xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตตระหนก เหรียญ 10 ปลอมระบาด!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ระวังเหรียญ 10 บาทปลอมระบาดหนัก!! มีแฟนเพจท่านหนึ่งได้รับเงินทอนจากการจ่ายตลาดในยามค่ำคืน แต่กลับมารู้ตัวอีกทีว่าเป็นเหรียญ 10 ปลอมก็ตอนจะไปจ่ายของตอนกลางวัน (มีแฟนเพจแจ้งมาครับ เขาไม่ประสงค์ออกนามนะครับ)"




ด้วยภาพเปรียบเทียบระหว่างเหรียญ 10 จริงและปลอม บวกกับคำบรรยายใต้ภาพบนโซเชียลเน็ตเวิร์กประโยคนี้เอง ที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งตื่นตระหนก แชร์ภาพต่อให้ว่อนเน็ตจนหลายต่อหลายคนคิดไปว่า ขณะนี้เป็นช่วงเหรียญ 10 บาทปลอมระบาดไปทั่วตลาดเสียแล้ว

เมื่อถามความจริงจาก ประไพพิศ ศรีเดชะรินทร์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนเงินตรา สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จึงได้รู้ว่าไม่ได้มีการระบาดของเหรียญ 10 ปลอมอย่างที่เข้าใจ แต่อาจเป็นเพราะการแชร์กันต่อๆ ไปจึงทำให้ประชาชนรู้สึกเช่นนั้นไปเอง ส่วนเหรียญ 10 ปลอมที่พบเห็นในขณะนี้ น่าจะเป็นเหรียญที่เหลือค้างในตลาด กวาดล้างไม่หมดตั้งแต่ล็อตก่อนๆ เสียมากกว่า


“ส่วนใหญ่จะมีการบุกทลายแหล่งธนบัตรปลอมกันมากกว่าค่ะ แหล่งเหรียญกษาปณ์ปลอมไม่ค่อยมีใครแจ้งเข้ามา อาจเพราะรางวัลนำจับไม่สูงเท่าและปลอมยากกว่า ทำไปก็ไม่คุ้มทุน” ส่วนคนที่ยังกลัวๆ เกรงๆ ว่าจะเจอกับเหรียญ 10 ปลอมเข้ากับตัว เจ้าหน้าที่จากกรมธนารักษ์ก็ฝากวิธีดูง่ายๆ เอาไว้ให้สังเกตกัน

***ภาพเปรียบเทียบส่งมาจาก สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (วิธีสังเกต ด้านหน้าเหรียญ)
***ภาพเปรียบเทียบส่งมาจาก สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (วิธีสังเกต ด้านหลังเหรียญ)
ลำดับแรกเลย ต้องรู้ก่อนว่าเหรียญ 10 บาท จะเป็นโลหะ 2 ส่วน คือวงขอบนอกเป็นนิกเกิล วงขอบในเป็นทองแดงผสมนิกเกิล แล้วนำมาอัดให้แน่นเป็นเหรียญเดียวกัน เพราะฉะนั้น จะพิจารณาว่าเหรียญกษาปณ์ชนิดนี้เป็นของจริงหรือปลอม ต้องดูแยกเป็นส่วนๆ ตามนี้

1. ขอบนอก-ขอบใน
เหรียญจริง: วงของขอบนอกเป็นสีขาวมันวาว และวงในจะเป็นสีเหลืองทองมันวาว
เหรียญปลอม: วงขอบนอกเป็นสีขาวออกเหลือง ส่วนวงขอบในเป็นสีเหลืองทองออกขุ่นไม่มันวาว

2. ผิวสัมผัส
เหรียญจริง: พื้นผิวของเหรียญจะไม่มีรอยขีดข่วน ผิวจะเรียบเป็นมันวาว
เหรียญปลอม: ตัวเหรียญจะมีรอยขีดข่วนลักษณะคล้ายๆ กับขนแมวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

3. รอยต่อ
เหรียญจริง: วงขอบจะสูงนูนสวยงามสม่ำเสมอ เส้นแบ่งระหว่างรอยต่อของเหรียญมองเห็นได้ชัดเจน
เหรียญปลอม: วงขอบหนาไม่เท่ากัน เส้นแบ่งรอยต่อระหว่างเหรียญไม่ชัดเจน

4. ความคมชัด
เหรียญจริง (ด้านหน้า): พระบรมฉายาลักษณ์ ตัวหนังสือจะมีความคมชัด สวยงาม
เหรียญปลอม (ด้านหน้า): พระบรมฉายาลักษณ์ไม่ค่อยชัดลักษณะเลือน ตัวหนังสือราคาไม่คมชัดสวยงาม
เหรียญจริง (ด้านหลัง): รูปพระปรางค์วัดอรุณเมฆลายน้ำตัวหนังสือและตัวอักษรบอกราคามีความคมชัด
เหรียญปลอม (ด้านหลัง): รูปพระปรางค์ เมฆลายน้ำตัวหนังสือและตัวอักษรบอกราคาไม่คมชัด

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนเงินตรา สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น