xs
xsm
sm
md
lg

“ยูเบิร์น” วีรบุรุษ 4 ขา ชีวิตนี้.. เพื่อชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายชีวิตของผู้คน ณ ชายแดนใต้ ที่สูญเสียรายวันสังเวยความร้อนระอุมานานเกือบ 10 ปี ไม่ต่างจากใบไม้ร่วงหล่น เหล่าทหารผู้มีหน้าที่ปกปักรักษาชาติ ยังคงต้องทำงานด้วยใจอันกล้าแกร่ง ท่ามกลางเสียงกระสุนและเสียงระเบิดดังสนั่น แต่ทว่า นอกไปจากทหารผู้กล้าน่าสดุดีแล้ว ยังมีเรื่องราวชีวิตของ “สุนัขทหาร” ที่ร่วมทำงานเคียงบ่า เคียงไหล่ทหารอย่างหาญกล้า ปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ เพื่อให้ทุกชีวิตในชายแดนใต้นั้นปลอดภัย

สุนัขทหารผู้กล้า “ยูเบิร์น”

ความสะเทือนใจบนดินแดนปลายด้ามขวานไทยที่ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง สร้างความสลดใจให้กับชาวไทยมานานนับหลายปี ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดหลังที่ว่าการอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องสูญเสียทหารกล้าสองนาย คือส.ต.ประพันธ์ ชมโคกกรวด และพ.ต.ปริญญา ปราบวิชิต อนึ่ง ยังต้องสูญเสียสุนัขทหาร “ยูเบิร์น” อันถือเป็นการสูญเสียสุนัขทหารตัวแรกในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ และยังถือเป็นการสูญเสียกำลังพลครั้งแรกของกองพันสุนัขทหารด้วย

วีรบุรุษ 4 ขา นามว่า “ยูเบิร์น” สุนัขทหารสุนัขเลขทะเบียน 10751 เพศผู้ สายพันธุ์เยอรมันเชพเพอด สีดำแดง อายุ 5 ปี หน้าที่สุนัขตรวจค้นวัตถุระเบิด หนึ่งชีวิตที่สูญเสียแต่ไม่สูญเปล่า เพราะชื่อของเขาจะถูกจารึกเอาไว้ในผืนแผ่นดินไทยในฐานะที่เป็นผู้เสียสละแห่งแผ่นดิน และในวันนี้ ทาง M-Lite ได้รับเกียรติจาก พันโท ประภาส ศรีประทุม ผู้บังคับกองพันสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก มาร่วมบอกเล่า พร้อมทำความรู้จักกับเหล่าสุนัขทหารให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่า ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้…

“จริงๆ แล้ว เดิมผมรับราชการอยู่ที่กองพันสัตว์ต่าง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ก็อยู่ที่นั่นตั้งแต่ร้อยตรี จนเข้าเรียนที่โรงเรียนเสธ. แล้วหลังจากนั้นก็เป็นฝ่ายเสธ. อยู่ที่กรมการสัตว์ทหารบก แล้วก็มาเป็นรองผู้พันอยู่ที่นี่ ประมาณปีเศษๆ แล้วก็กลับไปเป็นฝ่ายเสธ.อีก แล้วก็กลับมาที่นี่ ผมก็เพิ่งมาเป็นผู้พันครบ 1 ปี หลังวันที่ลูกน้องเสีย (6 พฤศจิกายน 2556) แค่วันเดียว ก็คือวันที่ 7 พฤศจิกายน พอมาวันที่ 8 ก็เป็นวันครบรอบที่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ถือเป็นช่วงที่หลากหลายความรู้สึกครับ”

คำพูดแนะนำตัวของหัวหน้าแห่งกองพันสุนัขทหารแห่งนี้ ที่ยังเจือด้วยความรู้สึกเศร้า ถึงแม้จะมีเหตุการณ์น่ายินดีอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน แต่เหตุการณ์การสูญเสียลูกน้องทั้ง 3 นายไป คงไม่ทำให้ยิ้มได้ดั่งใจนึกสักเท่าไรนัก

