xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์ สนส.ค้าน พ.ร.บ.มั่นคง ขัด กม.-รธน.จี้ รบ.ยกเลิกและรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมนัก กม.สิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ค้าน พ.ร.บ.มั่นคง ชี้ไม่เคารพเสียงส่วนน้อย หวังจัดการม็อบ โดยใช้ กม.ไม่เป็น ปชต.เป็นผลไม้พิษเผด็จการ และเหตุการณ์ไม่สมเหตุต้องออก พ.ร.บ.ไม่ชอบด้วย กม.กระทบสิทธิ ปชช.ที่มีสิทธิชุมนุม แถมขัด รธน.-กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง อ้างเห็นต่างไม่พอ รับไม่ได้ในสังคม ปชต.จี้เลิก พ.ร.บ. เลิกใช้ กม.มั่นคง จัดการม็อบ รับผิดชอบความเสียหาย

วันนี้ (10 ต.ค.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) พร้อมองค์กร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ศกส.), ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เผยแพร่แถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.มั่นคง) โดยระบุว่าตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในเขตพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อใช้ในการควบคุมกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่ากองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ซึ่งได้ชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลก เพื่อคัดค้านการทำงานของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเชื่อว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือต้องการล้มรัฐบาล นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรตามรายชื่อแถลงการณ์นี้ ขอคัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน อันการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ย่อมต้องปกครองโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการฟังเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย การที่รัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลย่อมต้องกระทำอย่างจำกัด มิใช่เพียงอ้างว่ามีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น แต่กฎหมายที่อ้างย่อมต้องมีความชอบธรรมตามหลักนิติธรรมและต้องตามวัตถุประสงค์ที่ “ยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย” และ “เพื่อให้สอดคล้องกับความยุติธรรม”

การที่รัฐบาลมุ่งประสงค์ในการใช้กฎหมายอาญากับผู้ชุมนุมย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่เคารพเสียงของประชาชนส่วนน้อย หมายจะใช้กฎหมายเป็นหลักในการจัดการกับประชาชนโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม อีกทั้งกฎหมายที่ใช้ก็ไม่ใช่กฎหมายที่มาจากประชาชนแต่ถูกบัญญัติขึ้นโดยผลของการรัฐประหาร กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นผลไม้พิษของระบอบเผด็จการ การที่รัฐบาลใช้กฎหมายดังกล่าวย่อมถือเป็นการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง รัฐบาลที่มาจากประชาชนจึงต้องมีความเป็นนักประชาธิปไตย ไม่ใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพของประชาชนตามอำเภอใจและรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรมในการปกครองประเทศ

2.การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลไม่เป็นไปเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของรัฐบาล พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ได้ให้อำนาจรัฐบาลในการประกาศใช้กฎหมายนี้ได้ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย โดยมีความมุ่งหมายเป็นการจัดการกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะจัดการไม่ได้โดยภาวะปกติ หรือโดยกลไกปกติ

ดังนั้น การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงต้องมีเหตุเกิดขึ้นก่อนและเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน การที่รัฐบาลอ้างว่าการชุมนุมของกองทัพประชาชนหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงฯ จึงเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ เนื่องจากกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ตามปกติก็เพียงพอที่รัฐจะสามารถจัดการให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเงื่อนไขที่จะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแต่อย่างใด การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทบต่อหลักประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน และยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ปกติของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้โดยตรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

3.การกระทำของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ กลุ่มผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 63 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ข้อ 21 การที่ประชาชนใช้เสรีภาพดังกล่าว รัฐบาลจะกล่าวอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวอ้างเหตุผลว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลจัดการกับความเห็นที่แตกต่างด้วยการใช้มาตรการดังกล่าว ย่อมกระทบสาระสำคัญการใช้เสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่ควรมีและไม่อาจยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งการชุมนุมย่อมไม่ได้คุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ หรือเป็นอาชญากรรมที่จะเป็นภัยต่อรัฐบาล

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรข้างท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องและขอเสนอแนะให้รัฐบาล 1.ยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในเขตพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 2.ล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชน 3.ให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการใช้กฎหมายความมั่นคงและใช้อำนาจบริหารให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ



กำลังโหลดความคิดเห็น