xs
xsm
sm
md
lg

มหกรรมม็อบ "โกยกำไร" !?! สินค้าสีสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ใช่แค่ "มือตบ เสื้อตบ นกหวีด" ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแล้ว เพราะนาทีนี้ แม้แต่เครื่องสำอาง พระเครื่อง ของแฮนด์เมด หรือแม้กระทั่งของเล่นเด็ก ฯลฯ สิ่งที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับม็อบการชุมนุม ก็ถูกเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ขายหัวใส ระดมพลแห่มาตั้งขายกันยกใหญ่ จนอาจเรียกได้ว่าการรวมตัวกันของกลุ่มร้านค้าครั้งนี้เป็น “มหกรรมโกยกำไร” สร้างรายได้ เพิ่มสีสัน ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

อยากได้อะไร ม็อบนี้จัดให้!

ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในบริเวณเวทีราชดำเนิน คัดค้านร่างพรบ.นิรโทษกรรม ไม่ว่าจะเหลียวซ้ายแลขวา หันหน้าไปทางไหน ตลอดสองข้างทางเป็นอันต้องพบร้านค้า มีตั้งแต่เสื้อยืด กางเกง รองเท้า นาฬิกาข้อมือ ซีดีเพลง ของเล่นเด็ก พระเครื่อง ข้อมือแฮนเมด หรือแม้กระทั่งเครื่องสำอาง ฯลฯ ที่มีให้ชอปกันปานตลาดนัด

ส่วนด้านอาหารเองก็ไม่แพ้กัน ทั้งแจกฟรี ทั้งมีขายและเร่ขายแบบดีลิเวอรี่ ชนิดเรียกว่าไม่อดตาย ตั้งแต่ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง ผัดไทย ไปจนถึงเมนูคนชอบเปิบ อย่างรถด่วนทอด

ทว่าสิ่งที่เห็นจะนิยมกันสุดๆ ที่ทุกคนต้องมีพกติดตัว จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของม็อบการชุมนุมแห่งนี้ คงไม่พ้น มือตบ เสื้อตบ สายห้อยคอนกหวีด

"ขายดีมากครับ วันๆ หนึ่ง นกหวีดขายได้เป็นร้อยสองร้อยอัน เพราะราคาขายทุกอย่างอันละ 20 บาทครับ ไม่แพง" นพดล กลิ่นหอม พ่อค้าร้านนกหวีด เล่าด้วยน้ำเสียงดีใจ ก่อนจะหันไปเรียกลูกค้าให้หันมาสนใจสินค้าร้านตน

นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียง สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นสีสันและได้รับความนิยม คงต้องเป็น "เลิกตอแหลเถอะนางแพศยา" "ต้องเนรเทศยกโคตร" "ถ้ากลับมา!! ได้จมบาทาแน่" ฯลฯ

ประโยคแรงแทงใจจากเสื้อยืดในร้านของ สุจิตรา เรืองรอด ชวนให้ผู้ผ่านไปผ่านมาอดไม่ได้ที่ต้องหยุดชะงัก

"จริงๆ ป้าขายตั้งแต่ตอนสามเสนแล้ว พอม็อบย้ายมาอยู่ที่นี่ ป้าก็ย้ายตามมา เสื้อร้านป้าขายดีมาก คนชอบกันเยอะ บางคนไม่ซื้อ แค่มาขอถ่ายรูปไว้ก็มี เพราะลายมันเจ็บ" ป้าสุจิตรา หัวเราะดังลั่น ก่อนจะเผยถึงที่มาของคำไพเราะบนเสื้อร้านตนว่า คำสกรีนเนื้อหากระชากใจเหล่านี้ ลูกชายตนเป็นผู้คิด ซึ่งประโยคที่ใช้สกรีนลงเสื้อส่วนใหญ่ นำมาจากคำพูดของเหล่าบรรดาแกนนำบนเวที เป็นการจดจำวลีเด็ดๆ ไว้ ก่อนจะนำมาทำบล็อกสกรีนลงเสื้อ แล้วนำมาวางขายในราคาตัวละ 200 บาททุกสีทุกลาย

มหกรรม "โกยกำไร"

บอกใคร ใครจะเชื่อว่าร้านขายหุ่นยนต์ เครื่องบินบังคับ รถบังคับ ของเล่นเด็ก จะถูกนำมาวางขายภายในม็อบ ประเสริฐ โลหะวัฒนกุล พ่อค้าร้านของเล่นเด็กวัย 36 ปี้ เริ่มละลายความสงสัยว่า

"ทีแรกก็คิดอยู่เหมือนกันว่าคงขายไม่ได้ เพราะม็อบมันไม่มีเด็ก ใครจะมาซื้อของเรา แต่พอตั้งเข้าจริง จำได้ว่าวันแรกขายพวกรถบังคับกับข้อมือเรืองแสงได้เกือบหมดเลย ผมก็ถามๆเขาอ่ะนะ คนซื้อเขาบอกว่า ไว้เล่นๆ แก้เหงาเวลาอยู่ในม็อบ ส่วนวันหลังๆ นี่ยิ่งขายดีใหญ่ เพราะพ่อแม่เริ่มพาลูกๆ เด็กๆ มาในม็อบมากขึ้นแล้ว"

ยิ่งกว่าร้านของเล่นเด็ก ในมุมหนึ่งของม็อบยังพบร้านเครื่องสำอางก็ตั้งขายกับเขาด้วย ซึ่งตรงนี้ แม้แรกเห็น จะอดแปลกใจไม่ได้ แต่เมื่อสังเกตจนเห็นชัดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมหนุ่มสาวที่มาเข้าร่วม นิยมแอ๊บหน้าถ่ายรูปคู่กับบรรยากาศในการชุมนุม จนเป็นกระแสแฟชั่น ก็พอจะร้องอ๋อ

