xs
xsm
sm
md
lg

“โอน้อยออก” โมเดิร์นด็อกบอก โค้ดลับการเมือง!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมธี (มือกีตาร์), ป๊อด (นักร้องนำ) และ โป้ง (มือกลอง)
“ต้องเป็นโค้ดลับทางการเมืองแน่ๆ” “น่าจะเป็นเนื้อหาเชิงปรัชญามากกว่า” ฯลฯ เล่นเอาหลายคนช่วยกันไขรหัสลับกันใหญ่ หลังจากวง “หมาทันสมัย” หรือ “โมเดิร์นด็อก” ไม่ยอมเฉลยความหมายที่ซ่อนเอาไว้ในเพลง “โอน้อยออก” ว่าต้องการสื่อถึงเรื่องอะไรกันแน่?

เมื่อมีโอกาสประชิดตัวตำนานแห่งวงอินดี้ไทย จึงหนีไม่พ้นบทสนทนาเพื่อไขทุกข้อข้องใจตลอดระยะเวลา 5 ปีที่หายหน้าหายตาไปผลิตผลงานชุดใหม่ ทัศนคติต่อวงการเพลงไทยจากสายตารุ่นเก๋าคราวพี่ รวมถึงความคิดเห็นด้านการเมืองที่กำลังระอุอยู่ในขณะนี้!





ได้เวลา ไขโค้ดลับ!

“ไม่อยากเป็นวงเพลงตู้” คือเหตุผลที่ ป๊อด-ธนชัย อุชชิน, โป้ง-ปวิณ สุวรรณชีพ และ เมธี น้อยจินดา ตัดสินใจบอกลาการแสดงสดในนาม “โมเดิร์นด็อก” ไปนานถึง 5 ปี

“เราทนเป็นตู้เพลงที่มีเพลงทั้งหมด 8 เพลง สำหรับเล่น live เพื่อมวลชนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เป็น 8 เพลงที่ถูกหยอดตู้มากที่สุด ให้เดาได้เลยว่ามีเพลงอะไรบ้าง?” นักร้องนำประจำวงยิ้มน้อยๆ แล้วปล่อยให้ผู้สัมภาษณ์ลองทายชื่อเพลงในลิสต์ยอดฮิตของพวกเขา

“บุษบา, ตาสว่าง, บางสิ่ง, ติ๋ม, ลมหายใจ...” ถึงจะยังไล่ไม่ครบ 8 เพลงอย่างที่เกริ่นเอาไว้ แต่อ่านจากปฏิกิริยาของคนฟังที่พยักหน้าหงึกหงักอย่างรู้กันแล้ว ช่วยตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่าพวกเขา “เบื่อ” ที่จะเล่นเพลงเดิมๆ กันจริงๆ


“คือมันไม่ใช่ว่าเพลงพวกนั้นไม่ดีนะฮะ เข้าใจว่าเวลาเราไปดูคอนเสิร์ตศิลปิน เราก็อยากจะฟังเพลงฮิตของเขา อย่างถ้าผมไปดูคอนเสิร์ตของ Elton John ผมก็คงรอว่าเมื่อไหร่จะมีเพลง “Your Song” ซึ่ง Elton John ก็อาจจะคิดว่า “กูเล่นไปกี่ล้านรอบแล้ว” (หัวเราะ) อันนั้นก็เป็นอีกมุมนึง ในแง่คนสร้าง-คนเล่น ก็อยากที่จะเล่นของใหม่ๆ ที่สนุก ที่ update กับชีวิตในตอนนั้น

ป๊อดยังคงเป็นตัวแทนของวงบอกเล่าความรู้สึกตลอดช่วงที่ผ่านมา ความรู้สึกที่ทำให้การกลับมาของพวกเขา หลังจากหายไปซุ่มทำเพลงครั้งนี้ มีสีสันในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คือนอกจากคอเพลงจะสนุกกับการฟังแล้ว ยังได้รับคมรอยหยักในสมองด้วยการตีความกันอย่างกว้างขวาง... กว้างมากจนถูกจับไปเชื่อมโยงถึงเรื่องการเมืองที่กำลังระอุอยู่ในขณะนี้


“ทุกสิ่งแค่โอน้อยออก ให้เธอช่วยบอก ให้ฉันนั้นรู้ความจริง ทุกเศษที่เอาไม่ออก ให้มาช่วยบอก หากเรานั้นรักกันจริง”

