xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกกำลังปัญญาชน ตบเท้าร่วมค้าน “นิรโทษกรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประสบความสำเร็จเกินคาดจริงๆ สำหรับเหตุการณ์ปลุกพลังมวลชนค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ระอุจนนายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ของเราต้องร้องไห้วอนขอประชาชนในสื่อ แต่เชื่อว่านาทีนี้ไม่ต้องมาขอให้ถอยคนละก้าว เพราะมวลชนที่มาร่วมต้าน ก้าวมาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ !!


และที่น่าปลาบปลื้มใจ คือเหล่าองค์กรมหาวิทยาลัย เหล่าปัญญาชนทั้งหลาย ต่างรีบขานรับออกมาเคียงข้างประชาชนด้วยการออกแถลงการณ์ยืนหยัดในจุดยืนว่า ขอโหวตไม่ผ่านพ.ร.บ. ล้างผิดนี้ด้วยเช่นกัน

แหล่งปัญญาชน ร่วมต้าน

การร่วมชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เริ่มคึกคักมาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว นับวันยิ่งดูแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยมวลชนจำนวนมหาศาล และตอนนี้เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ไม่ได้มีแค่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้อง แต่องค์กรภาคเอกชน รวมไปถึงสถานบ่มเพาะปัญญาชน อย่างองค์กรการศึกษาบางส่วน เริ่มตบเท้าออกมารวมพลังเคียงข้าง เรียกได้ว่าเป็นการร่วมแสดงออกของคนไทยที่น่ายกย่องจริงๆ

ทั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เริ่มมีบทบาทต่อการคัดค้านพระราชบัญญัติฉบับนี้ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดังมีรายนามต่อไปนี้ ได้ขอคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนี้ร่วมกัน

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
รศ.ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม
ผศ. ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศ. นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ. ดร. วิชัย ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผศ.ดร.จงรัก พลาศรัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.)
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)
ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา

ซึ่งในเวลาต่อมา ก็ยังมีการร่วมลงนามต่อต้านจากสถาบันการศึกษาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ที่ความร่วมมือร่วมใจของสถาบันการศึกษาจะช่วยคัดค้านพ.ร.บ. ฉบับนี้ได้

เปิดข้อเรียกร้อง

นอกจากการเซ็นลงนามร่วมกันของทางมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลออกมาอีกด้วย อย่างมหาวิทยาลัยที่ถูกจับตามองในเรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดเวลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ออกมากล่าวข้อเรียกร้องจำนวน 2 ข้อดังต่อไปนี้

1. เรียกร้องให้วุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนการให้ถูกต้องโดยยึดหลักการเดิม ตามที่ได้รับหลักการเอาไว้ตามวาระที่หนึ่ง

2. การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้นควรนิรโทษกรรมให้แต่เฉพาะบรรดาการกระทำของประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามวิถีทางประชาธิปไตยที่มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นและการนิรโทษกรรมควรจะเป็นการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงมิใช่เป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในประเทศดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนมหาวิทยาลัยรังสิต ก็มีออกหนังสือแถลงการณ์ เรื่อง “นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตต้านนิรโทษกรรม” โดยมีเนื้อหาว่า เนื่องด้วยสภาผู้แทนราษฏรได้ลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในวาระที่ 3 ทางนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต และบุคลากร มีความประสงค์ที่จะคัดค้าน พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งขัดต่อระบบ นิติกรรม นิติรัฐ และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลที่กระทำความผิดทางการเมือง และนักการเมือง อันเป็นผลมาจากการกระทำความผิดตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา

ทางนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตและบุคลากรขอให้รัฐสภาให้นำพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กลับไปแก้ไขและเอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานการนิรโทษกรรมควรเป็นการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงมิใช่สร้างความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของประชาชนโดยหลักและรักษากฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไว้ให้คงอยู่สืบไป

และล่าสุด เมื่อวานนี้ (5 พฤศจิกายน 2556) นักศึกษาและคณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมเรียกร้องให้วุฒิสภายับยั้งร่างดังกล่าว โดยมีตัวแทนนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ในนามกลุ่มนักศึกษามช.คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าร่วมประกาศแถลงการณ์ของกลุ่มนักศึกษา ขณะที่คณาจารย์ซึ่งนำโดยรองศาสตราจารย์ไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดี และดร.จันทนา สุทธิจารี หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง ร่วมประกาศแถลงการณ์ในนามของคณาจารย์อีกด้วย

