมีอะไรใหม่ก็จะกลายเป็นสีสัน หรืออาจจะให้กันเป็นของตามเทศกาลก็ได้ ซึ่งมันก็มีมูลค่ามากกว่าป็อบคอร์นที่อยู่ตามโรงภาพยนตร์อยู่แล้ว”
เมื่อวิเคราะห์ว่านิสัยคนไทย “ขี้เห่อ” จึงขอให้อาจารย์ช่วยคาดการณ์ล่วงหน้าว่าสำหรับปรากฏการณ์ครั้งนี้ เมื่อไหร่จะเลิกเห่อกันอีก? คำตอบที่ได้คือขึ้นอยู่กับการสื่อสารการตลาดของแบรนด์ว่าจะทำออกมาได้ดีแค่ไหน
“ต้องดูอีกนะว่าป็อบคอร์นเป็นสิ่งที่กินได้ทุกวันหรือเปล่า มันต่างจากกาแฟนะ ถ้าเป็นสตาร์บัคส์ เราสามารถเข้าได้ทุกวันหรืออาจจะวันเว้นวันก็แล้วแต่ เพราะมันมีความหลากหลายให้เลือกและเป็นสิ่งที่กินได้ทุกวัน เผลอๆ บางคนดื่มเช้าที เย็นอีกทีก็มี แต่ป็อบคอร์นไม่ใช่แบบนั้น ไม่สามารถเพิ่มความถี่ในการซื้อได้ตลอด อาจจะได้แค่เดือนละครั้ง
ไม่งั้นถ้าอยากให้ยอดขายกระเตื้อง อาจจะขายแบบลิงก์กับเทศกาลซึ่งไม่น่ายาก เพราะคนไทยเป็นชาติที่ร่วมเทศกาลเยอะมากตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี ขนาด Halloween ไม่เกี่ยวกับเรา เราก็ยังเข้าร่วม เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จักเอาตัว Product เข้าไปจับเทศกาลก็จะช่วยได้มากขึ้น ต่อไปวาเลนไทน์อาจจะไม่ต้องให้ช็อกโกแลตก็ได้ อาจจะให้ป็อบคอร์นรสช็อกโกแลตได้มั้ย มันอยู่ที่ว่าเราจะจับตรงนี้เข้าไปเป็นสีสันได้มากน้อยแค่ไหน
อันนี้ก็คาดเดายาก เพราะคนไทยเป็นชาติที่ทำการตลาดด้วยยากที่สุด ใช้สถิติไม่ค่อยได้ นักการตลาดที่เก่งๆ มาบ้านเรายังงง แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในกระแสอย่างน้อยซักปีนึง อย่าลืมว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนกรุงเทพอย่างเดียว กลุ่มเป้าหมายอาจจะเป็นคนต่างจังหวัดด้วย มันก็เหมือนอารมณ์ที่คนไทยไปต่างประเทศไงครับ แล้วหิ้วของฝากกลับมา อันนี้ก็คนต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ แล้วหิ้วป็อบคอร์นนี้เป็นของฝากกลับบ้านไปได้ อีกส่วนที่จะทำให้ลูกค้าติดใจคือการผลิต ถ้าจำกัดคนซื้อมากไปอาจจะไม่ดี บางทีอาจทำให้เกิดอาการหมั่นไส้ จำกัดคนละไม่เกิน 2 ถุง ถ้าลูกค้าไม่เข้าใจเหตุผลว่าเขามีกำลังผลิตไม่เพียงพอ มันก็จะทำให้ดูเข้าข่ายเล่นตัว เพราะฉะนั้นต้องดูด้วยว่าลูกค้าพร้อมจะรอคอยมั้ย?”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก: แฟนเพจ “Garrett Popcorn Shops - Thailand”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
เห่อป๊อปคอร์นไฮโซอเมริกา "การ์เรต ป๊อบคอร์น"ราคา 90-2,300บ. แห่ซื้อคิวยาวเหยียด
เจ้าของ “จังซีลอน” แตกไลน์ฟูด ดึง “การ์เร็ตป๊อปคอร์น” บุกไทย