ระหว่างการสูญเสียยูเบิร์น หรือสูญเสียปริญญาหรือประพันธ์ไปเนี่ย ความรู้สึกของเรา เราก็เสียใจไม่ต่างกัน เพราะว่า ถ้าพูดจริงๆ ในความรู้สึกของพวกเรา เราก็มองว่ายูเบิร์นเค้าเหมือนทหารคนนึงนะ ผมยังพูดเล่นๆ กับลูกน้องเลยว่า จริงๆ ยูเบิร์นเป็นทหารมากกว่าเราอีก เพราะเค้าเป็นทหารทั้งชีวิต เค้าเกิดในค่ายทหาร เค้าถูกเลี้ยงดูแบบทหารตั้งแต่เค้าลืมตาขึ้นมา จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

และโดยส่วนตัวแล้ว ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ กรณีที่เราสูญเสียทั้งกำลังพลเรียกว่าทั้ง 3 นายของพวกเราเนี่ย เราก็เสียใจ ถ้าเลือกได้เราก็คงไม่อยากให้มันเกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว และถึงแม้ว่าเค้าได้จากไปแล้ว เค้าก็ยังทำคุณให้กับหน่วยฯ ให้กับกองทัพ คือเค้าทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า มันมีหน่วยแบบนี้อยู่จริง และไม่ใช่ว่าเพิ่งจัดตั้งขึ้น

เริ่มแรกตั้งปี 2512 ไล่มาเรื่อย ๆ แล้วก็ได้ลงไปภาคใต้ตั้งแต่ปี 47 ทำงานทุกวัน ตรวจตลาดทุกวัน ตรวจตามที่จอดรถ ตรวจเส้นทางพระบิณฑบาต ก่อนที่พระท่านจะเดินมาบิณฑบาต เคลียร์เส้นทางให้ก่อน ตรวจเส้นทางรถไฟ หรือเมื่อมีการตรวจพบรถต้องสงสัย วัตถุต้องสงสัย เราก็ต้องเข้าไปตรวจสอบให้เค้า หรือในกรณีที่มีการปิดล้อมปะทะ ผู้ก่อเหตุรุนแรงหลบหนีไป ก็ใช้สุนัขติดตามร่องรอย สิ่งเหล่านี้เราทำมานานแล้ว เพียงแต่ว่าคนทั่วไปอาจไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น อย่างน้อยในความสูญเสียครั้งนี้ มันยังมีสิ่งที่ทำให้คนไทยได้มองเห็นว่า หน่วยของเราที่ทำงานให้กับกองทัพ ให้กับประเทศชาติเนี่ย มีตัวตนอยู่ แล้วเราก็จะยังทำต่อไป

จุดเริ่ม.. สุนัขสงคราม

เชื่อไหมว่า คนที่ทำให้เกิดโครงการสุนัขทหารขึ้นมาในประเทศไทยก็คือในหลวง นี่เป็นสิ่งที่เราต้องชื่นชมในสายพระเนตรของพระองค์ท่าน และในช่วงแรกๆ ของโครงการ สุนัขที่ใช้ฝึกก็เป็นสุนัขที่ได้รับพระราชทานมาจากในหลวง โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ในการจัดชุดครูฝึกมาฝึกวิทยาการให้กับเรา” พ.ท.ประภาส เล่าถึงจุดเริ่มแรกที่มาของกองพันฯ ด้วยความชื่นชมในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว โดยสุนัขทหารยุคแรก เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ในยุคนั้นเรียกว่า “สุนัขสงคราม” ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นกองพันสุนัขอย่างในปัจจุบัน

“มันเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2512 ในยุคนั้น หลายคนคงทราบดีว่าเป็นยุคของผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ทีนี้พระองค์ท่านก็ทรงเห็นว่าทหารเราเนี่ยมีการสูญเสียจากกับดักทุ่นระเบิด หรือถูกซุ่มโจมตีจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ค่อนข้างเยอะ พระองค์ท่านก็เลยให้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่า สุนัขสงคราม โดยให้กรมการสัตว์ทหารบกเป็นเจ้าของโครงการ ตอนนั้นก็ริเริ่มดำเนินโครงการ จากนั้นก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ช่วงแรกเริ่มจะเป็นกองร้อยสุนัขทหาร เป็นระดับกองร้อยก่อน ซึ่งสุนัขทหารหรือสุนัขสงครามหรือวอร์ ด็อก (War Dog) เนี่ยจะมีส่วนร่วมมาโดยตลอด ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น แต่สุนัขเค้าได้อยู่รับใช้ชาติมานานแล้ว สมัยนู้นก็ไม่ได้มีข้อมูลบันทึกแน่ชัด แต่เชื่อว่าก็ต้องมีการสูญเสียสุนัขไปไม่น้อย

