นานๆ ที จะได้พบเจอกับผู้หญิงมีความสามารถครบเครื่องครบรสอย่างเธอคนนี้ “เคที่-ญาณินี เกียรติไพบูลย์” สาวสวยระดับซี 8 กรบสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ที่ไม่มีดีแค่ใบหน้าหวานๆ ให้เชยชม เพราะสาวร่างเล็กอย่างเธอนั้นเพียบพร้อมไปด้วยความสามารถทั้งบู๊และบุ๋นจนต้องทึ่งเลยทีเดียว
นางฟ้าคนสวยแห่ง DSI
สาวร่างเล็ก สูงโปร่ง ในชุดเชิ้ตแขนยาวสีขาวทับด้วยสูทสีดำขลับติดตรา DSI กำลังก้าวเท้าเดินตรงมาอย่างกระฉับกระเฉง จากนั้นก็ค่อยๆ ส่งรอยยิ้มพิมพ์ใจมาให้อย่างสดใส “เคที่-ญาณินี เกียรติไพบูลย์” คือชื่อของสาวสวยคนนี้ หลายคนอาจนึกสงสัยว่าเธอมีความน่าสนใจขนาดไหน ถึงต้องมานั่งเปิดใจสัมภาษณ์ในคราวนี้ ซึ่งหากเอ่ยถึงฉายา “มือปราบโบท็อกซ์” หลายคนคงต้องร้อง อ๋อ!!
“ปัจจุบัน เคที่ทำงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระดับชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาค่ะ มีหน้าที่ในการสืบสวนและสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินปัญญาที่เป็นคดีพิเศษ ก็จะเป็นเรื่องของการละเมิดเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรค่ะ โดยเป้าหมายหลักในการทำงานของสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา คือจะป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะมุ่งเน้นการจับกุมตามแหล่งผลิตสินค้า แหล่งกระจายสินค้า และแหล่งเก็บสินค้าค่ะ”
เสียงนุ่มหูของเธอแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ ภายใต้เหล่าอาคารรายล้อม ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เธอเป็นเจ้าหน้าที่หญิงที่ปฏิบัติงานในนี้ แม้ว่าภายนอกเธอจะเป็นผู้หญิงที่ดูบอบบาง และเนี้ยบ แต่เมื่ออยู่ในหน้าที่ เธอกลับสามารถทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย และหลายครั้งที่ต้องไปทำงานภาคสนามใส่เครื่องแบบเต็มยศ พกปืน พร้อมบู๊กับผู้ร้ายตลอดเวลา จนทำให้หลายๆ คน เข้าใจผิดไปว่า เจ้าหน้าที่ DSI นั้นคือตำรวจ
“ต้องบอกก่อนว่า DSI ไม่ได้เป็นตำรวจค่ะ เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรมนะคะ คือด้วยบทบาทหน้าที่ของ ดีเอสไอ จะคล้ายกับตำรวจ ตรงที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ ดีเอสไอจะสืบสวนสอบสวนเฉพาะอาชญากรรมพิเศษ หรือ คดีพิเศษเท่านั้น หมายถึงคดีที่มีความซับซ้อน หรือส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศชาติ หรือเป็นคดีที่มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ องค์กรก่อการร้าย หรือเป็นเครือข่ายอาชญากรรม เป็นต้น ส่วนที่คนมักเข้าใจผิดเนื่องจากว่าสมัยก่อนที่ตั้งกรมใหม่ๆ ตำรวจจะโอนมาอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นประชาชนเลยมักจะเจ้าใจผิด เพราะยศเค้ายังติดอยู่ข้างหน้าไงคะ แต่สถานภาพเค้าคือไม่ใช่ตำรวจแล้ว”
ไล่เรียงนับนิ้วการทำงาน เคที่บอกว่าตอนนี้เธอทำงานมากว่า 8 ปี แล้ว ซึ่งก็เกี่ยวพันการงานด้านกฎหมายมาตลอด ถึงแม้จะเป็นงานที่เครียด แต่เธอก็มีความสุขและภาคภูมิใจในตลอดระยะเวลาการทำงาน ทั้งนี้เคที่ได้บอกเล่าหลักการทำงานในชีวิตเธอว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
“หลักหรือแนวคิดในการทำงานคือจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อที่เมื่อเวลามันผ่านไปแล้วเนี่ย ตัวเราจะได้ไม่เสียดายกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง เราก็จะยอมรับมันได้ บางครั้งการที่เรารู้บทบาทหน้าที่ของเรา แล้วทำมันให้ดีที่สุด มันสำคัญกว่าการที่เราจะไปให้ถึงเป้าหมายด้วยซ้ำ ถ้าคนเราทุกคนรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ประเทศชาติก็จะเจริญค่ะ เพราะฉะนั้น หลักในการทำงานของตัวเองเนี่ยคือเราจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและก็พยายามจะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดอยู่กับที่ ทั้งนี้เป้าหมายของเราก็ไม่ใช่เพื่อต้องการความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง แต่เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองมากกว่า