ในด้านของข้อดีที่มากกว่าสีสันอีกข้อ สำหรับสายตาผู้ร่วมชุมนุมคือการสร้างรายได้ "พี่ดีใจนะที่เห็นทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะพ่อค้าแม่ค้าหรือคนที่มาชุมนุม เพราะต่างฝ่ายต่างช่วยๆ กัน พี่ไม่มองว่าเป็นการมาอาศัยม็อบทำมาหากินด้วย คิดว่าช่วยเหลือกันมากกว่า อย่างเช่นร้านอาหารที่มาตั้งกันเยอะๆ บางคนที่มาชุมนุมเขาอายุมากแล้ว จะให้ไปต่อแถวรับข้าวฟรี ก็คงไม่ไหว เขาก็ต้องอาศัยร้านค้า ร้านอาหารพวกนี้แหละ

อีกอย่างเลยที่พี่เห็นคือมันเป็นการสร้างรายได้ให้กับเด็กหลายๆ คนด้วย พี่เห็น มีเด็กนักเรียนมาเดินขายน้ำ ขายนกหวีด กันเยอะบอกเว่าอาเงินไปเป็นทุนการศึกษา ซึ่งพี่ก็ไม่รู้ว่าจริงไม่จริง แต่ถ้าจริงก็ดี ถือว่าได้ช่วยอนาคตของชาติ" วัลจิต หัสดี ผู้ร่วมชุมนุมวัย 48 ปี บรรยายความรู้สึกที่มีต่อร้านค้าภายในม็อบ

เช่นเดียวกับ อาภรณ์ พาณิชย์ผล แม่ค้าร้านกระเพาะปลา ที่ให้เหตุผลว่าการมีร้านค้าร้านอาหารจำนวนมาก มีเสื้อผ้า อาหาร และของใช้อันหลากหลายภายในม็อบ นับเป็นเรื่องดี เพราะสิ่งนี้อาจช่วยกระตุ้นให้มีผู้มาเข้าร่วมฟังการชุมนุมมากขึ้น เป็นการเป็นการชักชวนคนหนุ่มสาว ให้เข้ามารับรู้มาฟังความจริงทางการเมือง มาร่วมต้านคนทำผิด

ตรวจจิตสำนึก ก่อนควักกระเป๋า

แม้ผลดีที่มาจากร้านค้าภายในม็อบจะมีมาก แต่ในสายตา ดาริน สมสุวรรณ หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม กลับรู้สึกอยากติเตียน เรื่องความสะอาด เพราะหลายวันที่เข้ามาร่วมในการชุมนุม บ่อยครั้งเธอพบเห็นแม่ค้าจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะร้านอาหาร

"อยากตินิดนึงค่ะ พอดีเห็นว่ามีร้านอาหารเวลาขายเสร็จ ก็เทน้ำมัน เทน้ำลงท่อ ลงพื้น จนเริ่มส่งกลิ่นเหม็น และดูสกปรก"

จากการสังเกตการณ์ ตรวจสอบไปยังร้านค้าหลายๆ จุดพบจริงว่า มีร้านขายอาหารหลายร้านเทน้ำลงท่อจริง และมีกลิ่นเหม็น เเต่เมื่อไถ่ถามไปทางกลุ่มแม่ค้าผู้กระทำ ทุกคนยังคงย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า "เทลงจริง แต่ก็ล้างให้อย่างดีก่อนกลับค่ะ"

"เรื่องขยะ หรือพวกเศษอาหาร ร้านพี่ทำความสะอาดให้อย่างดี พอเทน้ำมันลงท่อ ก็ล้างให้ทุกครั้ง ส่วนพวกเศษอาหารก็จะทิ้งในถุงดำที่พี่เอามาเอง" จุฬารัตน์ พูนพวง แม่ค้าวัย 48 ปี หนึ่งในจำนวนร้านอาหารตามสั่ง เล่าด้วยท่าทีมั่นอกมั่นใจ

มากกว่านั้น ไม่เพียงเค่ปัญหาจากร้านค้าเองที่มีเห็น แต่สิ่งที่มาจากตัวผู้ชุมนุมก็มีเช่นกัน "อยากให้มีการแจกถุงดำ หรือตั้งถังขยะมากกว่านี้ค่ะ เพราะบางทีคนไม่มีที่ทิ้งกล่องโฟม จานโฟม ก็จำเป็นต้องกองไว้ตามโคนต้นไม้"

สุดท้ายแล้ว การมารวมตัวของเหล่าบรรดาร้านค้าครั้งนี้ แม้จะเป็นการสร้างสีสัน สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุม และเปิดโอกาส เสริมช่องทางรายได้ให้แก่คนหาเช้ากินค่ำ แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งผู้ชุมนุมและกลุ่มร้านค้าควรระลึกอยู่เสมอ คือก่อนออกจากบ้านมาใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ต้องไม่ลืมหยิบจิตสำนึกใส่หัวใจมาเป็นอุปกรณ์ร่วมชุมนุมอีกชิ้น เพราะสิ่งนี้ไม่ต้องใช้เงินแลก หากแต่กลับเป็นสิ่งที่ต้องการมากที่สุดสำหรับการเข้าพื้นที่ชุมนุ

เรื่อง และภาพโดย ธิติ ปลีทอง






กำลังโหลดความคิดเห็น