จากนั้น ในช่วงหลังๆ มา การใช้สุนัขทหารก็มีความสำคัญและมีภารกิจเพิ่มมากขึ้น ในปี 2538 ทางกองทัพบกก็ได้ขยายในเรื่องของหน่วยใช้งานสุนัขทหาร โดยแปรสภาพจากกองร้อยทหารเป็นกองพันสุนัขทหาร ก็ปฏิบัติภารกิจเรื่อยมา และที่สำคัญคือในทางทหารเราเนี่ย การที่ทหารหน่วยใดหน่วยนึงจะได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ตรงนี้คือไม่ใช่ว่าจะได้รับกันทุกหน่วยนะครับ ต้องเป็นหน่วยที่มีเกียรติประวัติ เกียรติภูมิในการปฏิบัติงานจนเป็นที่ยอมรับถึงจะได้ โดยหลังจากที่เราได้เป็นกองพันสุนัขทหารเมื่อปี 2538 พอมาวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2548 วันนี้เป็นวันที่กองพันเราได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล นี่คือความภาคภูมิใจของหน่วยเรา

นอกจากกองพันสุนัขทหาร อีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อวงการสุนัขทหารของไทยคือ ศูนย์การสุนัขทหาร ที่มีภารกิจเริ่มตั้งแต่เพาะพันธุ์สุนัข ไปจนถึงเตรียมความพร้อมให้กับเหล่าสุนัขก่อนเข้ามาฝึก และที่สำคัญคือโรงเรียนสุนัขทหาร อันเป็นจุดเริ่มต้นของสุนัขที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหลายๆ แห่ง ณ ขณะนี้

“ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก หน่วยงานนี้เค้าจะมีหน้าที่ในการผลิตสุนัข ตั้งแต่ซื้อพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ และที่ศูนย์การสุนัขทหารเค้าจะมีแผนกผสมพันธุ์ ก็จะมีหน้าที่ในการผลิตลูกสุนัขขึ้นมา แล้วก็เลี้ยง มีการเตรียมความพร้อมให้ลูกสุนัขเหล่านี้มีความพร้อมที่จะฝึกใช้งานทางการทหารได้ในหน้าที่ต่างๆ

และตรงศูนย์การสุนัขทหารตรงนี้ก็จะมีหน่วยงานย่อยลงไปอีกชื่อว่า โรงเรียนสุนัขทหาร โรงเรียนสุนัขทหารเนี่ยจะเป็นโรงเรียนที่มีหน้าที่ในการฝึกชุดสุนัขทหาร (ผู้ฝึก 1 คน ต่อสุนัข 1 ตัว) ซึ่งตรงนี้จะไม่ได้ฝึกให้เฉพาะกองทัพบกนะ กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจตระเวนชายแดนต้องมาเรียนที่นี่ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นสุนัขของทหารเรือ ทหารอากาศ หรือตำรวจตระเวนชายแดนก็ตามเนี่ย คือสุนัขที่ถูกฝึกมาจากโรงเรียนสุนัขทหารที่นี่ทั้งหมดนะครับ

ภารกิจรอบรั้วของชาติ

ปัจจุบันมีสุนัขทหารอยู่ทั้งสิ้น 254 นาย กระจายกำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันรอบประเทศไทย ตามแนวตะเข็บชายแดนต่างๆ ทั้งนี้ อัตราสุนัขในแต่ละกองกำลังจะมีจำนวนไม่เท่ากัน โดยกองกำลังที่ใช้สุนัขทหารมากที่สุดคือกองกำลังผาเมือง ที่มุ่งเน้นเรื่องของการตรวจค้นยาเสพติด รองลงมาก็เช่น กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี

“ณ ปัจจุบันนี้นะ กำลังพลของหน่วยเราได้ไปทำงานอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย อย่างเช่น แผนงานป้องกันชายแดน มันจะมีกองกำลังที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในความรับผิดชอบรอบพื้นที่ประเทศไทย ของกองทัพบกมีอยู่ทั้งสิ้น 7 กองกำลัง พื้นที่กองทัพภาคที่ 1 คือกองกำลังบูรพา ที่คนเค้าเรียกบูรพาพยัคฆ์ก็มาจากที่นี่แหละ ส่วนนี้ก็จะรับผิดชอบในด้านทางเขมร แล้วก็มีกองกำลังสุรสีห์ จะอยู่ทางเมืองกาญจน์ เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์

ถ้าพื้นที่ทัพภาคที่ 2 โซนนี้ก็จะมีกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี อยู่ที่ทางลาว หนองคาย เลย อุบลฯ แล้วถัดลงมาจะเป็นกองกำลังสุรนารี ก็จะรับผิดชอบพื้นที่ที่ติดกับเขมร อุบลฯ สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์

ถ้าพื้นที่ทัพภาคที่ 3 ก็จะมีกองกำลังนเรศวร ด้านแม่ฮ่องสอน ตาก แล้วก็กองกำลังผาเมืองที่ดูแลด้านเชียงใหม่ เชียงราย

ส่วนพื้นที่ทัพภาคที่ 4 ก็จะมีกองกำลังเทพสตรี อยู่ที่ทางระนอง รวมทั้งสิ้น 7 กองกำลัง ก็จะมีกำลังพลของหน่วยเราไปอยู่ครบทั้งหมด โดยจะจัดกำลังพลและสุนัขทหารไปขึ้นสนับสนุนให้เค้าครบทั้ง 7 กองกำลัง”

ส่วนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ มีสุนัขทหารอยู่ในพื้นที่ถึง 80 ตัว โดยมีการจัดตั้ง “กองร้อยสุนัขทหารอโณทัย” สำหรับดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่โดยเฉพาะ

“ถ้าชายแดนภาคใต้เนี่ย อันนี้จะเป็นแผนงานรักษาความมั่นคงภายใน แล้วก็จะมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า แล้วก็จะมีหน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ที่จะรับผิดชอบอยู่ตรงนั้นด้วย แล้วก็ส่วนของผมเรียกว่ากองร้อยสุนัขทหารอโณทัย ที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

ในพื้นที่ตรงนั้นเนี่ย ที่ภาคใต้เราจะไปทำงานตั้งแต่ปี 2547 ก็คือตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547 ที่มีเหตุการณ์ปล้นปืนที่ภาคใต้ พอหลังจากนั้นเราก็ได้รับคำสั่งให้จัดกำลังพลพร้อมสุนัขทหารลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ทันที ซึ่งในช่วงแรกก็จัดเป็นแค่ระดับหมวดสุนัขทหาร ตอนนั้นผมจำตัวเลขสุนัขทหารไม่ได้ แต่ก็น่าจะยังไม่เกิน 20 ตัว จนมาเมื่อปี 55 ภารกิจมันมากขึ้นและหน่วยงานเราก็ได้รับการสั่งการให้จัดกำลังเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนภารกิจในชายแดนภาคใต้ก็ปรับเป็นกองร้อยสุนัขทหารอโณทัย ตอนนี้กำลังพล 158 นาย สุนัขทหาร 80 ตัว

สายพันธุ์สุนัขฮีโร่

หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่า สุนัขทหารมักไม่ใช่สุนัขพันธุ์ไทย แต่เป็นสายพันธุ์นอกเสียมากกว่า พ.ท. ประภาส จึงได้ชี้แจงว่า เหตุที่มักมีแต่สุนัขฝรั่งที่เข้ารับการฝึกเป็นสุนัขทหารนั้น เนื่องจากสุนัขพันธุ์ไทยมีข้อจำกัดตรงที่สมาธิสั้น หากปล่อยสายจูงแล้วจะบังคับได้ยาก แต่ถึงกระนั้น ก็มีโครงการในการฝึกสุนัขพันธุ์ไทยเพื่อนำมาปฏิบัติงานสุนัขยามด้วยเช่นกันนอกจากนั้น เรื่องของเพศสุนัขก็ไม่ใช่ปัญหาในการฝึกแต่อย่างใด

ปัจจุบันในส่วนของสุนัขที่เราใช้งานทางทหารจะมีอยู่ 4 สายพันธุ์หลักๆ คือ เยอรมัน เชพเพอด, ลาบราดอร์, ร็อตไวเลอร์ และโดเบอร์แมน พินเชอร์ นะครับ ส่วนสุนัขไทยเนี่ย เคยมีโครงการที่ในหลวงท่านเคยให้ดำเนินการอยู่ช่วงนึง แต่ว่าสุนัขไทยเค้าจะสมาธิสั้น เพราะฉะนั้นเวลาทำงาน หรือเวลาอยู่ในสายจูงเนี่ย ก็ยังพอควบคุมได้ แต่พอปล่อยสายจูงแล้วเนี่ย สุนัขไทยจะมีปัญหาเรื่องของการควบคุมนิดนึง

แต่ถึงอย่างนั้น ตอนนี้ทางท่านผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้กรมการสัตว์ทหารบก หรือหน่วยแม่ของเราที่อยู่จังหวัดนครปฐมเนี่ย ดำเนินโครงการ "สุนัขพันธุ์ไทยเฝ้าฐาน" หมายความว่า ในหน่วยปฏิบัติการกำลังรบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เนี่ย ปกติก็จะมีสุนัขอยู่แล้ว เราก็จะนำสุนัขแต่ละฐานมาเข้าร่วมโครงการ โดยให้กรมการสัตว์ทหารบกฝึกให้ เพื่อที่จะสามารถนำสุนัขกลับไปเฝ้าฐานได้ เรียกว่าเป็นลักษณะของสุนัขรักษาความปลอดภัย”

ทั้งนี้ การจำแนกหน้าที่ปฏิบัติงานให้กับเหล่าสุนัขทหารจะแบ่งออกแบบง่ายๆ เรียกว่า 3 ประเภท 7 หน้าที่ ประเภทแรกคือสุนัขรักษาความปลอดภัย จะมีอยู่ 2 หน้าที่ คือสุนัขยาม และสุนัขยามสายตรวจ ประเภทที่สองคือสุนัขยุทธวิธี จะมีอยู่ 3 หน้าที่ คือสุนัขลาดตระเวน สุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด และสุนัขสะกดรอยและประเภทที่สามคือสุนัขหน้าที่พิเศษ จะมี 2 หน้าที่ คือสุนัขตรวจค้นวัตถุระเบิด และสุนัขตรวจค้นยาเสพติดให้โทษ

“สายพันธุ์ก็จะเหมือนเป็นตัวกรองประเภทงานที่เค้าจะได้รับอยู่แล้ว อย่างที่บอกไปว่าแต่ละสายพันธุ์ เค้าก็จะมีความสามารถแตกต่างกัน อย่างลาบราดอร์เค้าเป็นสุนัขยามไม่ได้ เพราะนิสัยขี้เล่น เค้าก็จะได้รับการฝึกในอีก 2 ประเภทแทนคือตรวจวัตถุระเบิด ตรวจยาเสพติด ส่วนร็อตไวเลอร์กับโดเบอร์แมน พินเชอร์ สุนัขสองสายพันธุ์นี้เค้าจะทำได้อย่างเดียวคือสุนัขรักษาความปลอดภัย เป็นสุนัขยามสายตรวจเฝ้าหน่วยทหาร เฝ้าคลังยุทโธปกรณ์ เค้าไม่สามารถไปดมกับระเบิดหรือตรวจยาเสพติดได้ ส่วนถ้าเป็นเยอรมัน เชพเพอด ใช้ได้ทุกหน้าที่ จะเป็นสายพันธุ์ที่ครบเครื่องที่สุดละ