นอกจากนี้ก็จะพยายามไม่เครียดกับอะไรง่ายๆ เป็นคนที่พยายามมองทุกอย่างในเชิงบวก คือเราต้องพยายามมีความสุขกับทุกเรื่องให้ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่เราอยากทำ หรือว่าต้องทำเพราะเหตุใดก็ตาม เพราะเรื่องบางเรื่องเพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ก็สามารถมีความสุขได้แล้วค่ะ”
วัยเด็กของเคที่
ย้อนกลับไปเล่าเรื่องอดีตกันบ้าง คราวนี้อยากรู้ว่าสมัยเคที่ยังเป็นเด็กผู้หญิงตัวน้อย ชอบเล่นขายของ เล่นตุ๊กตุ่น ตุ๊กตาเหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไปหรือเปล่า เธอรีบส่ายหัวปฏิเสธโดยพลันเลยว่า ตอนเด็กๆ เนี่ย ก็บู๊ แสบ ซน ไม่แพ้ปัจจุบัน แล้วถ้าใครเอาตุ๊กตามาให้ เธอจะโกรธมากเลยทีเดียว
“ตอนเด็กๆ ก็ค่อนข้างซนมาก บู๊เหมือนเด็กผู้ชาย ด้วยความที่เรามีพี่ชายหนึ่งคน แล้วก็ที่บ้านลูกพี่ลูกน้องส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชายหมด เคที่ก็เลยจะชอบเล่นทุกอย่างเหมือนกับที่เด็กผู้ชายเล่นกัน ชอบยิงปืน ชอบการต่อสู้ แม้กระทั่งเล่น skate Rollerblade ที่สมัยก่อนฮิตกัน เราก็แอบที่บ้านเล่น คือ คุณพ่อจะดุมาก ไม่ยอมให้ออกจากบ้านไปไหนโดยไม่ขออนุญาต ตอนนั้นโรงเรียนปิดเทอม เราก็แอบเอารองเท้าของพี่ชายมาเล่น เริ่มจากเล่นคนเดียวหน้าบ้าน เล่นไปเล่นมาออกไปไกลถึงหน้าหมู่บ้าน จนออกถนนใหญ่เลย คือไปไกลมาก หายไปร่วมครึ่งวัน กลับมาบ้านตัวดำปี๋ คือวันนั้นที่บ้านโกรธมาก เพราะเค้าเป็นห่วงเรามาก กลัวอันตรายโน่นนี่นั่น แต่เรากลับไม่รู้สึกกลัวอะไรเลย แต่กลับสนุก คือเราจะไม่ชอบอยู่บ้านเฉยๆมาตั้งแต่เด็ก
แล้วก็สมัยเด็กๆ เนี่ย ถ้าใครเอาตุ๊กตามาให้จะโกรธ ให้จับใส่กระโปรงเนี่ยก็โกรธ คุณพ่อ-คุณแม่ก็เลยจับส่งไปเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน (โรงเรียนราชินีบน) ทางคุณพ่อ-คุณแม่คิดว่าถ้าเข้าไปเรียนแล้วเราคงจะเป็นกุลสตรีมากขึ้น แต่เปล่าเลย หนักขึ้นกว่าเดิม แล้วก็มาเริ่มเป็นสาวเมื่อตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเรียนที่จุฬาฯ ค่ะ”
ครอบครัวของเคที่นั้นเป็นครอบครัวข้าราชการ ดังนั้น เธอจึงได้รับประโยชน์มาเต็มๆ อย่างเรื่องเรียน เธอก็เล่าติดตลกให้ฟังว่าเป็นหนอนหนังสือตัวยง อีกทั้งการเลือกมาทำงานเป็นข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมก็มีส่วนที่เกิดจากการผลักดันของครอบครัวด้วย
“ตอนเด็กๆ คุณพ่อ-คุณแม่ก็จะค่อนข้างเข้มงวดกับเรานิดนึง โดยเฉพาะเรื่องเรียน ทุกเทอมจะต้องมีการเซ็นสัญญากับที่บ้านทุกครั้ง คือประมาณว่าจะมีการรับรองผลการเรียนในแต่ละวิชาว่า ถ้าชั้นติวให้เธอ แล้วเธอเชื่อฟังชั้นนะ เธอจะได้คะแนนดีประมาณนี้ หรือปีนี้คะแนนต้องดีกว่าปีที่แล้วให้ได้นะ อะไรประมาณเนี้ย แล้วจะมีการแบ่งหน้าที่กัน คุณพ่อติววิชานี้ คุณแม่ติววิชานี้ แบ่งหน้าที่กันไป เราก็เลยเป็นเด็กที่แข่งกับตัวเองมาตลอด ถามว่าเครียดมั๊ย เครียดมาก แต่พอผลสอบออกมาดี เราก็ดีใจ คุณพ่อคุณแม่ก็แฮ๊ปปี้ ประมาณว่า เห็นมั๊ยชั้นบอกเธอแล้ว (หัวเราะ) คือที่บ้านจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเรียนมาก
แต่กิจกรรมคลายเครียดเค้าก็พยายามเสริมให้เรา ที่บ้านจะเป็นครอบครัวนักดนตรีทั้งบ้าน เป็นนักร้องกันทั้งบ้านด้วย เราก็เรียนเปียโน อิเล็กโทน กับพี่ชายตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบค่ะ คือคุณพ่อคุณแม่ก็กลัวลูกจะเครียดกับการเรียนมากไป ก็เลยหากิจกรรมให้ทำ ซึ่งมันก็ช่วยเราได้ในระดับหนึ่ง แต่มาหยุดเรียนตอนช่วงสอบเอ็นทร๊านซ์เข้ามหาวิทยาลัย เพราะช่วงนั้นเครียดมาก ไม่ไหวจริงๆ ก็เลยขอทางบ้านว่าขอหยุดเรียนก่อน เพราะด้วยความที่เรียนเปียโน มันจะต้องมีการสอบเพื่อขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็เรียนไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ มันก็ยิ่งเครียดมากขั้นเรื่อยๆ ฉะนั้นแทนที่มันจะช่วยคลายเครียด กับยิ่งเพิ่มความเครียดให้เราหนักกว่าเดิม เพราะเราต้องให้เวลาซ้อมมันเต็มที่ ก็เลยเลือกที่จะมามุ่งสอบเอ็นทรานซ์ดีกว่า แต่ทุกวันนี้เราก็ยังกลับไปเล่นเปียโนทุกครั้งเวลาที่เราเครียด หรือต้องการrelax เพราะเราเป็นคนชอบเสียงดนตรี”
ถึงแม้จะเป็นเด็กรักเรียนแต่เรื่องกิจกรรม เธอก็มีส่วนร่วมอยู่บ่อยครั้ง ความสวยสะดุดตาขนาดนี้ มิน่า! คุณครูเลยเรียกใช้งานอยู่บ่อยๆ
“ก็พอทำกิจกรรมบ้างนะคะ อย่างเวลาที่โรงเรียนมีงานกีฬาสี ก็จะโดนเรียกไปทำกิจกรรมตลอด อย่างถือป้ายค่ะ”
พอมาขึ้นระดับมัธยมปลาย เคที่ก็ยังออกแนวเป็นสาวน้อยทอมบอยวัยแรกรุ่นเช่นเคย เช่นเดียวกับเรื่องเรียนที่เธอก็ไม่เคยปล่อยปละละเลย
“เด็กๆ อย่างที่บอกว่าเนิร์ดอ่ะคะ ตอนนั้นก็จะเป็นเหมือนหนอนหนังสือเลย เป็นเด็กเรียนมาก ชอบเรียน ชอบทุกวิชาเลย แล้วตอนมัธยมปลายเคที่เรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศสนะคะ ก็เลยจะชอบวิชาทางด้านภาษา คือเรียนได้หมดค่ะ ถนัดหมด ยกเว้นวิชาเลขกับวิชาเย็บปักถักร้อยค่ะ”
เลือกเรียนกฎหมาย
หลังจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย เธอก็เดินมาสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในระดับมหาวิทยาลัย สำหรับเด็กที่เรียนสายภาษามาคงมักจะเบนเข็มไปยังด้านภาษาศาสตร์ แต่เธอก็กลับสนใจด้านกฎหมาย ซึ่งเมื่อสุดท้ายแล้ว เคที่ก็สอบติดคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่เปรียบดั่งเป็นจุดเริ่มแรกในชีวิตข้าราชการกระทรวงยุติธรรมของเธอ
“ตอนนั้นเนี่ยต้องบอกว่าจริงๆ ว่าก็มีความฝันว่าอยากเป็นตำรวจนะคะ สมัยเด็กๆ ชอบดูหนังสายลับ เราก็มีความรู้สึกว่าการเป็นตำรวจเนี่ย มันเท่ดีนะ ก็เลยเลือกสองคณะนี้คือ คณะนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ ซึ่งสุดท้ายก็มาติดที่นิติศาสตร์ จุฬาฯ
ตอนเรียน เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองมาโดยตลอดว่าจบมาจะทำอะไร สายไหนดี สายราชการ หรือสายเอกชนดี ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าแรงผลักดันส่วนหนึ่งก็มาจากทางครอบครัว ทำให้เราอยากรับราชการ เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากรับราชการ อยากทำงานที่กระทรวงยุติธรรม คือเราซึมซับระบบวิธีคิดการทำงานหลายๆอย่างมาจากครอบครัวค่อนข้างเยอะ”
การเรียนวิชากฎหมาย น่าจะเป็นการเรียนที่ยากพอดู ทั้งต้องท่องจำตำราหนาเตอะ กฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ เคที่ยอมรับว่า เธอเคยท้อ เคยเหนื่อย แต่ด้วยกำลังใจและแรงสนับสนุนจากครอบครัวเลยทำให้ผ่านมาได้
“วิชากฎหมายยากมั้ยหรอคะ คือเมื่อเลือกมาเรียนแล้ว ก็ต้องพยายามคิดให้เป็นเรื่องสนุกค่ะ ถามว่าเหนื่อยมั้ยก็เหนื่อย เคยท้ออยู่เหมือนกันค่ะ แต่เรารู้สึกว่าในเมื่อเราตั้งเป้ามาแล้วว่า เราอยากเป็นอะไร เพราะฉะนั้น เราก็ต้องพยายามให้ถึงที่สุด พยายามให้มากที่สุด คือส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันคือทางครอบครัวที่บ้านค่ะ เค้าก็ให้กำลังใจตลอด
อีกหนึ่งจุดพลิกผันของชีวิตคือการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ครั้งนี้ก็ยังมีตัวเลือก 2 ทาง ให้เธอเลือกเดินระหว่างสายเอกชน งานรายได้ดีกับงานข้าราชการ
“เงินหรือค่าตอบแทนสำหรับเราไม่ใช่เป็นเป้าหมายหลัก แต่การที่เราได้ทำงานในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ได้อำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมไทยเป็นสิ่งที่เราต้องการมากกว่า และด้วยบทบาทหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ คือ การสืบสวน สอบสวน และแสวงหาพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นอะไรที่น่าสนใจและท้าทายมากค่ะ ประกอบกับเป็นคนที่ชอบดูหนังแนวสืบสวนสอบสวนมาตั้งแต่เด็กค่ะ เป็นคนที่ชอบอะไรแนวนี้ ก็เลยตัดสินใจมาทำงานที่นี่ ฉะนั้นถ้าถามเหตุผลที่เลือกมาทำงานที่นี่ ก็คงเป็นเรื่องของความรู้สึกชอบล้วนๆ เลยค่ะ คงไม่ใช่เรื่องของค่าตอบแทน เพราะถ้าเราทำงานที่เราชอบ เราก็จะมีความสุขในการทำงาน คือตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานที่ดีเอสไอ จนกระทั่งถึงวันนี้ (เกือบแปดปีแล้ว) ถามว่าเหนื่อยมั๊ย ก็มีเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่เรารู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ ในสิ่งที่เราเป็นมากกว่า และที่สำคัญคือเรามีความสุขในการทำงานค่ะ
