แอบมีกระแสข่าวลับ ลวง พราง จากฟากรัฐบาล หลังคณะรัฐมนตรีเพิ่งเซ็นอนุมัติงบฯ 104 ล้านบาท ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ทั้งนี้ยังมีกระแสข่าวลืออีกข่าวหนึ่ง ว่ามีการอนุมัติงบ 117 ล้านเพื่อจัดซื้อเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต สำหรับใช้ในการปราบม็อบ ควบคุมฝูงชนอีกด้วย!!
เบิกงบฯ ใช้ปราบม็อบ
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการแจ้งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมครม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เสนอครม.เห็นชอบ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น วงเงิน 104,153,850 บาท เพื่อดำเนินโครงการระบบวิทยุสื่อสารดิจิตอลสำหรับภารกิจควบคุมฝูงชน ที่สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1,100 เครื่อง และบช.น. 100 เครื่อง
โดยมีการรายงานปัญหาว่า คลื่นความถี่ของวิทยุที่มีอยู่ 1,200 เครื่อง ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถูกรบกวนอย่างมาก ถูกแทรกสัญญาณ รวมถึงยังถูกดักฟังด้วย ทำให้การสั่งการและการควบคุมการปฏิบัติการของตำรวจมีปัญหามาตลอด ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเสนอเรื่องต่อครม.เพื่อจัดซื้อเครื่องป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่วิทยุ ตลอดจนการดักฟัง เพื่อใช้ในพื้นที่ทั่วไปสำหรับการปฏิบัติงานของตำรวจ เนื่องจากบางพื้นที่ได้รับการรบกวนจากคลื่นวิทยุท้องถิ่น และขอย้ำว่าใช้ในภารกิจทั่วไปไม่ได้ใช้กับม็อบ
อีกด้านหนึ่งทาง ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติงบประมาณวงเงิน 117 ล้านบาท ให้กระทรวงกลาโหม ในการจัดซื้อเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตระยะไกล เพื่อใช้การควบคุมสถานการณ์การชุมนุมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้เป็นไปตามหลักการรักษาความปลอดภัยตามหลักสากล แต่อย่างไรก็มีกระแสกล่าวว่างบประมาณนี้เป็นงบประมาณลับ และต่างปฏิเสธว่าไม่จริงกันเป็นพัลวัน
จวก!! ละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม
แน่นอนว่า ไม่มีใครเห็นด้วย!! สำหรับการใช้งบประมาณร่วมร้อยล้านบาทในการจัดซื้ออุปกรณ์มาตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งหลากหลายความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ต่างพูดไปในทำนองเดียวกันว่า งบประมาณสูงลิบลิ่วในการปราบม็อบครั้งนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
“ถ้าเอาไปใช้ตัดสัญญาณผู้เข้าชุมนุม ที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่มีพฤติกรรมก่อการร้าย เป็นการลิดรอนสิทธิการเข้าถึงข่าวสาร ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน เท่ากับตร. หาเรื่องใส่ตัวเพิ่มความเดือดร้อนให้ตัวเอง ทำให้เป็นข้ออ้างเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นไปอีก”
“เงินซื้อเครื่องตัดสัญญาณภาคใต้ยังต้องให้สรยุทธรับบริจาค แต่เงินตัดสัญญาณม็อบมาจากไหนตั้ง 117ล้าน เอางบประเทศมาผลาญเล่น 117 ล้าน สามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกเยอะ ซื้ออุปกรณ์กู้ระเบิดภาคใต้คงได้หลายชุดแหละ ภาษีประชาชนเพื่อประชาชนตรงไหน ปัญญาอ่อนจริงๆ คิดได้ไงเนี่ย”
“ควบคุมความปลอดภัยตามหลักสากล พูดมาได้ใช้สมองส่วนไหนคิด ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานชัดๆ รัฐธรรมนูญ บอกว่าประชาชนสามารถชุมนุมได้แต่ห้ามใช้โทรศัพท์หรือเปล่า แล้วถ้าม็อบไปฟ้องศาล แล้วศาลสั่งว่าผิด ห้ามรัฐบาลนำมาใช้ แล้วจะทำยังไง เอาไปเก็บเหรอ แล้วมันใช้ทำอะไรได้ล่ะทีนี้เงินตั้งร้อยกว่าล้านนะ”
“มันเอาอีกแล้วกับการใช้เงินไม่เป็นประโยชน์ ไอ้เรื่องไม่เป็นเรื่องทำกันดีจัง แต่ทำไมเรื่องที่สำคัญๆ ไม่รีบแก้ไข เช่น ชุดเก็บกู้ระเบิดให้ทหารใช้ในภาคใต้ ชุดหนึ่งก็ไม่ได้แพงอะไรมากมาย ถ้าเทียบความปลอดภัยของทหารผู้เสียสละ แต่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยคิดจะทำ ต้องให้มาขอบริจาคจากประชาชนเพื่อนำเงินไปซื้อชุดให้ทหารใส่ มันน่าสมเพชรัฐบาลจริง สงสารทหารที่ต้องให้มาเสียสละให้ไอ้พวกคนแบบนี้อยู่กันอย่างสุขสบาย”