ร่วมลงชื่อ ไม่เอานิรโทษฯ

ทั้งนี้ นอกจากแถลงการณ์จากองค์กรการศึกษาแล้ว ในส่วนของเหล่านักศึกษาเอง ก็มีการตั้งเวที ตั้งโต๊ะเปิดให้ลงชื่อคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย อย่างเมื่อคืนวันที่ 4 พฤศจิกายน มีการนัดรวมพลชาว ม.มหิดล ศาลายา ร่วมลงชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตั้งแต่เวลา 18.00-20.00 น. ณ ลานบ้านศรีตรัง (หอ 11 ) พร้อมเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นจากตัวแทน ชาวมหิดลร่วมใจต่อต้านคอร์รัปชั่น คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและ กลุ่มนักศึกษามหิดลไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สำหรับบรรยากาศการลงชื่อเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหิดล รวมถึงประชาชน และศิษย์เก่าร่วมลงชื่ออย่างต่อเนื่อง

ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มีการขอให้ร่วมลงชื่อคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ดังกล่าวได้ที่ มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้ง 3 วิทยาเขต นอกจากนั้น เกือบแทบจะทุกมหาวิทยาลัยก็มีการตั้งโต๊ะร่วมลงชื่อด้วย ด้านมหาวิทยาลัยเอกชน อย่าง มหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็มีการออกมาตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อนักศึกษาที่คัดค้านด้วยเช่นกัน

สำหรับเมื่อช่วงบ่ายของเมื่อวาน (5 พฤศจิกายน 2556) ทางจุฬาฯ ได้มีนัดรวมตัวศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยผู้คนที่มารวมตัวกันอย่างคับคั่ง พร้อมประกาศจุดยืนและข้อเรียกร้องรวม 5 ข้อ ก่อนที่จะเดินเท้าไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ข้อเรียกร้องจากชาวจุฬาฯ มีดังนี้

ข้อ 1. ขอคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งสุดซอยนี้ อย่างถึงที่สุด โดยจะร่วมมือ สนับสนุนการเคลื่อนไหว การต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยสันติวิธี
ข้อ 2. ขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ได้พิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ด้วยความรอบคอบ และเป็นอิสระอย่างถึงที่สุด ไม่ให้ร่างกฎหมาย ซึ่งมีที่มาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และขัดแย้งต่อหลักการปกครอง แบบประชาธิปไตย ผ่านมือไปได้
ข้อ 3. ขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยุดการผลักดัน ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ โดยทันที
ข้อ 4. ข้อเรียกร้อง และสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยทุกคน และทุกกลุ่มองค์กรวิชาชีพต่างๆ แสดงเจตนารมณ์ที่เท้จริงของตนเอง เกี่ยวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ให้บรรดา ส.ส. ส.ว. และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนทางการเมืองของท่านได้ทราบอย่างเปิดเผย อีกทั้งตรวจสอบการลงมติของ ส.ส. ส.ว. ของท่านอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่า ส.ส. ส.ว. ลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างเเท้จริง
ข้อ 5. ขอคัดค้านการใช้กฎหมายความมั่นคง ใช้อำนาจรัฐและอิทธิพลทางการเมืองจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของประชาชนและขอต่อต้านการใช้ความรุนแรง ในการเข้าควบคุม สลายมวลชนที่ชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยสันติวิธี

ทั้งนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร หนึ่งในผู้มาร่วมชุมนุมแสดงจุดยืนในฐานะ “ศิษย์เก่ารั้วจามจุรี” แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า ผมมาเพื่อจะต่อต้านไอ้กฎหมายอัปยศนี่แหละครับ มันเป็นกฎหมายที่เหลวไหลที่สุดตั้งแต่เคยรู้จักมา เพราะไม่มีใครหรอกที่จะออกกฎหมายเพื่อที่จะปล่อยอาชญากรให้เป็นอิสระ แถมยังให้สตางค์มันด้วย ไม่ไหวครับ รับไม่ได้

ต่อไปผมว่าน่าจะมีการรวมตัวที่มากกว่านี้ มากขึ้นเรื่อยๆ ไปอีก แล้วถ้าใครขืนกล้าทำให้เกิดความรุนแรงต่อมวลชนขนาดนี้ คนคนนั้นก็แย่แล้วครับ เวลานี้ ต่างกลุ่มต่างก็ออกมารณรงค์กันเป็นระยะๆ และถ้ากลุ่มอื่นๆ นัดกัน ผมก็จะตามไปครับ