พอเราจบมา ก็แอบไปสอบกพ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) อันนี้ไม่ได้บอกที่บ้านเลยนะ พอสอบเสร็จสอบผ่านเรียบร้อย ก็เดิน walk-in เข้าไปในกระทรวงยุติธรรมเองเลย เดินเข้าไปถามว่า หนูอยากทำงานที่นี่ จะสมัครได้ที่ชั้นไหนคะ เค้าก็แนะนำไปผู้ใหญ่ท่านนึง เป็นระดับผู้บริหารอธิบดีกรมฯ ก็ได้เข้าไปสัมภาษณ์ ตอนนั้นเรานึกว่าแค่เข้าไปคุยนะคะ แต่จริงๆ เค้าสัมภาษณ์เราอยู่ พอคุยเสร็จปั๊บก็เดินออกมา เค้าก็บอกว่ารับเราเข้าทำงานนะ แล้วก็บรรจุให้เลย”
เรื่องนี้พอพูดจบ เคที่ก็ยิ้มขำ ความไม่รู้ในวันนั้นที่เธอมุ่งมั่นอยากทำงานในกระทรวงยุติธรรม เลยเดินดุ่มๆ เข้าไปขอสมัครงานอย่างไม่กลัว ส่งผลให้เธอได้รับเข้าบรรจุงานในทันทีทันใดเสียอย่างนั้น
“คิดว่ามันน่าจะเป็นเพราะดวงด้วยอ่ะคะที่ทำให้ได้มาทำงานที่นี่ แล้วเราก็ไม่คิดว่าจะทำได้นานขนาดนี้ อยู่ไปอยู่มาก็ 8 ปีแล้ว”
เงินไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด
อย่างที่เคที่กล่าวไว้ว่า หลังเรียนจบ เธอมีตัวเลือกในการทำงานอยู่สองทาง ไม่ทำงานในบริษัทเอกชนก็เลือกที่จะทำงานเป็นข้าราชการ แต่เมื่อคิดไตร่ตรองถี่ถ้วนแล้ว เธอก็ตัดสินใจทำงานราชการดีกว่า ทั้งนี้เธอมุ่งมั่นอยากทำงานที่ตนเองรักและภูมิใจ ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าการทำงานในบริษัทที่ให้เงินตอบแทนสูงๆ จะตอบโจทย์ชีวิตการทำงานของเคที่ได้
“คือเราเรียนจบกฎหมายมาก็ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกว่า อยากทำงานในองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย บางคนอาจะถามว่า ทำไมถึงอยากทำงานรับราชการ เพราะทุกคนมองว่าเป็นอาชีพที่ค่าตอบแทนน้อย เมื่อเทียบกับการไปทำงานในภาคเอกชน อันนี้เป้าหมายหรือความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับเคที่มองว่า เป้าหมายหรือความสำเร็จคือการได้ทำงานที่เรารักและภาคภูมิใจ เงินไม่ใช่เป้าหมายสำคัญที่สุด เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเราคืออยากทำงานที่เรารู้สึกภาคภูมิใจ อยากทำงานในองค์กรรัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและได้อำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมมากกว่า และด้วยความที่เราซึมซับระบบ วิธีคิด แนวคิดการทำงานในระบบราชการจากทางครอบครัวมาตั้งแต่เด็กๆ ก็มีความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นข้าราชการ เพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้ทำงานรับใช้ประเทศชาติ
ด้วยเหตุผลนี้ค่ะ กระทรวงยุติธรรมจึงเป็นเป้าหมายอันดับแรก หลังจากที่จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ก็เริ่มมาทำงานที่สำนักกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ในตำแหน่งนักวิชาการยุติธรรม ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานยุติธรรม วิเคราะห์ภาพรวมหารดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ก็จะเป็นอารมณ์นักวิชาการมากๆ ค่ะ ก็ได้ความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาสักระยะนึง ตัวเองก็เริ่มอยากเปลี่ยนแนวมาลงเป็นภาคสนามบ้าง อยากทำคดีบ้าง เลยตัดสินใจโอนมาที่กรบสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ตั้งแต่ประมาณปลายปี 2547 เลยค่ะ”
เริ่มต้นชีวิตการทำงาน
สุดท้ายเมื่อลงตัวกับการทำงานในกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แล้ว ก็เหมือนชีวิตต้องการใช้วิชความรู้เพิ่ม เมื่อย้ายเข้ามาทำงานในสังกัดใหม่ เคที่จึงต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการทำงานที่นี่ ทั้งในเรื่องของรูปแบบการทำงาน และองค์ความรู้ของการสืบสวนสอบสวน
“เราโอนมาอยู่ที่ดีเอสไอตั้งแต่ยุคแรกๆ พึ่งเริ่มตั้งกรมใหม่ๆ ช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเท่าไหร่เลยค่ะ เราเองก็ไม่เคยรู้เรื่องการสืบสวนสอบสวนมาก่อน ไม่มีประสบการณ์เลย ส่วนพื้นฐานเบสิคเลยคือต้องรู้กฎหมายเป็นหลัก กฎหมายที่ใช้บ่อยๆ ก็คือกฎหมายวิอาญา คือเรามีการสอบสวนสืบสวนต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิอาญา นอกจากนั้นแล้วเนี่ยสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมก็คือ พรบ.การสอบสวนคดี
นอกจากนั้นแล้วก็จะเป็นเรื่องของเทคนิคการสอบสวนสืบสวน ซึ่งอันนี้เคที่ว่ามันต้องอาศัยประสบการณ์ มันไม่มีตำราหรือหนังสือเล่มไหนที่มาบอกว่าการสอบสวนสืบสวนที่ถูกต้องมันเป็นยังไง เพราะแต่ละเคส พฤติการณ์มันจะต่างกัน ไม่เหมือนกัน เพราฉะนั้นเนี่ย เทคนิคการสืบสวนมันก็ต้องยืดหยุ่นได้ตลอด ต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ในแต่ละคดี”
เรียนวิชาการแบบอัดแน่น เรื่องภาคปฏิบัติภาคสนาม ก็ต้องฝึกฝนเพิ่มด้วยเช่นกัน โดยเคที่ระบุว่า จะมีการทดสอบเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว
“ต้องเรียนทุกคนค่ะ ก็จะมีการทดสอบเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ก็จะฝึกฝนในเรื่องของการศิลปะการป้องกันตัว การใช้อาวุธต่างๆ ยุทธวิธีต่างๆ รวมถึงในเรื่องของเทคนิคการสืบสวนสะกดรอย”
จากนั้น เคที่ก็เล่าให้ฟังถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ DSI ว่าจะเน้นเรื่องของทีมเวิร์คเป็นหลัก
“การทำงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เราทำงานกันในลักษณะของทีมเวิรค์ เพราะงานสืบสวน เราทำคนเดียวไม่ได้ ฉะนั้น ทุกขั้นตอนของการทำงาน จะทำกันในรูปแบบของคณะทำงาน ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการ เราจะต้องตั้งประเด็นในการสืบสวนก่อน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสืบสวนเลยในต่างประเทศ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในการสืบสวนของตำรวจบางหน่วย เค้าจะมีผู้เชี่ยวชาญการตั้งประเด็นการสืบสวนไว้โดยเฉพาะ เพื่อวางแผนการสืบสวนในคดีสำคัญๆไว้เลยนะคะ
โดยก่อนเริ่มทำคดี เราจะต้องตั้งประเด็นการสวบสวนที่อาจเป็นไปได้ โดยวิเคราะห์จากพยานหลักฐานเท่าที่รวบรวมได้ในขณะนั้น จากนั้นก็จะสืบสวนพิสูจน์ความเป็นไปได้ของแต่ละประเด็น ประเด็นใดที่มีหลักฐานว่าเป็นไปไม่ได้ก็จะตัดทิ้งไป การสืบสวนติดตามก็จะแคบเข้า และเข้าสู่เป้าหมายในที่สุด”
คำถามถัดมา การเป็นนักสืบยากง่ายยังไง เจ้าหน้าที่คนสวยยิ้มรับก่อนให้คำตอบออกมาว่า การเป็นนักสืบสามารถเป็นกันได้ทุกคน สำคัญอยู่ที่เทคนิคในการสืบสวนเท่านั้นเอง
“ถามว่าการเป็นนักสืบยากมั๊ย คือจริงๆแล้ว การเป็นนักสืบนั้นเป็นได้ทุกคนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือตำรวจ แต่เราจะต้องรู้เทคนิควิธีการในการสืบสวนเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม การจะเป็นนักสืบที่เก่งหรือที่ดีมีประสิทธิภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ต้องมีความอดทน และใช้ความพยายามสูงมาก เพราะบางคดีต้องใช้เวลาสืบสวนหาร่องรอยเป็นระยะเวลานานมาก
สิ่งสำคัญเลย คือ จะต้องมีใจรัก รอบรู้ ช่างสังเกต ช่างจดจำ อันนี้เป็นหลักพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่มีตำราการสืบสวนไหนที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนและแน่นอนว่า สืบสวนอย่างไรให้สามารถประสบความสำเร็จ เพราะการสืบสวนเป็นศิลปะที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน และการนำไปใช้ในแต่ละคดีก็ไม่เหมือนกัน เพราะด้วยลักษณะหรือพฤติการณ์ของคดีที่แตกต่างกัน เทคนิคและวิธีการสืบสวนก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของคดี นอกจากนั้น ก็ยังต้องอาศัยประสบการณ์และความสามารถเฉพาะบุคคลเข้ามาช่วยเสริมอีก”
งานสืบสวนไม่ใช่เรื่องง่าย
สำหรับคนภายนอกอาจมองว่าการทำงานด้านกฎหมายถึงแม้อาจจะเครียด แต่ก็น่าสนุก ตื่นเต้น เหมือนในละครหรือภาพยนตร์ต่างๆ ที่บู๊ล้างผลาญดูแล้วมันส์สะใจ แต่เจ้าหน้าที่ตัวจริงอย่างเคที่ไม่คิดเช่นนั้น เธอบอกว่า การทำงานสืบสวนสอบสวนเป็นเรื่องของชีวิตจริง เสี่ยงจริง หากทำอะไรผิดพลาดคงไม่ดีเท่าไรนัก
