จากกระแสการออกมาเปิดเผยถึงชีวิตรักหลังสึกของอดีตพระมิตซูโอะ คเวสโกหรือมิตซูโอะ ชิบาฮาชิ กลายเป็นประเด็นที่สังคมจับจ้องจนหลายสื่อต้องหันมาสนใจเล่นข่าวนี้
เส้นทางธรรมที่ขาวสะอาดและเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาของชาวพุทธ กับชีวิตทางโลกที่สังคมให้ความสนใจ ปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงสถานะของตัวเองจากพระเป็นคนธรรมดาของอดีตพระชื่อดังชาวญี่ปุ่นดูจะเป็นที่จับตามอง และวิพากษ์วิจารณ์ไปในแง่มุมต่างๆ
ล่าสุดเมื่อบทเฉลยของเรื่องราวถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ คำถามที่ยังค้างคาต่อกระแสที่เกิดขึ้น? การตลาดขายหนังสือของอดีตพระมิตซูโอะ? สังคมไทยเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บ้าง?
ในวันที่ดอกบัวผลัดใบ
เส้นทางชีวิตในสายทางธรรมของมิตซูโอะถือเป็นพระที่ให้ข้อคิดการใช้ชีวิตที่มีแง่มุมอันลึกซึ้งมีคุณค่า ยิ่งในส่วนของการประพฤตปฏิบัติตนที่เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมก็ยิ่งทำให้เป็นที่ศรัทธาของชาวพุทธ การอยู่ในศีลธรรมตามพระวินัยในช่วงชีวิตภายใต้ผ้าเหลืองที่กินเวลายาวนานถึง 38 พรรษานั้นกลายเป็นแบบอย่างอันดีงามนำมาซึ่งความศรัทธาที่มีต่อทั้งตัวท่านเอง และหลักธรรมที่ท่านเผยแผ่จนได้ฉายาว่า “ซากุระที่ผลิบานเป็นดอกบัว”
ความรักความศรัทธาที่มีอย่างมากมายรวมไปถึงสถานะของการเป็นพระที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ความบริสุทธิ์ในเส้นทางชีวิตในวิถีธรรมไม่มีวี่แววของการออกนอกลู่นอกทาง เมื่อชีวิตของท่านเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน จากนักบวชกลับเป็นปุถุชนนำมาซึ่งกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปในหลายทิศทาง
รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อมองปรากฏการณ์นี้ว่า มาจากการเป็นข่าวฉาวที่ขายได้ในสังคมไทย ทำให้เป็นที่สนใจของสื่อ พร้อมกันนั้นความผิดหวังอย่างรุนแรงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้แรงขึ้นไปอีก
“ถ้าเป็นข่าวนิ่งๆ เงียบๆ ก็คงไม่มีคนสนใจ แต่ข่าวนี้มันหวือหวาและมันขายได้แน่นอน ทุกคนยังไงก็ต้องการขายข่าวอยู่แล้วและนำประเด็นนี้มาเป็นประเด็นสำคัญในการนำเสนอ” เขาเอ่ยในแง่มุมของสื่อ
ในส่วนของการพูดถึงในวงสังคมนั้น เขามองว่า มาจากความผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“บางคนก็เข้าใจมองว่า เมื่อท่านทนไม่ไหวก็ลาออกจากผ้ากาสาวพัสตร์ไม่เป็นพระอีกต่อไปแล้วมาแต่งงานก็น่าจะเป็นคนดี แต่บางคนก็มองว่า เป็นพระไม่น่าจะเกิดความปฏิพัทธ์จนกระทั่งลาสึก มันมองได้ทั้ง 2 แง่”
เมื่อมองได้ทั้ง 2 แง่มุมต่อเรื่องเดียว เขาจึงมองว่าปรากฏการณ์ของอดีตพระมิตซูโอะจึงเป็นไปในลักษณะรักแรง - ชังแรง
“ถ้ามองท่านในแง่ดี ในเมื่อรู้ใจตัวเองว่าไปไม่ไหวก็สึกแล้วแต่งงาน แต่อีกฝ่ายมองว่า คนอะไรบวชมาตั้ง 38 พรรษา เทศมามากมายก่ายกองแค่อยู่ใกล้กับผู้หญิงกลับใจระทึกอย่างนี้มันยังไงกัน”