หากมองในแง่ของสิทธิเสรีภาพ ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวพอสมควร โดย รศ.ดร.เดชา สังขวรรณ คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และอาจารย์ประจำสาขาการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวอธิบายว่า หากมีการตัดสัญญาณบริเวณกลุ่มผู้ชุมนุมจริงๆ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร
“มันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนในการที่จะรับรู้ข่าวสารนะครับ เพราะเท่าที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องตัดสัญญาณกันแค่บริเวณเรือนจำ ซึ่งใช้สำหรับการป้องกันนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ ไม่ให้ติดต่อกับเครือข่ายค้ายาเสพติดจากภายนอก แต่ถ้าจะมาใช้ตัดสัญญาณเพื่อไม่ให้ผู้ร่วมประท้วงได้รับรู้ข่าวสาร อันนี้ก็ถือว่าปฏิบัติต่อพวกเราไม่ต่างจากนักโทษในเรือนจำเลย ถือว่าตัดโอกาสเราไม่ให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ณ ช่วงเวลานั้น และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ
แล้วคนที่มาชุมนุมส่วนใหญ่มาจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อๆ กันไป เป็นม็อบที่มากับข้อมูล มากับทางไอที ซึ่งถือเป็นการดีที่ทำให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองในประเด็นต่างๆ ที่ได้รับข้อมูลมา แต่พอมาตัดสัญญาณแบบนี้ ก็ถือเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเลย”
อีกความคิดเห็นจากนักวิชาการรัฐศาสตร์ รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากข่าวลือเรื่องนี้เป็นจริงแล้วนั้น คิดว่ามันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไปแล้ว
“ข่าวที่ออกมาที่ว่าจะซื้อเครื่องตัดสัญญาณเนี่ย ถ้าเผื่อเอาไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์แก้ปัญหาเรื่องชายแดนภาคใต้ อันนี้ก็ถือว่าโอเคนะ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตกันไปเนี่ย ส่วนหนึ่งก็คือขาดอุปกรณ์ประเภทนี้ ซึ่งรัฐบาลควรจะสนับสนุนตั้งนานแล้วล่ะ เพราะฉะนั้นหากข่าวเมื่อวานนี้ บอกว่าอนุมัติจัดซื้อเพื่อการนี้เพื่อใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบนี้คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเอามาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่อประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง และเพื่อใช้มาตรการนี้ตีความว่า เป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐแล้วเนี่ย มันสุ่มเสี่ยงต่อการก้าวเข้าไปล่วงละเมิด สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการติดต่อสื่อสารในภาวะปกติ
ซึ่งถ้ารัฐจะใช้ในกรณีเช่นนี้ หมายความว่า พื้นที่ที่รัฐจะเอาไปใช้ต้องเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศ อย่างเช่น สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือตามสถานการณ์ที่มีความรุนแรงมากถึงจะใช้ได้ ซึ่งมันก็จะมีข้อจำกัดด้วยว่า การที่จะใช้เครื่องมือนี้เพื่อเข้าไปล่วงล้ำและล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชน มันไม่สมควรอย่างยิ่ง มันก็ถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไปแล้ว”
อ้าง งบประมาณ “ลับ”
สำหรับงบฯ ลับที่รัฐบาลแอบถก และลือหึ่งกันไปทั่วนั้น ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เพราะในทางการทหารก็มีการเบิกจ่ายงบประมาณลับอยู่บ่อยครั้ง โดยเหตุที่ต้องเป็นความลับนั้น เนื่องจากมีมาตรการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชน
“ถ้ามันเป็นงบลับปกติด้านความมั่นคงเนี่ย ก็จะเคยมีของกองทัพ ของกระทรวงมหาดไทย ของตำรวจเค้าก็มี ทีนี้การใช้งบฯ ลับตรงนี้เนี่ย มันก็ต้องใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการด้านของความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งรายละเอียดทั่วไปคนส่วนมากจะไม่รู้หรอก ส่วนในความหมายของคำว่าความมั่นคงเนี่ย ถ้ามองในเชิงผลประโยชน์ของรัฐ อย่างเช่น แก้ปัญหาในเรื่องของชายแดนภาคใต้ หรือในสมัยก่อนการเช่นการแก้ปัญหาความขัดแย้งของรัฐไทยเป็นต้น” รศ.ตระกูล กล่าว
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ มีหลายคนตั้งข้อสงสัย งบประมาณสำหรับการปราบม็อบ ปราบผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องตามสิทธิ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเบิกจ่ายจำนวนมากขนาดนั้น โดย รศ.ดร.เดชา ก็มีความรู้สึกว่า ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะผู้มาชุมนุมนั้นไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร
“ฟังดูแล้วมันทะแม่งๆ มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นเลย เพราะคนที่มาชุมนุมประท้วง ไม่ได้มาทำอะไรที่ผิดกฎหมาย แค่มาแสดงสิทธิเสรีภาพของตัวเองตามปกติ แต่ก็น่าหนักใจครับ เพราะถ้าเขาจะอ้างว่ามันคืองบประมาณลับ เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงของชาติ เราอาจจะตรวจสอบได้ยาก อาจจะต้องให้ทาง ส.ส.ในสภาตั้งกระทู้ถามได้ว่าเอามาใช้ทางด้านไหน อย่างไร
และถ้าตรวจสอบพบว่านำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ตัดสัญญาณในม็อบจริง ผมว่ารัฐก็ต้องรับผิดชอบนะครับ ในการเข้ามาละเมิดสิทธิของประชาชน เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีเหตุการณ์-สถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ เรื่องข้อมูลยิ่งสำคัญ พอมาตัดสิทธิเราออกไป จำกัดเสรีภาพของเรา ก็เท่ากับเป็นการลงโทษทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำผิดอะไร เราไม่ใช่นักโทษครับ”
อีกหนึ่งเหตุผลที่ถูกหยิบยกมากล่าวอ้าง คือเรื่องของการปฏิบัติตามหลักสากล แต่ รศ.ดร.เดชา ก็ได้แสดงทัศนะว่า การตัดสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ชุมนุมนั้นไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก และที่นี่ไม่ใช่คุกที่ต้องป้องกันการเกิดอาชญากรรม
“ที่ว่าต่างประเทศก็ทำกัน ไม่น่าจะใช่ครับ ไม่เคยมี ที่เคยมีก็คือการตัดสัญญาณเพื่อใช้ป้องกันอาชญากรรมในเรือนจำ หรือในบริเวณสนามบินเพื่อตัดสัญญาณรบกวนการทำงานของเครื่อง แต่มาตัดสัญญาณในพื้นที่ประท้วง ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะเท่าที่ผ่านมา ม็อบต่างๆ ที่เคยจัดก็ไม่เคยได้ยินว่าใช้การตัดสัญญาณเกิดขึ้นนะครับ เพราะมันไม่น่าจะใช้ในพื้นที่ที่คนต้องการการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมา คนไม่รู้อะไรเลย ก็ถือว่าเป็นการปิดกั้น”
“หลักสากลนี่มันแค่ไหนล่ะ รัฐตีความการชุมนุมแสดงออกของประชาชนถึงขนาดการล้มล้างรัฐหรือไม่ แต่จริงๆ เค้าแค่มาชุมนุมตามสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ ในการที่จะคัดค้านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลภายใต้สิทธิที่เค้ามีอยู่ นี่ถ้าเกิดรัฐบาลตอบโต้ด้วยการอ้างตรงนี้ หมายความว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเนี่ย กำลังมองประชาชนเป็นผู้ร้ายต่อความมั่นคง ซึ่งตรงนี้มันอันตรายมากนะ จากที่ผมฟังข่าวมาก็ไม่ค่อยสบายใจที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชน แล้วก็มันจะเป็นการใช้อำนาจของรัฐที่มีอยู่เกินขอบเขตที่มี ที่ควรจะทำ อันนี้เป็นการใช้อำนาจรัฐล่วงละเมิดประชาชนมากเกินไปแล้ว แล้วมันจะยิ่งขยายให้สถานการณ์มันรุนแรงขึ้น” ด้าน รศ.ตระกูล ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากมีการนำเครื่องตัดสัญญาณมาใช้จริง คงไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะตกอกตกใจอย่างไร เพราะเชื่อว่ารัฐบาลนี้ก็เลือกทำสิ่งที่ขัดใจประชาชนจนคุ้นชินอยู่แล้ว
*** ทำความรู้จัก “เครื่องตัดสัญญาณ” ***
การทำงานของเครื่องตัดสัญญาณ (Cell Phone Jammer) จะคล้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆ ไป ด้วยการกดปุ่มสวิตช์เปิด-ปิด เมื่อเปิดสวิตช์เครื่องก็จะทำงานด้วยส่งสัญญาณรบกวนการทำงานของคลื่นวิทยุคมนาคม หรือคลื่นโทรศัพท์มือถือ โดยแต่ละเครื่องจะมีกำลังขยายคลื่นไปตามขนาดและกำลังของตัวเครื่อง หากต้องใช้ในบริเวณที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องตัดสัญญาณหลายเครื่อง และติดตั้งไว้หลายมุม ส่วนประสิทธิภาพของคลื่นในการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือนั้น ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี เมื่อลองค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พบว่า มีการขายเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในไทยอยู่ด้วย ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันปลายๆ และราคาก็จะค่อยๆ ปรับขึ้นไป ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่อง ยี่ห้อ ประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งนี้ ราคาอ้างอิงสำหรับการจัดซื้อจากรัฐบาลล่าสุด ไม่ได้ถูกเปิดเผยแต่อย่างใด
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live