“ถ้าถามว่าในการทำงาน เรารู้สึกสนุกมั้ย คือจริงๆ แล้วเคที่ว่า งานสืบสวนสอบสวนเนี่ยไม่ใช่เรื่องของความสนุกสนานนะคะ เพราะการทำงานสืบสวนเป็นเรื่องของชีวิตจริง เป็นเรื่องของการจับกุมจริง ดำเนินคดีจริงๆ ฉะนั้นเลยคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องของความสนุก แต่ถ้าถามว่ามีความประทับใจมั้ย ก็มีค่ะ เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกับทีมงาน คือในการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษเนี่ย เราจะทำงานกันแบบเป็นทีมเวิร์ค ส่วนความประทับใจในการทำงานที่ผ่านๆ มาก็คือ การที่เราได้มีการร่วมกันคิด ร่วมกันครีเอทงานคดี ช่วยกันวางแผนการจัดการงาน การแฝงตัว การจับกุม หรือการดำเนินการต่างๆ จนนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงได้ ได้คืนความยุติธรรมให้กับสังคม และผลที่ออกมามันได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากสังคม จากสื่อมวลชน ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของเรามากขึ้น ตรงนี้เป็นความประทับใจค่ะ
ส่วนเรื่องความท้าทายเนี่ย จากประสบการณ์ที่ทำคดีมามองว่า คดีทุกคดีมีความยากและท้าทายหมด เนื่องด้วยงานสอบสวนเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงในการทำคดี และลักษณะของคดีพิเศษคือคดีที่มีความสลับซับซ้อน บางคดีก็มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นความยากจึงอยู่ตรงที่ทำอย่างไรที่จะสามารถได้พยานหลักฐานมาพิสูจน์การกระทำความผิดและได้ตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้”
การทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายแขนง ดังนั้นการทำงานร่วมกันให้เป็นทีมเวิร์คและประสบความสำเร็จคือสิ่งสำคัญ ตามที่เคที่ได้อธิบายให้ฟัง
“คนทำงานที่นี่ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ หลักๆ ก็จะเป็นตำรวจ อันนี้จะโอนมาเยอะมาก หลักๆ ก็จะมาถ่ายทอดวิชาในเรื่องเทคนิคการสอบสวนสืบสวนกับเพื่อนร่วมงานที่นี่ สหวิชาชีพ แล้วก็พวกปปง. ศุลกากร สรรพากร คือการทำงานที่นี่เราจะทำเป็นทีมเวิร์คอย่างที่บอก เพราะฉะนั้นเราก็จะมีการทำงานบูรณาการร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เพราะคดีๆ นึงเราไม่ทำแค่คนเดียว เราทำร่วมกันหมด เรื่องนี้ใครตรวจสอบการเงิน ตรวจสอบภาษี อีกคนนึงเก่งในเรื่องของการสอบสวน สะกดรอย เราก็แบ่งทีมออกไป”
ระทึกลงทำงานชายแดนใต้
ไม่ว่าจะทำงานในรูปแบบไหน เคที่ก็เต็มที่และจริงจังกับงานทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่เข้ามาทำงานในสำนักคดีอาญาพิเศษ และเธอก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายสุดโหด อย่างการส่งลงไปทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสาวน้อยนักกฎหมายในห้องทำงาน ต้องลงไปยังพื้นที่เสี่ยง เคที่จึงอดที่จะกลัวไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้ว พี่ๆ ทุกคนที่นั่นก็ให้ความช่วยเหลือเธอ จนเธอรู้สึกชอบงานตรงนี้ไปโดยปริยาย
“ความท้าทาย ตื่นเต้นเนี่ย มันก็มีบ้าง แรกๆ เข้ามาเนี่ย จริงๆ ไม่ได้อยู่สำนักนี้ แรกเริ่มเลยเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วเนี่ย ช่วงนั้นอยู่สำนักคดีอาญาพิเศษ ก็จะได้ลงภาคใต้ตลอด คือมันเปลี่ยนจากแนวนักวิชาการ หักมุมมาลงภาคสนาม ภาคปฏิบัติ จำได้เลย วันที่สองการทำงานของการทำงานที่นี่ คือหิ้วกระเป๋าลงไปอยู่ภาคใต้เป็นสิบวัน ซึ่งเราก็แบบอยากจะร้องไห้ เพราะตอนนั้นมันเปลี่ยนฟีล หักมุมเร็วจนเราแบบรับไม่ทัน
ใจจริงเราก็อยากบู๊นะ แต่ขนาดนี้มันก็ไม่ใช่นะ ลงไปอยู่ภาคใต้สิบวัน แล้วก็อยู่แต่ในเรือนจำ สอบปากคำนักโทษ ก็รู้สึกว่าตอนนั้นหนักมากพอสมควร แต่พอเราได้อยู่ไปสักพัก พี่ๆ เค้าก็มาสอนงานเรา ก็เลยรู้สึกว่าการทำงานลักษณะนี้เนี่ย มันโอเค มันสนุกนะ คือมันไม่ใช่สนุกสนานอะไรอย่างนั้นนะคะ แต่มันรู้สึกว่าเราชอบมากกว่า ชอบบนความเครียดอ่ะนะ”
ส่วนตอนนี้ เธอก็ได้โอนย้ายมายังสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา การทำงานก็จะเบามากกว่าแต่ก่อน ซึ่งเธอก็มีความสุขกับงานในปัจจุบันนี้
“พอย้ายมาสำนักนี้ ก็จะเบาๆ หน่อย ในหน้างานก็จะมีแค่เรื่องของลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า มีอยู่สามอย่างนี้ค่ะ ก็ไม่น่ากลัวมากค่ะ เป็นอีกฟีลนึง”
ผันตัวมาทำงานเชิงบริหาร
สำหรับการทำงานในตอนนี้ เคที่บอกว่า ได้ผันตัวมาทำงานด้านวิเคราะห์และวางแผนสนับสนุน แทนการออกไปแฝงตัวล่อซื้อ เราเลยสอบถามเธอว่า เพราะหลายปีมานี้ ผลงานการจับกุมต่างๆ ของเธอ ทำให้เคที่ได้ออกสื่อจนใครๆ ก็จำได้ มาถึงตอนนี้ก็เลยต้องเขยิบมาทำงานเบื้องหลังแทนใช่หรือไม่?