ในส่วนของการออกมาให้สัมภาษณ์กับหลายสื่อหลายสำนักพร้อมเปิดตัวหนังสือ เขามองว่า ยิ่งเป็นการตีกระแสให้ประเด็นที่เคยเงียบกลับมาเป็นประเด็นที่ร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง
“กลุ่มคนที่รับไม่ได้ที่พระสงค์องคเจ้าเป็นอย่างนี้ พอยิ่งทิดมิตซูโอะออกมาตระเวนให้สัมภาษณ์ ยิ่งบอกว่าขายหนังสือก็ยิ่งแรง ประเด็นท่านมันแรงทำให้คนสนใจที่จะพูดถึงไม่ว่าในแง่มุมใด”
ในทางกลับกันหากเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับคนอื่น กระแสก็คงเงียบหายไม่มีใครสนใจ ข่าวหวือหวาเสียหายนั้นมีให้เห็นในหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว แต่เป็นที่จับจ้องก็เพราะตัวบุคคลที่อยู่ในข่าวด้วย
“ภาพของพระท่านที่อยู่ในศีลธรรมมาตลอดก็มีผลให้คนคาดหวังต่อพฤติกรรมของท่าน พอท่านนอกลู่นอกทาง สื่อหยิบมาพาดหัวแรงหน่อยคนก็สนใจ ในเฟซบุ๊กรายการที่ท่านไปให้สัมภาษณ์เริ่มได้แค่ 5 นาที คนก็เริ่มพูดถึงกันแล้ว”
การนิยมชมชอบในการเสพข่าวที่มีเนื้อหาแรงๆ จึงเป็นสิ่งหนึ่งฝังอยู่ในวัฒนธรรมการเสพข่าวของสังคมไทย สิ่งนี้เป็นผลพวงให้เกิดข่าวแรงๆ ตามมาเพื่อสนองความต้องการที่มีอยู่ กลายเป็นผลที่กลับไปสู่สังคมซึ่งเขามองว่า คนในสังคมก็จะเป็นคนที่แรงตามไปด้วย
“เดี๋ยวนี้เด็กวัยรุ่นก็แรง ดาราก็แรง คนนิยมเป็นคนแรงและเป็นมานานแล้ว คิดว่าแก้ไขต้องแก้กับผู้บริโภค เพราะถ้าผู้บริโภคยังเป็นแบบนี้สื่อก็ต้องเป็นแบบนี้ รสนิยมของผู้บริโภคต้องดีกว่านี้”
ดังนั้น การเลือกเสพข่าวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หากผู้บริโภคเลือกเสพแต่ข่าวที่ดีมีคุณภาพ ข่าวที่ผลิตออกมาก็ต้องเป็นแบบนั้น
“ทุกวันเราเลือกไม่เป็นหนังขยะถึงได้สตางค์ รายการขยะถึงเรตติ้งสูง จำนวนคนเลือกไม่เป็นมันเยอะ จำนวนคนเลือกเป็นมันน้อย รายการมีคุณภาพก็อยู่ไม่ได้ ผู้ผลิตก็ตัดสินคำว่าคุณภาพแปลว่าแรง ถ้าตัดสินกันตรงนี้ก็จบ”
การตลาดหนังสือ
ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา กระแสอดีตพระมิตซูโอะกลายเป็นที่จับจ้องและพูดถึง มีหลายคำถามที่สังคมสงสัยใคร่รู้ จนหลายคำตอบถูกเฉลยออกมาในรูปแบบของหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก กลายเป็นกระแสที่หลายคนมองมาว่า ท่านกลับมาเพื่อขายของ
โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์สุขภาพใจมองการตลาดของหนังสือที่เล่นกับกระแสสังคม เธอแบ่งเป็น 2 แบบด้วยกันคือกระแสที่ดีและไม่ดี
“จริงๆแล้วสำหรับคนทำหนังสือ ถ้ามันเป็นกระแสที่ดีก็ควรจะโหน แต่ถ้ามันเป็นกระแสที่ไม่ดีไม่ให้ประโยชน์กับสังคมก็ไม่ควรจะโหน เช่น ถ้ากระแสเป็นเรื่องหลักธรรมคำสอนของพระ ท่านมีการสอนที่ชัดเจนเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติ เราก็ควรโปรโมตผลักดันให้เต็มที่ ในแง่การผลิตงานก็คือผลิตหนังสือให้ดีมีคุณภาพ กระจายให้ทั่วถึงคนอ่าน พร้อมราคาที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในแต่ละช่วง”