นี่คือเนื้อเพลงบางส่วนจาก “โอน้อยออก” ซิงเกิลแรกที่ปล่อยออกมา และทำให้หลายคนตีความไปว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุบ้านการเมือง เปรียบการโอน้อยออกเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของประเทศที่ต้องมีคนอยู่และไป แถมยังฝังโค้ดลับเอาไว้ในเพลง ด้วยคำว่า “เขียว” “เคี้ยว” และ “เศษ” ซึ่งต้องฟังด้วยหูฟังเท่านั้นจึงจะได้ยิน

แน่นอนว่า ท้ายที่สุด ทุกคนในวงก็ยังไม่ยอมเปิดปากเฉลยปริศนาที่ซ่อนอยู่ในเพลงว่าจริงๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร แต่อย่างน้อย พวกเขาก็ยอมเปิดใจพูดคุยเรื่องการเมืองในมุมมองของศิลปินและในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง

“ถ้าจะให้มองเรื่องการเมืองก็มองได้นะ เพราะโอน้อยออกคือการเลือก คงคล้ายๆ กันตรงที่ การเมืองจะมีการพูดถึงเรื่องสิทธิในการเลือก คุณจะหงายหรือคุณจะคว่ำ (ทำท่าโอน้อยออกให้ดู) อันนี้เป็นสิทธิของคุณละ” ป๊อดเริ่มเปิดประเด็น ก่อนโยนให้ เมธี มือกีตาร์ รับจังหวะอธิบายความรู้สึกของศิลปินในเรื่องการเมือง

“ผมก็เคยนะ บางช่วงที่การเมืองมันร้อนแรงมาก แล้วเราอยู่บ้านนั่งแต่งเพลง นั่งวาดรูป บางทีก็รู้สึกผิดเหมือนกันว่าเราควรจะออกไปทำอะไรสักอย่างเว้ย แต่พูดตรงๆ นะ บางทีเราก็ไม่ค่อยเข้าใจกับเรื่องทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น อะไรมันถูกมันผิด แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าเราตั้งใจทำงานที่เราทำ ถ้าทุกคนทำในส่วนของตัวเองให้ดี

ถ้าทุกคนเป็นคนดี ประเทศมันก็น่าจะดี ก็เลยย้อนกลับมาทำสิ่งที่เราถนัดดีกว่าครับ แต่ตอนนี้ บางทีถ้าเราจะไม่แสดงออกว่าเลือกแบบไหน เดี๋ยวก็ลำบากอีก ทุกวันนี้ศิลปินอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้ด้วยนะ เขาจะว่าว่าเราไม่สนใจ

ก่อนจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นจำพวกอยู่กับตัวเอง ไม่สนใจเหตุบ้านการเมือง นักร้องนักแต่งเพลงอย่างป๊อดจึงออกโรงเผยความในใจบ้าง
เปิดทุกมุม ในห้องสมุดบ้านโป้ง
“จริงๆ น่ะเราสนใจอยู่นะครับ และผมก็เป็นคนที่ติดตามมุมมองของหลายๆ ด้าน แต่ละคนก็จะมีเหตุผลในมุมลึกและคิดว่าอีกฝ่ายนึงน่ะไม่รู้หรอกว่าความจริงคืออะไร ซึ่งไอ้การที่เรามองในมุมมองทั้งหมดนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าโอ้โห! มันตัดสินยากเหลือเกินว่าความถูกต้องมันอยู่ตรงไหน หรือใครมีเงื่อนงำที่ซ่อนเอาไว้ ใครที่ว่าดีนี่เป็นยังไง ในขาวมีดำ ในดำมีขาว มันซับซ้อนเหลือเกิน

ถ้าจะออกมาพูดเรื่องนี้ก็คิดว่าพูดแล้วจะผิดไปอีก เลยคิดว่าเราพูดผ่านเพลงดีกว่า ถึงเพลงเราอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่เพลงของเราอาจจะช่วยแผ่กำลังหรือความรู้สึกที่จะพอมีผลไปช่วยคนอื่นๆ มีพลังขึ้นมาได้ พลังจากพวกเราอาจจะเหมือนแรงของปีกผีเสื้อที่กระทบกับลม แต่เราคงส่งแรงไม่ได้เท่ากับปีกของเหยี่ยวนกอินทรี

“เราสื่อสารได้ดีผ่านเพลง เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดครับ” ว่าแล้ว โป้ง มือกลองวงอินดี้ ก็รับจังหวะแสดงความเห็นส่งท้ายประเด็นร้อน “หรืออาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเพลงก็ได้ ถามว่าเราทำหน้าที่เป็นคนที่มีคุณภาพดีแล้วหรือยัง ไม่จำเป็นต้องมองว่าเป็นฝ่ายไหนหรอกครับ เราทำหน้าที่พื้นฐานของการเป็นคนที่ดีแล้วหรือยัง?”