อยากจะบอกทุกคนว่าให้ออกมาเยอะๆ ช่วยกันออกมาต่อต้านเยอะๆ เขาจะได้รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร เพราะถ้าเราเฉยเสีย อยู่กับบ้านดูทีวี มันก็ได้แค่นั้นเอง ต้องออกมาแสดงตัว ผมเนี่ยแก่ขนาดนี้แล้ว อายุจะ 84 แล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยดี แต่ผมก็ตั้งใจจะออกมา ไอ้ลงชื่อคัดค้านมันก็ช่วยได้ส่วนหนึ่งแต่มันก็ไม่ได้เห็นหน้ากัน ออกมากันดีกว่าครับ”

ระหว่างที่ขบวนเลือดสีชมพูเคลื่อนไปยังหอศิลป์ฯ กทม.อย่างช้าๆ ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนก็ร่วมแสดงพลังด้วยการส่งเสียงโห่ร้อง โบกธงชาติ ธงจุฬาฯ ชูป้ายไล่คนโกง และเป่านกหวีดเสียงดังเซ็งแซ่เป็นระยะๆ ถนนทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยผู้คนเดินเท้าขับเคลื่อนให้ระบอบประชาธิปไตยยังคงความยุติธรรมอยู่ นกหวีดเป่าบอกจังหวะ สลับกับคำพูด “ไม่เอา นิรโทษกรรม” แกนนำผู้ถือไมค์สื่อสารกับผู้ชุมนุมนับหมื่น ปลุกระดมด้วยประโยคเด็ดๆ ออกมาเป็นระยะๆ “ไม่เอา นิรโทษระยำ” “คัดค้าน พ.ร.บ.คนโกง”

กระทั่งขบวนเคลื่อนแผ่ขยายทั่วแยกปทุมวัน ณ จุดรวมพลที่นัดหมายกันไว้ หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ มองย้อนกลับไปยังเส้นทางที่เดินมา จึงเห็นผู้ตบเท้าร่วมขบวนไกลออกไปสุดสายตา ทุกคนเปล่งเสียงร้องเพลง “ เกียรติภูมิจุฬาฯ” พร้อมๆ กัน เป็นระยะๆ เพื่อแสดงพลังเลือดสีชมพู กระทั่งอ่านแถลงการณ์ประกาศจุดยืนจบ จึงร่วมกันขับขานแสดงพลังอีกครั้งด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อแสดงจุดยืนให้ฝ่ายหนุนกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในครั้งนี้ได้รับรู้ถึงเสียงของคนส่วนใหญ่ที่จงรักภักดีต่อแผ่นดิน

โซเชียลคึกคัก

นอกจากการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนจากมหาวิทยาลัย ก็มีการเกิดขึ้นของเฟซบุ๊กแฟนเพจต่อต้านออกมาร่วมกระแสโซเชียล ขึ้นมาอีกมากมาย อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรเอง ก็มีการเปลียนรูปโปรไฟล์ที่มีข้อความคัดค้านการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ ส่วนด้านของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มีการสร้างแฟนเพจขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็น

“นิสิตเกษตร ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”
“ชาวมหิดลร่วมใจต่อต้านคอร์รัปชั่น คัดค้าน พรบ นิรโทษกรรม”
“ธรรมศาสตร์ต้าน กม.นิรโทษกรรมล้างคอรัปชั่น”
“นิสิตจุฬาฯไม่เอานิรโทษกรรม”
“ชาวมช.ร่วมแสดงจุดยืนคัดค้านการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม”

โดยแต่ละแฟนเพจก็มีการประชาสัมพันธ์ต่างๆ การนัดรวมพล เพื่อให้บรรลุไปยังเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือล้มพ.ร.บ.ล้างผิดคนโกงนั่นเอง

ความหวังที่จะล้มนิรโทษกรรมเหมาเข่งดูแล้วมีความหวัง พลังกลุ่มใหญ่ของประเทศอย่างนักศึกษาเริ่มเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.ลบล้างความผิดแบบเหมาเข่ง แล้วตัวคุณในวันนี้ได้ทำอะไรเพื่อชาติบ้านเมืองแล้วหรือยัง ??

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




ชาวจุฬาฯ ไม่เอานิรโทษกรรม
หลังเดินมาถึงหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ
มหิดลคึกคักร่วมลงชื่อ
ท่าทีจากฟากธรรมศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น