ในส่วนของการทำตลาด เธอเผยว่า จะต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมและเป็นไปตามกับกระแส ตั้งแต่การวางขายในร้านโดยจัดให้วางอยู่ในที่มองเห็นได้โดดเด่น ทำป้ายสื่อสารข้อดีข้อเด่นของหนังสือให้ชัดเจนเพื่อเป็นโหนกระแสที่มีอย่างชัดเจน
“พอกระแสมีกับหนังสือดีมันมาพร้อมกัน ปัจจัยที่ได้มันก็ส่งเสริมการตลาดให้ไปได้ดี”
ในส่วนกระแสแง่ลบ เธอมองว่า สำนักพิมพ์ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยตั้งคำถามกับตัวเองให้มากกว่า ทำหนังสือไปเพื่ออะไร
“มันก็ต้องมีอิสระที่จะสื่อสิ่งต่างๆ ออกไป หรือมีอิสระในการเสพสื่อ แต่คนทำก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าหนังสือออกไปเพื่ออะไร ถ้าออกไปเพื่อสร้างความดีความงามก็ออกไปเถอะ แต่ถ้าออกไปเพื่อฟาดฟันกันก็อย่าทำเลย ไม่ว่ากระแสอะไรก็อย่าทำเลย...อันนี้พูดถึงกระแสการเมืองด้วย”
เธอยกตัวอย่างหนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเองทำพร้อมกับกระแสของภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือ เธอก็ทำทุกรูปแบบ ทำอีเวนต์ โซเชียลมีเดีย โหนกระแสไปกับการโปรโมตของภาพยนตร์จากฝั่งฮอลลิวูด
ในส่วนกรณีอดีตพระมิตซูโอะ เธอมองว่า การได้สัมภาษณ์ในหลายสื่อจะสร้างความสงสัยให้กับคนในสังคม และน่าจะมีผลต่อยอดขาย ทั้งนี้ ในส่วนกระแสที่เกิดขึ้นนั้น เธอยังมองไม่ออกว่าเป็นกระแสในทางบวกหรือลบ ซึ่งเธอชี้ว่า กระแสแบบนี้อาจไม่สามารถใช้ในการโหนเพื่อโปรโมตได้
“สำหรับสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือพอมีที่กระแสยังไม่แน่ว่าไปในทางบวกหรือลบ เป็นสิ่งที่สังคมยังตั้งคำถามก็คงจะไม่โหนมาก แต่ก็คงจะไม่เอาหนังสือออกจากร้าน เพราะตัวหนังสือมันยังคงมีความงามของมันอยู่ ถ้าตัวหนังสือมันไม่ได้ถูกเร่งผลิตแล้วอัดเข้าไป ตั้งกอง บก.โตๆแล้วก็โชว์กันโดดเด่น มันก็ยังมีความงามในตัวมันเองมันก็จะไปได้เองในแบบของมัน”
ในส่วนของการอ่านหนังสือตามกระแสของคนไทย เธอมองว่า พอมีกระแสมาแล้วมันอยู่ที่ผู้ผลิตว่าจะจัดการกับกระแสนั้นมั้ย เธอยืนยันว่า หากเป็นกระแสที่ดีก็ควรจะโหนให้ถึงที่สุดเพื่อผลักดันให้สังคมไปสู่ทิศทางที่ดีต่อไปขณะที่ในส่วนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับอดีตพระมิตซูโอะ ในฐานะที่ผลิตหนังสือด้านธรรมะ เธอมองว่า กรณีนี้ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
“คำของท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ดูให้ดีมีแต่ได้” ความหมายคือ มองให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้น แล้วใช้มันเป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือคนอื่น”
ซึ่งเธอมองว่า การเลือกทางเดินในชีวิตของมิตซูโอะนั้น ไม่ผิด
“เราต้องเคารพในความคิดของคนคนหนึ่ง ชีวิตเขาไม่ใช่ของเรา เชื่อว่าสิ่งที่ท่านเคยสอนเป็นธรรมะตามธรรมชาติเป็นเรื่องที่ช่วยสังคมได้ มันก็ยังเป็นสิ่งที่มีความงามอยู่ งามอย่างไรก็งามอย่างนั้น”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE