โฆษก กอ.รมน.แจงสถานการณ์ชายแดนใต้ช่วงเดือนตุลาคม มี 65 เหตุการณ์ เทียบกับปี 2547 ลดลง แจงการทำงานของทีมโฆษก กอ.รมน.-ทบ. ไม่ได้ล่าช้าตามที่ถูกกล่าวหา อ้างสามารถโฟนอินโทรทัศน์ได้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ คาดอาจเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มอนาคตที่ให้ข่าวไม่ได้
วันนี้ (10 พ.ย.) พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ รอง ผอ.รมน. ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรวจเยี่ยมหน่วยเมื่อ 6 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้สรุปสถานการณ์ห้วงเดือนตุลาคม 2556 มีการก่อเหตุด้านความมั่นคงในพื้นที่ จชต. รวม 65 เหตุการณ์ เป็นเหตุลอบยิง 43 เหตุการณ์ วางระเบิด 13 เหตุการณ์ ก่อกวน 5 เหตุการณ์ และวางเพลิง 4 เหตุการณ์ เมื่อเปรียบเทียบในห้วงเดือนเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2547 พบว่าสถิติการก่อเหตุได้ลดลงตามลำดับ
และแม้ว่าการปฏิบัติของผู้ก่อเหตุรุนแรงจะลดลง แต่ยังคงมีการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ด้วยระเบิด การซุ่มโจมตีต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตอบโต้การสูญเสียสมาชิกคนสำคัญ การก่อกวนพร้อมกันหลายจุดในเขตชุมชนเมือง เพื่อท้าทายอำนาจรัฐ และสร้างขวัญให้แก่สมาชิกที่ผ่านการฝึกใหม่ รวมทั้งการก่อเหตุต่อหน่วย EOD เพื่อลดทอนความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ ผลการปฏิบัติที่สำคัญในห้วงเวลาพบว่า ไม่ปรากฏการเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ดังที่ทุกภาคส่วนห่วงใย ไม่มีการก่อกวนที่กระทบต่อกิจกรรมของทุกศาสนา และมีการปะทะกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 2 ครั้ง ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 7 ราย ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย 41 ราย และตรวจยึดอาวุธ 12 กระบอก สามารถทำลายความพยายามในการก่อเหตุด้วยระเบิด โดยได้ตรวจพบหลุมระเบิด จำนวน 10 หลุม จากการรายงานสถานการณ์ดังกล่าวแม้ว่าเป็นการรายงานขั้นต้น แต่เห็นได้ว่าจำนวนสถิติการเกิดเหตุร้ายในพื้นที่จะน้อยกว่าการรายงานของภาคประชาสังคมที่ปรากฏก่อนหน้านี้กว่า 40% เนื่องจากความแตกต่างกันของจำนวนเหตุลอบยิงที่ส่วนใหญ่มีเหตุจูงใจหลักไม่ได้มาจากเหตุด้านความมั่นคง
เมื่อถูกถามถึงกรณีญาติของผู้เสียชีวิตได้ร้องเรียน ศอ.บต.จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่วิสามัญคนร้ายในพื้นที่ ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. พ.อ.บรรพต ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของญาติผู้เสียชีวิต และคงต้องรอผลการสอบสวนต่อไป สำหรับการเกิดเหตุวิสามัญในพื้นที่ทุกเหตุ เจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์จะถูกไต่สวนโดยศาลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นก่อนว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ
สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์การทำงานของทีมโฆษก กอ.รมน. และทีมโฆษก ทบ.ที่ล่าช้า โดยต้องรอขออนุมัติจาก ผบ.ทบ. และ รอง ผอ.รมน.ก่อนนั้น พ.อ.บรรพต กล่าวปฏิเสธว่า ที่ผ่านมาตนทำงานภายใต้กรอบนโยบายของหน่วยงาน ผบ.ทบ.ในฐานะ รอง ผอ.รมน.ไม่เคยสั่งการให้ร่างแนวทางการสัมภาษณ์ไปให้ตรวจแก้ไข เพราะกรอบแนวทางต่างๆ ท่านได้ประชุมสั่งการภายในหน่วยมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ทีมโฆษกมีหน้าที่รวบรวมเรียบเรียงนำออกไปเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ กล่าวทั่วไปแล้ว การทำงานของทีมโฆษกของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย เป็นการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริง 3 ช่วง คือ ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และข้อเท็จจริงที่มีแผนงานอย่างชัดเจน
การทำงานสามารถดำเนินการได้ทันทีจากข้อมูลที่มีอยู่ตามความเหมาะสม พร้อมกับยืนยันว่า การประชาสัมพันธ์ในสภาวะวิกฤตโดยเฉพาะสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ได้ล่าช้าเกินกว่าความต้องการรับรู้ของสาธารณชน ดังเช่นการเกิดเหตุก่อกวนช่วงเช้าตรู่ทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ทีมโฆษก กอ.รมน.สามารถชี้แจงในรายการข่าวโทรทัศน์ได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อลดความตระหนกของสังคมในช่วงเวลานั้น โดย ผบ.ทบ./รอง ผอ.รมน.ก็ได้ติดตามชมรายการสดไปพร้อมกัน
และนอกจากทีมโฆษก กอ.รมน.ซึ่งรับผิดชอบประชาสัมพันธ์ในสายงาน กอ.รมน.ทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศแล้ว ยังมีทีมโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.รับผิดชอบโดยตรงในการประชาสัมพันธ์ที่เป็นรายละเอียดเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการให้ความเห็นต่อการทำงานของหน่วยงานอื่น หรือการวิเคราะห์แนวโน้มอนาคตของสถานการณ์ ซึ่งเป็นมารยาทที่ทีมโฆษกพึงหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว หากด่วนคาดการณ์ไปโดยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปของหน่วยงาน อาจถูกนำไปตีความว่าเป็นการชี้นำสังคมก่อนได้ ในข้อจำกัดเหล่านี้ทีมโฆษกของรัฐจะต้องยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเทียบเคียงกับจรรยาบรรณของสื่อด้วยเช่นกัน