ลุงๆ ขอคุยกับ “วัยฮอร์โมน”
พวกเขาคือ หมาทันสมัย
ย้อนกลับไป 19 ปีที่แล้ว “โมเดิร์นด็อก” คือวงดนตรีหน้าใหม่ที่แปลกแหวกแนว เปรียบเสมือน "กลุ่มกบฏทางดนตรี" ที่สร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นกลุ่มแรกๆ ในวงการเพลงไทย ทำให้แนวอัลเทอร์เนทีฟหรือดนตรีทางเลือกถูกจับตามองครั้งใหญ่ จึงส่งให้พวกเขากลายเป็นตัวแทนของวัยรุ่นที่ไม่ว่าจะออกมาส่งเสียง-สาดความรู้สึกผ่านถ้อยคำและตัวโน้ตในเรื่องอะไร ก็ดูเหมือนจะ “โดน” และ “ดัง” ไปเสียหมด

มาถึงตอนนี้กับช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านไป แน่นอนว่าทั้งป๊อด, โป้ง และเมธี ไม่ใช่คนวัยเดิมอีกต่อไปแล้วและคงย้อนกลับไปคิดแบบคนวัยนั้นไม่ค่อยเนียนเท่าไหร่ ถามว่ากังวลบ้างหรือเปล่าที่ต้องสื่อสารกับคอเพลงวัยเลือดลมพลุ่งพล่าน กลัวจะเกิดช่องว่างระหว่างวัยบ้างไหม? คนถูกถามทั้ง 3 คนนิ่งคิดพร้อมๆ กัน แต่มีเพียงคนเดียวที่เริ่มถ่ายทอดความรู้สึกก่อน เพราะในฐานะคนแต่งเนื้อเพลงเองทั้งหมดอย่างป๊อด เขาน่าจะเป็นคนที่ต้องคิดเรื่องนี้มากที่สุด
ป๊อด นักร้อง-นักแต่งเพลง ผู้ไม่เคยตกยุค
“จะว่าไปเราก็ไม่ได้คุยกับวัยรุ่นนานแล้วเหมือนกันนะ โดยเฉพาะ “รุ่นฮอร์โมน” (คำพูดหยิกแกมหยอกนี้ของป๊อดเรียกรอยยิ้มได้ทั้งวงสนทนา) ผมขอเรียกเจเนอเรชันนี้ว่ารุ่นฮอร์โมนแล้วกันนะ (ยิ้ม) ผมยังไม่มีโอกาสได้สื่อสารกับพวกเขาเลย ครั้งหลังสุดที่เราคุยกันด้วยเพลงก็คือ ช่วงหนังเรื่อง “Suck Seed” ยังเป็นช่วงที่ น้องพีช (พชร จิราธิวัฒน์) น้องเก้า (จิรายุ ละอองมณี) ยังเอาเพลงบุษบามาเล่นอยู่ในหนัง แต่หลังจากนั้น เราก็ยังไม่ได้กลับไปคุยกับวัยรุ่นเลย ก็อยากรู้เหมือนกันว่าเราคุยกับเขาแล้ว เรายังสนุกกันขนาดไหน

แต่ก็อยากจะฝากบอกว่าแฟนเพลงเก่าๆ ว่าเรากลับมาแล้วนะ ยังมาสนุกกันได้อยู่ รวมถึงน้องๆ รุ่นใหม่วัยฮอร์โมน พวกลุงๆ อาๆ ก็ยังมีความซี้ดอยู่พอสมควร จริงๆ แล้วลูกโป้งก็วัยฮอร์โมนพอดี” คนพูดหัวเราะดังลั่น ปล่อยให้คนที่ถูกแหย่ยิ้มรับมุก ไม่ปฏิเสธว่าคือเรื่องจริง
มุมกวนๆ ของ โป้ง มือกลอง
ถึงจะพูดแซวตัวเองว่าเป็นรุ่นลุงรุ่นอาไปแล้ว แต่ใจจริงพวกเขาไม่เคยคิดว่าตัวตนของตัวเองเปลี่ยนไปเลย เรียกว่าสมัยก่อนเปรี้ยวอย่างไร สมัยนี้ก็ยังเฟี้ยวไม่ลดละ และความรู้สึกเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดจากความพยายามจะ Modern ให้สมกับชื่อวง แต่เป็นเพราะมันอยู่ในสายเลือด อยู่ในไลฟ์สไตล์ของทุกคนอยู่แล้ว

พวกเราเป็นวงที่ค่อนข้างดูแลเรื่องความสมดุล ทั้งสุขภาพ เรื่อง update ศิลปะ ไปต่างประเทศ เข้าร้านหนังสือ ฟังเพลง แล้วก็มาพูดคุยกัน ก็ยังรู้สึกว่าเราเปิดรับอะไรใหม่ๆ เข้ามาตลอดโดยที่ไม่ได้ไปบอกตัวเองว่าต้องทำ อย่างเช่นตัวผมเอง ผมก็มีความชื่นชมในวงดนตรีเด็กๆ ในเพิ่งเกิดทั้งต่างประเทศและบ้านเราอยู่ตลอดนะ ผมรู้จักนะ และผมไม่ได้พยายามที่จะขวนขวายด้วย อย่างวง Yellow Fang, วง Plot, ค่าย So::on Dry Flower หรือแม้แต่อินดี้จัดๆ มากๆ อย่าง พลัม (ณภัทร สนิทวงศ์) ฯลฯ

รู้สึกว่าบางคนเขาเจ๋งมาก ดูการเขียนเพลงของเขาสิ ว้าว! เขียนเพลงแบบนี้ได้ด้วย แหวกแนวจากภาษาเดิมๆ ที่คนรุ่นเก่าๆ เขียนกันมา หรือแม้แต่เรื่องมุมมองที่แตกต่าง ผมก็ชื่นชมรุ่นน้องตลอด แล้วเอามาดูเป็นตัวอย่างด้วยซ้ำ คือเราเสพอยู่ตลอด ถามว่าเราพยายามทำตัวให้ทันสมัยอยู่ตลอดหรือเปล่า เราก็ไม่เคยพยายามนะ (ยิ้ม) แต่ยังคิดว่าพวกเรายังเปรี้ยวกันอยู่พอสมควร


เกณฑ์ที่จะชี้วัดระดับ “ความเปรี้ยว” ของโมเดิร์นด็อกได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น “ผลงาน” และ “ผลตอบรับ” ล่าสุด ปล่อยซิงเกิลที่ 2 “สกาล่า” ออกมาได้เพียงไม่กี่วัน ยอดวิวบน Youtube ก็เฉียดหลักแสนเข้าไปแล้ว แถมคอเพลงก็มีทีท่าว่าจะถูกใจอยู่ไม่น้อย ด้วยซาวนด์ที่โดดเด่น เนื้อเพลงที่โดนใจ พูดถึงการชวนไปดูหนังด้วยลีลายียวนตามสไตล์ เดาว่าคงตั้งใจให้เพลงนี้ครองใจวัยรุ่น-วัยฮอร์โมน แต่เมื่อถามตัวผู้ผลิตเองถึงได้รู้ว่า เขาไม่เคยตั้งเป้าว่าต้องสื่อสารเพลงไปที่กลุ่มไหนหรือต้องให้โดนใจใคร ก็แค่...

Write the book you want to read น่ะครับ เขียนหนังสือที่คุณอยากจะอ่าน ผมชอบเขียนเพลงแบบนั้น แล้วบังเอิญว่าไอ้หนังสือเล่มนี้ พอเขียนขึ้นมาแล้วมีคนอยากอ่านด้วยกันเท่านั้นเอง บางเล่มที่เราเขียนออกไป คนฟังเป็นกลุ่มนึง พออีกเล่มที่เขียน ดันไปถูกจริตคนอีกกลุ่มก็มี” แล้วนักร้องนำก็ปล่อยให้มือกีตาร์ของวงช่วยเสริมทัพ
เมธี มือกีตาร์ โชว์ความเซี้ยว
“เพิ่งมีน้องคนนึงมาพูดกับเราว่า ตอนแรกฟังอัลบั้ม “ทิงนองนอย” (อัลบั้มก่อน) แล้วรู้สึกว่าเพลงมันแก่ไป ต้องตีความ แต่พอผ่านไป 5 ปี กลับมาฟังอีกที รู้สึกว่าตอนนี้ฟังแล้วชอบมากเพราะเข้าใจแล้ว เขาแก่ทันเพลงของเราแล้ว (ยิ้มปลงๆ) เจอแบบนี้บ่อยมาก

แสดงว่าถ้าคนฟังยังไม่ชอบอัลบั้มนี้ รอไปอีก 5 ปี อาจจะชอบก็ได้? ป๊อดหัวเราะรับเบาๆ ก่อนตอบว่า “แต่ผมรู้สึกว่าชุดนี้น่าจะชอบเลยนะ ฟีดแบ็กบอกว่า ชอบเลย”

“หมายถึง “ชอบเลยเถอะ” อย่ารอเลย” นักร้องนำหัวเราะลั่นทันทีที่เพื่อนร่วมวงช่วยตบมุก “บางทีคนมาชอบมันช้าไป คนทำก็หมดกำลังใจเหมือนกันนะ” เสียงที่แผ่วลงของเพื่อนร่วมวง ดึงให้ป๊อดเลิกตอบแบบทีเล่นทีจริง แล้วกลับมาอยู่ในโหมดจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

“ตอนที่ผมทำชุดแรก ผมจำได้ว่าผมเคยเห็นตัวอย่างของศิลปินก่อนหน้านั้น เช่น คุณปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล หรืออัลบั้มเรามาร้องเพลงกัน ของพี่เต๋อ-เรวัต ที่ทำกับกลุ่ม Butterfly ผ่านมา 10 กว่าปี คนถึงจะมารู้สึกว่าชอบและชื่นชมอัลบั้มนี้มาก แต่ศิลปินเขาไม่ทำเพลงแล้ว ผมรู้สึกว่าอย่าทำให้มันเกิดขึ้นอย่างนั้นเลย คุณควรจะเห็นคุณค่ามันซะตั้งแต่เดี๋ยวนี้! 

มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจในการทำอัลบั้มชุดที่ 1 ด้วย energy ที่อยากให้คนชอบมันมากๆ เพราะไม่อย่างนั้น เราฟังชุดแรกออกมาแล้วไม่มีใคร get เรา ผมอาจจะเลิกทำแล้วไปเป็นช่างภาพ เมธีอาจจะไปเป็นสถาปนิกอยู่ แล้วตอนหลังคุณค่อยมาชอบเพลงของเรา แต่เราไม่ได้ทำเพลงแล้ว มันก็น่าเสียดาย




ไม่อินดี้... ไม่ฟัง

“อินดี้” กับ “ตลาด” คือการแบ่งเพลงแบบหยาบๆ ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งคอเพลงส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าหมายถึง “เพลงนอกกระแส” และ “เพลงในกระแส” ในยุคสมัยที่หันไปทางไหนก็ “อินดี้” จนกลายเป็น trend ของวัยรุ่นยุคนี้ไปแล้ว จึงเกิดกลุ่มคนฟังเพลงประเภท “ไม่อินดี้ ไม่ฟัง” ขึ้น คือฉันจะฟังแต่เพลงอินดี้ พอศิลปินที่เคยดังอยู่ในวงแคบ เกิดเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ฉันก็เลิกฟังเพราะรู้สึกว่าไม่อินดี้แล้ว

ปรากฏการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ชักเริ่มสงสัยว่าอะไรคือความหมายของ “อินดี้” ที่แท้จริงกันแน่? จึงขอให้ตำนานแห่งวงอินดี้ไทยช่วยอธิบายให้แจ่มแจ้งเสียหน่อย และแน่นอนว่าพวกเขาก็วิเคราะห์ไป ยิ้มไป หัวเราะไป สบายๆ ตามสไตล์โมเดิร์นด็อก

“ไม่อินดี้ ไม่ฟัง แต่พอเปิดเพลง Raptor แล้วเต้นอะไรอย่างนี้ป่ะ (หัวเราะ) บางทีเราก็ต้องมานั่งมองตัวเราเองนะว่า ทำไมเวลาเราปาร์ตี้ที่คณะ พอเปิดเพลงติ๊นา (คริสตินา อากีร่า) แล้วเต้นกระจุย แต่พอถึงภาคของการ present ตัวตน ก็เปลี่ยนมาเป็นอินดี้จัดซะงั้น บางทีเราอาจจะลืมไปไงว่ามันคือความสุขง่ายๆ อย่างเพลงพี่เบิร์ด “บูมมาแรง” ฟังแล้วก็ทำให้เรามีความสุขได้

“อะ..อะ..อะ..อ๊าว อะ อาว เจ-เจตริน อะไรอย่างนี้ (ยิ้ม)” โป้งช่วยนึกเพิ่มอีกเพลง ก่อนปล่อยความเห็นกระตุ้นให้คิด “ต้องถามว่า “อินดี้” คืออะไร ถ้าเอาตามความหมายของเรา อินดี้ มาจาก “Independent” คือการทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าอินดี้แล้วต้องใส่กางเกงลีบหรือใส่เสื้อทำผมแบบนั้น อันนั้นมันเป็นการตัดสินกันที่ภาพลักษณ์ครับ” มือกลองรัวความคิด แล้วโยนจังหวะให้มือกีตาร์ประจำวงช่วยรับ

“อินดี้มันทำให้เรามีโอกาสเลือกทำเพลงที่แตกต่างออกไปจากปกติ เพลงที่ทำกับทางค่ายไม่ได้ เพราะถ้าทำกับค่าย อาจจะมีข้อจำกัดว่าต้องมีเพลงโดนกี่เพลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอินดี้ทุกวงจะต้องทำเพลงออกมาได้ดี อินดี้บางวงทำเพลงแย่กว่าค่ายใหญ่ๆ ก็มี มันอยู่ที่ว่าอินดี้แล้วยังไง อินดี้แล้วเพลงดีด้วยหรือเปล่า?

“แต่สำหรับเรา...” ป๊อดชี้มือมาที่ตัวเองและเพื่อนอีก 2 คน “สำหรับพวกเรา ไม่มีแล้วนะ อินดี้ ไม่อินดี้ มันคือความสุขมากกว่า ถ้าคุณมีความสุขกับเพลงอินดี้เพราะมันโดนใจ นั่นก็คือเพลงที่เหมาะกับคุณ แต่ถ้าคุณมีความสุขกับเพลงที่กำลังป็อปมาก อย่าง หญิงลี (ยิ้ม) นั่นคือมันกระทบใจคุณ มันสร้างความเบิกบานให้คุณได้ คุณก็เสพมันไป เท่านั้นเองสำหรับผม

ผมมีเพื่อนคนนึงชื่อใหม่ เป็นคนฮาร์ดคอร์มาก ฟังเพลง advance มาก ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่อวกาศมากๆ เขาก็ฟัง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็รู้จักชื่อสมาชิกบ้าน AF ทุกคน (ยิ้มพร้อมกันทั้งวงสนทนา) ผมเคยไปเป็นแขกบ้าน AF อยู่วันนึง แล้วใหม่ก็มาด้วยเพื่อจะมาเชียร์ ในขณะที่เวลาผมไปดูคอนเสิร์ตตามเทศกาลในต่างประเทศ ถามใหม่ว่าวงนี้คือวงอะไรวะ ใหม่ก็จะส่งข้อมูลให้ได้ครบเลย ในคนๆ เดียวกันสามารถมีใจที่เปิดกว้างทางดนตรีได้ขนาดนี้ ผมว่าสุดยอดมากนะ

ไม่ต้องนัดหมาย ทั้งป๊อด, โป้ง และ เมธี ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่เคยให้คำจำกัดความว่าตัวเองเป็นวงอินดี้หรือเปล่า “เรามีหน้าที่ทำเพลงแบบที่ทำแล้วมีความสุข และคิดว่าทำแล้วคงมีคนชอบเหมือนกัน เราโฟกัสกับตรงนั้นมากกว่า” มือกลองของวงยังคงตอบด้วยใจความสั้นกระชับเช่นเดิม แล้วปล่อยให้คนที่พูดเก่งที่สุดช่วยขยายความ

“ความจริง คำนิยามว่า “อินดี้” มันถูกเรียกขึ้นมาจากหน่วยวิจารณ์ นักวิจารณ์ หรือผู้ที่ชอบวิจารณ์นะ (ยิ้ม) แต่ตัวเพลงเอง มันก็คือเพลงนั้น ไม่ว่าจะเพลงตลาดหรืออินดี้ก็ตาม This is a song น่ะ คนฟังก็ฟังเพลงเพลงนั้น โดยที่อาจจะไม่ได้สนใจว่ามันอินดี้มั้ย มันคือคลื่นเสียงที่กระทบหู