ด้านอายุการทำงานของสุนัขทหารก็ไม่แตกต่างจากข้าราชการทั่วไปที่ต้องมีวันเกษียณ โดยชีวิตของสุนัขทหารจะเริ่มตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาในศูนย์การสุนัขทหารซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตลูกสุนัข จากนั้นก็เลี้ยงดูและเตรียมความพร้อมให้ลูกสุนัขเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมที่จะฝึกใช้งานทางการทหารได้ในหน้าที่ต่างๆ

เราจะเริ่มฝึกตั้งแต่ 1 ขวบ แล้วเค้าก็จะปลดประจำการเมื่ออายุ 8 ปี ก็จะสามารถใช้งานเค้าได้ประมาณ 7 ปี โดยหลักสูตรการฝึกเนี่ยจะใช้เวลา 4 เดือน เค้าจะเรียนรู้ตั้งแต่การเชื่อฟังคำสั่งเบื้องต้น ชิด นั่ง หมอบ คอย ซึ่งการที่สุนัขจะทำงานได้ดีเนี่ย การฝึกเชื่อฟังคำสั่งจะต้องทำได้ดีก่อน เพราะว่า อย่างสุนัขตรวจค้นระเบิด เวลาที่เราปล่อยสายจูงไปให้เค้าปฏิบัติงานโดยห่างจากตัวผู้ฝึก เค้าต้องสามารถปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับสุนัขได้

จากนั้น ถามว่าฝึกเสร็จครบ 4 เดือนแล้ว กำลังพลจะไปไหน คือในหนึ่งปี เราก็จะมีทหารที่เกษียณ สุนัขปลดประจำการ หรือสุนัขที่อาจเสียชีวิตในระหว่างนั้นด้วยสาเหตุของโรคประจำตัว เพราะฉะนั้นการสูญเสียตรงนี้ก็จะทดแทนด้วยกองกำลังที่เพิ่งครบกำหนดการฝึก ก็จะสอดคล้องกันพอดี”

เครื่องมือที่ดีที่สุด

การเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ของทหารกล้าทั้ง 2 นายและสุนัขทหารยูเบิร์นครั้งนี้ พ.ท. ประภาส ได้แสดงความยกย่องต่อทั้ง 3 ชีวิต โดยเฉพาะวีรกรรมของยูเบิร์นรวมถึงสุนัขทหารทุกตัว ที่ต้องเสียสละในการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงเพื่อตรวจค้นวัตถุระเบิด โดยพ.ท. ประภาส กล่าวว่า คนที่เดินนำหน้าสุด เข้าพื้นที่เป็นคนแรกสุด นั่นคือสุนัขทหาร เมื่อตรวจค้นเสร็จแล้ว ถึงจะเป็นทหารและหน่วยอื่นๆ เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ ดังนั้น ความสำคัญของสุนัขทหารคือการเข้าไปชี้ว่าพื้นที่หรือวัตถุนั้นปลอดภัยหรือไม่

“อย่างในปี 2553 ช่วงเหตุการณ์ ศอฉ. ตอนนั้นผมก็ต้องไปดูแลอ่ะนะครับ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ว่า มีคนเอารถมาจอดทิ้งไว้ แล้วไม่มีคนรู้ว่าเจ้าของรถคือใคร ก็จะไม่มีใครกล้าไปยุ่งกับรถคันนั้นเลย จะเป็นหน่วยงานไหนก็ตามจะไม่อยากเข้าไปยุ่งกับรถคันนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เค้าจะทำก็คือใช้สุนัขทหารตรวจค้น ถ้าสุนัขทหารตรวจแล้ว สุนัขทหารไม่แจ้งเตือน ไม่มีอะไร ก็จบไป แต่ถ้าสุนัขทหารแจ้งเตือนปุ๊บ ทีนี้หน่วย EOD ก็จะมาเข้ามาทำตามขั้นตอนของเค้า เพราะฉะนั้น ความสำคัญมันอยู่ตรงนี้ คือเป็นการชี้ให้เค้าว่าอะไรปลอดภัย ไม่ปลอดภัย อันนี้คือหน้าที่ของเรา