“ที่ผันตัวมาทำงานอยู่เบื้องหลัง คือจริงๆ แล้ว ด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่ขยับเพิ่มขึ้นมาเนี่ย ฉะนั้นภาระบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเราก็เปลี่ยนไปอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องลงมาภาคสนาม มาแฝงตัว มาสะกดรอยเอง แต่ว่าเราจะย้ายมาทำงานเชิงบริหารในลักษณะของการวิเคราะห์ วางแผน งานคดีเบื้องหลังมากกว่า”
ก้าวล่วงมาถึง 8 ปีแล้วในชีวิตการทำงานของเคที่ เธอยอมรับว่า เวลาและประสบการณ์ช่วยทำให้เธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
“จากที่ทำงานมากว่า 8 ปี ประสบการณ์มันก็สอนให้เรารู้ว่า เราโตขึ้นเยอะมากนะ สอนให้เราได้เรียนรู้วิธีการในทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งมาจากหลากหลายองค์กรเลย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะว่า คนเราวัฒนธรรมองค์กรก็แตกต่างกัน แล้วต้องมาอยู่ร่วมกัน การที่เราจะทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นทีมเวิร์คได้ เราต้องรู้จักเปิดใจยอมรับศักยภาพของกันและกัน แล้วเราก็จะต้องรู้จักดึงข้อดีของคนแต่ละคนมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน”
เมื่อถามว่าเธออยากลองโยกย้ายไปทำงานตรงส่วนอื่นๆ หรือไม่ เจ้าหน้าที่ DSI หน้าหวาน กล่าวว่า ณ ตอนนี้เธอยังสนุกกับงานตรงนี้ และยังอยากจะเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ต่อไป
“ณ ปัจจุบัน เคที่ก็ยังสนุกกับงานอยู่นะคะ ยังอยากใช้ความรู้และประสบการณ์จากการที่ได้ทำงานมาทำประโยชน์ให้กับสังคมให้มากที่สุดค่ะ เป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนของเคที่ตอนนี้คือพยายามเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานให้ได้มากที่สุดค่ะ”
อาชญากรรมต้องช่วยกันแก้
ในทัศนะของเธอต่อปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น เคที่มองว่าเรื่องนี้คือเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจ ไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
“ วิธีคิดของระบบยุติธรรมไทยวันนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไทย ทุกคนก็จะหันไปที่ตำรวจ แล้วบอกว่าตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม พอวันนี้ เรามีกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว เราก็บอกว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษด้วย
อีกส่วนหนึ่งถามว่าประชาชนมีส่วนรับรู้รับเห็นหรือมาช่วยอะไรมั้ย วันนี้ก็บอกว่าแล้วแต่คน ส่วนหน่วยงานอื่นบ้างก็บอกคนไม่พอ บ้างก็บอกไม่ใช่หน้าที่ บ้างก็บอกว่ามีอะไรให้ร้องเรียนมา จะไปตรวจสอบเป็นเรื่องๆ ไป ทุกคนก็กลายเป็นว่าไม่ได้มาร่วมกันสกรัมกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วเลยเกิดปัญหาว่า ทำไมอาชญากรรมไม่ลดน้อยลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเราหันกลับไปดูประเทศที่เค้ามีความเจริญแล้ว อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าไปถามเขา ว่าหน้าที่ในการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมเป็นหน้าที่ของใคร เขาจะบอกเลยว่ามันเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องมาปรับวิธีคิดกันใหม่ทุกภาคส่วน จะต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม”
เพศไม่ใช่ขีดจำกัด
ถือได้ว่า เคที่-ญานิณี เป็นอีกหนึ่งผู้หญิงเก่งมากความสามารถไม่แพ้ไปกว่าผู้ชาย ซึ่งเคที่เชื่อว่าเรื่องของเพศนั้นไม่ได้เป็นขีดจำกัดในการทำงานแต่อย่างใด ยิ่งในปัจจุบันแล้วจะเห็นได้ว่าทุกสาขาอาชีพ ทุกตำแหน่งก็มีผู้หญิงทำงานอยู่จำนวนไม่น้อยเลย ซึ่งเคที่เชื่อมั่นในเรื่องของศักยภาพของแต่ละคน มากกว่าการจำแนกว่าเป็นชายหรือหญิง
“โลกยุคปัจจุบันนี้ เรื่องเพศคงไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงานอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าผู้หญิงก็สามารถทำงานได้เท่าเทียมกับผู้ชายหมดทุกอย่าง อีกอย่างก็คือจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้นเยอะ โดยเฉพาะ ตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวง ทบวง กรม หรือแม้แต่ซีอีโอของบริษัท
เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้มันถึงไม่ค่อยมีเรื่องการแบ่งแยกทางเพศอีกต่อไปแล้ว และในงานที่เคที่ทำนะคะ งานด้านการสืบสวนสอบสวน เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จะถูกหล่อหลอมและพัฒนาองค์ความรู้ในงานสืบสวนสอบสวนหมดทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกเพศในที่ทำงาน รวมถึงการฝึกฝนทาง Physical Training เจ้าหน้าที่ดีเอสไอทุกคน ทั้งชายและหญิงก็จะต้องได้รับการฝึกฝนเหมือนกันหมด
โดยส่วนตัว เคที่เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพเหมือนกันหมด ซึ่งแต่ละคนก็จะมีศักยภาพที่แตกต่างกันไป อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของการเติมเต็มซึ่งกันและกันดีกว่า สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเปิดใจยอมรับศักยภาพซึ่งกันและกัน รวมถึงช่วยกันแลกเปลี่ยนความรู้และศักยภาพกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการทำงานร่วมกันคือผลสัมฤทธิ์ของงานค่ะ”
การงานเต็มที่ ชีวิตเต็มร้อย
นอกจากเต็มที่กับการทำงานมาทั้งวัน เวลาที่เหลือเคที่ก็เต็มร้อยกับชีวิตส่วนตัวและครอบครัวเช่นกัน ซึ่งเธอเน้นย้ำว่า พยายามสร้างบาลานซ์ให้กับชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัว
“จริงๆ ก็เป็นคนที่เต็มที่ทั้งงานและนอกเวลางานอยู่แล้วค่ะ คือเวลาทำงานเราก็ทำเต็มที่ พอนอกเวลางานเราก็ให้เวลากับชีวิตส่วนตัวเต็มที่เหมือนกัน มีบ้างที่ไปสังคม เจอเพื่อน กินข้าว ส่วนใหญ่ก็จะพยายามบาลานซ์ชีวิตตัวเองอยู่แล้ว แล้วก็เป็นคนชอบเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดและต่างประเทศ อย่างในประเทศก็จะชอบทะเลค่ะ
เคที่ว่าตัวเองเป็นคนที่พยายามสร้างบาลานซ์ เรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวค่อนข้างชัดเจนค่ะ คือเวลาทำงานก็เต็มที่ แต่เวลานอกงานเราก็เต็มที่กับชีวิตส่วนตัว กับชีวิตครอบครัวเช่นกัน อย่างถ้าเวลาว่างๆ เสร็จจากงานเมื่อไหร่ก็จะพยายามใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และก็หาเวลาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของตัวเองค่ะ
โดยส่วนตัวเป็นคนสนใจและชอบออกกำลังกายมากค่ะ ก็จะพยายามออกกำลังกายเกือบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโยคะ พีราทีส จ็อกกิ้ง ชกมวย หรือเล่นเวทในฟิตเนส เพราะการออกกำลังกายเหล่านี้เป็นวิธีที่ทำให้เราผ่อนคลายจากความเครียด ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีความยืดหยุ่น และยังเป็นวิธีฝึกความนิ่ง ความอดทนและสมาธิด้วยค่ะ”
การออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็น โยคะผ้า จ็อกกิ้ง ชกมวย ต่างเป็นกิจกรรมที่เคที่ใช้เวลาด้วยมากที่สุด ซึ่งเธอบอกว่าการออกกำลังกายเป็นการดูแลสุขภาพตัวเองที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงและเป็นการทำจิตใจให้นิ่งด้วย
“การดูแลตัวเอง เคที่ก็จะออกกำลังกายค่ะ และก็รับประทานอาหารให้ถูกต้อง พักผ่อนเยอะๆ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ปกติเป็นคนชอบออกกำลังมาก คือออกกำลังทุกอย่าง ด้วยความที่เราเป็นคนไฮเปอร์นิดๆ เลยต้องหากิจกรรมทำ เราชอบความแข็งแรง ชอบให้ร่างกายแข็งแรง ชอบให้ตัวเองเหนื่อยตลอด และก็จะชอบเล่นโยคะ พีราทีส ซึ่งมันเป็นการฝึกสมาธิเรา ฝึกความนิ่งใจจิตใจ และฝึกความแข็งแรงภายในของมวลกล้ามเนื้อด้วย
ที่สำคัญเลยคือเราต้องรู้จักแบ่งเวลาให้ถูก คนเราหลายคนชอบพูดว่า ตัวเองไม่มีเวลา แต่ถ้าทุกคนลองไปทำ Timetable ดูสิ จะรู้ว่าเรา waste time ไปมากเลยในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น อย่าบอกว่าไม่มีเวลา จริงๆ แล้วเรามีเวลาเยอะแยะค่ะ”
ความสามารถทั้งบู๊และบุ๋นของเธอเรียกได้ว่าเล็กพริกขี้หนูของจริง และเชื่อว่าวันนี้ ชื่อของ “เคที่-ญาณินี เกียรติไพบูลย์” หรือ “มือปราบโบท็อกซ์” น่าจะอยู่ในลิสต์ผู้หญิงเก่งของเมืองไทยอย่างแน่นอน ทั้งสวยและฉลาดขนาดนี้ ไม่ปลื้มไม่ได้แล้ว !!
ภาพโดย วชิร สายจำปา
และภาพประกอบจากอินสตาแกรม @katie_dsi
*** ประวัติส่วนตัว ****
ชื่อ-นามสกุล : ญาณินี เกียรติไพบูลย์
ชื่อเล่น : เคที่
การทำงาน : พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระดับชำนาญการพิเศษ สังกัด สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
การศึกษา : ระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท สาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ) คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงานเด่น : ผลงานแฝงตัวล่อซื้อโบท็อกซ์เก๊ และได้รับฉายาว่า “มือปราบโบท็อกซ์”