แต่ละยุคที่ผ่านมา เราก็จะฟังนิยามต่างๆ ที่ถูกเรียกเปลี่ยนไปตลอด จาก อัลเตอร์ (Alternative) มาเป็น เด็กแนว แล้วก็ อินดี้

“underground ก็เคยเรียก” เมธีช่วยนึก “มีช่วงนึงเรียกว่าเป็น College's sound ด้วย ประมาณว่าฟังในวงแคบ”

“แต่สำหรับพวกเรา เราฟังกันได้ทุกแนวนะ เพลงลูกทุ่งก็มีอิทธิพลกับเพลงของเรา อย่างเพลง “ติ๋ม” ก็เป็นเรื่องของการเอาดนตรีสมัยใหม่กึ่งอิเล็กทรอนิกส์มาผสมกับดนตรีลูกทุ่งไทย คือสิ่งที่เราเล่นมาตลอด” ป๊อดช่วยปิดประเด็น


เรื่องที่น่าตื่นเต้นกว่าการมานั่งจัดประเภทเพลง น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบซื้อขายเป็นอัลบั้ม จากยุคเทป ซีดี มาเป็น Digital Download ถึงแม้จะนึกเสียดายเรื่องคุณภาพเสียงที่ด้อยลงไปบ้าง แต่พวกเขาก็ปรับตัวได้

“ต้องยอมรับว่ามันง่ายกว่าจริงๆ แม้กระทั่งจะฟังเพลงตัวเอง เรายังเข้าไปใน Youtube เลย แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราอยากหยิบจับเป็นชิ้นเป็นอันได้ เราก็มีแผ่นไวนิลเอาไว้ฟัง เพียงแต่อาจจะรู้สึกเสียดายในเรื่องคุณภาพของเพลง มันหายไปเยอะเลยนะ บางทีเราอยู่ในห้องอัด เราเถียงกันแทบตาย แทบจะเอาไม้แบตเขวี้ยงใส่กัน เพื่อเอาเสียงกีตาร์ขึ้นหรือลงนิดเดียว ทั้งที่ฟังจากโทรศัพท์มันจะไม่ได้ยินความแตกต่างหรอก

แต่ข้อดีก็คือมันทำให้ยุคนี้เป็นยุคที่การฟังเพลงกว้างที่สุด ทุกคนมีห้องสมุดโลกอยู่ในมือ เราไม่ต้องรอให้รายการวิทยุเป็นคนนำเสนอ ไม่ต้องรอให้รายการทีวีเปิดให้อีกแล้ว แต่ผมก็ยังเชื่อว่าถ้าอัลบั้มนั้นดีจริง มีเพลงที่มีคุณภาพดีจริงๆ คนก็ยังอยากจะซื้อซีดีกลับบ้านแน่ๆ ซึ่งเราก็ตั้งใจทำให้เป็นอย่างนั้น

คงต้องใจเย็น อดทนรอให้พวกเขาปล่อยซิงเกิลออกมาครบ 10 เพลงก่อน จึงจะได้ยลโฉมอัลบั้มนี้แบบเป็นชิ้นเป็นอัน ถึงแม้จะยังไม่ยอมเผยธีมโดยรวมของอัลบั้มว่าจะออกมาแบบไหน แต่คำใบ้ก็เด็ดพอที่จะทำให้ใจระทึกไปด้วย

“มันคือชุดที่สามารถเล่นคอนเสิร์ตด้วยอัลบั้มนี้ทั้งชุดได้ อันนี้ในความฝันเลยนะ (ยิ้มกว้าง) โดยไม่ต้องพึ่งตู้เพลงเก่า และเป็นอัลบั้มที่เหมาะแก่การฟังแล้วเคลื่อนไหว อาจจะไม่จำเป็นต้องแดนซ์ก็ได้ คุณอาจจะขับรถอยู่ ก็เปิดฟังไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแผ่น
สามารถเล่นเพลงใหม่ในชุดนี้ได้ทั้งหมดเวลาไปเล่นคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ ถ้าทำได้ก็จะเป็นอะไรที่ถือว่าบรรลุมาก (ยิ้มกว้าง) ส่วนผลมันจะออกมายังไง สำเร็จมั้ย คงต้องอยู่ที่ท่านผู้ฟัง








เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ ModernDog


กำลังโหลดความคิดเห็น