หลายคนน่าจะยังจำเหตุการณ์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้ “เครื่อง GT-200” อุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดและยาเสพติด ซึ่งตกเป็นที่สงสัยถึงความสามารถในการตรวจจับ ซึ่งสุดท้ายเมื่อพิสูจน์แล้ว ความแตกกลายเป็นเพียงอุปกรณ์ไร้ประสิทธิภาพใดๆ ดังนั้น จึงขออ้างถึงการทำงานของสุนัขทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นวัตถุระเบิดและยาเสพติดว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ หรือไม่ พ.ท.ประภาสก็ได้ให้คำตอบยืนยันหนักแน่นว่า ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีเครื่องมืออะไรที่มีขีดความสามารถหรือมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับสุนัขในเรื่องของการตรวจวัตถุระเบิด หรือแม้แต่ยาเสพติดได้

“อย่างปีนี้แหละ เราก็ฝึกร่วมกับทางสหรัฐอเมริกา เค้าจะส่งกำลังพลที่เค้ามีประสบการณ์ในการนำสุนัขทหารไปปฏิบัติงานในอิรัก ในอัฟกานิสถาน ซึ่งก็มาพูดคุย แลกเปลี่ยนการฝึกกัน ทางสหรัฐฯ เองเค้าก็จะมีงานวิจัยเรื่องสุนัขทหารค่อนข้างเยอะ เค้าก็ยืนยันมาว่า ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีเครื่องมืออะไรที่มีขีดความสามารถหรือมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับสุนัขในเรื่องของการตรวจวัตถุระเบิด หรือแม้แต่ยาเสพติดนะครับ เพราะฉะนั้น ผมก็เชื่อว่า ทางผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านผู้บัญชาการทหารบก ท่านให้ความสำคัญกับกองพันสุนัขทหารและก็เรื่องของการใช้งานสุนัขทหารสูงมาก

และจากที่เห็นในเรื่องของการเพิ่มเติมกองกำลังการทำงานที่ภาคใต้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ท่านให้การดูแลหน่วย เพื่อเป็นการสร้างความเตรียมพร้อมในการดูแลภารกิจของกองทัพ ผมก็เลยคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวยืนยันว่า ทั้งกำลังพลและสุนัขทหารเนี่ยเป็นเครื่องมือที่สามารถจะสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจยาเสพติด ตรวจวัตถุระเบิดอะไรพวกนี้ แม้แต่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งกำลังประท้วงกันอยู่ในขณะนี้ กองกำลังเราก็ต้องเตรียมพร้อมนะ โดยหน้าที่หลักที่ใช้คือการตรวจหาวัตถุระเบิด”

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “สุนัขทหาร” ยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้ปฏิบัติงานทางการทหารได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนั้นความจงรักภักดีของเหล่าผู้กล้าสี่ขาที่พร้อมจะปกป้องรักษาประเทศชาติอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การฝังตรึงในสำนึกของทุกคนว่า เมื่อได้เกิดมาเป็นคนไทยแล้ว.. ได้เคยทำอะไรเพื่อประเทศชาติบ้างหรือยัง??

สุดท้าย ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ สดุดีและไว้อาลัยให้แก่สุนัขทหาร “ยูเบิร์น” รวมถึงเหล่าทหารกล้าทุกนาย ที่เสียสละชีพเพื่อประเทศชาติ..

เรื่องโดย สุภิญญา นาคมงคล
ขอบคุณภาพประกอบจาก กองพันสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก
ขอบคุณ เฟซบุ๊ค แฟนเพจ "กองพันสุนัขทหาร" และ http://kongpansunak.com


3 ชีวิตที่จากไป ส.ต.ประพันธ์ ชมโคกกรวด, ส.อ.ปริญญา ปราบวิชิต และยูเบิร์น
พันโท ประภาส   ศรีประทุม ผู้บังคับกองพันสุนัขทหาร

ภาพสุดท้ายของส.อ.ปริญญา ปราบวิชิต กับยูเบิร์น  ผู้ถ่ายภาพคือ ส.ต.ประพันธ์ ชมโคกกรวด
สุนัขทหารผู้กล้า ยูเบิร์น
พิธีเชิดชูเกียรติ และฝังศพสุนัขทหาร ยูเบิร์น




กองพันสุนัขทหาร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา




กำลังโหลดความคิดเห็น